ทะลักริมฝั่งโกลาหลกทม.แจ้งด่วน17เขตขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำ

เจ้าพระยาล้นน้ำทะลักปทุมธานี-นนทบุรี ระดมกระสอบทรายกั้นน้ำในจุดเสี่ยง ที่ท่าน้ำนนท์ น้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมถนนหน้าหอนาฬิกา ตลาด ชุมชน ร้านอาหารริมฝั่งอ่วม ถูกท่วมสูง 70 ซ.ม. ถึง 1 เมตร เขื่อนชัยนาทระบายน้ำเพิ่ม ทำบางบาลอยุธยาท่วมสูงขึ้นอีกกว่าครึ่งเมตร กทม.กำชับ 17 เขตริมเจ้าพระยาให้ขนของขึ้นที่สูง หลังน้ำทะเลหนุนซ้ำ 3 อำเภอนครปฐม ริมท่าจีนอ่วม น้ำล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนที่บางเลน-นครชัยศรี-สามพราน ถนนบรมราชชนนี น้ำท่วมสูงกว่าครึ่งเมตร ส่งผลให้รถติดยาวเหยียดที่สามพรานขาเข้ากรุงเทพฯ กว่า 3 กิโลฯ เมืองแปดริ้วสั่งเฝ้าระวังแม่น้ำบางปะกงล้น หลังฝนตกหนักข้ามคืน ปภ.แจงพายุ ‘โนรู’ ถล่ม 11 จังหวัดเหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก น้ำท่วมหนัก

‘โนรู’ฟาด 11 จังหวัดท่วม
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผล กระทบพายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย เคลื่อนผ่านสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ตอนกลาง พายุเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน เคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย. เวลา 18.00 น. ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย. มีสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อำนาจ เจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท และสระแก้ว รวม 35 อำเภอ 72 ตำบล 166 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,121 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เนื่องจากสาเหตุลมพัดต้นไม้ล้มทับรถยนต์

สำหรับสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 67 หมู่บ้าน ส่วนภาพรวมระดับน้ำลดลงและสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี และสิงห์บุรี รวม 17 อำเภอ 132 ตำบล 685 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำทรงตัว

‘บางบาล-กรุงเก่า’น้ำเอ่อเพิ่ม
ที่จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นอีก 30-50 ซ.ม. อย่างรวดเร็วก่อนเวลากำหนดที่มีการแจ้งเตือนจนชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน โดยพบว่าที่บริเวณจุดกลับรถถนนทางหลวงหมายเลข 347 ปทุมธานี-บางปะหัน ใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่ง ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมระดับสูง 20 ซ.ม. รถยนต์ขนาดเล็กขับผ่าน ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปิดจุดกลับรถเพื่อทำแนวป้องกันน้ำ

ส่วนที่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 40 ซ.ม.ภายในคืนเดียว ท่วมบ้านเรือนประชาชน ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรเข้าออกบ้าน นำรถยนต์จอดเอาไว้ริมถนน

ขณะที่วัดบุญกันนาวาส ต.ไทรน้อย อ.บางบาล ระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำท่วมเต็มพื้นที่ของวัด

ท่าจีนล้น-ท่วมถนนรถติด
ด้าน จ.นครปฐม ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีน ถนนบรมราชชนนี หมู่ 5 ต.หอมเกร็ด อ.สามพราน มีน้ำท่วมขังถนน จนเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำป้ายกั้นและนำแท่งแบริเออร์มากั้นขอบทางเพื่อเป็นการเตือนป้องกันผู้ใช้รถใช้ถนนให้ระวังเส้นทางในการจราจรในเส้นทางดังกล่าว มีระดับน้ำสูงท่วมกว่า 60 ซ.ม. ทำให้รถเล็กและรถใหญ่สัญจรผ่านไม่ได้ ส่วนถนนช่องทางด่วนนั้นน้ำได้เอ่อท่วมทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งขาเข้ากทม.และขาออก มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 ซ.ม. ระยะทางยาว 500 เมตร ทำให้คนขับรถต้องชะลอ จนทำให้เกิดการจราจรติดขัดยาวกว่า 3 ก.ม.

ส่วนสถานการณ์น้ำแม่น้ำท่าจีนที่ไหลมาจากจ.สุพรรณบุรี มายังจ.นครปฐม น้ำได้เอ่อเข้าท่วมถึง 3 อำเภอ ได้แก่ ในพื้นที่อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน มีชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีนได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยนายอารุช เอมโอฐ นายอำเภอนครชัยศรี พร้อมด้วยเทศบาลตำบลนครชัยศรี อบต. ท้องถิ่น ได้นำกระสอบทรายมาสร้างแนวคันกั้นน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมให้ยกสิ่งของขึ้นที่สูง คาดว่าอาจมีมวลน้ำจากจ.ชัยนาท และจ.สุพรรณบุรี ไหลลงมาจำนวนมาก จึงสั่งให้เตรียมพร้อมรับมวลน้ำตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านวัดลำพญา ต.ลำพญา อ.บางเลน แม่น้ำท่าจีนสูงขึ้นและบางจุดหลั่งไหลเข้าตลาดน้ำวัดลำพญา โดยนายขจรเกียรติ นิพัฒน์โภคัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลลำพญาเปิดเผยว่า ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าทุกปีมาสักระยะแล้ว ในส่วนของบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลตำบลลำพญาได้รับความเสียหาย รวมถึงพื้นที่เกษตรกร นา ไร่ หมู่ที่ 4 หมู่ 6 และหมู่ 9 จึงได้พยายามป้องกัน โดยการนำกระสอบทรายมากัน ริมแม่น้ำท่าจีน ในส่วนของสถานที่ราชการ เช่น วัดลำพญา โรงเรียนวัดลำพญา และศูนย์เด็กเล็ก และตลาดน้ำลำพญาซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจของตำบล โดยทางโรงเรียนการบินได้ส่งกำลังทหารมาช่วยจำนวน 20 นาย พร้อมเร่งทำแนวกั้นกระสอบทรายให้เสร็จเพื่อที่จะได้เปิดตลาดน้ำได้ตามปกติ

ขณะที่นายอนุชา ใจช่วงโชติ นอภ.บางเลน พร้อมปลัดอำเภอ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำท่าจีน ตรวจเยี่ยมและได้ให้กำลังใจคณะทำงาน พร้อมนำกำลัง อส. มาช่วยกรอกกระสอบทราย และยังมีพระลูกวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาร่วมด้วยช่วยกัน โดยได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยการสร้างเขื่อนตลอดแนวยาวของริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งหลังจากนี้จะทำประชาคมและบรรจุเข้าแผนต่อไป

เจ้าพระยาทะลัก – น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน-ร้านอาหารย่านท่าน้ำนนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี ระดับน้ำสูงเกือบถึงเอว หลังจากน้ำเหนือบ่าประกอบกับน้ำทะเลหนุนทำให้เจ้าพระยาเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

เจ้าพระยาทะลักท่าน้ำนนท์
ที่ จ.ปทุมธานี นายสายัณ นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี นำทีมสมาชิกเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่กองช่าง งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ของเทศบาลตำบลบ้านกลาง วางกระสอบทรายตามแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาและตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากภายในบริเวณลานวัดศาลเจ้า และซอยวัดมะขาม หลังมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน และทางกรมชลประทานได้เพิ่มการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าน้ำนนทบุรีได้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 2.42 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เนื่องจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีฝนตกท้ายเขื่อนจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมลานกิจกรรมบริเวณท่าน้ำนนท์ ลานเขื่อนท่าน้ำ ลงสู่ถนนหน้าหอนาฬิกา ระดับน้ำสูง 15-20 ซ.ม. ก่อนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมรวมทั้งวัด โรงเรียน ตลอดทั้งแนวที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 10 ก.ม. โดยที่ซอยพิบูลสงคราม 1 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง และชุมชนวัดพลับ ชุมชนวัดปากน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลเอ่อล้นเข้าท่วมถนนพิบูลสงคราม น้ำสูงประมาณ 20-30 ซ.ม. ทำให้บ้านเรือนประชาชนในชุมชนริมน้ำถูกน้ำเข้าท่วมสูงประมาณ 50-70 ซ.ม. ส่วนที่ชุมชนภายในซอยพิบูลสงคราม 15 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง บ้านเรือนประชาชน และร้านอาหารริมน้ำ ถูกน้ำเข้าท่วมสูง 70 ซ.ม.-1 เมตร ร้านอาหารต้องหยุดบริการ ส่วนบ้านเรือนประชาชนต้องวางแนวกั้นกระสอบทรายกันน้ำไหลเข้าท่วมบ้านประชาชนอีกฟากของถนน พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากตัวบ้าน

ระดมเสริมถุงทรายกั้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศบาลนครนนทบุรีได้เร่งเสริมแนวกระสอบทรายตามชุมชนต่างๆ เฉพาะชุมชนวัดปากน้ำ ซอยพิบูลสงคราม 1 น้ำได้ล้นแนวกระสอบทรายท่วมผิวการจราจรในซอยต่อเนื่องจนถึงถนนพิบูลสงครามสูงประมาณ 5 เซนติเมตร และชุมชนซอยแสงเทียน ที่น้ำได้สูงล้นแนวกระสอบทรายที่วางไว้เดิม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งแก้ไขเสริมแนวกระสอบทรายแล้ว

นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี พร้อมด้วย น.อ.สวาท นิยมเหตุ รองนายกเทศมนตรีได้ลงพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรีเพื่อตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้น กำชับให้ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่จากสำนักการช่างเสริมแนวกั้นกระสอบทรายให้แข็งแรงและสูงขึ้น รองรับกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และขอความร่วมมือให้ผู้เดินเรือขนาดใหญ่ขับเรือด้วยความระมัดระวังเนื่องจากคลื่นจะกระทบกับบ้านเรือนประชาชน

นายสุรินทร์ สะและสกุล ประธานชุมชนพิบูลสงคราม 1 กล่าวว่า วันนี้น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 10.00 น. ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมในซอยซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ทำให้รถยนต์ของชาวบ้านที่อยู่ในซอยถูกน้ำท่วมเกือบถึงประตูรถ การเดินทางได้รับความลำบากขึ้น ตนได้เแจ้งให้เทศบาลเข้ามาดำเนินการสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราวแล้วเพื่อลดผลกระทบกับชาวบ้านและให้ประชาชนได้เคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากพื้นที่ โดยชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบน้ำในแม่น้ำไหลเข้าท่วมมาตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา

ย้ำ 17 เขตริมตลิ่งขึ้นที่สูง
ที่ศาลาว่าการกทม. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า กทม.แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแนวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือจุดที่ไม่มีเขื่อนป้องกันถาวร เช่น จุดพื้นที่เอกชน ท่าเรือ ขอให้เฝ้าระวังสถาน การณ์น้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด และยกของขึ้นที่สูงในช่วงที่น้ำขึ้น

สำหรับระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันเดียวกัน ฐานน้ำทะเลหนุน น้ำขึ้นเต็มที่เวลา 09.29 น. ระดับ +1.05 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ที่สถานีวัดบางนาวัดได้ระดับสูงสุด +1.96 ม.รทก. เมื่อเวลา 09.15 น. ต่ำกว่าแนวป้องกัน 0.84 เมตร แนวป้องกันอยู่ที่ 2.80 เมตร ที่สถานีปากคลองตลาด +2.02 ม.รทก. (09.30 น.) ต่ำกว่าแนวป้องกัน 0.98 เมตร แนวป้องกันอยู่ที่ 3.00 เมตร และที่สถานีวัดบางเขตใหม่ +2.04 ม.รทก. (08.45 น.) ต่ำกว่าแนวป้องกัน 1.46 เมตร แนวป้องกันอยู่ที่ 3.50 เมตร และในช่วงค่ำวันนี้ยังมีน้ำขึ้นเต็มที่อีกในเวลาประมาณ 19.42 น. ระดับ +1.10 ม.รทก.

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นนอกจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนแล้ว ยังเป็นน้ำเหนือที่ไหลบ่ามาเติม โดยในวันนี้ที่จุดวัด อ.บางไทร วัดได้ 2,929 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ความจุของลำน้ำรับได้ที่ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายเอกวรัญญูกล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯ กทม.ได้กำชับทั้ง 17 เขตที่ดูแลพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังจุดอ่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรวจสอบแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม หากพบจุดที่มีแนวรั่วซึมให้ซ่อมแซมโดยใช้กระสอบทราย พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของแนวกระสอบทรายที่ทำไว้เป็นแนวป้องกันชั่วคราวในจุดที่เป็นฟันหลอ เข้าไปดูแลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ข้อมูลแจ้งเตือน เตรียมพร้อมย้ายสิ่งของ/ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง รวมทั้งประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ให้ได้รับความสะดวก เป็นต้น

ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากฝนตกหนัก/น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านทางทราฟฟี่ ฟองดู ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม 0-2248-5115 หรือโทร.สายด่วน 199 และศูนย์ประสานงานน้ำท่วมทั้ง 50 เขต

เจ้าพระยาสมทบ‘สะแกกรัง’
วันเดียวกัน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผล กระทบจากอิทธิพลของพายุโนรู ที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกแผ่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูน ที่สถานีวัดน้ำ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,939 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยแนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่อง ผลักดันน้ำเพิ่มเติมบริเวณสะพานโขงเจียม อ.โขงเจียม อีก 86 เครื่อง เพื่อเร่งระบายในลำน้ำมูนลงสู่แม่น้ำโขงได้ประมาณวันละ 442 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูนประมาณ 1.90 เมตร

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.37 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่ปริมาณน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากเเม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 310 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนพื้นที่ตอนล่างที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,929 ลบ.ม.ต่อวินาที

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์น้ำหลาก จ.อุบลราชธานี ในปี 2562 มาเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนต่อไป

เฝ้าระวังบางปะกงล้น
ส่วนที่จ.ฉะเชิงเทรา นายทรัพย์ทวี กุลสารี นายก อบต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ได้ลงพื้นที่บริเวณหมู่ 2 บ้านท่าเรียบ ต.ท่ากระดาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไม่สามารถออกไปหาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคได้ โดยนำสิ่งของ ข้าวปลาอาหาร และเครื่องใช้จำเป็น นำไปมอบให้ประชาชนซึ่งถูกน้ำท่วมสูง 1.50 เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเขื่อนสียัดก็เอ่อเพิ่มขึ้น โดยทางการมีแผนที่จะพร่องน้ำเพื่อป้องกันปริมาณน้ำล้นสปิลเวย์ และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามปริมาณน้ำอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนมากเกินไปกว่านี้

ขณะที่อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนส่งผลให้แม่น้ำบางปะกงมีระดับน้ำที่สูงขึ้น เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำและในพื้นที่ผิวการจราจรบริเวณตัวเมือง ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราได้นำเครื่องสูบน้ำติดตั้งจำนวน 4 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

ด้าน ปภ.ฉะเชิงเทราได้แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากพายุโนรูพัดผ่านคืนที่ผ่านมาทำให้ในบางพื้นที่ยังมีฝนตก ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำบางปะกงเอ่อล้น

ทำพิธี‘สูญถอน’รื้อเจดีย์ 500 ปี
ส่วนความคืบหน้าจากเหตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ถนนช่างหล่อ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีอายุกว่า 500 ปี พังถล่มลงมา เมื่อคืนวันที่ 29 ก.ย. หลังเกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องหลายวัน ประกอบกับมีพายุดีเปรสชันโนรูเข้าในพื้นที่ ภาคอีสานต่อเนื่องมาจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปกรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาล และคณะสงฆ์ ได้นำยอดเจดีย์ลงมาได้สำเร็จ ภายในบรรจุพระธาตุ นำมาตรวจสอบและเก็บรักษา รวมทั้งวัตถุมงคลต่างๆ ทั้งพระพุทธรูป, อัญมณีต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเจดีย์จำนวนมาก โดยกันไม่ให้ผู้ที่ ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณพื้นที่เจดีย์ที่ถล่ม

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทฺธสีโล) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณเปิดเผยว่า ได้นิมนต์คณะสงฆ์จากวัดต่างๆ ในเชียงใหม่ จำนวน 5 รูป เพื่อทำพิธีสูญถอน ก่อนให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนซากเจดีย์ส่วนที่เหลือ โดยทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เข้าตรวจสอบวัตถุมงคลอัญมณีที่พบในซากเจดีย์อย่างต่อเนื่อง พบว่ามีทั้งของเก่าและใหม่

“การสร้างเจดีย์ต่างๆ นั้น จะนำวัตถุมงคลอัญมณีใส่ที่ฐานเจดีย์ ที่กลางเจดีย์ และที่ปลายเจดีย์ และเมื่อมีการมาสร้างครอบเจดีย์ก็จะนำวัตถุ อัญมณี มาใส่เพิ่มอีก ทำให้วัตถุมงคล อัญมณี ที่พบจะมีทั้งของเก่าและใหม่ ก่อนที่เจดีย์จะพังลงมา เราได้เห็นรอยร้าวก่อน จึงได้แจ้งกรมศิลปากรและทางคณะสงฆ์ก็เฝ้าดูตลอดเวลา และห้ามนักเรียนและคนทั่วไปเข้าไป เราพบรอยร้าวมา 3 วันก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเตรียมการป้องกัน ทำให้ไม่เกิดอันตรายกับนักเรียนและประชาชนที่มาในวัด”

ด้านนายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้าในพื้นที่แล้ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบวัตถุมงคล พระพุทธรูป อัญมณีต่างๆ ก็จะมีทั้งของเก่าและใหม่ ก็ตรวจสอบกันไปเรื่อยๆ

ชี้สร้างครอบ-น้ำกักทำพังครืน
“สาเหตุของการพังทลายของเจดีย์ นาย เทอดศักดิ์กล่าวว่า มาจากการสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า และมีการทาสีทองทับเหมือนกับเป็นฟิล์ม ทำให้ความชื้นในเจดีย์องค์เก่าไม่สามารถระเหยออกมาได้ เมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ซึมเข้าบริเวณรอยร้าวของเจดีย์เข้าไปสะสม นานเข้าจึงเกิดวิบัติและถล่มลงมาดังกล่าว ซึ่งสถานโบราณในเชียงใหม่นิยมจะสร้างครอบของเก่า และไม่มีโครงสร้างในการยึดและรองรับน้ำหนักการระเหยความชื้น เนื่องจากคนโบราณไม่ต้องการจะทำให้กระทบกระเทือนของเก่าแก่ จึงสร้างครอบ ในเชียงใหม่พบว่ามีการสร้างครอบโบราณสถานถึง 80% เลยทีเดียว ที่กำแพงเมืองประตูช้างเผือกพังถล่มก็ลักษณะเดียวกันกับเจดีย์ที่วัดศรีสุพรรณที่สร้างครอบของเก่า อย่าลืมว่าปูนของเก่ากับปูนของใหม่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถเข้าเป็นเนื้อเดียวกันและยึดเกาะกัน ดังนั้น การสร้างครอบเท่ากับทำให้เจดีย์เก่าต้องแบกรับน้ำหนักเพิ่มไปอีก” นายเทอดศักดิ์กล่าว

ขณะที่สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ระดับน้ำอยู่ที่ +118.23 ม.รทก. ระดับสันสปิลเวย์ +117.00 ม.รทก. (ล้นข้ามสัน 1.23 เมตร) ระดับสันทำนบ +120 ม.รทก. (ต่ำกว่าสันทำนบ 1.77 เมตร) ปริมาณน้ำในอ่าง 53,260,000 ลบ.ม. หรือ 123.86% ของความจุของอ่าง ทำให้มีน้ำไหลลงคลองลำสนธิค่อนข้างสูง ทางเขื่อนได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองลำสนธิจนถึงพื้นที่ที่อยู่ท้ายประตูระบายน้ำลำสนธิและพื้นที่เสี่ยงภัยให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเฝ้าระวังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

นายประเสริฐ เล็กรุ่งเรือง ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดลพบุรี กล่าวว่าอ่างฯ กุดตาเพชร นอกจากจะรับน้ำในพื้นที่ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องเตรียมการรับมวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิ และจ.นครราชสีมา หากมีความจำเป็นในกรณีฉุกเฉินต้องระบายน้ำผ่านช่องทางน้ำที่ขุดเปิดไว้เมื่อปีที่แล้วบริเวณหัวเขื่อน ซึ่งมีระดับอยู่ที่ +119.000 ม.รทก. จะทำให้น้ำในคลองลำสนธิสูงขึ้น อาจกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมคลอง

น้ำบ่ากลางชุมชนโคกสำโรง
ส่วนที่ อ.โคกสำโรง น้ำป่าได้ไหลหลากล้นมาตามถนนสุระนารายณ์ จากเขตพื้นที่เขาตะเภา ไหลหลากลงสู่คลองสนามแจงจนล้น มวลน้ำได้ไหลทะลักลงมาอย่างรวดเร็ว ผสมเพิ่มเติมปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืนเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ยังไม่มีท่าทีที่จะลดระดับ ส่งผลให้พื้นที่หมู่ 2-3-4 ต.โคกสำโรง ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม.แล้ว หลังจากเมื่อคืนวันที่ 29 ก.ย.เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ย่านชุมชนหนาแน่น ทั้งสถานที่ราชการ เทศบาลโคกสำโรง ตลาดสดเทศบาล ร้านค้าแผงลอยต่างๆ อีกนับร้อยแห่งย่านตลาดสด มีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 30-50 ซ.ม. ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องพากันขนย้ายสิ่งของมีค่าหนีน้ำกันอลหม่าน

ซึ่งระดับน้ำยังไหลเอ่อเข้ามาเป็นระลอกลงสู่พื้นที่ราบต่ำในพื้นที่ อ.บ้านหมี่ ผลักดันลงคลองชัยนาทป่าสัก ซึ่งทางหน่วยงานราชการได้ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เก็บข้าวของขึ้นที่สูงเพื่อไม่ให้สิ่งของมีค่า สัตว์เลี้ยง ได้รับความเสียหาย ซึ่งชาวบ้านในย่านโซนเศรษฐกิจเทศบาลอำเภอโคกสำโรงตื่นตระหนกกับเหตุการณ์เนื่องจากปีที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมหนักที่สุดมาแล้วในรอบ 10 ปี เกรงจะซ้ำรอยอีก

12 อ่างเก็บโคราชล้นแล้ว
ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำลำตะคองช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา วันเดียวกัน มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะที่ชุมชนมิตรภาพซอย 4 ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 2 ซ.ม. ทางเทศบาลฯ ได้ปักธงสีส้ม เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนรอบลำน้ำลำตะคอง เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน พร้อมกันนี้ได้ตั้งเต็นท์กองอำนวยการ และมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.21 มาช่วยกรอกกระสอบทราย แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปกั้นป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือน เนื่องจากขณะนี้น้ำเริ่มผุดจากท่อระบายน้ำไหลเข้าท่วมถนนในซอยแล้ว ทำให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ต้องพากันนำกระสอบทรายมากั้นน้ำหน้าบ้านกันอย่างคึกคัก

ขณะที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้นำกระสอบทรายจำนวนมาก ไปปิดประตูทางเข้าด้านหลังโรงพยาบาลทุกจุด พร้อมเฝ้าระวังน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อำเภอด้านบนตัวเมือง คือ อ.สีคิ้ว สูงเนิน และขามทะเลสอ ซึ่งฝนยังคงมีตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าหากมีพายุลูกใหม่เข้ามาซ้ำอีก

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 86% โดยแยกเป็นอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 90.23%, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 90.33%, อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 83.78%, และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 80.06% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ล่าสุดมีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บแล้ว 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมือง, อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ.วังน้ำเขียว, อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว, อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) อ.ด่านขุนทด, อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ, อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่, อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง, อ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อ.ประทาย, อ่างเก็บน้ำห้วยบง อ.ชุมพวง, อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย, และอ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ ได้เก็บข้าวของขึ้นที่สูง เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนแล้ว

เขื่อนล้น-ถนนจมกว่าเมตร
ส่วนที่อ.พิมาย ยังมีน้ำท่วมขังหลายจุด เนื่องมาจากมวลน้ำจากลำน้ำมูนและลำน้ำจักราช ได้เอ่อเข้าท่วมทั้งบ้านพักข้าราชการตำรวจ สภ.พิมาย กว่า 50 ห้อง ระดับน้ำสูงครึ่งเมตร ส่วนบ้านเรือนในเขตเทศบาลตำบลพิมาย รวมทั้ง ที่โรงเรียนบ้านท่าหลวง ในต.ท่าหลวง ระดับน้ำท่วมสูง 20-30 ซ.ม. เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลพิมาย ได้เร่งนำกระสอบทรายไปอุดท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้มวลน้ำในลำน้ำจักราชดันย้อนท่อระบายน้ำขึ้นมา และนำกระสอบทรายไปวางเป็นแนวบังคับทางน้ำไหล

พ.ต.อ.นธีร์ สุคุณา ผกก.สภ.พิมาย เปิดเผยว่า ฝนตกสะสมนานทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมรอบๆ บริเวณโรงพัก ท่วมบ้านพักข้าราชการตำรวจ ระดับน้ำสูง 40-50 ซ.ม. และท่วมบริเวณลานเก็บรถของกลาง มวลน้ำทำให้รถล้มระเนระนาด ขณะที่ทรัพย์สินของข้าราชการตำรวจในบ้านพักก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน

ที่อุทยานปราสาทหินพิมาย มีน้ำท่วมขังสะสมทั่วบริเวณอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบดึงน้ำที่ท่วมขังออกนอกบริเวณอุทยานฯ โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผล กระทบต่อโครงสร้างของปรางค์ปราสาทหินและพื้นที่เขตอุทยานฯ ซึ่งปริมาณน้ำใน ลำน้ำมูนยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ด้านอ.ปักธงชัย มีมวลน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง ได้ไหลหลากเข้าท่วมทางหลวงหมายเลข 226 บริเวณบ้านโนนคอย หมู่ 10 ต.หนองพลวง อ.จักราช ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ระยะทางยาวกว่า 1 ก.ม. เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวง ได้นำแผงจราจรมาปิดกั้นทางไม่ให้รถผ่านบริเวณฝั่งขาเข้าตัวเมืองนครราชสีมา ต้องเปิดช่องทางพิเศษเพื่อให้รถวิ่งสวนทางกัน

มท.จี้ทุกจว.เร่งช่วยฉุกเฉิน
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ในขณะเกิดสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่จังหวัดไม่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อปท. สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นได้ทันที ทั้งในด้านการดำรงชีพ การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การเข้าระงับสาธารณภัยเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน หรือป้องกันภยันตรายโดยไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือของอปท.พิจารณาก่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

พลังน้ำ – เจ้าหน้าที่เดินลุยน้ำท่วมสูงไปช่วยคนขับรถกระบะถูกกระแสน้ำเชี่ยวพัด ตกถนนสระบุรี-หล่มสัก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หลังฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนจากอิทธิพลพายุ ‘โนรู’ ทำให้น้ำป่าไหลบ่าท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

จมศรีเทพ – รถยนต์ขับฝ่าน้ำท่วมสูงบนถนนสายสระบุรี-หล่มสัก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ หลังฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนจากอิทธิพลพายุ ‘โนรู’ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

ลุยน้ำ – คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นำคณะผู้บริหารพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อุบลราช ธานี ลุยน้ำท่วมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบ อุทกภัยจากพายุ ‘โนรู’ ในพื้นที่อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน