มท.จี้การไฟฟ้าตรวจ เร่งระบายคลองรังสิต

มหาดไทยสั่งด่วน การไฟฟ้า-ท้องถิ่นทั่วประเทศตรวจจุดเสี่ยงไฟรั่ว-ชอร์ต-ดูด ป้องกันซ้ำรอยเหตุน้ำท่วมอุดรฯ ไฟรั่วดูดนักเรียน ส่วนประชาชนให้ตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านทั้งปลั๊กและเครื่องใช้ หากอยู่ในจุดเสี่ยงน้ำท่วมถึงให้ย้ายขึ้นไปที่สูงพ้นน้ำ กรมอุตุฯ เตือน 61 จังหวัดฝนยังหนักถึง 21 ก.ย. ทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยคลื่นสูง 2 เมตร กทม.-จังหวัดปริมณฑลรับฝนเท 70% กรมชลประทานระดมเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เร่งระบายคลองรังสิตลงเจ้าพระยาขณะที่แม่น้ำท่าจีนระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ล้นตลิ่งจมบ้าน-นาข้าวที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี ล่ม ชาวบ้านอพยพขึ้นที่สูง

‘ป๊อก’จี้ทุกจว.แก้จุดไฟรั่ว
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติภัยจากไฟฟ้าทั้งไฟฟ้าชอร์ตและไฟฟ้าดูด ที่อาจทำให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตได้ ดังกรณีเหตุการณ์ไฟฟ้าดูดเนื่องจากฝนตกน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจ.อุดรธานี จึงได้สั่งการให้จังหวัด กทม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว รวมทั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า หากตรวจสอบพบมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล หรือประเมินว่าจะเกิดอันตรายต่อประชาชน ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าทันที พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชน สร้างการรับรู้ในการระมัดระวังตนเองจากไฟฟ้าที่มักมีความเสี่ยงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่มีฝนตกและมีน้ำท่วมขัง

สำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ขอให้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และย้ายขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง หากมีน้ำท่วมบ้านให้สับคัตเอาต์เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า โดยแจ้ง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือช่าง ไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า มาดำเนินการปลดสวิตช์ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว และเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนแช่น้ำ รวมถึงไม่ควรลุยน้ำ เข้าใกล้ แนวสายไฟ เสาไฟฟ้า หรือสัมผัสวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว อาจจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ไฟฟ้ารั่ว แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ไลน์ปภ.รับเเจ้งเหตุ 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป และหากพบเห็นจุดเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้า โทร.แจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายด่วน 1129 ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ แจ้งได้ที่สายด่วน 1130 การไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขให้เกิดความปลอดภัย

น้ำวังท่วม – กลุ่มจิตอาสาตากซิตี้ ร่วมกับ 5 องค์กรกู้ภัยในพื้นที่ ใช้เรือนำเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไปแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.สามเงา จ.ตาก เมื่อวันที่ 18 ก.ย.

เตือน 61 จว.ฝนเทถึง 21 ก.ย.
ด้าน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศ ไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18-21 ก.ย. และพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า จากบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม








Advertisement

โดยตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันที่ 18 ก.ย. ถึง 17.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจ.เลย สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

กทม.ฝนกระหน่ำ 70%
ส่วนภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร, ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ด้านภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจ.เพชรบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร, ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจ.ระนอง พังงา ตรัง และสตูล บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 4-18 ก.ย.2565 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 16 อำเภอ 44 ตำบล 274 หมู่บ้าน และกรุงเทพฯ รวม 12 เขต 17 แขวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,545 ครัวเรือน

‘ชัยวุฒิ’ช่วยท่วมสวนหลวง
กรุงเทพฯ ที่เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 12 เขต ได้แก่ เขตบางแค, ตลิ่งชัน, สวนหลวง, บางนา, พระโขนง, สะพานสูง, ลาดกระบัง, หนองจอก, คลองสามวา, ประเวศ, ดอนเมือง และบางเขน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำ รวม 17 แขวง ประชาชนได้รับผล กระทบ 15,545 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง

ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 114 ตำบล 615 หมู่บ้าน

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายจักรวี วิสุทธิผล ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขังชุมชนคลองจวนและชุมชนใกล้เคียง เขตสวนหลวง เนื่องจากชุมชนเชื่อมระหว่างคลองบางโคล่กับคลองประเวศ-บุรีรมย์ พร้อมมอบถุงยังชีพ

นายจักรวีกล่าวว่า หากประชาชนในเขตสวนหลวง-ประเวศ มีปัญหาทุกข์ร้อนสิ่งใด ติดต่อมาได้ที่เพจจักรวี วิสุทธิผลได้ทันที

เพิ่มสูบ-ระบายน้ำปทุมฯ
วันเดียวกัน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 30 นิ้ว จํานวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำกลางคลอง 12 และ 13 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเร่งระบายน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มเติมในระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพฯ ด้วยการระบายน้ำและสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ด้านฝั่งคลอง 12 มาทางคลองรังสิตฯ ฝั่งคลอง 13 เพื่อระบายน้ำส่วนหนึ่งไปลงแม่น้ำนครนายก อีกส่วนหนึ่งระบายลงคลอง 13 ก่อนลำเลียงสู่คลองพระองค์ไชยานุชิต และใช้สถานีสูบน้ำริมคลองชายทะเลสูบระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ

ด้านสถานการณ์แม่น้ำท่าจีน หลังจากจ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากฝนตกหนัก และปริมาณน้ำไหลหลาก จากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ทั้ง แม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ริมตลิ่ง อำเภอที่ติดกับลุ่มแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งอ.เมือง อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ทำให้บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทยอยกันเก็บของขึ้นที่สูง ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวข้าว และเตรียมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ช.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน