2เขื่อนใหญ่เกินความจุ สิงห์บุรีหนีน้ำอยู่ถนน คันกั้น‘เกาะเกร็ด’ถล่ม อุตุชี้ฝนหนักถึง7ตค.

2 เขื่อนใหญ่ ‘เจ้าพระยา-ป่าสักชลสิทธิ์’ น้ำใกล้เต็มความจุต้องเร่งระบาย ส่งผลให้จังหวัดท้ายเขื่อนน้ำล้น ตลิ่งอย่างฉับพลัน ตั้งแต่ชัยนาทท่วม 5 อำเภอ สิงห์บุรีคันกั้นน้ำชั่วคราวที่พรหมบุรีพังครืน น้ำทะลักกว่า 200 หลัง ชาวบ้านต้องอพยพด่วนขึ้นมาอยู่บนถนน โผงเผง ป่าโมก อ่างทอง น้ำบ่าท่วมถนนจมครึ่งเมตร อยุธยาทะลักบ้านริมตลิ่งเป็นเมตร ระดมเพิ่มแนวบังเกอร์ให้สูงขึ้นป้องวัดไชยวัฒนาราม ปภ.เตือน 11 จังหวัด-กทม.รับเจ้าพระยาทะลัก ขณะที่เกาะเกร็ด นนทบุรี อพยพวุ่นกลางดึก คันดินกั้นพัง น้ำทะลักกว่าเมตรครึ่ง บ้านชั้นล่างจมมิด ตลาดน้ำสามโคก เมืองปทุมธานี ก็จมกว่าเมตร

‘บิ๊กตู่’สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงท่วมซ้ำ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ คงการสนับสนุนรัฐบาล ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ต่อเนื่องกันไป หลังสถานการณ์พายุโนรูอ่อนกำลัง โดยยังให้ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่ฝนยังตกหนักสะสมต่อเนื่อง และให้ช่วยเหลือเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชนลงลำน้ำสายหลักให้เร็วขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกันให้เตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ทันที เมื่อสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ท้ายเขื่อนที่ต้องรับมือกับน้ำเหนือที่เพิ่มปริมาณการระบายในขณะที่ช่วงต้นเดือนต.ค. มีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะเป็นปัญหาให้ปริมาณน้ำป่าสักและเจ้าพระยาสูงขึ้นและเกิดน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ขอให้หน่วยทหารในพื้นที่พิจารณาให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับจังหวัดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกทม.ในการหนุนเสริมกำลังและเครื่องมือช่างเข้าไปช่วยรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินและลดผล กระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น

พล.อ.คงชีพกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังได้แสดงความขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับกำลังพลและครอบครัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และจิตอาสาที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยขอให้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ประมาท และให้คงกำลังอยู่ในพื้นที่กับประชาชน ช่วยเหลือแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ

ชวนโหลดแอพ‘ThaiWater’
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำที่ถูกต้องและฉับไว สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “ThaiWater” รู้น้ำ รู้อากาศ ทันใจทุกสถานการณ์ ชวนให้ประชาชนโหลด โดยแอพฯ นี้ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องน้ำ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศไทยตั้งแต่ภาพรวมระดับประเทศ ลงมาถึงระดับจังหวัด และรายละเอียดแต่ละด้าน โดยแสดงข้อมูลฝน ระดับน้ำ สถานการณ์เขื่อน คลื่นลม และพายุ มีทั้งแบบสถานการณ์ปัจจุบันและข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังกดเพิ่มสถานที่โปรด คือการเพิ่มจังหวัดต่างๆ ที่ต้องการดูข้อมูล และ ดูการ “แจ้งข่าว” เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำต่างๆ โดยดาวน์โหลดแอพฯ ThaiWater ได้ทั้งใน เพลย์สโตร์ และแอพสโตร์

‘เจ้าพระยา-ป่าสัก’เอ่อเพิ่ม
ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 45/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู” ช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก ปริมาณมากขึ้น กอนช.คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,600-2,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้รับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่รองรับน้ำได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 2,600-2,700 ช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. ประกอบกับคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.-6 ต.ค. ประมาณ 800 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด จึงจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตราไม่เกิน 800 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้

1.แม่น้ำป่าสัก บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1.20-1.50 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.25-0.50 เมตร

คุณพระช่วย – พระสมุห์นพพร ญาณสัมปันโน และพระร่วมวัดฝ่าน้ำท่วมไปช่วยกันอุ้มร่างนายเภา ทองสอาด วัย 98 ปี ที่เสียชีวิต ออกจากบ้านพักถูกน้ำท่วมสูงมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดไผ่ล้อม อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

กำชับ 8 จังหวัดป้องล้นตลิ่ง
2.แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30-0.60 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, อ.อินทร์บุรี เมือง และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี, อ.ป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.ปทุมธานี, จ.นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และจ.สมุทรปราการ

กอนช.จึงขอแจ้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคัน บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที พร้อมกับปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่รองรับได้ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

เขื่อนป่าสักใกล้เกินความจุ
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชล ประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันโนรูที่เข้าสู่ประเทศไทย กรมชล ประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝน ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยม วิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 30 ก.ย.-6 ต.ค. รวมประมาณ 824 ล้านลบ.ม.

และวันที่ 7 ต.ค. คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 1,139 ล้านลบ.ม. มีแนวโน้มที่จะเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำ และปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทานจึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 400 ลบ.ม.เมตรต่อวินาที เป็น 600 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยได้ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า เมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท- ป่าสักแล้ว จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตราไม่เกิน 800 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20-1.50 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.25-0.50 เมตร ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลประกอบการแจ้งเตือนในเบื้องต้นให้กับบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

อพยพ – เจ้าหน้าที่เทศบาลและหน่วยกู้ภัยนำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยอพยพชาวบ้าน หลังน้ำป่าจากอิทธิพลของพายุโนรูไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านม่วงสามปี หมู่ที่ 8 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

อุตุฯชี้ฝนยังเทยาวถึง 7 ต.ค.
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. โดยคาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 1-2 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ หลังจากนั้นในช่วง วันที่ 3-7 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลางในช่วงวันที่ 2-7 ต.ค. โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ตลอดช่วง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน

เร่งฟื้นฟู 15 จังหวัดน้ำท่วม
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน ผลกระทบพายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู (NORU)” ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.ถึงวันที่ 1 ต.ค.ว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 53 อำเภอ 130 ตำบล 387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 4,424 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เนื่องจากสาเหตุลมพัดต้นไม้ล้มทับรถยนต์

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด 42 อำเภอ 111 ตำบล 363 หมู่บ้านคือที่ 1.เพชรบูรณ์ 2.พิจิตร 3.ศรีสะเกษ 4.อุบลราชธานี

ขึ้นหลังคา – ชาวบ้านม่วงสามปี หมู่ที่ 8 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ต้องหนีขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน หลังฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโนรู ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากจากลำห้วยแม่แตะเข้าท่วมจนเกือบมิดหลังคาชั้นล่าง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

เหนือตอนล่าง-กลางน้ำขยายวง
5.ขอนแก่น 6.ชัยภูมิ 7.นครราชสีมา 8.บุรีรัมย์ 9.ชัยนาท และ10.ปราจีนบุรี โดยภาพรวมระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ขณะที่สถานการณ์มรสุมยังคงทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี และสิงห์บุรี รวม 17 อำเภอ 132 ตำบล 685 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่หมู่ 5 ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำได้ไหลบ่าเข้าเอ่อล้นถนนสาย 309 อยุธยา-อ่างทอง สายใน ข้ามฝั่งไปยังพื้นที่ ต.สายทอง อ.ป่าโมก บริเวณทางเข้าหน้าวัดพายทอง เป็นระยะทางยาวกว่า 300 เมตร น้ำสูง 30 ซ.ม. ขณะที่ประชาชนต่างเร่งเก็บของขึ้นที่สูง และขนของออกมาบนถนนเส้น 309 ทางด้าน ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง สูง 9.15 เมตร เหลืออีก 85 ซ.ม. ก็จะเสมอตลิ่ง ขณะที่มีน้ำไหลผ่าน 2,491 ลบ.ม.ต่อวินาที

11จว.-กทม.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
กอปภ.ก. ระบุอีกว่า ได้รับการประสานจากกรมชลประทาน และกอนช. แจ้งว่าเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนรู ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักปริมาณมากขึ้น จึงได้แจ้ง 11 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพฯ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มการระบายน้ำ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการ ในแม่น้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือผล กระทบจากสถานการณ์น้ำ

สิงห์บุรีอพยพโกลาหล
ผู้สื่อข่าวรายงานระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่จ.ชัยนาท ว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ปริมาณน้ำเหนือ + 17.05 เมตร (รทก) ท้ายเขื่อน + 16.19 เมตร(รทก) ระบาย 2,627 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพื้นที่จ.ชัยนาท ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง วัดสิงห์ มโนรมย์ หันคา และสรรพยา รวม 11 ตำบล 38 หมู่บ้าน 3 ชุมชน รวม 1,976 หลังคาเรือน พื้นที่เกษตร พืชไร่ 153 ไร่ ด้านจ.สิงห์บุรี

ที่คันดินกั้นน้ำชั่วคราว ที่หมู่ 5 ต.พระงาม อ.พรหมบุรี ต้านทานกระแสน้ำไม่ไหว เกิดพังลงมาส่งผลให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ต่างช่วยกันขนย้ายทรัพย์สิน ข้าวของออกมาจากบ้าน นำมากองไว้ที่ริมถนนสายสิงห์บุรี-อ่างทอง โดยมวลน้ำที่ไหลเข้ามาก็เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนหน้านี้กำลังก่อสร้างผนังกั้นน้ำ แต่เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นสูงมาก จึงต้องพักการก่อสร้าง และได้นำดินมากั้นเป็นคันกั้นน้ำชั่วคราว รอเมื่อถึงฤดูกาลที่น้ำลด ค่อยก่อสร้างต่อ โดยมวลน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ใช้เวลานาน 2 ชั่วโมงก็ท่วมเต็มพื้นที่ มีข้าวของเครื่องใช้ที่ขนย้ายไม่ทัน เสียหาย บางส่วนก็ลอยไปกับกระแสน้ำ ขณะที่อบต.พระงาม ได้นำรถแบ๊กโฮ 3 คัน เร่งทำแนวคันดิน กั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมพื้นที่ใกล้เคียง

ขณะที่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี บริเวณพนังกั้นน้ำหมู่ 5 ต.ม่วงหมู่ ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงกว่าระดับถนน มีน้ำไหลซึมออกมาจากตะเข็บรอยต่อของพนังกั้นน้ำ ทางเทศบาลเมืองสิงห์บุรีจึงได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งระดมกำลังสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง มี พระสงฆ์วัดตึกราชา พร้อมกับชาวบ้านได้ช่วยกันบรรจุทรายใส่กระสอบ พร้อมรับมือกับมวลน้ำอย่างเต็มที่ ชาวบ้านบางส่วนก็นำถุงพลาสติกมาช่วยกันอุดรูรั่วบริเวณรอยต่อของพนังกั้นน้ำ ซึ่งมีน้ำผุดขึ้นมาอยู่ตลอดแนวยาวกว่า 2 ก.ม. เพื่อช่วยชะลอไม่ให้มวลน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

น้ำพังถนน – สภาพถนนอ่างทอง-ป่าโมก สายเก่า หมู่ 1 ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกกระแสน้ำเชี่ยวไหลบ่าข้ามฝั่งจนถนนพังยุบเสียหายไม่สามารถใช้สัญจรได้ นอกจากนี้ ยังมีเสาไฟส่องสว่างหักโค่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

ที่บริเวณถนนอ่างทอง-ป่าโมก สายเก่า หมู่ 1 ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พบน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมถนนและข้ามฝั่งลงไปยังคลองชลประทานขนานกับถนนเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร พบว่าน้ำท่วมบนถนนสูง 30-50 ซ.ม.

นายศราวุธ เผ่าพยัคฆ์ นายกอบต.เอกราช อ.ป่าโมก ที่มาดูสถานการณ์น้ำกล่าวว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านน้ำได้เอ่อล้นข้ามถนนทำให้ถนนพังเสียหายเสาไฟฟ้าหักโค่น ต้องใช้ทางเลี่ยงในการสัญจร น้ำที่เอ่อล้นไหลบ่ามาส่งผลกระทบไปยัง ต.นรสิงห์ และต.เอกราช ต้องเร่งกั้นน้ำบนถนนอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้างต่อไป

เพิ่มแนวบังเกอร์ป้องวัดไชยฯ
ส่วนที่ชุมชนตำบลบ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำได้ล้นตลิ่งรวมบ้านเรือนประชาชนขยายวงกว้าง ระดับน้ำสูง 1 เมตร ชาวบ้านต้องเล่นเก็บสิ่งของไว้ที่สูง ต้องใช้เรือในการสัญจรเข้าออกบ้านพร้อมกับขนย้ายสัตว์เลี้ยงไว้ที่ปลอดภัย

ที่วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม ซึ่งเป็นวัดโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าระดับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บริเวณสนามหญ้าหน้าวัด สูง 80 ซ.ม.

ท่วมวัด – วัดกษัตราธิราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา วัดโบราณสถานและ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกน้ำเอ่อเข้าท่วมเขตวัดเหลืออีกไม่ถึงเมตร จะล้นแนวบังเกอร์น็อกดาวน์ป้องกันพื้นที่โบราณสถาน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

ขณะที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นกัน พบว่าระดับน้ำสูงขึ้นจากแนวตลิ่งพื้นของวัด 1.60 เมตร เหลืออีก 80 ซ.ม. จะเสมอกับแนวบังเกอร์ระบบน็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่เร่งขนย้ายแผ่นเหล็ก เพื่อติดตั้งสริมแนวบังเกอร์น็อกดาวน์ให้สูงขึ้นอีก 60 ซ.ม. เตรียมรับปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

หนุ่มตกเจ็ตสกีจมดับคลองเปรม
ด้านพ.ต.ท.ธเนศพล แสงโชติ สว.สอบ สวน สภ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับแจ้งมีคนพลัดตกเจ็ตสกีจมน้ำสูญหาย ภายในคลองเปรม เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 30 ก.ย. ในพื้นที่หมู่ 2 ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จึงประสานนักประดาน้ำ มูลนิธิพุทไธสวรรย์ ไปงมค้นหาที่เกิดเหตุ พบว่าระดับน้ำในคลองเปรมประชากรสูง สอบถามข้อมูลในเบื้องต้นทราบว่าผู้สูญหายนั่งซ้อนท้ายเหลือเจ็ตสกีจังหวะที่เข้าโค้งเกิดพลัดตกลงไปในคลอง คนขับเจ็ตสกีซึ่งเป็นญาติกันพยายามช่วยเหลือแล้วแต่ช่วยไม่ทัน จมน้ำสูญหายไป

ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบร่างของนายชัยณัฐ เขียนงาม อายุ 23 ปี ชาวอุตรดิตถ์ จมน้ำอยู่ก้นคลอง สภาพศพสวมใส่เสื้อยืดแขนสั้นสีน้ำเงิน กางเกงขาสั้นสีดำ

สอบถาม นายฐิติวัชร วรรณชาติ อายุ 27 ปี คนขับเจ็ตสกี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับผู้เสียชีวิต เล่าว่า เดินทางมาจากจ.อุตรดิตถ์ พร้อมกัน เพื่อมาทำงานที่จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ขับเจ็ตสกีที่บ้านเล่น แม่ก็บอกว่าอย่าไปไกลเพราะน้ำท่วม ตนก็ขับวนอยู่หน้าบ้าน จังหวะนั้นเจ็ตสกีเอียง ผู้เสียชีวิตพลัดตกลงไปในน้ำตนพยายามช่วยขึ้นมาแล้ว แต่ผู้เสียชีวิตว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ จึงจมน้ำเสียชีวิต

ด้านตลาดอิงน้ำสามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นตลาดเก่าและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.ปทุมธานี พบว่ามีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมตลาดสูง 40-50 ซ.ม. ทำให้ร้านค้าต่างๆ พากันปิดและก่ออิฐกั้นน้ำ พร้อมเสริมกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำเข้าไปภายในบ้านเรือน แต่มีบางร้านยังเปิดขายอยู่ซึ่งบรรยากาศเงียบเหงาเพราะน้ำท่วมทางเดินภายในตลาดทั้งด้านบนและด้านล่าง

‘เกาะเกร็ด’บ้านจม-วอนช่วย
ส่วนที่ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา คันดินรอบบ้านชาวบ้านที่ทำกั้นน้ำเอาไว้ได้พังทลายลง ทำให้น้ำรอบบ้านจำนวนมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมบ้านที่ชั้นล่าง สูงกว่า 1.50 เมตร ซึ่งชาวบ้านต่างกังวลว่า หากยังมีการระบายน้ำมาเพิ่มหรือน้ำหนุนสูงขึ้นอีกจะส่งผลให้ระดับน้ำน่าจะท่วมเต็มห้องชั้นล่างและแตะพื้นที่ชั้นสองของบ้านแน่นอน ตอนนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือใดๆ เข้าไปช่วยคนใน เกาะเกร็ดเลย

รวมของมีค่า – เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบความเสียหาย พร้อมกับรวบรวมพระพุทธรูป, โบราณวัตถุ, ศิลปวัตถุ ที่พบภายในซากปรักหักพังของเจดีย์อายุ 500 ปี ภายในวัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

วธ.เร่งบูรณะเจดีย์ 500 ปี
ส่วนความคืบหน้า กรณีเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ต.หายยา จ.เชียงใหม่ อายุกว่า 500 ปี ที่พังทลายลงมาเมื่อวันที่ 29 ก.ย. และมีการทำพิธีสูญถอน รื้อเจดีย์ ก่อนบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่ากรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้าไปดำเนินการเร่งด่วน เพื่อสำรวจจัดทำบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุที่พบ และให้คำแนะนำกับทางวัดศรีสุพรรณเพื่อบูรณะให้มีรูปทรงที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาต่อไป โดยได้มอบหมายให้กรมศิลปากรได้รีบดำเนินการบูรณะอย่างเร่งด่วน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน