ทะลักชุมชน-ปักธงแดงเตือนแจ้งอพยพให้ขนของขึ้นที่สูง
กทม.ก็อ่วม-ลาดกระบังท่วมซํ้า

รังสิต-ปทุมธานีวิกฤตแล้ว ปักธงแดงเตือนน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ยิ่งสูบออกน้ำยิ่งย้อนกลับ ทะลักท่วมบ้านเรือน เร่งอพยพประชาชนขึ้นที่สูง เพิ่มเครื่องสูบน้ำอีก ส่วนที่อยุธยา เจ้าพระยาล้นตลิ่งท่วมวัดพระนอน เร่งระบายน้ำท่วมขัง ฝนเทกรุงเทพฯ ลาดกระบังอ่วม ‘ชัชชาติ’ สั่งรับมือทะเลหนุนถึง 10 ก.ย. จี้ผอ.50 เขตลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม กองทัพ-ตำรวจบูรณาการช่วยประชาชน บิ๊กเด่น-ดำรงศักดิ์เน้นกู้รถจม-ระบายจราจรให้เร็วที่สุด ระยองเร่งอพยพหนีน้ำ ทั้งจังหวัดจมแล้ว 2 หมื่นหลัง ผู้ว่าฯ ชี้สถานการณ์หนักสุดในรอบ 10 ปี 4 อำเภอถูกน้ำท่วม อ.เมือง-บ้านค่าย วังจันทร์-แกลง กำนันเมืองแกลงโอดไก่ 1.4 แสนตัวถูกน้ำท่วมตายยกฟาร์ม ด้านเกาะช้าง ตราด น้ำป่าหลากท่วม ทับบ้านยายวัย 70 ปี รีสอร์ตดังพังถล่มซ้ำรอย

น้ำท่วมวัดพระนอนกรุงเก่า
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่จ.พระนครศรีอยุธยา จากฝนตกตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงข้ามคืนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมาก ท่วมขังพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด รวมไปถึงโบราณสถานหลายแห่ง น้ำระบายไม่ทัน มีน้ำท่วมขัง เช่น ที่โบราณสถานวัดโลกยสุธา หรือวัดพระนอน ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 20 ซ.ม. นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมากราบองค์พระนอน ต้องลุยน้ำเข้าไปกราบไหว้ ขอพร โดยเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต้องเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากโบราณสถานที่ถูก ท่วมขัง

ขณะที่ชุมชนเขื่อนสะพานแดง ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี, ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกัน เร่งทำแนวคันดินป้องกันระดับน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ล้นข้ามแนวเขื่อนเข้าสู่ถนนและบ้านเรือนประชาชนอย่างเร่งด่วนเนื่องจากน้ำในคลองสูงขึ้น

ด้านเจ้าหน้าที่เทศบาลนครรังสิตและชาวบ้าน ได้ช่วยกันกรอกกระสอบทรายที่บริเวณริมเขื่อนสะพานแดง หลังจากมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก โดยมวลน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.นครนายก และกทม. รวมถึงปริมาณน้ำฝน ต้องเร่งสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี

รังสิตวิกฤต – คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงสะพานแดงคลองหนึ่ง ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี น้ำล้นตลิ่งท่วมถนนทะลักเข้าชุมชนและตลาดส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เทศบาลนครรังสิตได้ขึ้นธงแดงเตือนประชาชน เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

หนีน้ำ – น้ำท่วมหนักถนนพหลโยธิน ช่องคู่ขนานบริเวณหน้าหมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ชาวบ้านและนักศึกษาต้องขึ้นไปยืนบนที่นั่งเพื่อรอขึ้นรถเมล์อย่างทุลัก ทุเล เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

เกาะช้าง – ฝนตกถล่มหนักติดต่อกัน 2 วัน น้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขาท่วมเกาะช้าง จ.ตราด ดินสไลด์ทับบ้านและรีสอร์ตพังเสียหายมี ผู้บาดเจ็บหลายคน อีกทั้งถนนทรุดตัวแตกร้าวยาวนับกิโลเมตร เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

ยกฟาร์ม – น้ำป่าหลากท่วมฟาร์มไก่ที่ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง น้ำสูงเกือบมิดหลังคาโรงเรือน ไก่ตายยกฟาร์ม 1.4 แสนตัว ขณะที่บ้านเรือนจมน้ำกว่า 200 หลัง หลายพื้นที่ถูกตัดขาดรอความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

ปทุมวิกฤต-น้ำย้อนทะลัก
พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า เนื่องจากแผนของชลประทานไม่ได้ผล ปริมาณน้ำมามากกว่าที่คุยไว้ หากปล่อยแบบนี้คืนวันเดียวกันรังสิตน้ำท่วม เบื้องต้นพยายามป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมผิวจราจร เพื่อให้พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาได้และป้องกันให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนให้น้อยที่สุด แต่ประเด็นหลักคือชลประทาน ขณะนี้น้ำในคลองรังสิตมีความสูงกว่าถนนแล้ว แสดงว่าน้ำมีการไหลกลับ เนื่องจากการสูบน้ำของชลประทานลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอ สภาพน้ำในคลองจึงไม่ลด จึงฝากชลประทาน วันนี้อธิบดีกรมชลประทาน มาเอง แต่ประชาชนเดือดร้อนตนยังไม่เห็นเจ้าหน้าที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงเพื่อช่วยเหลือประชาชนเลย ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางถนนชุมชนสะพานแดงเนื่องจากมีน้ำท่วมสูง

ด้านร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายของประชาชนเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งคาดว่าน่าจะหลายพันหลังคาเรือน ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้แก้ไขอะไรไม่ได้เลย เพราะหัวใจของเราอยู่ที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ แต่ปริมาณน้ำที่สูงขนาดนี้ไม่สามารถสูบออกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ขณะเครื่องสูบน้ำมีอยู่ 50 เครื่องทำงานทั้งหมด แต่น้ำย้อนกลับมาหาหมดเลย น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อาศัยของประชาชนแล้ว สภาพน้ำในคลองสูงถึง 1.8 เมตรแล้ว ซึ่งสูงกว่าถนนแล้ว และ น้ำได้ไหลข้ามถนน หากน้ำเอ่อขึ้นมาอีกคงหมดทางป้องกันแล้ว

เขื่อนปักธงแดงเตือน
ส่วนที่บริเวณถนนพหลโยธินขาเข้าและขาออกในเขตอ.ลำลูกกา อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง ซึ่งมีน้ำท่วมขังพื้นถนนสูงในช่องทางคู่ขนาน ซึ่งทางด้านพ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง พ.ต.ท.สิงหา เฟื่องแก้ว สว.จร.สภ.คลองหลวง ได้ลงพื้นที่อำนวยการจราจรให้กับประชาชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย กรุงเทพ ซึ่งมีน้ำท่วมสูง 40-50 ซ.ม. ทำให้รถเก๋งและรถจักรยานยนต์สัญจรด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ภายในซอยรังสิตภิรมย์ มีน้ำท่วมสูงเช่นกัน

ขณะที่ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไหลเข้าท่วมบ้านต่างเดินทางมาที่เต็นท์ชั่วคราวของเทศบาลนครรังสิต ที่ชุมชนเขื่อนสะพานแดง เพื่อมาเอากระสอบทรายเพื่อ นำกลับกั้นน้ำไหลเข้าบ้าน

ส่วนที่เขื่อนสะพานแดง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 1.8 เมตร ได้ปรับระดับการเตือนภัย ปักธงธงแดง เตือนว่าสถานการณ์มีความเสี่ยงอันตรายสูงสุดให้อาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเป็นจำนวนมากทั่วพื้นที่ อาจทำให้มีน้ำท่วมขัง จึงขอให้ประชาชนอพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขออภัยในความไม่สะดวก พร้อมกับมีประกาศ 3 สถานที่ จอดรถให้กับประชาชน คือได้แก่ 1.โดมซอยรังสิต-นครนายก 30, 2.อาคาร 100 ปี เมืองธัญญบูรี และทางขึ้นโทลล์เวย์

ประชาชนที่ต้องการติดตามสถานการณ์น้ำเทศบาลนครรังสิตแบบเรียลไทม์ หรือสอบถามฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์กู้ชีพ-กู้ภัย โทร.0-2567-4944 ศูนย์ควบคุมและสั่งการเทศบาลนครรังสิต (ศูนย์ RCC) รับแจ้งเหตุ โทร.0-2567-6000 ต่อ 119, 0-2567-4945-6, 0-2567-3388 และ 0-2567-5999

ด้านนายธนพจ แก้ววงษา ผอ.โรงเรียนสายปัญญารังสิต ได้มีประกาศด่วน เรื่อง ปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 9 ก.ย. ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 7 ก.ย. ว่า มีฝนตกหนักในพื้นที่เขตลาดกระบัง 130 ม.ม. ถือว่ายังโชคดีที่ฝนไม่ได้ตกเขตบางเขน ยืนยันว่า ปริมาณฝนตกหนัก ไม่ได้มีในรอบ 140 ปี แต่เป็นคาบอุบัติซ้ำ (Return Period) จะเกิดขึ้นในรอบ 20 ปี ส่วนวันนี้มีโอกาสฝนตกหนักเพิ่มขึ้น ปัจจุบันน้ำเหนือปล่อยมาเยอะขึ้น เมื่อเช้าน่าจะประมาณ 1,850 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่เยอะเท่าช่วงวิกฤต แต่น้ำในคลองยังเต็มอยู่ ประกอบกับน้ำทะเลหนุน ในวันที่ 7-10 ก.ย. จึงเป็น 4 ผสาน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ดังนั้นจึงได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมรับมือ

ขณะเดียวกัน ได้ประสานงานกรมชลประทาน ขอเครื่องสูบน้ำ จำนวน 21 เครื่อง นอกจากนี้ได้มอบหมายให้รองปลัดกทม.ทั้ง 6 คน เป็นผู้บัญชาการเหตุ ใน 6 กลุ่มโซน มิติไม่ได้มีเพียงเรื่องระบายน้ำเท่านั้น แต่ยังมีการเข้าให้ความช่วยเหลือกับประชาชนด้วย ในแง่ของ รถเสีย การขนส่งคน การจราจร การประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องเข้าพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก

จี้ผอ.เขตลงพื้นที่ช่วยท่วม
นายชัชชาติกล่าวถึงภาพที่ลงไปช่วยเข็นรถจนเป็นกระแสดราม่า ว่า การลงพื้นที่ มันคือรูปแบบการสื่อสารว่าเราให้ความสำคัญกับใคร เพราะหากให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา ก็ต้องลงพื้นที่ไปดู จะมานั่งเรียกประชุมไม่ได้ เมื่อลงพื้นที่ไป ก็เห็นความตื่นตัว ทั้งผอ.และส.ก.เขตในพื้นที่ นอกจากนี้ยังไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ด้วย ไม่ได้ลงไปสั่งการ แต่ไปเก็บข้อมูลและสังเกตเพื่อเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง หน้าที่ไม่ได้ลงไปเข็นรถ แต่รถเสียอยู่ เราก็ช่วยแบ่งแรง เมื่อลงไปอยู่หน้างาน ทุกคนเท่าเทียมกัน เมื่อเห็นปัญหาก็เข้าไปช่วย อย่ามาพูดว่าเป็นผู้ว่าฯ แล้วมาเข็นรถทำไม แต่มันคืองานที่เจอหน้างาน สไตล์การทำงานใครสไตล์มัน แต่ถ้าไม่ชอบก็รอคนที่ทำอีกแบบ แต่นี่คือสไตล์ตน จะเห็นว่าลงพื้นที่ไปไม่มีประชาชนด่า แต่กลับดีใจที่เห็นผู้ว่าฯ ลงมา ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ ไม่ใช่แค่การดูน้ำ แต่ยังมีมิติอื่น เช่น การขนส่งคน การจราจร การประชาสัมพันธ์ ซึ่งการลงพื้นที่ไป จะทำให้เห็นปัญหาในภาพรวม เพื่อนำมากำหนดนโยบายในการบูรณาการให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามการทำงานทุกคนต้องขยันขึ้น ผอ.เขตต้องลงพื้นที่ เราลงเขตได้ ทุกคนก็ต้องลง ตนรู้ปัญหาละเอียด หากถามแล้วตอบไม่ได้ ก็มีปัญหา จึงต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของราชการ ซึ่งทำให้เห็นความตื่นตัว เชื่อว่าข้าราชการเก่ง แต่ขอให้มีวิธีคิดที่ถูกต้อง ไม่ต้องสนใจผู้ว่า แต่ขอให้ลงไปแก้ปัญหาให้ประชาชน แล้วไปเจอกันหน้างาน มีอะไรรายงานให้ฉะฉานให้เข้าใจปัญหา เท่านี้คือสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการที่ตั้งไว้ 216 โครงการ มากกว่าครึ่งขยับหมดแล้ว โดยเน้นแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ขณะเดียวกันเส้นเลือดใหญ่ ก็ไม่ได้ละเลย

ลาดกระบังฝนเท 135 ม.ม.
ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนภัยประชาชนนั้น ด้วยรูปแบบ กทม.บริบทต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องมีวิธีการสื่อสารให้ดีขึ้น จึงสั่งให้ปรับรูปแบบการประชาสัมพันธ์ แต่ปัจจุบันแต่ละเขต มีการแจ้งเตือนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเขตที่อยู่ริมเจ้าพระยา

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.จะประสาน จส.100 และสวพ. 91 แจ้งเตือนประชาชนพื้นที่ฝนตกและน้ำท่วมขัง เพื่อให้วางแผนการเดินทางล่วงหน้าด้วย ขณะเดียวกันจะเร่งระบายน้ำในคลองสายหลักออกแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุด เพราะแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา มีความสูง 3 เมตร ปัจจุบันอยู่ที่ 2.04 เมตร

ด้านนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกทม. กล่าวว่า สนน. สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทหาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ขณะที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เวลา 07.00 น. วันเดียวกัน มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนรวมสูงสุดที่จุดวัด ประตูระบายน้ำคลองประเวศฯ เขตลาดกระบัง 135.0 ม.ม. จุดวัด ค.บึงใหญ่-วัดทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี 99.5 ม.ม. จุดวัด ปตร.คลองลาดพร้าว เขตวังทองหลาง 64.5 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตสะพานสูง 64 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตลาดพร้าว 50.5 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วม 2 จุด ได้แก่ ที่ซ.อินทามระ 45-ซ.อินทามระ 53 ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง และ ถ.พัฒนาการ ซ.54 ถึงตัดถ.ศรีนครินทร์

ต่อมา เวลา 12.00 น. เกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง อ.ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี อ.เมือง จ.ปทุมธานี ต่อเนื่องเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางเขน คลองสามวา จตุจักร บางซื่อ บางพลัด ลาดพร้าว หนองจอก ลาดกระบัง ห้วยขวาง ดินแดง วังทองหลาง คันนายาว บึงกุ่ม บางกะปิ ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี พระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท บางขุนเทียน ทุ่งครุ และแนวริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง โดยปริมาณฝนสูงสุดเขตหลักสี่ 77 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง 4 จุด ได้แก่ หน้าศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะขาออก เขตหลักสี่ 2. หน้าห้างโลตัส ถ.แจ้งวัฒนะ ขาเข้า เขตหลักสี่ 3.หน้ามณฑลทหารบกที่ 11 ถ.แจ้งวัฒนะขาออก เขตหลักสี่ และ 4.หน้าหมอชิตใหม่ ถ.กำแพงเพชร2 เขตจตุจักร

ส่วนระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ ที่ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤต +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.76 ม.รทก. ระดับเตือนภัย ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤติ +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.03 ม.รทก. ระดับวิกฤต ประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤติ +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.58 ม.รทก. ระดับเตือนภัย

เหล่าทัพ-ตร.ระดมช่วยท่วม
ที่กองทัพอากาศ (บก.ทอ.) กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 6 โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และรองผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าร่วมประชุม

พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยหลังการประชุม ว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เหล่าทัพ สตช. ได้ให้ความสำคัญและหารือเป็นวาระเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กทม.ปริมณฑล และต่างจังหวัด แม้จะเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ซ้ำรอยเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ไม่ประมาทได้เตรียมพร้อมในเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย และติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดภัยก็จะแจ้งเตือนโดยใช้การสื่อสารของทหารที่มีอยู่ในกองทัพและให้หน่วยทหารแจ้งเตือนประชาชนและระดมยุทโธปกรณ์ในการเปิดทางน้ำและหากเกิดภัยพิบัติ ให้ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในการออกไปช่วยเหลือประชาชนและเตรียมแผนฟื้นฟูหลังน้ำลดในขณะที่แผนระยะยาวก็ให้บูรณาการกับทุกหน่วยงานเช่นขุดลอกคูคลอง

เน้นกู้รถเสีย-เคลียร์จราจร
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจราจรทุกพื้นเตรียมรับมือฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน จัดชุดช่วยเหลือชาวบ้านที่รถเสีย ไม่ให้กีดขวาง ซ้ำเติมสภาพการจราจร กำชับให้เร่งออกช่วยเหลือประชาชนจนกว่าจะพ้นช่วงมรสุม ซึ่งคาดว่าจะถึงวันที่ 9 ก.ย. ให้ตำรวจจราจรทุกพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก จัดชุดช่วยเหลือประชาชนที่รถเสีย หรือรถดับกีดขวางพื้นที่ผิวการจราจร ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสภาพการจราจรให้ติดขัดหนักขึ้นไปอีก

“ช่วงฝนตกหนักตำรวจอาจไม่ได้ยืนตามสี่แยกไฟแดงเหมือนช่วงเวลาปกติ แต่จะเน้นไปที่การช่วยเหลือรถเสีย เป็นหลัก ตำรวจมีหน้าที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหานำรถออกจากพื้นผิวการจราจรให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้การจราจรติดขัดมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังต้องคอยดูสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่อาจโดนกระแสน้ำ หรือลมพัดมาตกในพื้นผิวถนน เช่น ป้ายต่างๆ แผงเหล็ก หรือกรวยยางจราจร เพราะหากมีปัญหาเพียงจุดเดียว จะเกิดผลกระทบกับการจราจรในภาพรวมทั้งหมด ทั้งนี้หากพบอุบัติเหตุ หรือรถเสีย สามารถแจ้งสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193, สายด่วนกรมทางหลวง 1586 หรือ สายด่วน บก.จร. 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าว

ศธ.ให้ร.ร.ประเมินปิดรั้ว
ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 236 แห่ง ใน 88 เขตพื้นที่การศึกษา โดยในจำนวนนี้มี 2 โรงเรียน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังให้นักเรียนเข้าไปเรียนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้ผู้บริหารต้นสังกัดของสถานศึกษาต่างๆ ลงไปช่วยเหลือดูแล และเร่งจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซม และให้สถานศึกษาประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และหากมีความจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอน ก็ให้ตัดสินใจได้และจัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่น หรือมีจัดเวลาเรียนชดเชย เพื่อไม่ให้เด็กเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย

ขณะที่นายอธิพงษ์ ตันศิริ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอแกลง จ.ระยอง ได้รับแจ้งว่าเกิดกระแสน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและฟาร์มไก่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ในพื้นที่ ต.บ้านนา ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง จึงพร้อมด้วยกำนันบุญสืบ แกล้วกล้า กำนัน ต.กระแสบน นายสมคิด ปราดเปรื่อง กำนัน ต.บ้านนา และเจ้าหน้าที่ อส.อำเภอแกลง เจ้าหน้าที่กู้ภัยพุทธศาสตร์สงเคราะห์ และภาคเอกชน เดินทางไปตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ

ไก่ตายยกฟาร์ม 1.4 แสนตัว
จากการตรวจสอบพบว่า ต.กระแสบน พบมีทั้งหมด 5 หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง ส่วนที่ ต.บ้านนา มีพื้นที่ทั้งหมด 13 หมู่บ้านถูกน้ำท่วม ถนนสายอู่ทอง ซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้าหมู่บ้าน สัญจรไม่ได้

เจ้าหน้าที่อส.และกู้ภัย ใช้เรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่ถูกตัดขาดได้ปลอดภัยทั้งหมด

นอกจากนี้ยังพบว่าฟาร์มเลี้ยงไก่ของนายบุญสืบ กำนัน ต.กระแสบน ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายทั้งหมด เข้าไปตรวจสอบพบว่าไก่ที่เลี้ยงไว้ 6 โรงเรือนถูกน้ำท่วมตายทั้งหมด โดยมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร

กำนันบุญสืบกล่าวว่า ไก่ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด 6 โรงเรือน จำนวน 140,000 ตัว ตายทั้งหมด หลังกระแสน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ช่วยอะไรไม่ได้เลย น้ำมาเร็วและแรงมาก นอกจากไก่ตายโรงเรือนยังได้รับความเสียหายด้วย รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ส่วนซากไก่ ได้มีผู้มาขอรับซื้อไปทำอาหารเลี้ยงปลาดุกแล้ว ในพื้นที่ ต.บ้านนา และ ต.กระแสบน ขณะน้ำยังคงมีระดับที่สูงอยู่ และอาจขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ ถ้าฝนยังคงตกลงไม่หยุด โดยมีการเปิดจุดให้ความช่วยเหลือตรงบริเวณปั๊มตายายเก่า สี่แยกโพธิ์ทอง ถนนสุขุมวิท ต.บ้านนา

ส่วนในพื้นที่หมู่บ้านธงหงษ์ หมู่บ้านท่าเรือแกลง ต.กระเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ที่เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ถูกน้ำท่วมหนัก ขณะนี้น้ำลดลงหมดแล้ว แต่ก็ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก จึงอาจจะเกิดน้ำท่วมซ้ำขึ้นอีก

เร่งอพยพ 2 หมื่นบ้าน
ต่อมานายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้เดินทางไปบริเวณศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม สี่แยกอู่ทอง ต.บ้านนา โดยนายชาญนะกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าน้ำได้ท่วมในพื้นที่ ต.บ้านนา ทั้งตำบล ซึ่งได้ส่งเรือเข้าไปช่วยชาวบ้านออกมาได้แล้ว โดยเฉพาะเด็กและคนชรา ซึ่งได้ไปยังที่พักพิงชั่วคราวที่ โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร ส่วนที่ยังเหลือติดค้างอยู่จะเป็นผู้ที่ห่วงทรัพย์สิน ซึ่งกำลังทยอยเข้าไปรับออกมาทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ยังไม่ลดลง เนื่องจากการระบายสู่ทะเลได้น้อย เพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน และน้ำจากภูเขาก็ยังคงไหลลงมาเติมตลอดเวลา เพราะฝนยังคงตกลงมาตลอด เบื้องต้นได้ประสานทางกองทัพเรือภาค 1 และ อบจ.ระยอง มาช่วยสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากแม่น้ำประแสร์ออกสู่ทะเล เพื่อระบายมวลน้ำที่ไหลงลงมาจากภูเขาและน้ำจากฝนที่ตกลงมา

“สถานการณ์น้ำท่วมของระยองนับว่าหนักสุดในรอบ 10 ปี โดยขณะนี้เกิดผลกระทบแล้ว 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.บ้านค่าย บางส่วน อ.วังจันทร์ และ อ.แกลง ซึ่งยังคงเหลือ อ.แกลง ที่ยังคงได้รับกระทบหนัก ส่วนอีก 3 อำเภอเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่เพราะถ้าฝนยังคงตกลงมา ก็อาจท่วมซ้ำอีก” นายชาญนะกล่าว

ฝนซัดเกาะช้าง-ดินถล่มทับยาย
ด้าน อ.เกาะช้าง จ.ตราด หลังจากเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องกันกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าลงมาจากเขาลงมาตามลำธารและลงมาบริเวณพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งบ้านหาดทรายขาว, บ้านไชยเชษฐ์ และบ้านคลองสน ทำให้ถนนหน้าหาดทรายขาวมีน้ำท่วมสูงกว่า 80 ซ.ม. ยาวเกือบ 1 ก.ม. รถยนต์เดินทางไปมาไม่ได้ ขณะที่บ้านไชยเชษฐ์ก็มีน้ำท่วม โดยบริเวณสะพานคลองพลูที่ข้ามไปยังบ้านคลองพร้าวน้ำป่าไหลลงมาจากน้ำตกคลองพลูอย่างรุนแรง และมีปริมาณมากทำให้ท่วมสะพานในระดับความสูง 30-50 ซ.ม. รถยนต์สัญจรผ่านได้ลำบาก นอกจากนี้ที่บ้านคลองสน มีระดับน้ำในคลองสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนหลายหลัง ชาวบ้านต้องรีบขนทรัพย์สินขึ้นไว้บนที่สูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่น้ำท่วมหลายพื้นที่อยู่นั้น เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยุกู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือแจ้งว่ามีดินสไลด์ที่ห้องเช่า หน้าภูธาร เกาะช้าง รีสอร์ท แอนด์ สปา หมู่ 4 หาดคลองพร้าว มีคนติดอยู่ภายใน จึงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันภัยของเทศบาลตำบลเกาะช้างเข้าไปช่วยเหลือ พบหญิงอายุกว่า 70 ปีถูกดินทับร่างระหว่างนอนอยู่ในห้องพัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมงจึงช่วยคุณยายออกมาได้ นำตัวส่ง ร.พ.เกาะช้างอินเตอร์เนชั่นแนล ได้อย่างปลอดภัย

นายเพิ่มศักดิ์ ธรรมสาคร อายุ 61 ปี อาชีพทนายความ ที่มีบ้านอยู่ติดกับคุณยายคน ดังกล่าว เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามืดมีฝนตกหนักมาก และก่อนที่ดินสไลด์ลงมา และได้ยินเสียดังตูมคล้ายระเบิดและพื้นบ้านสั่นสะเทือนมีสิ่งของพุ่งเข้ามาทับที่ขาคิดว่าต้องตายแล้ว แต่เมื่อดินสไลด์ยุติลงจึงดิ้นออกมาได้ ได้รับบาดเจ็บที่ขานิดหน่อย

ต่อมานายดุสิต สมุทระกพงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เปิดเผยว่า ฝนตกหนักมา 2 วัน และในช่วงหลังเที่ยงคืนมีฝนตกหนักต่อเนื่องซึ่งเกิน 200 มิลลิเมตร (ม.ม.) ทำให้มีน้ำจำนวนมากไหลจากน้ำตกหลายแห่งในเขตอุทยานฯ ทั้งน้ำตกธารมะยม และน้ำตกคลองพลู มีปริมาณน้ำสูงและไหลลงมาในพื้นที่ด้านล่าง โดยเฉพาะที่น้ำคลองพลูระดับสูงท่วมสะพานข้ามข้ามบ้านไชยเชษฐ์และบ้านคลองพร้าวกว่า 50 ซ.ม. ทำให้รถยนต์เดินทางไปมาลำบาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ขณะที่บ้านเรือนบริเวณน้ำตกคลองพลูที่เคยถูกน้ำพัดได้รับความเสียหายเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังไม่มีความเสียหายใดๆ แต่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไว้ทุกจุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยหลายจุดในพื้นที่ เนื่องจากฝนยังตกอยู่ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่อาจเกิดน้ำท่วมได้อีกครั้ง

ส่งจนท.เฝ้าระวัง 3 พื้นที่เสี่ยง
ด้านนายธีระศักดิ์ สรวมชีพมาเสือ รองนายกเทศบาลตำบลเกาะช้าง กล่าวว่า ฝนตกลงมาอย่างหนัก 2 วันในพื้นที่เกาะช้าง ส่งผลให้เกิดดินสไลด์ในถนนสายคลองสน-หาดทรายขาว 3-4 จุด ซึ่งนายสัญญา เกิดมณี นายกทต.เกาะช้างได้นำกองช่างมาซ่อมแซมชั่วคราวเพื่อรอการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ก่อนซ่อมแซมอย่างถาวรต่อไป ส่วน รีสอร์ตและบ้านพักด้านล่างที่ติดกับภูเขา และโรงแรมเคซีแกรนด์เกาะช้าง ได้ช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวออกมาจากพื้นที่แล้ว จากที่ดินสไลด์ลงจากถนนที่ทรุดลงไปและลงไปยังบังกะโลและห้องพัก รวมทั้งร้านอาหารด้านล่างซึ่งมีอยู่ 3 เจ้าของรวม 20 ห้อง ? รีสอร์ตดังถล่มซ้ำรอยปี 53

ขณะที่นายดุสิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และนายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราด ได้เดินทางลงไปสำรวจความ เสียหายในพื้นที่ประสบภัยพร้อมติดตามความช่วยเหลือที่นำมาให้

สำหรับห้องพักและรีสอร์ตบริเวณนี้ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2553 เคยเกิดดินสไลด์ทับแรงงานชาวกัมพูชา 2 คน เสียชีวิตไป 1 คน เนื่องจากด้านหลังของห้องพักและรีสอร์ตเป็นที่ต่ำและด้านหลังเป็นภูเขา ซึ่งด้านบนเป็นถนนที่ข้ามมาจากบ้านคลองสนเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะช้างทั้งหาดทรายขาว และหาดคลองพร้าว อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงไปสำรวจพื้นที่ซึ่งต้องเดินทางเลาะไปกับชายหาดที่มีคลื่นลมแรงระยะทางประมาณ 1 ก.ม. พบห้องพักและรีสอร์ตจำนวนกว่า 20 ห้องที่ก่อสร้างติดกับชายหาด และหลังเขา มีดินสไลด์ลงมาแทงทะลุใต้ห้องพัก 2 ห้อง และทำให้ห้องพักอีกแห่งเสาชำรุดและเอียงลงด้านขวา โดยมีดินโคลนทะลักลงมาหน้าห้องพักมีความสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งห้องพักบริเวณนี้มีทั้งบาร์เบียร์, ร้านอาหาร ห้องพักจำนวนกว่า 30 ห้องกระจายอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นห้องพักราคาถูกและก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นไม้เป็นหลัก ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3 อำเภอจันท์ท่วมแล้ว
ด้านนายสุธี ทองแย้ม ผวจ.จันทบุรี พร้อมด้วยนายอำเภอเขาคิชฌกูฏ ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำที่สะพานวัดกระทิง ต.พลวง ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำจันทบุรี โดยพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไหลเชี่ยวกรากเอ่อล้นเข้าท่วมวัดกระทิงแล้ว

นายสุธีกล่าวว่า มีน้ำท่วม 3 อำเภอคือ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.แก่งหางแมว และ อ.ท่าใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เขาคิชฌกูฏ ต.ชากไทย มีพื้นที่น้ำท่วมขัง ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 8 ตำบลพลวง มีพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ หมู่ 2, 3 ,4, 5, 7 และหมู่ 10 โดยเฉพาะบริเวณใกล้แม่น้ำจันทบุรี และสะพานวัดกระทิง ต.ตะเคียนทอง มีพื้นที่น้ำท่วมขัง พื้นที่หมู่ 5 ต.คลองพลู มีพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ หมู่ 1, 2, 3, 4 และ หมู่ 9 และ ต.จันทเขลม มีพื้นที่น้ำท่วมเอ่อล้นในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ทั้งนี้มวลน้ำจากอำเภอเขาคิชฌกูฏจะไหลไปที่ฝาย ท่าระม้า ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองจันทบุรี

ทั้งนี้ ตัวเมืองจันทบุรี และคลองภักดีรำไพ รองรับมวลน้ำได้ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้กำลังให้โครงการชลประทานจันทบุรีคำนวณน้ำที่ไหลผ่านฝายท่าระม้าว่ามีจำนวนเท่าไรต่อวินาที หากเกิน 700 ลบ.ม. อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองได้ ซึ่งได้แจ้งเตือน ให้ประชาชนในทุกพื้นที่เตรียมความพร้อม ขนของขึ้นที่สูง ป้องกันความเสียหาย และติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด

ด้าน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว หลังเกิดฝนตกหนักเกือบทั้งคืน ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ หลายตำบล โดยบริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 317 น้ำได้ทะลักเข้าท่วมเต็มผิวจราจร สูงกว่า 20 ซ.ม.ทั้งสองฝั่ง ช่วงบ้านวังเจริญ, บ้านวังแดง, ระยะทางยาว 500 เมตร ถนนสาย 317 เขตอำเภอวังน้ำเย็น บริเวณสหกรณ์เฟอร์นิเจอร์ไม้วังน้ำเย็น น้ำท่วมถนน 2 ฝั่ง รถยนต์ยังสามารถสัญจรไปมาได้ ระดับน้ำยังไม่ลดและยังคงท่วมขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ซึ่งจากการสำรวจโดยรวมพบว่าปริมาณน้ำตามลำคลองเริ่มเอ่อล้นฝาย เข้าท่วมพื้นที่ใกล้เคียงหลายจุดเพิ่มเติม

ทั่วปท.จมแล้วกว่า 1.6 ล้านไร่
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 7 จังหวัด รวม 18 อำเภอ 138 ตำบล 734 หมู่บ้าน แยกเป็น อิทธิพลจากร่องมรสุม ส่วนสถานการณ์อุทกภัยซึ่งผล กระทบจากพายุหมาอ๊อน (MAON) รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 121 ตำบล 618 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำลดลง

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เปิดเผยข้อมูลดาวเทียม Radarsat-2 และดาวเทียม Sentinel-1 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ว่า พบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วจำนวน 1,655,983 ไร่ ในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำสำคัญที่กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ขณะที่พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้ว 711,235 ไร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน