สั่งระดมติดเครื่องสูบ เชื่อมือผู้ว่าฯ-ยันจบแน่ ‘แจ๊ด’พร้อมรับน้ำกทม. เร่งผันออก‘เจ้าพระยา’

‘บิ๊กป้อม’ลุยตรวจ น้ำท่วมกทม. ยันไม่มีท่วมใหญ่ กำชับทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือประชาชน บอกโชคดีมีผู้ว่าฯ กทม.ที่เข้มแข็ง ‘ชัชชาติ’ชงแผนสร้างทางด่วนน้ำให้การระบายน้ำไม่ต้องไปผ่านพระโขนง ด้านอยุธยาประกาศ 6 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ชาวบ้านริมเจ้าพระยาระทมท่วมรอบสอง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มระบายน้ำ เมืองระยองหนัก ฝนถล่มน้ำท่วมกว่า 2 พันหลัง บางจุดน้ำสูง 2-3 เมตร ต้องปิดโรงเรียนในพื้นที่ กรมทรัพยากรธรณี เตือน 23 จว.ระวังดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก ด้านชาวนา 3 อำเภอโคราชยื่นฟ้องกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำพื้นที่เกษตรเสียหาย 30 ล้าน

‘บิ๊กป้อม’ลุยช่วยชัชชาติแก้ท่วม
เมื่อเวลา 15.09 น. วันที่ 14 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่กทม.ฝั่งตะวันออก ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ (ตอนมีนบุรี) โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้อนรับ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนพล.อ.ประวิตรจะเดินทางมาถึง มีฝนตกลงมาอย่างหนัก

ตรวจท่วม – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบตอนมีนบุรี เขตมีนบุรี โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. รายงานสถานการณ์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

‘ชัชชาติ’ชงแผนทำทางด่วนน้ำ
โดยนายชัชชาติกล่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาฝนตกในพื้นที่กทม.จำนวนมาก ตอนนี้เร่งระบายน้ำ หลังจากนี้จะเสนอแผนทำทางด่วนน้ำให้การระบายน้ำไม่ต้องไปผ่านบริเวณพระโขนง โดยจะเร่งเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในเดือนต.ค.นี้ ทั้งนี้ในเขตมีนบุรีไม่หนักเท่าที่ผ่านมา แต่ไปหนักที่ลาดกระบัง บางเขน และดอนเมือง

ขณะที่พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องช่วยประชาชนให้รอดน้ำท่วม ขอให้รีบทำแผนเสนอมาและขอให้เร่งกู้พื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่มีน้ำท่วมขังนานกว่า 7 วัน ให้เร่งดำเนินการ

นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาน้ำหลายคลองยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต จึงต้องเร่งระดมเครื่องสูบน้ำจากหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน โดยภายใน 1-2 วันนี้จะเร่งทยอยปิดล้อมหมู่บ้าน เพื่อสูบน้ำออกจากบริเวณที่ท่วมขังให้เร็วที่สุด

นายชัชชาติระบุด้วยว่า ปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำแห่งนี้ยังไม่เท่าในปี 2554 ยังมีความห่างในระดับความสูงของน้ำอีก 50 ซ.ม. ปริมาณน้ำในพื้นที่มีนบุรีไม่หนักมาก ที่หนักคือคลองประเวศ ลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร








Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งพล.อ.ประวิตรกล่าวชื่นชมนายชัชชาติว่า โชคดีที่มีผู้ว่าฯ กทม.ที่เข้มแข็ง ทำให้นายชัชชาติกล่าวว่าเป็นการร่วมมือและช่วยกันจากหลายหน่วยงานจึงทำให้การทำงานสามารถเดินหน้าได้ กทม. ก็ต้องประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นพล.อ.ประวิตรลงพื้นที่จุดที่ 2 ตรวจประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำหนองจอก เขตหนองจอก โดยกรมชลประทานบรรยายเรื่องการระบายน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำฯ และพื้นที่รอยต่อจ.ฉะเชิงเทรา

สั่งเร่งติดเครื่องสูบน้ำระบายออก
ต่อมาเวลา 16.20 น. พล.อ.ประวิตรเดินทางไปที่วัดวิบูลย์ธรรมาราม เขตหนองจอก เพื่อพบปะประชาชนและแจกถุงยังชีพผู้ได้ผลกระทบจากน้ำท่วม ทันทีที่มาถึง ชาวบ้านเข้าผูกผ้าขาวม้าและกล่าวแสดงความยินดีที่พล.อ.ประวิตรมาเยี่ยมเยียนถึงที่

พล.อ.ประวิตรกล่าวกับประชาชนช่วงหนึ่งว่า วันนี้ตนและคณะพร้อมด้วยผู้ว่าฯ กทม.มาเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ รวมทั้งเขตกรุงเทพฯ และรอบนอกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในกรุงเทพฯ และไม่ใช่ว่าเราปล่อยให้พื้นที่ของท่านน้ำท่วมตลอด ที่ผ่านมาได้ติดเครื่องสูบน้ำทั้งในและนอกพื้นที่ถึง 18 ตัว ขนาด 3 ลบ.ม.

“ไม่ต้องห่วงขอให้เชื่อมั่น ไม่ว่าเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รัฐบาลจะรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมนี้ให้บรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร็วที่สุด เชื่อว่าฝนจะหยุดอีก 1-2 วัน ขอให้ทุกคนใจเย็น”

พร้อมกันนี้พล.อ.ประวิตรยังกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขอให้ประชาชนสนับสนุนหน่วยงานทุกหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่าขอบคุณชาวหนองจอกและขอบคุณรัฐบาลในการช่วยเหลือกทม.เป็นอย่างดีในการช่วยน้ำท่วม พร้อมยืนยันว่าทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างดีเพื่อบรรเทาปัญหาให้ได้ วันนี้ไม่มีพรรคพวกมีแต่ร่วมกันทำเพื่อประชาชน โดยพล.อ.ประวิตรสั่งการอย่างรวดเร็ว โดยจะรีบแก้ปัญหาให้พร้อมดูเรื่องจราจรและความปลอดภัยอื่นๆ ด้วย

ก่อนที่พล.อ.ประวิตรมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง และไข่ไก่ ให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนเจ้าอาวาสวัดวิบูลย์ธรรมารามมอบพระประธานจำลองในโบสถ์ ปางมารวิชัย ให้พล.อ.ประวิตร และนายชัชชาติ เพื่อเป็นสิริมงคล

ต้องลุย – ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต้องเดินลุยน้ำท่วมขังสีดำคล้ำมารับอาหารสิ่งของจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ นำมาช่วยเหลือบริเวณมัสยิดซรอตุ้ลญันนะห์ เขตลาดกระบัง กทม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

มั่นใจไม่มีท่วมใหญ่
จากนั้นพล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้มั่นใจได้เลยว่าน้ำจะไม่ท่วมแน่นอน เพราะทุกหน่วยงานได้ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ไม่มีอะไร ตอนนี้ก็เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายออก ไม่มีอะไรน่ากังวลและตนไม่ห่วงอะไร เพราะทุกฝ่ายร่วมมือกันดี และในวันจันทร์ที่ 19 ก.ย. ตนจะลงพื้นที่อีกเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ

เมื่อถามว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีการชื่นชมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องชื่นชม แล้วเขาดีหรือเปล่าล่ะ

ปทุมฯพร้อมช่วยกทม.ผันน้ำ
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี มีแนวคิดช่วยกทม.ผันน้ำ โดยเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 ตัวบริเวณคลองเปรมประชากรเพื่อช่วยผันน้ำผ่านไปยังประตูน้ำปากคลองรังสิต ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนน้ำที่ท่วมพื้นที่นครรังสิต กรมชลฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำปากคลอง 20 เครื่อง พร้อมทั้งเครื่องเพิ่มแรงดันน้ำอีก 5 ตัวสูบน้ำจนถนนทางสัญจรสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติแล้ว

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า สถานการณ์เตรียมรับปัญหาจากอุทกภัยที่กำลังจะมา จ.ปทุมธานี โดยเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ในส่วนทางกทม. ตนมีแผนเตรียมรับน้ำจากกทม. โดยน้ำจากคลองรังสิตที่ระบายน้ำผ่านประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จนไปถึงประตูน้ำปากคลองรังสิต แล้วออกแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนประตูน้ำคลองเปรมใต้มีเครื่องสูบน้ำอยู่แล้ว และประตูน้ำคลองเปรมเหนือจะมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางกระสั้น ปัจจุบันระดับน้ำยังปกติ

“ผมมองว่าประตูน้ำคลองเปรมใต้ ถ้ากทม.เร่งระบายน้ำออกคลองรังสิตฯ เพื่อให้ผันน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว ส่วนพื้นที่สายไหมที่มีพื้นที่ติดกับอ.ลำลูกกา ขอให้เร่งผันน้ำเข้ามาที่คลองเปรมประชากร ผมพร้อมนำเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องใหญ่ ไปติดตั้งเสริมตรงบริเวณคลองเปรมใต้ ช่วยระบายน้ำไม่ให้เอ่อล้น เมื่อกทม.สูบน้ำออกมา ขอให้สูบน้ำลงมาที่คลองเปรมฯ เราพร้อมจะรับช่วงต่อ ขณะนี้เราสามารถบริหารจัดการได้ทั้งหมดแล้ว ฝากทางกทม.ว่าถ้าจะระบายน้ำให้เร็วที่สุด นอกจากจะออกทางจ.สมุทรปราการแล้ว ทางคลองเปรมประชากร จ.ปทุมธานี ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะสามารถสูบออกมา”

ฝนถล่มทุ่งครุหนักสุด 85.5 มม.
ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า ฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนรวมสูงสุดที่จุดวัด ปตร.คลองรางจาก-ถ.ประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ 85.5 ม.ม. ส.คลองแจงร้อน เขตราษฎร์บูรณะ 72.5 ม.ม. ส.วัดไทร เขตบางคอแหลม 72.5 ม.ม. ส.คลองบางนา เขตบางนา 67 ม.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วม 13 จุด ดังนี้ 1.แยก ณ ระนอง-ทางรถไฟ ถ.พระราม 3 เขตคลองเตย 2.กรีนสปอร์ต-ศรีนครินทร์ ซ.9 ถ.ศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ 3.แยกลำสาลี- กรีนสปอร์ต ถ.ศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ 4.ตลอดสาย ถ.สุนทรโกษา เขตคลองเตย 5.ซ.สวนพลู-สาทรใต้ ถ.สวนพลู เขตสาทร 6.ตลอดสาย ถ.สุขุมวิท 71 เขตวัฒนา 7.ปากซอย-ซ.พร้อมใจ ถ.สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา 8.แยกสาธุประดิษฐ์-ถ.จันทน์ ถ.สาธุประดิษฐ์ เขตสาทร 9.หน้าช่อง 3 ถ.พระราม 4 เขตคลองเตย 10.หน้าตึกชิโนทัยตลอดสาย ถ.อโศก เขตวัฒนา 11.ซ.สุขุมวิท 26 ตลอดสาย ถ.สุขุมวิท เขตคลองเตย 12.ถ.พัฒนาการ-ถ.ศรีนครินทร์ ถ.พัฒนาการ เขตสวนหลวง และ 13.สวนหย่อมมอเตอร์เวย์ ถ.ศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง

ยังท่วมขัง – สภาพการจราจรบนถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กทม. ถูกน้ำท่วมขังสูง ทำให้รถขนาดเล็กสัญจรได้อย่างยากลำบาก ขณะที่กทม.ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

ตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเร่งระบายน้ำ
ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เร่งเปิดทางน้ำให้กว้างขึ้น บริเวณสถานีสูบน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟลว์ (Hydro Flow) 4 เครื่อง ตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำได้ภายในวันที่ 14 ก.ย. เพื่อเสริมการระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ให้ระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกง และทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังขุดลอกตะกอนดินบริเวณด้านเหนือของสถานีสูบน้ำท่าถั่วให้กว้างและลึกขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น พร้อมกับติดตั้งบาน Bulkhead Gate ที่ประตูน้ำ เพื่อเสริมความแข็งแรงอีกชั้นหนึ่ง เตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีกในระยะต่อไป การเร่งระบายน้ำดังกล่าว จะทำให้ระดับน้ำในคลองประเวศฯ บริเวณที่ไหลผ่านเขตลาดกระบังลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตลาดกระบังและพื้นที่ใกล้เคียงไหลลงสู่คลองประเวศฯ ได้สะดวกมากขึ้น

กรมชลฯแจงน้ำล้นตลิ่ง
นายทวีศักดิ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ฝนตก เพราะมีผลกระทบต่อน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ เพราะตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.ย. 2565 หลายพื้นที่มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งหลายแห่ง อาทิ ระดับน้ำที่สถานี C36 คลองบางหลวง ลุ่มเจ้าพระยา อ.บางบาล จ.นครศรีอยุธยา ระดับตลิ่งสูง 4.36 เมตร/รทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ความจุลำน้ำ 420 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ระดับน้ำสูง 5.22 ม.2/รทก. ปริมาณน้ำ 620 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.86 เมตร

ส่วนสถานี C62 ลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่งสูง 2.75 ม./รทก.ระดับน้ำสูง 4.53 ม./รทก. ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.78 เมตร สถานี C68 ลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 3.26 ม./รทก. ระดับน้ำสูง 3.56 ม./รทก. ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.36 ม.

เตือนน้ำป่า-ดินถล่ม 23 จว.
วันเดียวกัน ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แจ้งเตือนระวังภัยจากดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1-2 วันนี้ โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปพื้นที่จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ชัยภูมิ เลย นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 14-15 ก.ย.65

โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณ อ.แม่ฟ้าหลวง แม่สาย แม่จัน เชียงแสน เวียงป่าเป้า แม่สรวย จ.เชียงราย, อ.เชียงดาว จอมทอง แม่แจ่ม แม่แตง ฝาง ไชยปราการ ฮอด อมก๋อย สะเมิง แม่ออน เวียงแหง จ.เชียงใหม่, อ.ลี้ แม่ทา จ.ลำพูน, อ.แจ้ห่ม เมืองปาน วังเหนือ งาว จ.ลำปาง, อ.เมือง ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่สะเรียง สบเมย แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน, อ.เฉลิมพระเกียรติ นาหมื่น บ่อเกลือ ปัว ภูเพียง สันติสุข แม่จริม เวียงสา จ.น่าน, อ.ฟากท่า บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ อ.ชาติตระการ เนินมะปราง นครไทย จ.พิษณุโลก, อ.เมือง เขาค้อ หล่มเก่า หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์, ทองผาภูมิ สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.ด่านซ้าย ภูกระดึง จ.เลย เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ชั้นดินบนภูเขาอุ้มน้ำไว้มาก ประกอบกับในบางพื้นที่เริ่มมีน้ำป่าไหลหลากแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดดินถล่มได้

ปภ.เผย 16 จว.ยังจมน้ำ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากภาวะฝนตกต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดวันนี้ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 16 จังหวัด รวม 49 อำเภอ 190 ตำบล 988 หมู่บ้าน ได้แก่ ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย ปทุมธานี สมุทรปราการ สระแก้ว ระยอง ชลบุรี จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

“ภาพรวมระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่ ปภ.จังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วได้จัดชุดปฏิบัติการฉีดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่สาธารณะ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ”

ชาวนาโคราชฟ้องกรมชลฯ
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลปกครองนครราชสีมา นายวีรวิทย์ เชื้อจันอัด อายุ 42 ปี เจ้าของฟาร์มแช่มชื่นโฮมสเตย์ ต.ตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา พร้อมพวกซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่อ.คง อ.พิมาย และอ.โนนสูง จำนวน 11 ราย ในฐานะผู้ฟ้องคดีนัดรวมตัวนำเอกสารหลักฐานภาพถ่ายยื่นฟ้องกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่บ้านพักอาศัยและแปลงเกษตรกรรม ได้รับความเสียหาย รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท

โดยถือป้ายข้อความระบุว่า “ขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองให้ชาวนา จากความผิดพลาดในการจัดการน้ำของเขื่อน ลำเชียงไกร โปรดช่วยเราด้วย”

โดยมีนายฉัตรชัย เอมราช ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 259-269/2565

นายวีรวิทย์ เปิดเผยว่า พื้นที่แหล่งทำกินของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่นอกเขตประกาศแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย ทรุดเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลทะลักท่วมฟาร์มปลาทับทิมขนาด 20 ตัน กุ้ง 5 ตัน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรกล บ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับความเสียหาย สาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดส่งผลให้ประชาชนที่มีที่บ้านและทำกินตั้งอยู่ท้ายอ่างได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประชาชนเป็นผู้เสียภาษีต้องสิ้นเนื้อประดาตัว มีภาระหนี้สินจำนวนมาก จึงต้องพึ่งศาลปกครอง ซึ่งยังมีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 ราย ไม่กล้าออกมาต่อสู้และบางรายอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก่อนหน้านี้ตนและพวกพยายามเรียกร้องตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยกรมชลประทานบ่ายเบี่ยงมาตลอด

ด้านนางจำรัส เข็มณรงค์ อายุ 64 ปี ชาวต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย กล่าวว่า นาข้าว 20 ไร่ของตนอยู่นอกเขตพื้นที่แจ้งเตือนภัยน้ำท่วม เมื่อเกิดอุทกภัยจะได้รับผลกระทบทุกครั้ง ล่าสุดกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ถูกมวลน้ำทำลายเสียหายกว่า 2 แสนบาท เดือดร้อนมาก ที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

อพยพ – ประชาชนในเขตเทศบาลนครระยอง จ.ระยอง หอบข้าวของอพยพออกจากบ้านไปอยู่ที่พักชั่วคราว หลังฝนตกหนักมีมวลน้ำเอ่อทะลักเข้าท่วมเต็มพื้นที่ ทำให้บ้านเรือนและชุมชนถูกน้ำท่วมขัง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

ระยองอ่วมฝนถล่มท่วมหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง ล่าสุดระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ม.3 บ้านหนองมะหาด ต.ทับมา ซึ่งมีบ้านจัดสรรหลายโครงการถูกน้ำท่วมมิดสูงกว่า 3 เมตร โดยชาวบ้านระบุว่าน้ำมาเร็วมาก เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เวลา 03.00 น. กระทั่งช่วง 06.00 น. ระดับสูงกว่า 1 เมตร รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่สามารถนำออกมาได้ทัน ได้รับความเสียหาย ขณะนี้อพยพเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัย ส่วนที่ถนนบายพาสสาย 36 ขาเข้า-ออกเมืองระยอง มีน้ำท่วมสูงเป็นระยะทางกว่า 1 ก.ม. ตำรวจทางหลวงระยองปิดเส้นทางแล้ว

ขณะที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมชั่วคราวของเทศบาลตำบลทับมา ซึ่งย้ายไปอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแม็คโครระยอง เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนสำหรับประชาชนที่จะมาขอกระสอบทรายไปกั้นทางน้ำในบ้านและเป็นศูนย์พักพิงด้วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่เร่งนำเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ภายในบ้านด้วย

ด้านนายสุรชัย นำนาผล ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดระยอง นำเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องติดตั้งคลองทับ มาติดตั้งบริเวณสะพานหลังเซ็นทรัลระยอง และบริเวณสะพานหน้าหมู่บ้านกรุงไทย เพื่อเร่งระบายน้ำ

2 พันหลังท่วมมิด 2 เมตร
เมื่อเวลา 15.00 น. นายพิชิต ศรีชลา นายกเทศมนตรีนครระยอง เดินทางตรวจสอบพื้นที่หน้าโรงเรียนกวงฮั้ว อ.เมือง จ.ระยอง หลังมวลน้ำเอ่อเข้าท่วมสูง 50 ซ.ม.เต็มพื้นที่ ทำให้บ้านเรือนประชาชนและ ร้านค้าถูกน้ำทะลักเข้าท่วมจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงส่งเจ้าหน้าที่ลงมาช่วยเหลืออพยพคนออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนที่โรงเรียนกวงฮั้วน้ำท่วมถนนปิดล้อมรอบโรงเรียน ทางโรงเรียนปิดการเรียนการสอนไปจนถึงวันที่ 16 ก.ย. พร้อมแจ้งให้ผู้ปกครองมารับนักเรียนกลับบ้าน โดยทางโรงเรียนประกาศให้เรียนทางออนไลน์แทน รวมถึงโรงเรียนในเขตพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมดประกอบด้วยพื้นที่ ต.ทับมา และเทศบาลนครระยอง ก็ปิดเรียนเช่นกัน

ด้านนายประเสริฐ วงศ์ศรี นายกเทศมนตรีตำบลทับมากล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้นับว่าหนักมาก จากปริมาณน้ำสะสมที่มีอยู่จำนวนมากจึงทำให้น้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้น ขณะนี้ปริมาณน้ำบริเวณคลองทับมาที่ล้นเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแล้ว 8 หมู่บ้าน บางแห่งมีน้ำท่วมสูงร่วม 2 เมตร บ้านเรือนประชาชนถูกท่วมมากกว่า 2,000 หลัง ซึ่งได้อพยพประชาชนออกมาแล้ว คาดว่ามวลน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเพราะยังมีฝนตกหนักเหนือคลองทับมา จึงทำให้มวลน้ำไหลลงมาสมทบอีก

ส่วนที่บริเวณถนนบายพาสสาย 36 ขาเข้าและออกเมืองระยอง ช่วงก่อนขึ้นสะพานต่างระดับสี่แยกทับมามีน้ำท่วมสูง ทำให้รถติดชะลอตัว ล่าสุดสั่งปิดเส้นทางแล้ว

ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ระดมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเร่งผลักดันมวลน้ำลงสู่ทะเล เพื่อระบายมวลน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อยุธยาประกาศภัยพิบัติ 6 อำเภอ
วันเดียวกัน นายวีรชัย นาคมาศ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยและพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยประกาศให้พื้นที่อ.อุทัย 9 ตำบล 34 หมู่บ้าน อ.ภาชี 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางบาล 15 ตำบล 87 หมู่บ้าน อ.บางไทร 23 ตำบล 114 หมู่บ้าน อ.เสนา 7 ตำบล 44 หมู่บ้าน อ.บางปะอิน 12 ตำบล 82 หมู่บ้าน อ.พระนครศรีอยุธยา 14 ตำบล 69 หมู่บ้าน และอ.ผักไห่ 11 ตำบล 76 หมู่บ้าน

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น 20-30 ซ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่ 320 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 510 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักท้ายเขื่อน ระดับน้ำทรงตัว

ที่หมู่ที่ 4 ต.บ้านกุ่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชุมชนติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนอยู่แล้ว ตอนนี้ 1-2 เมตรในบางจุด ตอนนี้มีปริมาณสูงขึ้นและสูงขึ้นเร็วกว่าตอนแรกที่ลดลงไปทำให้ถูกน้ำท่วมระลอกที่ 2 เพียงคืนเดียวน้ำขึ้นสูงกว่า 30 ซ.ม.

นายสุนทร อัตตะสาระ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ตอนนี้ด้านในน้ำท่วมหมดแล้ว สูงเท่าหน้าอก ความเป็นอยู่ก็ลำบาก ต้องใช้เรืออย่างเดียว

ปิดทาง – สภาพถนนบ้านจันทร์-สันม่วง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เกิดดินสไลด์ทำให้ต้นไม้ล้มทับถนน ต้องระดมเจ้าหน้าที่และจิตอาสาช่วยกันตัดต้นไม้เพื่อเปิดเส้นทาง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนดินสไลด์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมงตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ทำให้ลำน้ำแม่แจ่มมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และเอ่อล้นท่วมที่นาข้าวราษฎรในพื้นที่ได้รับความ เสียหายในหลายหมู่บ้าน ตลอดจนมีดินสไลด์ปิดทับเส้นทางหลายแห่งใน ต.แจ่มหลวง ต.บ้านจันทร์ และคอสะพานชำรุดเสียหาย 1 แห่ง ในท้องที่ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา

เมื่อเวลา 10.30 น. เกิดดินสไลด์ต้นไม้ล้มทับถนนบริเวณบ้านจันทร์ หมู่ที่ 3 ต.บ้านจันทร์ ถนนเส้นทางบ้านจันทร์-สันม่วง ทำให้นายนำพล ยิ่งรักเพ็ญจันทร์ อายุ 57 ปี และนางอีบุญจี ยิ่งรักเพ็ญจันทร์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านบ้านหนองแดงได้รับบาดเจ็บขณะเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าว

ส่วนที่จ.แม่ฮ่องสอน ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข มส.4001 เส้นทางไปยังหมู่บ้านท่องเที่ยวชาวจีนยูนนาน บ้านรักไทย หมู่ 6 ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีดินภูเขาสไลด์ พร้อมก้อนหินขนาดใหญ่และต้นไม้ใหญ่ปิดทับเส้นทางทั้ง 2 ช่องทางจราจร เบื้องต้นรถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ต่อมาชาวบ้านช่วยกันตัดต้นไม้ที่กีดขวางทางเข้าออกจนสามารถเปิดการจราจรได้ 1 ช่องทาง นอกจากนี้มีเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น สายไฟพาดทับถนนอีก 2 ต้น

ด้านนายองอาจ สิงห์พรหม ผู้ใหญ่บ้าน กุงไม้สัก หมู่ 2 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกอย่างหนักตลอดคืนส่งผลให้น้ำในแม่น้ำแม่สะงาเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วและท่วมที่นาของชาวบ้าน ตั้งแต่พื้นที่บ้านหมอกจำแป่, บ้านแม่สะงา ต.หมอกจำแป่, บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ไม่ต่ำกว่า 400 ไร่ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างหนัก นอกจากนั้นน้ำยังท่วมบริเวณสะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งถือว่าหนักที่สุด

น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาล้นตลิ่ง
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,976 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.73 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.11 เมตร(รทก.) ซึ่งระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.23 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,874 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุดทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 1,881 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จากสถานการณ์น้ำดังกล่าว ประกอบกับทางกรมชลประทานมีการหน่วงน้ำทางด้านเหนือเขื่อนเอาไว้เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ ส่งผลทำให้ระดับน้ำทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง และคันกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน