ผุดอุโมงค์ที่ลาดกระบัง อุตุฯชี้3ภาคฝนยังหนัก

‘ชัชชาติ’ ชงที่ประชุมกนช.วันนี้ ทำอุโมงค์ทางด่วนระบายน้ำท่วมกรุงเทพฯ ลัดเลาะจากคลองลำปลาทิวตัดคลองประเวศบุรีรมย์ที่ลาดกระบัง ยาว 19 ก.ม. ไปออกคลองร้อยคิว ที่ปลายทางมีเครื่องสูบน้ำขนาด 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยเร่งน้ำฝั่ง ตะวันออก ด้านโผงเผงป่าโมก อ่างทอง พระ-ชาวบ้านช่วยกันเรียงกระสอบทรายกันเจ้าพระยาไหลเข้าวัด แม่น้ำน้อยล้นตลิ่งที่อยุธยา ทะลักบ้านสูงกว่า 2 เมตร ชาวเสนาโอดถูกท่วมขังนาน 2 เดือนแล้ว กรมอุตุฯ เตือน 3 ภาครับฝนหนัก อีสาน-กลางและตะวันออก รวมทั้งกทม.และปริมณฑล กรมชลฯ แจง 4 เขื่อนใหญ่เจ้าพระยา ยังรับน้ำ ได้อีก 9,735 ล้านลบ.ม.

เตือนกทม.-3 ภาคฝนหนัก
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนัก บางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีฝนตกหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่ง มีดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และกาญจนบุรี และภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทั้งนี้ ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยม วิทยา ได้ที่เว็บไซต์ http://www.tmd.go.th

11 จังหวัดยังท่วมขัง
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้มีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 4-19 ก.ย.ว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 35 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 95 อำเภอ 212 ตำบล 805 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 142,957 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย (อุดรธานี) ไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม ปทุมธานี สมุทรปราการ จันทบุรี รวม 11 อำเภอ 23 ตำบล 119 หมู่บ้าน และกรุงเทพฯ รวม 12 เขต 17 แขวง ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมจากผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 114 ตำบล 616 หมู่บ้าน ดังนี้ อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ รวม 3 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 235 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน และอ.พระนครศรีอยุธยา รวม 85 ตำบล 508 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,323 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น จ.อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ และอ.ป่าโมก รวม 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 682 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น จ.สิงห์บุรี น้ำท่วมในพื้นที่อ.อินทร์บุรี รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 39 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว และจ.ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และอ.สามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการระบายน้ำ เพิ่มขึ้น

ปภ.โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวง การคลังต่อไป

4 เขื่อนเจ้าพระยายังรับน้ำบ่าได้
ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังสำนักงาน ชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กทม. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

นายทวีศักดิ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลวันที่ 19 ก.ย. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 52,550 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ โดยยังรับน้ำได้อีก 23,548 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,136 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ โดยรับน้ำได้อีก 9,735 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ช่วงวันที่ 19-20 ก.ย. ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนช่วงวันที่ 21-25 ก.ย. มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับการระบายเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น

น้ำซึมเขื่อน-โผงเผงป้องวัด
ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่บริเวณ ริมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดวิจารณ์โสภณ หมู่ 8 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พบพระสงฆ์ และชาวบ้านได้ช่วยกันนำกระสอบทราย มาวางกั้นบริเวณคลอง ห่างจากปากประตูน้ำริมเขื่อนหน้าวัด ระยะทาง 10 เมตร หลังจากมวลน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลซึมเข้ามาภายในคลองหน้าวัดอย่างต่อเนื่อง หวั่นน้ำทะลัก ไหลท่วมบริเวณวัด

สำหรับจ.อ่างทอง มีบ้านเรือนราษฎรได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วม ในพื้นที่ต.โผงเผง จำนวน 213 หลังคาเรือน และที่บริเวณแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่ง อ.วิเศษชัยชาญ จำนวน 469 หลังคาเรือน อ.ไชโย จำนวน 63 หลังคาเรือน และอ.เมือง จำนวน 6 หลังคาเรือน รวม 751 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตร 95.5 ไร่ ปริมาณน้ำเจ้าพระยาผ่านที่ไหลผ่านสถานีโทรมาตร C.7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง มีระดับน้ำสูง 7.86 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,858 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที

2 เดือนแล้ว – สภาพบ้านเรือนในตำบลบ้านกระทุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านจมน้ำเดือดร้อนเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ย.

‘เสนา’อ่วมท่วมขัง 2 เดือน
ด้านจ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,989 ลบ.มต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ เจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา คลองสาขาต่างๆ แม่น้ำน้อย ระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ชาวบ้านในต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน สูงกว่า 2 เมตร เข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว บางครอบครัว ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติ

ทั้งนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย แล้ว จำนวน 6 อำเภอ 82 ตำบล 475 หมู่บ้าน 22,323 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,418 ไร่

ขณะที่สถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี วันเดียวกัน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง อยู่ที่ 268 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 23 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยพบว่ามีน้ำไหลลงสู่ตัวเขื่อนลดลงกว่าในวันที่ผ่านมา 56 ลบ.ม.ต่อวินาที ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน 280 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 24 ล้านลบ.ม. ซึ่งลดลงกว่าเมื่อวาน 37 ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำที่เก็บกักอยู่ในตัวเขื่อนอยู่ที่ 383 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุของตัวเขื่อน ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำ ได้เต็มความจุที่ 960 ล้านลบ.ม.

สุพรรณเพิ่มสูบรับน้ำเอ่อ
ด้านจ.สุพรรณบุรี ในพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งอ.เมือง อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง หลังมีฝนตกหนัก และมีการระบายน้ำจากเขื่อน เจ้าพระยา ลงสู่แม่น้ำท่าจีน ทำให้บ้านเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณริมตลิ่งยังได้รับผลกระทบ ล่าสุดยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

นายเอกพันธ์ อินใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ เทศบาลเมืองเฝ้าเตรียมระวังในการรับมือกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทุกจุดเสี่ยง จำนวน 15 เครื่อง เตรียมกระสอบทราย จำนวน 40,000 ใบ ซึ่งได้กรอกกระสอบทรายกันทุกวัน วันละ 5-8 พันใบ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ระดับน้ำเอ่อ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ประกาศเตือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมเขื่อนกั้นน้ำ แม่น้ำท่าจีน ที่ไหลผ่านเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ ตลอด 24 ช.ม. เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีทั้ง โรงพยาบาลศูนย์ ตลาด และ หน่วยงาน ราชการ

ส่วนในพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า ระดับน้ำ ได้เอ่อท่วมในพื้นที่บ้านเรือนประชาชนบริเวณริมตลิ่งและพื้นที่ราบลุ่มต่ำแล้ว

กทม.ชงแผน‘ทางด่วนน้ำ’
ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำท่าจีน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นการประชุมคณะกรรมการร่วมกันหลายจังหวัด ที่ กทม.เกี่ยวข้อง มี 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง และเกี่ยวเนื่องที่ไปหารืออ.เสรี นายเสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ด้วย โดยคลองมหาสวัสดิ์ที่น้ำไหลมาไปลงแม่น้ำท่าจีนบางส่วนไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา หรือกลุ่ม ลุ่มน้ำบางปะกง ที่ระบายออกทางคลองพระเจ้าไชยานุชิต คลองประเวศบุรีรมย์ ไปออกแม่น้ำบางปะกง ต้องดูภาพรวมว่าบริหารจัดการอย่างไร เพื่อวางแผนบริหารจัดการระยะยาวได้ ความร่วมมือระหว่างจังหวัดนั้นสำคัญ คณะกรรมการลุ่มน้ำจะได้ประสานงานเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่วิกฤต

นอกจากนี้ได้เสนอแนวทางทางด่วนน้ำ ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันที่ 20 ก.ย. โดยโครงการ ดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งต้องดูว่า คณะกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่เดิมฝั่งตะวันนอกกรมชลประทานมีแผนขยายคลองตั้งแต่คลองสิบสามไล่ลงมาจนออกสู่ทะเล มีการทำทางด่วนคลองด้วย เอาน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไหลลงอ่าวไทย แต่การขยายคลองต้องมีการเวนคืนที่และ การทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใช้เวลานาน ในแผนของกทม. ได้ทำทางด่วนที่คลองลำปลาทิวตัดคลองประเวศบุรีรมย์ ที่ลาดกระบัง เป็นอุโมงค์เลาะตามแนวคลองระยะทางประมาณ 19 ก.ม. ไปออกที่คลองร้อยคิว ที่ปลายทางมีเครื่องสูบน้ำขนาด 100 ลบ.ม.ต่อวินาที หากทำได้พาน้ำมาออกตรงนี้ได้จะทำให้น้ำด้านตะวันออกไหลลงมาได้ เร็วขึ้น ก็จะช่วยกรุงเทพฯ ลดภาระไปได้มาก อย่างไรก็ตาม เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินจำนวนมากหลักเป็นหมื่นล้าน แต่เชื่อว่า จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจ ความเสียหายต่างๆ และการขยายตัวฝั่งตะวันออก ปัจจุบัน สภาพกายภาพฝั่งตะวันออกเปลี่ยนไปแล้ว มีถนนตัดใหม่ มีโครงสร้างต่างๆ มีสนามบินสุวรรณภูมิ การใช้แนวคิดฟลัดเวย์เหมือนเดิม ใช้พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำนั้น อาจจะไม่สะดวกแล้ว

ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากที่ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยไปแล้ว เป็นหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปรวบรวมความเสียหายว่าแต่ละหลังคาเรือน หรือเกษตรกร มีความเสียหายอย่างไร โดยแต่ละเขตจะสำรวจ เสนอไปยัง ปภ. เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เราเป็นผู้ประกาศเท่านั้น ซึ่งกำลังดูด้วยว่า จะมีพื้นที่อื่นที่ต้องประกาศเพิ่มหรือไม่ สามารถ ประกาศเพิ่มได้ถ้ามีความจำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน