‘บางเขน’วัดได้178มม. ระดม3พันตร.แก้รถติด นนทบุรีเร่งพร่องคลอง ระยองกู้รถ-ช่วย15นร.

กทม.เจอฝน 140 ปีถล่มทั้งคืนจมทันที 17 จุด เขตบางเขนอ่วมสุด ‘ชัชชาติ’ ตั้งปลัดกทม. ผอ.ศูนย์บัญชาการเหตุ แจงสภากทม.ลุยแก้น้ำท่วม 1 เดือน กรมเจ้าท่า ตั้งศูนย์ช่วย 24 ช.ม. ‘บิ๊กเด่น’ ดำรงศักดิ์ จัดตำรวจ 3 พันนายช่วยจัดการจราจร นนทบุรีระดมพร่องคลอง เตรียมรับฝนถล่มซ้ำ หลังกรมอุตุฯ เตือนมรสุม ถล่มทุกภาค รวมทั้งกทม.-ปริมณฑล ระยองช่วยระทึก 15 นักเรียนติดอยู่บนรถสองแถวโดยสารถูกน้ำป่าซัด ขณะที่ดินสไลด์ถล่มโค่นต้นยางทับบ้านพังเป็นแถบ รถชาวบ้านเสียหาย อีกอื้อ จิสด้าแจงข้อมูลดาวเทียม พบน้ำท่วมขัง ภาคอีสานแล้วกว่า 5 หมื่นไร่

กรุงจม 17 จุด-บางเขนอ่วมสุด
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) เขตดินแดง ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เมื่อวีนที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่เวลา 07.00 น. มีฝนตกหนักโดยทั่วไป ปริมาณฝนรวมสูงสุดที่จุดวัดคลองบางบัว เขตบางเขน 178 มิลลิเมตร (ม.ม.) จุดวัดสำนักงานเขตหลักสี่ 124 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตพญาไท 99 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตห้วยขวาง 93 ม.ม. จุดวัด สถานีสูบน้ำรัชดา-วิภาวดี เขตจตุจักร 90.5 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบนถนนสายหลักในความ รับผิดชอบ 17 จุด ได้แก่ 1.หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถ.แจ้งวัฒนะ เขตบางเขน 2.ปาก ซ.8 ถ.พหลโยธิน เขตพญาไท 3.แยกสะพานควาย ถ.ประดิพัทธ์ เขตพญาไท 4.หน้าร.1พัน1รอ. ถ.วิภาวดีรังสิต เขตพญาไท 5.ซ.อินทามระ 53 ถ.ประชาสุข เขตดินแดง 6.ตลาดห้วยขวาง ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง 7.แยกเทียมร่วมมิตร ถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง

8.ถ.เสนานิคม เขตจตุจักร 9.หน้าธนาคารกรุงเทพ ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร 10.ตัดถนนเพชรบุรี ถ.บรรทัดทอง เขตราชเทวี 11.หน้ากรม ปศุสัตว์ ถ.พญาไท เขตราชเทวี 12.ซ.39-แยกพร้อมศรี ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา 13.ซ.ชิโนทัย ถ.สุขุมวิท 21 (อโศก) เขตวัฒนา 14.ซ.23 เขตวัฒนา 15.ปากซอยแจ้งวัฒนะ 10 ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ 16.หน้าห้างโลตัส ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ และ 17.หน้ามทบ.11 ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ปัจจุบันน้ำแห้งปกติ เหลือตามตรอกซอยย่อย ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำ

ขณะที่ระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ที่ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤต +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.68 ม.รทก. ระดับปกติ ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤต +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.91 ม.รทก. ระดับปกติ ประตูระบายน้ำ ลาดกระบัง (ระดับวิกฤต +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.28 ม.รทก. ระดับปกติ

หนักสุดในรอบ 140 ปี
ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ย. ฝนตกหนักมาก โดยเฉพาะแถวบางเขน ฝนตกมากกว่า 170 ม.ม. ถือว่าเป็นฝนที่ตกหนักในรอบ 130-140 ปี ทำให้น้ำในคลองเพิ่มขึ้น ตั้งแต่คลองลาดพร้าว ไปจนถึงคลองเปรมประชากร มีระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การระบายน้ำพื้นที่ต่างๆ ทำได้ยาก โดยจุดน้ำท่วมหลัก คือบริเวณ วงเวียนบางเขน ซึ่งเป็นจุดที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ด้วย ทำให้ทางเดินเท้าของประชาชน เดินได้ลำบาก ปัจจุบันถนนเส้นหลัก น้ำเริ่มลดลงแล้ว เหลือที่ยังท่วมจุดหลักๆ บริเวณ วงเวียนบางเขน และถนนย่อยในชุมชน รวมถึงถนนรามอินทรา ซอยฝั่งเลขคี่ ยังคงมีน้ำท่วมทั้งหมด ตอนนี้สิ่งที่ทำได้ คือการเร่งระบายน้ำออกให้มากที่สุด เพราะด้านเหนือของกรุงเทพฯ ทางฝั่งจังหวัดปทุมธานี ก็มีน้ำมากเช่นกัน เพราะฝนตกแช่ อยู่แถวๆ จังหวัดปทุมธานี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน ของ กทม. ทำให้การระบายน้ำทางด้านใต้ ก็ทำได้ยาก

พิษฝน140ปี – สภาพซอยรามอินทรา 21 เขตบางเขน กทม. น้ำท่วมขังสูงหลังฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 178 ม.ม. ซึ่งตามสถิติถือว่าตกหนักที่สุดในรอบ 130-140 ปี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ตั้งปลัดกทม.บัญชาการท่วม
“ต้องยอมรับว่า เมื่อวานนี้มีข้อบกพร่องหลายจุดที่ต้องปรับปรุงเรื่องการจัดการในพื้นที่ เช่น วงเวียนบางเขน ควรให้รถเข้ามาน้อยที่สุด รวมทั้งการสื่อสารให้ประชาชน รับรู้ เรื่องการใช้เส้นทาง และการช่วยเหลือรถที่ติดขัด การปล่อยให้รถเข้ามามาก เมื่อถึงเวลาฝนตกหนัก รถเครื่องกลที่จะเข้าไป ช่วยเหลือ เครื่องมือต่างๆ เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะรถติดมาก รวมทั้งรถทหารก็ติดอยู่ด้านนอก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการประสานงาน ที่ดีพอ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ล่าสุดได้แต่งตั้ง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม.เป็นผู้บัญชาการ เหตุการณ์แล้ว รวมทั้งรองปลัดกทม.ที่คุมโซนพื้นที่ต่างๆ ต้องลงบัญชาการเหตุการณ์ ในพื้นที่ และ 3 ชั่วโมงล่วงหน้า ต้องเอารถเครื่องมือลงพื้นที่ก่อนเลย ทั้งรถซ่อม รถลาก ต้องอยู่ประจำในพื้นที่ วันนี้ต้องปรับแผน หากรู้ว่าพื้นที่ไหนฝนจะลง ต้องนำเครื่องมือลงไปไว้ในพื้นที่ก่อนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และวางแผนการเดินทางให้ดี คาดว่าวันนี้ฝนจะตก หนักอีก และวันพรุ่งนี้มีฝนตกอีกเล็กน้อย หากผ่าน 2 วันนี้ไป ฝนน่าจะชะลอลง เข้าใจว่า การเดินทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ กทม.จะทำให้ดี ที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นฝนที่ตกหนักจริงๆ ระดับ 170 ม.ม.แทบไม่เคยเห็นมาก่อน

ส.ก.ชงเพิ่มฝ่ายระบายน้ำ
จากนั้น ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง โดยมีนายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหารกทม. ส.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก. เขตลาดกระบัง ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กทม. พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขตเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพฯ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้สำนักงานเขต มีการแบ่งส่วนราชการภายในเป็น 10 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรายได้ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายการคลัง ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งแต่ละฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบที่สอดคล้องกับสำนักต่างๆ ประสานการทำงานร่วมกัน

จากการติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ตะวันออกพบว่า การแก้ไขปัญหาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากงานระบายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายโยธา สำนักงานเขตลาดกระบัง มีเพียง 40 คน ขณะที่มีภารกิจหลากหลาย และมีปริมาณงานจำนวนมาก จึงขอให้กทม.พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขตให้มีความเหมาะสมเพียงพอ โดยแบ่งส่วนราชการภายในจากกลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา เป็น ฝ่ายระบายน้ำ

‘ชัชชาติ’แจงสภากทม.แก้ท่วม
จากนั้น ส.ก. ได้อภิปรายอย่างกว้าขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วย ขณะที่นายชัชชาติกล่าวว่า ภาพรวมปัญหาน้ำท่วม 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลายจุด ปัญหาหลักคือฝนตกรุนแรงเป็นหย่อมๆ วานนี้มีฝนตกหนักบางเขต ปริมาณฝนกว่า 170 ม.ม. สูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งฝนมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้กระจายทั้งพื้นที่ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ขอน้อมรับทุกคำแนะนำและจะนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น การเน้นเส้นเลือดฝอย ให้สัมพันธ์เส้นเลือดใหญ่ ถือว่าทำมาถูกทางแล้ว

หนีน้ำ – ประชาชนและนักเรียนนักศึกษาเดินบนสะพานไม้ชั่วคราวหนีน้ำท่วมขัง ขึ้นไปใช้รถไฟฟ้าสถานี วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน บริเวณปากซอยพหลโยธิน 55/1 โดยบางเขนเป็นเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดของกทม.

‘บิ๊กเด่น’ระดม 3 พันตร.ช่วย
ด้านพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตำรวจจราจรทุกพื้นเตรียมรับมือฝนตกหนักเย็นวันเดียวกัน หวั่นเกิดน้ำท่วมขังในเส้นทางทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ให้ทุกหน่วยออกช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมกำลังแรง ที่จะส่งผลกระทบจนถึงวันที่ 9 ก.ย. ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่และมีน้ำท่วมขัง ในเส้นทางการจราจร ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนักในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. เมื่อคืนที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วย ระดมกำลังตำรวจจราจร และทุกสายงาน โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. เตรียมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงเย็นวันนี้ โดยให้จัดตำรวจจราจรอำนวยความสะดวก เตรียมแผนเผชิญเหตุและชุดเคลื่อนที่เร็วไว้แก้ไขปัญหา กรณีมีรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุกีดขวางการจราจร ให้สามารถเคลื่อนย้ายรถได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน และ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งระดมช่วยเหลือประชาชนตลอดช่วงมรสุม ทั้งนี้หากพบอุบัติเหตุ หรือรถเสีย แจ้งสายด่วน ตำรวจทางหลวง 1193, สายด่วนกรมทางหลวง 1586 หรือ สายด่วน บก.จร. 1197 ตลอด 24 ชั้วโมง

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกบช.น. รับผิดชอบงานจราจร กล่าวถึง แนวทางแก้ไขปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวก ให้ประชาชนช่วงที่อาจชมีฝนตกหนักวันที่ 6-9 ก.ย.ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีฝนตกร้อยละ 80 ของพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้สั่งการให้ตำรวจจราจร ทั้งหมด 3,000 นาย เข้าประจำจุดทางร่วมทางแยกที่สำคัญเพื่อเร่งระบายรถแต่เนิ่นๆ ทุกจุดลดปริมาณการจราจรแต่ละเส้นสาย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว แก้สถานการณ์ คอยอำนวยความสะดวก ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกรณีรถเสีย รถตาย ในอุโมงค์ และสะพาน ได้สั่งการเตรียมรถยกของตำรวจ และขอความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนมาสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายรถออกจากการช่องทางจราจร รวมทั้งจัดเตรียม ตำรวจชุดช่างจาก ตำรวจจราจรตามโครงการในพระราชดำริ มาช่วยซ่อมแซมรถยนต์ ในเบื้องต้น หรือคอยช่วยเหลือประชาชน ที่เดือดร้อนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ขอให้ประชาชนคอยติดตามสถานการณ์เมื่อพบทีท่าว่าฝน จะตกขอให้ศึกษาเส้นทางการเดินทางก่อนเดินทางเพื่อวางแผนหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติดและมีน้ำท่วมขัง

นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ให้พิจารณาเลิกเรียนหรือเลิกงานก่อนเวลาเพื่อลดความหนาแน่น ของการจราจรช่วงเย็นวันเดียวกัน พร้อมทั้งได้รับการตอบรับจาก ขสมก. ขยายเวลาการเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนที่อาจหลบฝนในอาคารจนเลยเวลาการเดินรถปกติ

ปทุมฯซ่อม-เพิ่มเครื่องสูบน้ำ
ที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี, ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต, นายโบว์แดง ทาแก้ว ผอ.โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษารังสิตใต้ กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือหาเหตุน้ำท่วมพร้อมแนวทางแก้ไข เนื่องจากเมื่อช่วงเย็นเมื่อวานนี้ และตลอดทั้งคืนฝนเทกระหน่ำไม่ต่างจากพื้นที่กรุงเทพฯ เลยทำให้ถนนสายหลักน้ำท่วมขัง ระดับ 30-50 ซ.ม. รวมถึงในพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะถนน ที่อยู่ด้านหลังเมเจอร์ มีคนแชร์ภาพน้ำท่วม รถจักรยานยนต์เกินครึ่งคัน ลงในโซเชี่ยล

พล.ต.อ.คำรณวิทย์กล่าวว่า สถานการณ์ เช้าวันเดียวกัน ระดับน้ำจะลดลง แต่หลายชุมนุม และถนนบางเส้นยังมีน้ำท่วม โชคดีที่ไม่มีฝนตก แต่ท้องฟ้ายังขมุกขมัว นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ทำให้พื้นที่รังสิต น้ำลดช้า เพราะต้องรับน้ำ ทั้งจากจังหวัดนครนายก คลองระพีพัฒน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขต กทม. ทั้ง สายไหม ดอนเมือง หลักหก ทำให้คลองสายหลัก คลองรังสิตประยูรศักดิ์ น้ำเต็ม เอ่อล้นตลิ่ง และยังพบปัญหาท่อระบายน้ำ ในแต่ชุมชนที่อยู่ริมคลอง เสมอกับระดับน้ำในคลอง จึงไม่สามารถระบายน้ำได้ ต้องติดตั้ง เครื่องสูบน้ำเสริมตลอดแนวคลอง กว่า 50 เครื่อง แต่ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่แม่เจ้าพระยาได้ เนื่องจากบริเวนสถานีสูบน้ำกึ่งถาวร ปากคลอง รังสิต เขตอำเภอเมือง ถนนสายซ่อมสร้าง มีเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง แต่ใช้ได้ 10 เครื่อง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจหลัก ที่จะสูบน้ำออกเจ้าพระยา แต่กลับดำเนินการได้ไม่เต็มที่

รออะไหล่เครื่องสูบจากตปท.
ขณะ นายโบว์แดง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ดูแลรับผิดชอบคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปจนถึงพื้นที่จ.นครนายก กล่าวว่า เนื่องจากจุดหลักมวลน้ำที่มาลงที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีหลายทาง ได้แก่ 1.จากคลองเปรมประชากร 2.น้ำในพื้นที่จากฝนตกหนักในช่วงพายุเข้าเดิมอยู่ที่ปริมาณเฉลี่ย 60 ม.ม.ต่อวัน กลายเป็น 140 ม.ม.ต่อวัน โดยไหลมาตั้งแต่คลองสิบสองลงมา 3.น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาทางคลองสิบสาม 4.น้ำจากคลองสิบสี่ คลองสิบห้าจากจังหวัดนครนายก 5.น้ำในพื้นที่ของโครงการรังสิตใต้เอง ที่จำเป็นจะต้อง สูบลงคลองรังสิต 6.เราต้องช่วยเหลือในการสูบน้ำจาก กทม. และ7.เราต้องสูบน้ำจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติในพื้นที่คูคต ลงสะพาน คลองสองแล้วเราในสถานีสูบน้ำเพื่อสูบลงคลองรังสิต จะเห็นว่าปกติที่เราจะรับน้ำได้วันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำที่ลงมาทั้งหมดที่คำนวณแล้วประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมน้ำฝนด้วย ทำให้เราพร่องน้ำไม่ทัน ประกอบกับบริเวณอาคารประตูระบายน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต เรามีเครื่องสูบน้ำอยู่ 20 เครื่อง ขณะนี้ใช้งานได้เพียง 11 เครื่อง ส่วนอีก 9 เครื่องทางผู้รับจ้างแจ้งว่าอะไหล่ยังไม่มี ต้องรอจากต่างประเทศ คาดว่า จะมาในวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งเบื้องต้นได้ประสานกับทางตอนบนขอให้ลดการระบายน้ำ เพื่อได้มี เวลาในการสูบพร่องน้ำ

นายประพิศ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในจุดนี้ยังมีเครื่องสูบน้ำที่ยังซ่อมไม่เสร็จ โดยตนจะนำเครื่องสูบน้ำจากที่อื่นมาเติม รวมถึงจะแก้ปัญหาบานประตูที่ไม่สามารถเปิดได้เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อระดับน้ำฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่า ในส่วนของการสูบน้ำ หากไม่พอกรมชลประทานจะมีอุปกรณ์สูบน้ำเครื่องที่มาเสริม จากฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่งทราบว่าน้ำได้ลดลงเพียง 5 ซ.ม. จึงต้องเอาน้ำในคลองออกให้มากที่สุด เพื่อเตรียมรับน้ำฝนที่อาจมาอีก คาดว่าฝนจะมาถึงวันที่ 10 ก.ย.

นนท์เร่งพร่องน้ำคลอง
ด้านนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรี นครนนทบุรี ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เทศบาลนครนนทบุรีเร่งเดินเครื่องสูบน้ำตามประตูควบคุมน้ำต่างๆ ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 12 ประตู รวมทั้งเดินเครื่องสูบน้ำภายในเพื่อส่งน้ำต่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร่องน้ำในคลองให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อความพร้อม ในการรับน้ำฝนหากเกิดตกหนักขึ้นมาอีก

นายสมนึกกล่าวว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าน้ำในคลองจึงต้องสูบออกเพียงอย่างเดียว หากน้ำในแม่น้ำลดลงจะเปิดประตูควบคุมน้ำทุกบาน และได้เตรียมเจ้าหน้าที่ ไว้พร้อมหากประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ เร่งสูบน้ำออกจากคลองต่างๆ ผ่านสถานีควบคุมน้ำที่ปากคลองต่างๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 5 คลอง ขณะนี้เดินเครื่องสูบเต็มที่น้ำออกอย่างเดียวเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าระดับน้ำในคลองภายในพื้นที่ และยังเร่งจากสถานีสูบน้ำภายในพื้นที่อีก รวมกว่า 60 แห่ง เพื่อสูบน้ำฝน และน้ำที่ประชาชนใช้ในครัวเรือนทุกวัน ส่งต่อไปยังคลองสายหลักออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ทหารสั่งเชิงรุกช่วยท่วม
วันเดียวกัน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กห.โดยหน่วยทหารทุกเหล่าทัพ ที่มีที่ตั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้กระจาย กำลัง เครื่องมือช่างและเครื่องสูบน้ำ ตามสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ให้การสนับสนุนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา เข้าเร่งเปิดทางน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ในชุมชนและเส้นทางต่างๆ

ด้าน พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรม กิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะหัวหน้า ฝ่ายกิจการพลเรือนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ และโฆษกกองทัพเรือ (ทร.) เปิดเผยว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จึงได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแจ้ง ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ 1696 ตลอด 24 ชั่วโมง”

สั่งเจ้าท่าตั้งศูนย์ช่วย 24 ช.ม.
ขณะที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ตนจึงสั่งการให้กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1-7 และสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ 1-8 ทั่วประเทศ เร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรมเจ้าท่า พร้อมเจ้าหน้าที่ รถ เรือ อุปกรณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้จัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุประจำศูนย์และให้กำชับเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมสนับสนุนให้ความ ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และออกประกาศให้ระมัดระวังการเดินเรือ ตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือ เครื่องยนต์เรือ ตลอดจนเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ให้พร้อม ใช้งานและให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาขณะอยู่ในเรือ

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบฝนตกหนัก ได้กำชับให้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ทำงานเชิงรุกตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้อย่างเคร่งครัด

เตือนมรสุมหอบฝนเททั่วปท.
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า จากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึง หนักมาก บางแห่งขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 7 ก.ย. ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

ทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร
ส่วนวันที่ 8-9 ก.ย. ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีม ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนคร ศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง มีคลื่นสูง 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณ ดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทย ตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึง วันที่ 9 ก.ย.นี้

ท่วมขังอีสานกว่า 5 หมื่นไร่
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เปิดเผยข้อมูลดาวเทียม Cosmo-SkyMed-1 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดพบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วจำนวน 50,009 ไร่ ในบริเวณบางส่วนของจ.อุบลราชธานี 29,190 ไร่ จ.ศรีสะเกษ 12,522 ไร่ จ.ยโสธร 6,086 ไร่ และจ.อำนาจเจริญ 2,211 ไร่ ส่วนพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 17,141 ไร่ ทั้งนี้ตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

จมทั้งคัน – สภาพรถตู้รับส่งนักเรียนชั้นมัธยมปลายถูกน้ำป่าทะลักซัดแรงตกร่องกลางถนน โชคดีเด็กนักเรียนตะเกียกตะกายออกมาจากรถได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ที่ถนนสุขุมวิท ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ระยองระทึกน้ำซัดรถนร.
ขณะที่จ.ระยอง ร.ต.ต.ส่งเสริม ศิริสุวรรณ รองสวป.สภ.สำนักทอง ได้รับแจ้งเกิดเหตุรถสองแถวรับส่งนักเรียนติดอยู่กลางสายน้ำเชี่ยว โดยมีนักเรียนอยู่ภายในรถ 15 คน หน้า สภ.สำนักทอง บนถนนสายสำนักทอง-กระเฉด ม.1 ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง จึงประสาน เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างพรกุศล พร้อมด้วยกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือ นักเรียนที่กำลังจะเดินทาง ไปเรียนโรงเรียนศรีนครินทร์ แต่มาเจอ มวลน้ำป่าไหลมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้รถถูกสายพัดพาไม่สามารถขับต่อไปได้ มีนักเรียนพยายามวิ่งลงจากรถ แต่กลับถูกพัดลอยไป โชคดีที่เจ้าหน้าที่ช่วยไว้ได้ทัน จึงทำให้ทั้งหมดติดคาอยู่ในรถ ด้วยความตื่นตระหนก เพราะสายน้ำไหลรุนแรงมาก และเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างรวดเร็ว จนท่วมไปครึ่งคัน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้เชือกมัดรถตรึงไว้กับเสาไฟฟ้า ก่อนพยายามเข้าไปช่วย แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องรอกระแสน้ำลดลงก่อน ผ่านไป 1 ชั่วโมง หลังกระแสน้ำ ลดลง เจ้าหน้าที่กู้ภัย ได้เดินเกาะไปตามเชือก เข้าไปช่วยพานักเรียนลงจากรถทีละคน จนช่วย ลงได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย ส่วนตัวรถต้องรอให้น้ำลดก่อนจึงค่อยเคลื่อนย้าย

ช่วยนักเรียน – เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งช่วยเหลือ 15 นักเรียนที่โดยสารอยู่ในรถสองแถว ถูกน้ำป่าหลากพัดลอยไปตามน้ำจนต้องรีบหาเชือกมาผูกมัดรถไว้กับเสาไฟฟ้าที่ถนนสำนักทอง-กระเฉด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

หนีตายวุ่น-ดินถล่มบ้าน
ด้านนายอธิพงษ์ ตันศิริ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอแกลง จ.ระยอง ได้รับแจ้งจากนายเสรี เจริญรื่น นายก อบต.วังหว้า ว่าได้เกิดเหตุดินจากภูเขาสไลด์ลงมาทับบ้านและรถยนต์ของชาวบ้าน และมีต้นไม้หักโค่น ทับเสาไฟฟ้า ในพื้นที่บ้านเขาหินแท่น-เขาคอก หมู่ 10 ต.วังหว้า อ.แกลง จึงประสานนายเมธา เมืองมีทรัพย์ ผจก.ไฟฟ้าแกลง พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ อส.อ.แกลง เดินทางไปให้ความช่วยเหลือทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน