กรมชลฯเร่งระบาย เฝ้าระวังเจ้าพระยา ห่วงเอ่อพื้นที่ลุ่มต่ำ อ่างทองถึงกทม. ‘หมุ่ยฟ้า’ไม่มาไทย

ฝนหนักเทกรุงต่อเนื่อง จม 17 จุด ลาดกระบังยังท่วมขัง กรมชลฯ เร่งระบาย รอรับมวลน้ำก้อนใหม่ กอนช.ให้เฝ้าระวังเจ้าพระยา ห่วงเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งแต่อ่างทอง-ปทุมฯ-นนท์ ยันกรุงเทพฯ อุตุฯ เตือนฝนยังหนัก ให้ทุกภาคระวัง

อุตุฯเตือนยังมีฝนทุกภาค
วันที่ 12 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 12-18 ก.ย. โดยคาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 12-14 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศกัมพูชา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 15-18 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 15-18 ก.ย. ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ชี้‘หมุ่ยฟ้า’ไม่กระทบไทย
กรมอุตุฯ ยังระบุถึงพายุไต้ฝุ่น ‘หมุ่ยฟ้า’ (MUIFA) ว่ากำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ ห่างจากประเทศไทยมาก จึงไม่มีผลกระทบ

ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ของประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ญี่ปุ่น ออกมาเตือนว่า ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า มีความเร็วถึง 144 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลมกระโชกแรง ความเร็วถึง 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยหมุ่ยฟ้าเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 12 ของปีนี้ ที่คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ มุ่งหน้าสู่ชายฝั่งตะวันออกของจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทั้งนี้ก่อนพายุหมุ่ยฟ้าเข้ากระหน่ำญี่ปุ่น ก็มีพายุไต้ฝุ่นหินหนามหน่อ กระหน่ำหลายพื้นที่ทางตะวันตกสุดของเกาะคิวชูในญี่ปุ่น ทำให้เกิดฝนตกหนักและยกเลิกเที่ยวบิน

ท่วมนาข้าว – เขื่อนพิมายเร่งเครื่องผลักดันน้ำระบายลงสู่ลำน้ำมูน ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลหลากเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรที่อยู่ท้ายเขื่อนใน ต.ท่าหลวง ต.ในเมือง และ ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ข้าวนาปีถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก เมื่อวันที่ 12 ก.ย.








Advertisement

ปภ.เผย 31 จว.โดนท่วม
วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุม โดยตั้งแต่วันที่ 4-12 ก.ย. ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และตรัง รวม 72 อำเภอ 139 ตำบล 487 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 56,469 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 13 จังหวัด รวม 28 อำเภอ 58 ตำบล 183 หมู่บ้าน

ขณะที่ผลกระทบจากพายุหมาอ๊อน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 12 อำเภอ 112 ตำบล 606 หมู่บ้าน ดังนี้ อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ รวม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 133 ครัวเรือน, พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน และอ.พระนครศรีอยุธยา รวม 85 ตำบล 506 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 21,554 ครัวเรือน, อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ และอ.ป่าโมก รวม 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 632 ครัวเรือน และปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี และอ.สามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลง

ป้อมยันไม่ซ้ำรอยปี 54
ที่จ.ตาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ภาคเหนือ ว่า สถานการณ์น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน เพียงแค่ฝนตกชุก น้ำเหนือไหลลงพื้นที่ภาคกลางและน้ำไม่ท่วมหนัก ได้กำชับกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลาในเรื่องน้ำว่าให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ในทุกพื้นที่ “ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำไม่ เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน ไม่ท่วมหนัก ถึงขนาดนั้น ยืนยันจะไม่ท่วมทุกพื้นที่”

วันเดียวกัน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก และตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา ได้สั่งการและมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วและทันที ตามขอบข่ายภารกิจ ทั้งที่ประสบเหตุผลผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งการเยียวยาและฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน ในการระดมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเร่งระบายมวลน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร และการบูรณาการร่วมกันจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จัดจุดกระจายการช่วยเหลือแก่เกษตรกรและประชาชน

กอนช.ให้เฝ้าระวังเจ้าพระยา
ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า กอนช.ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 1,900-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40-0.60 เมตร ในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า 2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที 3.ติดตามสถาน การณ์น้ำในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เชียงใหม่มีดินสไลด์
ที่จ.พิจิตร นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผวจ.พิจิตร กล่าวว่า มีมวลน้ำเหนือจากจ.พิษณุโลก และจ.สุโขทัย ไหลบ่าลงมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านหลายอำเภอของจ.พิจิตร มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านอำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และโพทะเล ซึ่งขณะนี้เอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและแผ่ขยายวงกว้าง ในพื้นที่ต.รังนก อ.สามง่าม มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม 3 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย หมูที่ 3, 4 และ 11 กว่า 70 หลังคาเรือน

นอกจากนี้ ระดับน้ำในน้ำน่าน ยังมีแนวโน้มเพิ่มระดับสูงขึ้น ดังนั้น อยากเตือนประชาชนทั้งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ให้เตรียมขนย้าย ย้ายสัตว์ สิ่งของมีค่า ยานพาหะนะ และเครื่องมือทางการเกษตร มาไว้ที่ปลอดภัย เนื่องจากเกรงว่าระดับน้ำอาจล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนได้

ที่จ.เชียงใหม่ เส้นทางระหว่างหมู่ที่ 7 บ้านเสาแดง-หมู่ที่ 1 บ้านขุนแม่รวม ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา ที่เสียหายจาก ดินสไลด์ ปิดเส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้าน สาเหตุจากฝนตกต่อเนื่อง และช่วงคืนที่ ผ่านมา ได้เกิดดินสไลด์ปิดเส้นทางหลายแห่ง รวมถึงสไลด์ทับเสาไฟฟ้าล้มทับต้นไม้ ทำให้ไฟฟ้าดับตลอดทั้งคืนที่ผ่าน ทำให้นักเรียนในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างสอบไม่สามารถขาดเรียนได้ ต้องเดินเท้าไปเรียนในหมู่บ้านใกล้เคียง สำหรับการให้ความช่วยเหลือ อบต.แจ่มหลวง ได้นำเจ้าหน้าที่ ตัดต้นไม้ที่ล้มปิดเส้นทาง และนำรถแบ๊กโฮขนาดเล็ก 2 คัน เปิดเส้นทางเพื่อให้ราษฎร ในพื้นที่สัญจรไปมาได้ ขณะที่เทศบาล ต.แม่อาย อ.แม่อาย มีน้ำป่าล้นลำห้วยน้ำอาย ทั้งคลองหลักและคลองเพื่อการเกษตร ทำให้น้ำไหลเอ่อท่วมทางหลวง 1089 ยาวกว่า 3 กิโลเมตร

ตลาดสายลมจอยท่วมอีก
ที่จ.เชียงราย ฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่องได้ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสายมีระดับน้ำสูงขึ้นอีกครั้ง โดยระดับน้ำได้ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงระดับ 4 เมตร ที่บริเวณใต้สะพานข้ามลำน้ำสายชายแดนไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และทะลักเข้าท่วมถนนและตลาดสายลมจอย โดยระดับน้ำได้เพิ่มระดับสูงขึ้นและเข้าท่วมภายในตลาด ชุมชนเกาะทราย ชุมชนไม้ลุงขน นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายและถุง บิ๊กแบ๊กไปปิดกั้นตามจุดสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามลำน้ำสายที่นำสามารถทะลักเข้าชุมชนได้เป็นบริเวณกว้างเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสายลมจอยและชุมชนริมน้ำสายต่างพากันขนย้ายข้าวของไปไว้บนพื้นที่สูงอีกครั้งหลังจากที่น้ำได้เข้าท่วมบริเวณเดียวกันเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้านชาวบ้านร้องเรียนว่า สัญญาณเตือนภัยบริเวณถ้ำผาจมชำรุดไม่ทำงาน ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาจัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำกันเอง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลด้วย

เขื่อนพิมายเร่งระบายน้ำ
ที่จ.เลย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาด้วง อ.เมืองเลย ในเขตเทศบาลเมืองเลย บริเวณรอบ บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเลย มีผู้ที่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนจากน้ำท่วมแล้วประมาณ 660 ครัวเรือน และในเขตเทศบาลที่เดือดร้อนกว่า 9 ชุมชน 206 ครัวเรือน หรือรวมกว่าประมาณ 1,200 คน ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำเลยที่ผ่านตัวเทศบาลเมืองเลย รอบบริเวณลุ่มต่ำยังมีระดับน้ำที่สูงเป็นวันที่ 2 เนื่องจากระดับน้ำลดลงเพียง 5-10 เซนติเมตร (ซ.ม.)

ที่จ.นครราชสีมา สถานการณ์น้ำใน ลำน้ำมูน พื้นที่ อ.พิมาย เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนพิมาย) จึงเร่งเดินเครื่อง ผลักดันน้ำ 20 เครื่อง ผลักดันน้ำภายในเขื่อนพิมายออกลงสู่ลำน้ำมูลโดยเร็ว หลังจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนพิมายมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำออกเพื่อเตรียมรับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะไหลมาจากพื้นที่ต่างๆ ในจ.นครราชสีมา เนื่องจากเขื่อนพิมายเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากเขื่อนพิมายเร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูนหลากเข้าท่วม นาข้าวของเกษตรกรที่อยู่ท้ายเขื่อนพิมาย ในต.ท่าหลวง ต.ในเมือง และต.รังกาใหญ่ ข้าวนาปีถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้

ด้านอ่างเก็บน้ำห้วยบง อ.ชุมพวง มีปริมาณน้ำอยู่ 14.9 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินความจุกักเก็บคิดเป็น 102.83% จำเป็นต้องระบายน้ำออก ผ่านทางคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ในอัตราที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ แต่ได้ขอให้ในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำฯ เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการระบายน้ำดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน ปภ.นครราชสีมา แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ระดับน้ำท่า ที่มีระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ จึงขอให้อำเภอที่มีเส้นทางของลำน้ำไหลผ่านอำเภอต่างๆ ได้แก่ จักราช เฉลิมพระเกียรติ โนนสูง พิมาย ชุมพวง และเมืองยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำมูลไหลผ่านเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ด้วย

ถนนระยองยังจมน้ำ
ที่จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่อ.บางละมุง มีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำเอ่อขึ้นท่วมอย่างรวดเร็ว ตามถนนเส้นต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่ท่วมขังเป็นประจำทุกครั้งที่ฝนตกลงมาติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง เช่น ถนนเส้นเลียบชายหาดพัทยา ถนนสายสามพัทยาช่วงบริเวณแยกเพนียดช้าง หรือแยกมุมอร่อย ถนนพัทยาใต้ ถนนสุขุมวิท พัทยาใต้ ถนนสุขุมวิทก่อนถึงแยกชัยพฤกษ์ ถนนเลียบทางรถไฟ ช่วงซอยเขาตาโล ถึงซอยวัดธรรมสามัคคี โดยน้ำท่วมขังบนถนนสูงประมาณ 50 ซ.ม.-1 เมตร ในบางช่วง โดยปริมาณน้ำที่ท่วมขังส่งผลให้ถนนบางเส้นเป็นอัมพาต รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ และยังมีรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ฝืนฝ่ากระแสน้ำไปได้รับความเสียหาย จมอยู่ในน้ำโชดดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ยังพบว่ามีรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ได้รับความเสียหายอีกหลายคัน

ที่จ.ระยอง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยกู้ภัยสว่างพรกุศล ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือรถยนต์ที่ถูกน้ำป่าไหลลงมาบนถนนระยอง-ชลบุรี ก.ม.42 บริเวณสามแยกสมเด็จย่า ต.ทับมา อ.เมือง ทำให้น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ระยะทางกว่า 400 เมตร หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักช่วงกลางดึกติดต่อกันหลายชั่วโมง สภาพการจราจรติดกันเป็นแถวยาว แม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่รถเล็กยังผ่านไม่ได้ โดยถนนสายนี้เป็นถนนสายหลัก เข้าออกเมืองระยอง และยังเป็นเส้นทางเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

นายอุทัย นวลมา ปภ.จ.ระยอง กล่าวว่า ยังคงเฝ้าระวังถนนสายนี้ เพราะถ้าฝนตกซ้ำลงมาอีก ระดับน้ำก็คงจะเพิ่มสูงขึ้นอีก สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องหลักเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยบอกเส้นทาง เพื่อให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถูกน้ำท่วม ส่วนรถยนต์ที่ถูกน้ำพัดมี 2 คัน สามารถช่วยไว้ได้แล้ว โดยคนบนรถปลอดภัยทั้งหมด ส่วนในพื้นที่อ.แกลง ขณะนี้ระดับน้ำลด ลงแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ต่ำ ยังคงมีน้ำขังอยู่ หากฝนไม่ตกซ้ำลงมาอีก คงจะ เข้าสู่สภาวะปกติ

‘สจล.’ท่วม – ทางเข้าสถาบันเทคโน โลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภายในมหาวิทยาลัย มีน้ำท่วมขังหลายจุด รวมถึงถนนโดยรอบสถาบันด้วย ทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องประกาศเรียนทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.

สจล.สั่งหยุดเรียนหนีน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พบว่า มีจุดที่ได้รับความเสียหายหลายจุด ทั้งถนน อาคารจอดรถ อาคารหอสมุด ที่จมอยู่ใต้น้ำ หลังฝนตกอย่างต่อเนื่อง 3-4 วัน จนเกิดน้ำท่วมขัง โดยมหาวิทยาลัยต้องประกาศหยุดเรียน ในวันที่ 12-16 ก.ย.นี้ และเปิดเรียนในรูปแบบออนไลน์ โดยระบุว่าด้วยสถานการณ์ฝนตก น้ำท่วมขัง สจล.จึงปรับให้จัดการเรียนการสอนวิชาบรรยาย และกิจกรรมวิชาการอื่นๆ ในรูปแบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 12-16 ก.ย. ทั้งนี้ รายวิชาปฏิบัติ และกิจกรรมอื่นที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาจัดกิจกรรม ให้ดำเนินการตามดุลพินิจของคณบดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และสุขภาพของนักศึกษาเป็นหลัก

รุดลาดกระบัง – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ติดตามตรวจน้ำท่วมและการระบายน้ำภายในซอยลาดกระบัง 34/6 เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นอีกจุดที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง เมื่อค่ำวันที่ 12 ก.ย.

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัย พบว่าจุดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คืออาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งลานจอดรถ ชั้นใต้ดิน ถูกน้ำท่วมอย่างหนักจนทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของบุคลากรจมน้ำได้รับความเสียหายร่วม 10 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 11 คัน รถจักรยานยนต์อีก 2 คัน ล่าสุดเจ้าของรถทั้งหมดได้เข้ามาตรวจสอบความเสียหายแล้ว กำลังรอประกันภัยเข้ามาตรวจสอบก่อนทำเรื่องชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งนี้ เมื่อคืนมีฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงตี 1 มาเติมปริมาณน้ำเดิมที่ยังไม่ลด จนล้นทะลักจากถนนเข้าไปในลานจอดรถชั้นใต้ดิน แม้จะวางแนวกระสอบทรายกั้นไว้แล้ว 1 ชั้น รวมถึงภายในลานจอดรถมีปั๊มไดโว่ 2 ตัวก็เอาไม่อยู่ จนเกิดน้ำท่วมสูงราว 1.2 เมตร ก่อนจะมาลดลงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาติดตามดูแล

บก.น.3 แจ้งว่าที่ถนนลาดกระบังขาเข้า มีน้ำท่วมขังหน้าสำนักงานเขตลาดกระบัง ยาวไปจนถึงหมู่บ้านเคหะนคร 2 ระดับน้ำสูง 30 เซนติเมตร ไม่สามารถใช้ช่องทางซ้ายได้ แต่รถเล็กยังสัญจรได้ ส่วนที่แยกกิ่งแก้ว โค้งตลาดบัญญัติทรัพย์ และก่อนทางขึ้นสะพานคลองบัวเกราะ มีระดับน้ำคงที่ รถเล็กสัญจรได้ นอกจากนี้ ที่ถนนหลวงแพ่งขาเข้า บริเวณหน้าห้างโลตัส เจ้าหน้าที่เขตลาดกระบัง กำลังเร่งระบายน้ำลงคลองประเวศ ส่วนที่แยกฉลองกรุง รถเล็กสัญจรได้

ด้านสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งเตือนระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ เพิ่มขึ้นจากการเปิดประตูระบายน้ำลาดกระบังและวัดกระทุ่มเสือปลา ซึ่งเขตที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ลาดกระบัง, ประเวศ, สวนหลวง และพระโขนง

ทับรถเก๋ง – กิ่งต้นก้ามปูขนาดใหญ่ หักโค่นหล่นลงทับรถเก๋งที่จอดอยู่พังเสียหาย เหตุเกิดบริเวณตรงข้ามร้านข้าวมันไก่เจ้าสัว ถ.เทศบาลนิมิตใต้ ซอย 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร หลังเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก เมื่อช่วงเย็นที่ 12 ก.ย.

ฝนถล่มกรุง-ท่วม17จุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างหนักในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตจตุจักร บางเขน ดอนเมือง มีนบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ยังท่วมขังสูง โดยเฉพาะในคลองต่างๆ และตรอก ซอกซอย เท่ากับเป็นการเติมปริมาณน้ำให้ท่วมสูงขึ้น โดยในซอยวิภาวดี 60 ซึ่งเป็นเส้นทางลัดระหว่างถนนวิภาวดีฯ และถนนพหลโยธิน สะพานบางบัว น้ำท่วมสูงกว่า 30 ซ.ม. รถเล็กไม่สามาถผ่านได้ ขณะที่การจราจรบนถนน วิภาวดีฯ จากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงบ่าย ทำให้การจราจรเริ่มติดขัดตั้งแต่เวลา 16.00 น.ซึ่งคาดว่าตลอดช่วงเย็นถึงค่ำการจราจรเป็นอัมพาตอีกครั้ง

ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 15.15 น. เกิดฝนปานกลาง-หนัก ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางแค ธนบุรี คลองสาน พระนครชั้นใน เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ บึงกุ่ม คันนายาว คลองสามวา มีนบุรี ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม โดยปริมาณฝนสูงสุดเขตราชเทวี 102 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วม 17 จุด ดังนี้ 1.หน้าหมอชิตใหม่ ถ.กำแพงเพชร2 เขตจตุจักร 2.วังสวนผักกาด ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี 3. ซ.อินทามระ45 ถ.ประชาสุข เขตดินแดง 4. หน้ากรมปศุสัตว์ ถ.พญาไท เขตราชเทวี 5.ป้อมตำรวจ-กำแพงเพชร 4 ถ.กำแพงเพชร3 เขตจตุจักร 6.แยกบรรทัดทอง ถ.เพชรบุรี เขตราชเทวี 7. กำแพงเพชร 2 -ถ.กำแพงเพชร 3 ถ.กำแพงเพชร4 เขตจตุจักร 8.หน้าร.ร.สันติราษฎร์ ถ.ศรีอยุธยา เขตราช เทวี 9. แยกรัชโยธิน-ธ.กรุงเทพ ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร 10.หอนาฬิกา-ตลาดห้วยขวาง ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง

11.ใต้ทางด่วน-แยกโบสถ์แม่พระ ถ.ดินแดง เขตดินแดง 12. ประชาสงเคราะห์1-แยกองค์พระ ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง 13.แยกมิตรสัมพันธ์-อโศก ถ.เพชรบุรี เขตราชเทวี 14.วงเวียนบางเขน-มรภ.พระนคร ถ.แจ้งวัฒนะ เขตบางเขน 15.มรภ.พระนคร-วงเวียนบางเขน ถ.แจ้งวัฒนะ เขตบางเขน 16.แยกองค์พระ-หอนาฬิกา ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง และ17.แยกสะพานควาย ถ.ประดิพัทธ์ เขตพญาไท ขณะนี้เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตในพื้นที่ดังกล่าว อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

ย้ายหนีน้ำ – ชาวแฟลตการเคหะ ก.ม. 4 รามอินทรา กทม. ว่าจ้างรถยกมายกรถเก๋งออกไปจอดไว้บนที่สูงเพื่อหนีน้ำ หลังจากเกิดฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน บางหลังนำเรือมาผูกไว้หน้าบ้าน ไว้สัญจรแทนรถด้วย เมื่อวันที่ 12 ก.ย.

กรมชลฯแจงเร่งระบาย
ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพ มหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ณ วันที่ 12 ก.ย. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,510 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 25,579 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,035 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่าง สามารถรับน้ำได้อีก 10,836 ล้าน ลบ.ม.

จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กรมชล ประทานได้แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ที่จะปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ เป็น 1800-2000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทำให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน