เตือนล่วงหน้า เดือนตุลาฯ พายุเข้าไทยอีก1-2 ลูก กอนช.ให้รับมือฝนหนัก เขื่อนใหญ่เร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ เฝ้าระวังน้ำ ล้นตลิ่ง ฝนเทกรุงข้ามคืน ท่วมถนน 9 จุด บางขุนเทียนหนักสุด วัดปริมาณฝนได้ 133 มิลลิเมตร อยุธยาเจ้าพระยาทะลัก ท่วมชุมชนเกาะลอย บางปะอินจมกว่า 100 หลัง ระดับน้ำสูง 1 เมตร ขณะที่เมืองพัทยาวุ่น ฝนถล่มกลางดึก ท่วมถนนสายหลัก ฝนกระหน่ำ ปากช่อง น้ำป่าบ่าท่วมถนนธนะรัชต์ เส้นทางขึ้นลงเขาใหญ่ 8 อ่างโคราชระดับน้ำเกินความจุแล้ว ลำมูนขยายวงท่วม เร่งระบายน้ำรับ ฝนเทซ้ำ

ฝนเทกรุง-บางขุนเทียนหนักสุด
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เริ่มจากมีฝนตกเล็กน้อย ปานกลางถึงหนัก โดยปริมาณ ฝนสูงสุดที่จุดวัด ส.คลองระหาญ เขตบางขุนเทียน 133 มิลลิเมตร (ม.ม.) สำนักงานเขตบางคอแหลม 119.5 ม.ม., จอมทอง 114 ม.ม., ราษฎร์บูรณะ 106 ม.ม. และสาทร 102.5 ม.ม. ส่งผลให้มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่รับผิดชอบ จำนวน 9 จุด ได้แก่

1.ถนนพระราม 2-ท่าข้าม ซอย 6 ถ.ท่าข้าม เขตบางขุนเทียน 2.ซอย 55-ป้อมตำรวจ ถนนประชาสุข เขตดินแดง 3.ซอย 36-ร.ร.ดอนบอสโก ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี 4.หน้าวังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี 5.ร.ร.สันติราษฎร์-สน.พญาไท ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี 6.หน้ากรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี 7.ซอยสุขุมวิท 39 ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา 8.หน้าตึกซิโนทัย ถ.สุขุมวิท 21 (อโศก) เขตวัฒนา และ9.ร.ร.อำนวยสิน-เพชรเกษม 61/1 ถนนเพชรเกษม เขตบางแค ขณะนี้น้ำแห้งเป็นปกติ คงเหลือตามตรอกซอยต่างๆ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งระบาย

ส่วนระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ ที่ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤต +1.80) ระดับ +1.45 ม.รทก. ระดับปกติ ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤต +0.90) ระดับ +0.88 ม.รทก. ระดับวิกฤต และ ประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤต +0.60) ระดับ +0.41 ม.รทก. ระดับปกติ

ต้นต.ค.พายุเข้าอีก2ลูก
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานด้านการอำนวยการน้ำกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำ ช่วงปลายเดือนก.ย.- ต.ค.นี้ พบว่า มีแนวโน้มปริมาณฝนที่จะ เพิ่มขึ้น และร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอาจมีพายุ จำนวน 1-2 ลูก จะเข้ามาประเทศไทยในช่วงต้นเดือนต.ค. จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

น.ส.รัชดากล่าวว่า ในที่ประชุมได้กำหนดเกณฑ์ระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีประมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำในอัตราประมาณ 1,980 ลบ.ม.ต่อวินาที กรณีหากมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะบริหารจัดการน้ำลงมายังท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และระบายออกทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา โดยพิจารณาปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักที่จะไหลเข้ามาสมทบ เบื้องต้นกำหนดให้มีปริมาณน้ำ ณ สถานี อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปรับลดลงจากเกณฑ์เดิมซึ่งอยู่ในอัตรา 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้ลำน้ำเจ้าพระยา มีศักยภาพในการระบายน้ำได้ดี สามารถรองรับการระบายน้ำออกจากชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ทุ่งรับน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่รับน้ำ ดำเนินการไปแล้วกว่า 90% คาดว่าจะสิ้นสุดประมาณช่วงปลายเดือน ก.ย. และจะมีการรับน้ำเข้าทุ่งในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการปล่อยปลาเพื่อใช้สำหรับเป็นอาหารและสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในช่วงระหว่างการรับน้ำเข้าทุ่ง และจะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว โดยจะเหลือปริมาณน้ำไว้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่มีความเหมาะสมต่อไป

เขื่อนพร่องน้ำรับฝนหนัก
น.ส.รัชดากล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำของประเทศไทยพบว่าอยู่ในช่วงลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 20% ของค่าปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานเชิงรุกล่วงหน้า เช่น การเตรียมพร่องน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยสถานการณ์ปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ยังรองรับน้ำได้มาก โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ รองรับน้ำได้หากมีพายุจรเข้ามา รวมทั้งกักเก็บไว้ใช้ น้ำต้นทุนสำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ด้วย กรณีเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กบางแห่ง ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ทางกรมชลประทานได้ปรับเกณฑ์เพิ่มการระบายน้ำและต้องเฝ้าระวังหากมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงและแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานโดยสำนักเครื่องจักรกลร่วมกับโครงการชลประทานทั่วประเทศเร่งเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง นำเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งตาม จุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมรองรับน้ำฝนในระยะต่อไป ช่วยลดผล กระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ดังนี้ จ.ร้อยเอ็ด ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด จำนวน 30 เครื่อง และบริเวณใต้สะพานค้อเหนือนางาม อ.เสลภูมิ จำนวน 15 เครื่อง นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 5 เครื่อง ที่ท้าย ปตร.ห้วยดางเดียว อ.ทุ่งเขาหลวง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง, จ.นนทบุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณข้างวัดตาล (คลองบางตะไนย์) ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด สามารถสูบน้ำได้วันละ 23,700 ลบ.ม.

จ.ฉะเชิงเทรา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 42 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลอง 19 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งการระบายน้ำลงแม่น้ำบางปะกง สามารถสูบน้ำได้วันละ 831,600 ลบ.ม. และดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง ณ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำปากตะคลอง ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง โดยให้สลับการเปิดครั้งละ 1 เครื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มอัตราและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองสำโรงลงสู่แม่น้ำบางปะกง

เกาะอยุธยาจม2เดือนแล้ว
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,989 ลบ.ม.ต่อวินาที คงที่ติดต่อกัน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา คลองสาขาต่างๆ และแม่น้ำน้อยที่รับน้ำ มีระดับน้ำทรงตัว ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จ.พระนคร ศรีอยุธยา ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 389 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่าน อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชุมชนเกาะลอย หมู่ที่ 12 ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรี อยุธยา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีบ้านเรือนประชาชนประมาณ 100 กว่าหลังคาเรือน พื้นที่เป็นเกาะมีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบ พบว่าระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับสูงกว่า 1 เมตรมาแล้วประมาณ 2 เดือน พบชาวบ้านต้องนำสัตว์เลี้ยงมาอาศัยอยู่บนบ้านใช้ชีวิตประจำวันกับชาวบ้าน การสัญจรไปมาในหมู่บ้านต้องใช้เรือในการเดินทางเข้าออกมาทำงาน แม้ระดับน้ำเริ่มลดลงบ้าง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังหวั่นกับพายุมรสุมลูกใหม่ หรือฝนที่จะเข้ามาอีก

พัทยาอ่วม-ฝนเทท่วมถนน
ด้าน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ติดต่อกันนาน 1 ชั่วโมง เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ย. ทำให้มีปริมาณน้ำเอ่อขึ้นท่วมขังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความสูงตั้งแต่ 20 ซ.ม. ถึง 1 เมตร โดยจุดที่ท่วมขังนั้นยังคงเป็นที่เดิมคือบนถนนพัทยาใต้ ถนนซอยบัวขาว ถนนสาสาม แยกมุมอร่อย ถนนสุขุมวิทพัทยาใต้ หน้าสถานีตำรวจทางหลวงเก่า ถนนเส้นเลียบทางรถไฟ ช่วงซอยเขาตาโลถึงซอยวัดธรรมสามัคคี และถนนเลียบชายหาดพัทยา โดยปริมาณน้ำที่เอ่อขึ้นท่วมขังบนถนนเส้นต่างๆ ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่มีประชาชนสัญจรไปมา และเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากด้วย พบว่ามวลน้ำที่ไหลบ่าท่วมขังถนนนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบการคมนาคม เนื่องจากทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ สำหรับที่ฝ่าฝืนฝ่ากระแส น้ำไป รวมถึงบางคันที่หลบมวลน้ำที่มาอย่างรวดเร็วไม่ทัน ต้องได้รับความเสียหาย จอดเสียเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ถือว่ายังโชคดีที่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

8อ่างเก็บน้ำโคราชล้น
ส่วนสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำเชียงสา ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีความจุกักเก็บน้ำทั้งหมด 7.50 ล้านลบ.ม. วันเดียวกัน มีน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.599 ล้านลบ.ม. เกินความจุกักเก็บ 101.32% ทำให้มีน้ำล้นสปิลเวย์ ไหลลงสู่คลองธรรมชาติเฉลี่ย 270,000 ลบ.ม.ต่อวัน ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 จึงได้ทำหนังสือประกาศแจ้งเตือนไปยังผู้นำชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณบ้านอุดมทรัพย์ บ้านบะด่าน บ้านโนนเหลื่อม บ้านโนนสง่า บ้านศรีทอง ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว, บ้านเตย บ้านใหม่คลองเตย ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย และหมู่บ้านตลอดลำน้ำลำเชียงสา ให้เก็บสิ่งของที่มีค่าขึ้นที่สูง เพื่อเฝ้าระมัดระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนในช่วงนี้

เกี่ยวหนีน้ำ – ชาวนา อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ต้องลุยน้ำระดับอกเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด หลังถูกน้ำท่วมหนัก หากปล่อยทิ้งไว้จะเน่าเสียหาย ขณะที่น้ำมูนยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลากท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง เมื่อวันที่ 22 ก.ย.

 

เจ้าพระยาล้น – แม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งไหลบ่าท่วมบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ชุมชนเกาะลอย ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.

น้ำป่าทะลักท่วมถนนเขาใหญ่
วันเดียวกัน เกิดน้ำป่าจากพายุฝนตกหนักในช่วงกลางวันติดต่อกันมา ทำให้น้ำป่าไหลทะลักเอ่อท่วมผิวการจราจรสูง 2 จุด บนถนนธนะรัชต์ ก.ม.2 หน้าฟาร์มหมู ช่วงลงสะพานต่างระดับเขาใหญ่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระดับน้ำสูง 30 ซ.ม. และท่วมเป็นระยะไกลกว่า 300 เมตร ทำให้การจราจรติดขัดยาว เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างวิชชาธรรมสถานปากช่อง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากช่อง อาสาจราจรทางหลวง ออกมาจัดการด้านจราจร เนื่องจากขอบถนนมีร่องน้ำลึกรถอาจจะเสียหลักตกลงไปได้รับอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาในจุดนี้เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนาน จะเกิดน้ำป่าเอ่อขึ้นท่วมถนน บางครั้งน้ำสูงกว่า 50 ซ.ม. รถเล็กขับผ่านไม่ได้

ด้านนายภูวนาถ คงกำเนิด หัวหน้าหมวดทางหลวงปากช่องที่ 2 อ.ปากช่อง จ.นครราช สีมา ได้นำเจ้าหน้าที่ออกดูแลในจุดดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงใช้งบประมาณลอกคลองร่องน้ำทั้ง 2 ฝั่งถนน ลึกกว่า 3-4 เมตร เพื่อส่งน้ำลงไปยังลำตะคอง แต่ระยะทางไกลกว่า 800 เมตร น้ำไหลระบายไม่ทันก็จะทำให้เอ่อขึ้นท่วมถนน ทำให้ประชาชนสัญจรลำบากในช่วงฤดูฝน

จุดที่ 2 น้ำป่าจากอุทยานฯ เขาใหญ่ ไหลทะลักเข้าท่วมถนน ทางเข้าหมู่บ้าน วังประดู่ หมู่ 13 ต.หมูสี อ.ปากช่อง รถสัญจรผ่าน ไม่ได้ เตือนผู้ใช้รถควรระวัง อย่าประมาท

ขณะเดียวกันสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง พบว่าขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุแล้วถึง 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว, อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยางพะไล อ.แก้งสนามนาง, อ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อ.ประทาย, อ่างเก็บน้ำห้วยบง อ.ชุมพวง, อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย และอ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายอ่างเก็บน้ำต่างๆ เหล่านี้ ได้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนแล้ว

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 74.76% เท่านั้น ซึ่งยังกักเก็บน้ำได้อีกปริมาณมาก จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน