อยุธยา-ปากน้ำเสี่ยงสูง กรมชลเด้งผอ.น้ำรังสิต

กรมชลประทานเด้งด่วน ผอ.ส่งน้ำรังสิตใต้ เข้ากรุหน้าห้องรองอธิบดี ตั้งกรรมการสอบน้ำท่วมขังรังสิต เมืองปทุมธานี ปัญหาเครื่องสูบน้ำเสียแต่ไม่ซ่อมแซม แถมส่งลูกน้องมาทำงานแทนตัวเอง คลองสิบสอง ลำลูกกา อ่วม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เอ่อล้นตลิ่งจมบ้านกว่า 100 หลัง เร่งอพยพหนีขึ้นที่สูง รมต.สุริยะสั่งป้องกัน 67 นิคมอุตสาหกรรม ที่อยุธยากับสมุทรปราการ หวั่นน้ำทะลักเหมือนปี 54 จับตาฝน-น้ำ 3 เขื่อน เจ้าพระยา-ป่าสักฯ-พระรามหก ใกล้ชิด ผู้ว่าฯ ระยอง ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 4 อำเภอ อ.เมือง-บ้านค่าย- วังจันทร์-แกลง ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรง ยังท่วมขัง ระดมสูบน้ำลงทะเล อุตุฯ เตือนภัยมรสุม ทั่วประเทศฝนยังชุก กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ฝนตกหนักถึงร้อยละ 60-80 ทะเลอ่าวไทย-อันดามัน คลื่นสูง 2 เมตร

ประกาศภัยพิบัติ 4 พื้นที่ระยอง
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. จากสถานการณ์ น้ำท่วมขังในพื้นที่จ.ระยอง หลังจาก ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ประชาชนกว่าพันหลังคาเรือนยังไม่สามารถเกลับเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านได้ เนื่องจากบ้านยังถูกน้ำท่วมขังนั้น นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ประกาศให้พื้นที่ 17 ตำบล ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.บ้านค่าย อ.วังจันทร์ และอ.แกลง รวมทั้งหมด 83 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) หลังประสบน้ำท่วมอย่างรุนแรง จนทำให้บ้านเรือนประชาชนนับหมื่นหลังได้รับความเสียหาย

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ ต.บ้านนา ต.ทุ่งควายกิน และ ต.กระแสบน อ.แกลง ถนนสายสุขุมวิท-บ้านนา น้ำยังคงท่วมขัง รถเล็กยังสัญจรไปมาไม่ได้ นอกจากนี้หลายหมู่บ้านใน 3 ตำบล ยังคงมีน้ำขัง เจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายจังหวัดระดมกำลังเข้ามา ช่วยเหลือ และมอบถุงยังชีพ ส่วนชาวบ้านต่างก็เริ่มทยอยกันเข้าไปในบ้านของตนเอง ทั้งที่น้ำยังท่วมขังอยู่ และยังมีมากกว่า 100 หลังคาเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะทางการ ไฟฟ้าภูมิภาคแกลง ยังไม่จ่ายกระแสไฟ เนื่องจากน้ำยังท่วมขังอยู่ หวั่นเกิดอันตรายจากไฟชอร์ต ส่วนถนนสายหลัก น้ำลดลง สามารถสัญจรไปมาได้ทั้งหมดแล้ว ส่วนที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำประแสร์ ซึ่งน้ำกำลังระบายลงสู่ทะเล ส่งผลให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ยังมีน้ำเอ่อเข้าท่วมขัง ส่วนสถานการณ์ ในพื้นที่ อ.เมือง อ.บ้านค่าย และอ.วังจันทร์ น้ำลดลงจนเกือบหมดแล้วทุกพื้นที่ เริ่มกลับ เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

ขณะที่ชาวบ้านที่ประสบภัยต่างก็ต้องการ ให้ทางภาครัฐ ช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย ของทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้

สั่งป้อง 67 นิคมอุตสาหกรรม
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวง อุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับวิกฤตอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ประกอบการเหมือนในอดีต โดยได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้คอยติดตามและเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ กรณีที่อาจมีฝนตกหนัก อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, บ้านหว้า (ไฮเทค) และนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ และติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความเสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ พื้นที่อยู่ใกล้ทะเลและอยู่ใกล้กับชุมชนที่อาจเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง

“ผมได้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรม ให้ติดตามน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนบางนิคมฯ มีการสร้างเขื่อนกันน้ำไว้ล่วงหน้าให้ติดตาม การระบายน้ำทั้ง 3 เขื่อนอย่างใกล้ชิด ได้แก่เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 พร้อมทั้งให้มีการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ การพร่องน้ำในนิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อเป็นแก้มลิงรองรับน้ำ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ เพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สำรองต้องพร้อมใช้งาน 100% พร้อมประสาน เตรียมเครื่องสูบน้ำสำรองจากภายนอก ทั้งแบบใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้าเข้ามา สนับสนุนทันที และทุกนิคมอุตสาหกรรม ต้องซ้อมแผนประสบอุทกภัยเป็นประจำ กรณีที่เสี่ยงว่าจะเกิดอุทกภัย ต้องรายงานผู้บริหารทราบ มีการติดตามสภาพอากาศและคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และมั่นใจมาตรการดังกล่าวจะรับมืออุทกภัยได้” นายสุริยะกล่าว

เด้งผอ.ส่งน้ำรังสิตใต้
ขณะที่ กรมชลประทาน มีคำสั่ง 485/2565 ย้าย นายโบว์แดง ทาแก้ว ผอ.โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 กรมชลประทาน ไปทำหน้าที่หน้าห้อง รองอธิบดี กรมชล ประทาน (นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล) ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการคาดการน่าจะเกิดมาจากปัญหาเครื่องสูบน้ำที่ประตูน้ำจุฬา ลงกรณ์ (ประตูดำ) ที่เสียจนไม่สามารถ ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิด น้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก








Advertisement

อธิบดีสั่งตั้งกก.สอบ
นายประพิศ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คำสั่งย้ายนายโบว์แดง ผอ.โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 กรมชลประทาน ให้ทำ หน้าที่หน้าห้องนายทวีศักดิ์ รองอธิบดีกรมชลประทานนั้น เป็นการให้กลับไปทำงาน ภายใต้สายบังคับบัญชา และให้นายทวีศักดิ์ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสาเหตุที่เกิดน้ำท่วมขังที่พื้นที่รังสิตเนื่องจาก เครื่องสูบน้ำเสีย ไม่พร้อมใช้งาน เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำงานของกรมชลฯ

“ก่อนหน้านั้นในฐานะอธิบดีกรมชลฯ ผมได้สอบถามตลอดว่าเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานหรือไม่ สำนักงานชลประทาน เขต 11 ก็ตอบว่าพร้อม เมื่อตอบว่าพร้อมหมายถึงเครื่องมือพร้อม หากมีน้ำฝน หรือน้ำเหนือมาต้องพร้อมใช้งาน แก้ปัญหา สูบน้ำได้ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นเครื่องมือ กลับทำงานไม่ได้ เรื่องนี้ถือว่านายโบว์แดงบกพร่องในหน้าที่ ในวันที่ฝนตกหนัก ผมลงพื้นที่รังสิตในพื้นที่น้ำท่วม เมื่อเครื่อง สูบน้ำใช้งานไม่ได้ กรมชลประทานได้ขนเครื่องสูบน้ำเพื่อติดตั้งจนครบ 20 เครื่อง และใช้ในการสูบน้ำระบายน้ำท่วมขัง ลงคลองรังสิต” นายประพิศกล่าว

ขณะนี้ระดับน้ำลดลงเป็นลำดับ ลุ้นแค่ไม่มีฝนใหม่ลงมาเติม เพราะน้ำที่ท่วมรังสิต ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มาจากน้ำเหนือ ทั้งหมด เกิดจากน้ำฝน กรมชลประทานได้วางแผนเตรียมรับมือมาก่อนหน้าฝนแล้ว และได้สอบถามความพร้อมของชลประทาน ทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการส่งน้ำและบำรุง รักษารังสิตใต้ ก็ได้รับคำตอบว่าพร้อม แต่ถ้าจะอ้างว่าเงินไม่มีซ่อมเครื่องสูบน้ำ ทำไมไม่เบิก เรื่องการบริหารเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อเตรียมรับน้ำฝน น้ำเหนือ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ ทำไมชลประทาน อื่นๆ เขาตั้งเบิกงบประมาณ เพื่อซ่อมบำรุง ทำไมที่นี่ไม่เบิกงบประมาณซ่อม

น้ำท่วมแต่ไม่มาทำงาน
“ช่วงฝนตกผมกับทีมชลประทานลงพื้นที่ ทำงานตีหนึ่ง ตีสอง ไม่พบนายโบว์แดงในฐานะผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้มาทำงาน แต่ส่งลูกน้องมาทำงานแทน ที่ผ่านมาสอบถามตลอดพร้อมรับมือน้ำฝนไหม ก็ตอบว่าพร้อม เมื่อเกิดเหตุเครื่องมือใช้งานไม่ได้ มันบกพร่องต่อหน้าที่ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกรมชลประทาน เรื่องของประชาชนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” นายประพิศกล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานมีคำสั่งย้ายนายโบว์แดง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 กรมชลประทาน ให้ทำหน้าที่หน้าห้องรองอธิบดี คือหน้าห้องตน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ส่วนเหตุผลการย้ายนายโบว์แดงด่วนนั้น ส่วนตัวไม่รู้สาเหตุว่าเกี่ยวกับน้ำท่วมรังสิตหรือไม่

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า การที่น้ำท่วม แถวรังสิตนั้นเกิดจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน แต่กรมชลประทานและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งแก้ปัญหาระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา ออกทางนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทย ส่วนภาคตะวันออกต้องยอมรับปีนี้หนักเพราะปริมาณ ฝนตกค่อนข้างมาก และฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ต้องกังวล ขณะนี้เครื่องมือ ในการระบายน้ำมีค่อนข้างพร้อม ส่วนใหญ่ เป็นคูคลองธรรมชาติ ซึ่งท้องถิ่นดูแล ที่เชื่อม กับคูคลองธรรมชาติ เช่น คลองพระยาบรรลือ และคลองพระพิมล

แหล่งข่าวโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา รังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 กรมชลประทาน กล่าวว่า การที่น้ำท่วม ในพื้นที่รังสิตเนื่องจากเครื่องสูบน้ำเสีย ไม่สามารถทำงานได้ในช่วงที่ฝนตกหนัก เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนทำงาน เนื่องจากการซ่อมเครื่องสูบน้ำต้องใช้เงิน ถ้าไม่มีเงินแล้วจะซ่อมได้อย่างไร

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต พบว่า ระดับน้ำภายในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีระดับน้ำอยู่ที่ 1.8 เมตร ลดลงจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีฝนตกลงมา โดยบริเวณถนนเลียบคลองรังสิต รวมไปถึงซอย ที่ติดริมคลอง ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นจุดๆ รถเล็กสัญจรผ่านได้ ส่วนที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์น้ำท่วม เทศบาลนครรังสิต ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพบก และ เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพเรือ ช่วยเหลือประชาชนกรอกกระสอบทราย ไว้ให้กับ พี่น้องประชาชนที่ต้องการนำกระสอบทรายไปกั้นน้ำเพื่อไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือนของตัวเอง และจัดรถขนคนเข้าตามตรอกซอยที่มียังมีน้ำท่วมขัง นอกจากนี้จากการตรวจสอบบริเวณทางขึ้น ทางยกระดับ อุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่มาจาก ถนนรังสิต-นครนายก ก็ได้มีประชาชน นำรถยนต์มาจอดอยู่บริเวณช่องซ้ายสุดยาวเกือบถึงบนด่วนโทลล์เวย์ เนื่องจากเกรงว่าน้ำจะท่วมทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย

จมบาดาล – สภาพถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนบางเขน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า วัดพระศรีมหาธาตุ น้ำท่วมสูงหลังมีฝนตกหนักในช่วงเย็น วันที่ 10 ก.ย. ทำให้ การจราจรติดขัดยวดยานเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.

คลองสิบสองอ่วมจม 100 หลัง
ส่วนสถานการณ์ล่าสุดบริเวณริมเขื่อนสะพานแดง ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี วันเดียวกันระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ทรงตัว ขณะที่ถนนเลียบ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณชุมชนริมเขื่อนสะพานแดง ที่ถือว่าเป็นจุดวิกฤตที่สุด รถไม่สามารถผ่านไปมาได้นั้น รถสามารถผ่านไปมาได้ตามปกติแล้ว เนื่องจากระดับน้ำลดลง โดยมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครรังสิตคอยอำนวยความสะดวกอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศบาลนครรังสิต พร้อมผู้บริหารและหน่วยงานพัฒนาชุมชน ได้นำถุงยังชีพจำนวน 500 ชุดไปแจกจ่ายให้กับประชาชนชุมชนมิตรสัมพันธ์ ชุมชนเดชาพัฒนา ชุมชนเสนาวิลล่า ในพื้นที่ของ ทน.รังสิต ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม

ขณะที่มวลน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ที่ผันออกคลองสิบสอง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้เอ่อไหลท่วมถนนเลียบคลอง สิบสองหลายจุดและเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ติดริมคลองกว่า 100 หลังคาเรือนต่างก็ได้รับผลกระทบแล้ว โดยน้ำได้เอ่อทะลักเข้าภายในบ้านต้องขนย้ายของหนีน้ำจ้าละหวั่นมาไว้นอกบ้านและมีชาวบ้านบางรายไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ ต้องออกมานอนอยู่ภายนอกบ้าน ขณะที่นายเชลล์ นาคมอน อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13/6 หมู่ 12 ต.ลำไทร อ.ลำลูกกา เผยว่าน้ำจากคลองสิบสองเอ่อท่วมเข้าบ้านตนเองจนต้องขนของหนีน้ำ อยากจะฝากวอนอบต.ลำต้นไทรว่า อยากได้เตียงนอนเพื่อนำมาให้ลูกที่พิการติดเตียงยกให้สูงพ้นน้ำ มากกว่ากระสอบทราย เนื่องจากอีกไม่นาน น้ำคงเอ่อท่วมเข้าบ้านจนนอนไม่ได้

8 จังหวัดยังท่วมขัง
ด้านตลาดรังสิต ยังคงมีน้ำท่วมขังรอการ ระบายอยู่หลายจุด ประชาชนที่เดินทาง มาจับจ่ายซื้อของภายในตลาดได้ตามปกติ ขณะที่บริเวณใต้สะพานกลับรถรังสิตยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ แต่ไม่สูงมาก รถยนต์สามารถ วิ่งผ่านได้ ส่วนหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ระดับน้ำภายในหมู่บ้านแห้งจนหมดแล้ว ในส่วนของตามซอยรังสิตนครนายกมุ่งหน้าจากคลองหนึ่งไปถึง คลองสี่ตามซอกซอยต่างๆ ยังมีน้ำท่วมขังรอการระบายลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์

วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุม ตั้งแต่วันที่ 4-10 ก.ย. มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 23 จังหวัด รวม 41 อำเภอ 76 ตำบล 319 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,126 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 19 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ปทุมธานี ระยอง จันทบุรี รวม 14 อำเภอ 40 ตำบล 220 หมู่บ้าน

ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากพายุ หมาอ๊อน (MAON) ประกอบมรสุมตะวันตก เฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง การระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงมี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี (อ.เมือง และอ.สามโคก) รวม 13 อำเภอ 116 ตำบล 596 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำลดลง

กำชับเหล่าทัพช่วยระบายท่วม
ด้านพล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ได้สั่งการ ทุกเหล่าทัพ สนับสนุนรัฐบาล โดยกระจายกำลังพล เครื่องมือช่าง ยานพาหนะ ทั้งรถและเรือ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องสูบน้ำและเรือดันน้ำ รวมทั้งชุดกู้ภัยและชุดแพทย์ เคลื่อนที่ เข้าไปเสริมทำงานร่วมกับหน่วยงาน หลักโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของแต่ละจังหวัดและจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่วิกฤต ที่น้ำป่าไหลหลากเกิดน้ำท่วม ฉับพลัน พื้นที่เขตเมืองและชุมชนที่น้ำท่วมขังสูง เส้นทางที่ถูกตัดขาด บ้านเรือนประชาชนที่ชำรุดเสียหาย ทั้งการแจ้งเตือน ช่วยยกของ ขึ้นที่สูง อพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง เข้าพื้นที่ปลอดภัย จัดทำคันกั้นน้ำ การเปิดทางน้ำและเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังลงแม่น้ำสายหลัก

สำหรับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการเพิ่มเติมให้ทุกเหล่าทัพ เกาะติดเฝ้าระวังสถานการณ์ น้ำและสภาพอากาศต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ให้สนับสนุน กทม. เร่งลอกสวะจำนวนมาก ที่อุดตันทางน้ำ ทั้งช่องและท่อระบายน้ำตามถนน รวมถึงเศษสวะที่ขวางทางน้ำ คูคลองและประตูระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำสายหลัก และขอให้เข้าไปช่วยดูแลศาสนสถานและโรงเรียนที่ได้รับผล กระทบ รวมทั้งให้แบ่งมอบพื้นที่ จัดยานพาหนะเข้าเสริมรถสาธารณะ อำนวยความสะดวกกระจายรับส่งประชาชนจากระบบขนส่งสาธารณะเข้าพื้นที่

เมืองบาดาล – สภาพน้ำท่วมสูงในเขตเทศบาลเมืองเลย หลังเกิดฝนฟ้าคะนองกระหน่ำลงมานานประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากมีขยะจำนวนมากอุดตันท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.

ทั่วประเทศฝนยังชุก
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่าง 10-16 ก.ย. โดยคาดหมายว่า ช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออก เฉียงเหนือในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทย ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ส่วนช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. ร่องมรสุม ที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยง การเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ทะเลคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้า คะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง, ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. มีฝน ฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝน ตกหนักบางแห่ง, ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2 เมตร, ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูง 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณ ที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้า คะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง

เตือน 4 จังหวัดรับน้ำมูนเอ่อ
ขณะที่ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำ บริเวณแม่น้ำมูน โดยระบุว่า จากการติดตาม สถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูนตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนได้เพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำมูนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วง วันที่ 9-12 ก.ย.จะมีฝนตกหนักบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชล ประทานพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100-1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งทำให้ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี อยู่ที่ 2,500-2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 0.30-0.50 เมตร แต่ไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำ ที่เตรียมป้องกันไว้แล้ว

จากสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิด น้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูน จ.อุบลราชธานี เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือ ได้ทันที และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

โคราชตั้งกาลักน้ำ-รับฝนเทซ้ำ
ส่วนสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง มีปริมาณเกินความจุเก็บกักอยู่ที่ 24.28 ล้านลบ.ม. หรือ 103.57% ซึ่งเกินความจุระดับน้ำเก็บกัก และมีน้ำไหลล้นทางระบายน้ำฉุกเฉิน 0.68 ล้านลบ.ม. ต้องเร่งระบายน้ำออก 0.24 ล้านลบ.ม. และทางโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมาได้ใช้วิธีติดตั้งกาลักน้ำ เพิ่มการระบายน้ำ ลงท้ายอ่างฯ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการพร่องน้ำ สำหรับเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน