‘หลักสี่’หนักสุด-วัดได้164.5มม. ‘บิ๊กป้อม’ลุยตรวจเขื่อนชัยนาท ‘ตู่’ปัดฝุ่นให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์

ฝนถล่มกรุงตั้งแต่เช้ายันค่ำ เขตหลักสี่หนักสุด วัดปริมาณฝนได้ 164.5 ม.ม. น้ำท่วม 20 จุด กทม.กำชับ 50 เขต เฝ้าระวังน้ำป่าสัก-เจ้าพระยาเพิ่มระดับ ฉับพลันถึง 7 ต.ค. เสริมถุงทรายป้อง 16 ชุมชนนอกคันกั้น สร้างสะพานเดินจุดเสี่ยงท่วมอำนวยความสะดวกประชาชน เมืองนนท์ก็อ่วม ย่านงามวงศ์วานน้ำท่วมขังทันที ส่งผลให้รถติดยาวเหยียด กรมชลประทานกำชับ 11 จังหวัด-กทม.รับน้ำล้นตลิ่ง ‘บิ๊กตู่’รุดมหาดไทย ถกออนไลน์ จี้ผวจ.ช่วยน้ำท่วม ลุยดูสถานการณ์น้ำ-ช่วยผู้ประสบภัยที่ขอนแก่น-อุบลฯ วันนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ตรวจเขื่อนชัยนาท สั่งเร่งระบายเจ้าพระยาลงทะเล กรมอุตุฯ ชี้กทม.และทั่วทุกภาคฝนยังหนักถึง 9 ต.ค.

ทุกภาคฝนเทหนักถึง 9 ต.ค.
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 3-9 ต.ค.2565 ว่า คาดหมายว่าในช่วงวันที่ 3-4 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับลมตะวันออกและลมออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

หลังจากนั้นช่วงวันที่ 5-9 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผมทำให้ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาตใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ตลอดช่วง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวรายงานสถาน การณ์เบื้องต้นว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผล กระทบ พร้อมแจ้งว่าการประชุมครั้งนี้มีผู้ว่าฯ ที่ได้รับผลกระทบรายงานให้นายกฯรับทราบ รวมถึงกทม.

จากนั้น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยม วิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานสถานการณ์

ขณะที่ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. รายงานว่า ในส่วนของกทม. ตนติดตามสถานการณ์มาตลอด ขณะเดียวกัน มีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำ ทั้งปริมาณน้ำสะสมและเรื่องน้ำที่ต้องระบายออก

‘บิ๊กตู่’สั่งรับพายุจ่อเข้าอีก
พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามในที่ประชุมว่ามีหน่วยงานใดประสบปัญหาอะไรบ้าง และจากที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าจะมีพายุโซนร้อนเข้ามาอีก ซึ่งอาจทำให้มีฝนตกเพิ่ม และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมมากขึ้น จึงขอฝากให้ทุกจังหวัดเข้าไปดูแล วันนี้ทุกภาคส่วนทั้งส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น พลเรือน ตำรวจ ทหาร จะต้องร่วมกันเตรียมการรับมือ ขอให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการกัน และเตรียมการไว้ล่วงหน้ารับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีทั้งมาตรการหลัก มาตรการเสริมและการระบายน้ำ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้อาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ไล่ลงไปภาคใต้ของไทย แต่ความเสียหายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้รู้สึกน้อยกว่าที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตร แม้สำหรับเกษตรกรอาจเป็นข่าวดี แต่เราต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของตลาดข้าว ขณะนี้เรามีโอกาสมากที่จะส่งข้าวออกได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศเก็บสำรองข้าวไว้เยอะ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะต้องให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีปริมาณข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศ และการส่งออกได้มากขึ้น และเราอาจเป็นผู้นำการส่งออกในปีนี้ก็ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้มีการเตรียมการและแผนงานไว้ล่วงหน้า พร้อมกับการแก้ปัญหาที่มีในปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน ปัญหาวันนี้ที่มีอยู่คือการดูแลว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสถานการณ์คาดการณ์ หลักการคือการพร่องน้ำ ระบายน้ำ กักเก็บน้ำในพื้นที่ และที่สำคัญ ต้องไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้าไม่จำเป็น เราไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว ซึ่งในสมัยก่อน ลุ่มเจ้าพระยาถือเป็นบทเรียนของเรา สิ่งสำคัญคือการเน้นการระบายน้ำในตะวันตกและตะวันออกให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง มีแม่น้ำลำคลองเยอะ ตอนนี้ล้นตลิ่งเกือบทุกคลอง และในอนาคตอาจจะต้องมีการวางแผนเพิ่มเติม

ย้ำบริหารน้ำ-ตรวจสภาพเขื่อน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งทุกคนยืนยันว่ายังปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเคยมีปัญหารูรั่วนิดเดียวแล้วแก้ไขไม่ทัน เกิดพังทลาย ดังนั้นตรงนี้ต้องเตรียมด้วย ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง มท. ต้องเข้าไปดูแลให้เกิดความแข็งแรงตามแผนการป้องกัน ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือกันด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้เขียนร่างนโยบายที่จะสั่งการมาแล้ว ทั้งเรื่องพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมตามแผนงาน เรื่องการก่อสร้างถนนต่างๆ ต้องมีจุดระบายน้ำ รวมถึงเส้นทางจราจรต่างๆ ต้องเฝ้าระวัง และมีการปักแนวให้เห็นว่าถนนอยู่จุดไหนเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเวลาที่มีน้ำท่วมขังถนน พร้อมกันนี้ต้องเร่งสำรวจเพื่อเร่งเยียวยา

ปัดฝุ่นให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์
“สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์อพยพจะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ต้องมีอาหารน้ำสำหรับคนและสัตว์ ทั้งนี้ ตนก็จะเดินทางไปดูแลช่วยเหลือและเยียวยาต่างๆ ให้มากที่สุดในส่วนของรัฐบาล ขณะที่ท้องถิ่น อบต. อบจ. คนในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนคือคนไทย เราต้องช่วยกันดูแล

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ เตรียมลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ที่จ.ขอนแก่น และจ.อุบลราชธานี ในวันที่ 4 ต.ค. เพื่อหารือการบริหารจัดการน้ำ เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มากที่สุด

เชียร์ป้อม – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ ที่จ.ชัยนาท สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา ท่ามกลางประชาชนชูป้ายเชียร์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

‘ป้อม’รุดชัยนาท-จี้ระบายท่วม
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง รายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำ ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

นายประพิศกล่าวว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุโนรู ช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวทั่วประเทศ ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 50 จังหวัด เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 20 จังหวัด ยังคงเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง พิจิตร สุโขทัย ตาก เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชลบุรี ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทานได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลักดันน้ำออกจากพื้นที่

ด้านพล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเร่งช่วยเหลือให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงให้วางแผนการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย นอกจากนี้ ยังให้พิจารณาร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการวางแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จากอิทธิพลพายุโนรู ทำให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำหลากน้ำท่วมขัง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนป้องกันและรับมือล่วงหน้าโดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท จึงได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของศูนย์ฯ ที่ จ.ชัยนาท เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการทำงานของศูนย์ฯ

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และได้สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยย้ำให้ สทนช.ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้า 10 ทุ่งรับน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ พร้อมยืนยันว่า ล่าสุดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 และปี 2564 โดยการระบายน้ำ ณ สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,643 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่ระบายในอัตรา 3,628 ลบ.ม.ต่อวินาที และยังน้อยกว่าปี 64 อัตรา 2,776 ลบ.ม.ต่อวินาที แม้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554

ท่วมร.พ. – น้ำป่าหลากจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลเข้าท่วมโรงพยาบาลอำเภอ ดงเจริญ จ.พิจิตร ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง พร้อมตั้งเต็นท์ตรวจคนไข้นอก บนถนนหน้าโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

3 จังหวัดน้ำยมรับน้ำเอ่อซ้ำ
ขณะที่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยปภ. มท. ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำท่า ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 46/2565 แจ้งว่า เนื่องจากอิทธิพลของพายุ “โนรู” ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณจ.แพร่และสุโขทัย ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำยมที่อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย (Y.14) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 2 ต.ค. เวลา 16.00 น. ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ +70.67 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,186 ลบ.ม.ต่อวินาที และบริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ระดับน้ำอยู่ที่ +63.97 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อัตรา 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำที่สถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย มีระดับสูงขึ้น โดยจะควบคุมปริมาณน้ำผ่านในอัตราสูงสุดไม่เกิน 510 ลบ.ม.ต่อวินาที อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ตั้งแต่บริเวณอ.สวรรคโลก ศรีสำโรง เมือง และกงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม และบางระกำ จ.พิษณุโลก อ.สามง่าม และโพทะเล จ.พิจิตร

เขื่อนป่าสักฯระบายเพิ่มอีก
ด้านนายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ รองผอ.สำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ว่า วันเดียวกันได้มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นที่ 51 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เพราะในตัวเขื่อนป่าสักฯ มีน้ำเก็บกักอยู่ที่ 846 ล้านลบ.ม. หรือกว่า 88% ขณะที่ยังมีน้ำป่าจากทางตอนเหนือไหลลงมาในตัวเขื่อนเพิ่มขึ้น 118 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางพื้นที่ที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำป่าสักในตอนล่าง โดยที่มีปริมาณน้ำเพิ่มเพราะเกิดจากอิทธิพลของพายุโนรู นอกจากนี้ในหลายอ่างเก็บน้ำในลพบุรีพบว่ามีปริมาณน้ำเกินกว่าปริมาณเก็บกักทำให้ต้องระบายน้ำลงสู่ตอนล่าง จึงทำให้ในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน สัตว์เลี้ยง และพื้นที่ทางการเกษตร

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนที่ 2,643 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลทำให้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ของสาขา แม่น้ำน้อย มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 10-20 ซ.ม. รวมถึงเขื่อนพระราม 6 ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก เร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน 840 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพบว่าที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ติดกับแม่น้ำป่าสักและเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมารวมกัน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเหลืออีก 20 ซ.ม.จะเสมอแนวตลิ่งของวัด ทางวัดได้ติดตั้งแนวป้องกันน้ำท่วมระบบน็อกดาวน์ ความสูง 2.50 เมตร ระยะทาง 700 เมตร โดยยังเปิดช่องทาง เพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวได้ลงไปที่แพให้อาหารปลา พบว่าถึงแม้กระแสน้ำที่ไหลแรงบริเวณหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร ยังคงมีปลาตะเพียนทอง ปากกระแหทอง มาแหวกว่ายน้ำเล่นกับคน ที่เดินลุยน้ำไปให้อาหารปลาอย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่ต่างๆ ของวัด ยังสามารถเดินทางมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ตามปกติทำบุญ ได้ตามปกติ

อยุธยาขอเปิดระบายน้ำเพิ่ม
ขณะที่บริเวณพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ฝั่งเกาะเมือง ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พบว่าระดับน้ำเสมอแนวตลิ่งของถนนอู่ทองบางจุดไหลขึ้นมาอยู่บนพื้นผิวถนน มีการตั้งแนวป้องกันน้ำท่วมระบบน็อกดาวน์ไว้บางส่วนเนื่องจาก ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาได้เร่งทำแนวคันดิน สูง 1.50 เมตร เพื่อเสริมความแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งไหลเข้าพื้นที่เกาะเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีสถานที่ราชการ โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียน และมีบ้านพักประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก

ด้านนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนคร ศรีอยุธยา นายอำเภอเสนา นายอำเภอผักไห่ นายอำเภอบางบาล ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมชลประทานให้เปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อ.ผักไห่ อ.บางบาล และอ.เสนา โดยการระบายน้ำเข้าทุ่งทั้ง 7 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบ้านแพน บางบาล ผักไห่ เจ้าเจ็ด บางกุ้ง บางกุ่ม และทุ่งเขตติดต่อป่าโมก รวมพื้นที่เกือบ 600,000 ไร่ รวมปริมาณ 1,026 ล้าน ลบ.ม.

ท่วมถนน – ถนนประชานิเวศน์ 1 ตั้งแต่หน้าตลาดประชานิเวศน์ ไปจนถึงวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร กทม. ถูกน้ำท่วมตลอดเส้นทาง การจราจรทั้ง 2 ฝั่งผ่านไปอย่างยากลำบาก หลังฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำวันที่ 3 ต.ค.

กทม.ท่วม 20 จุด-หลักสี่จมสุด
วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ว่า มีฝนตกเล็กน้อยสลับถึงปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งฝั่งธนบุรีและพระนคร โดยปริมาณฝนสะสมสูงสุด ที่จุดวัด เขตหลักสี่ 164.5 มิลลิเมตร (มม.) ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในถนนที่ สนน. รับผิดชอบ 20 จุด ได้แก่

1.ในซ.สุขุมวิท 26 ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา 2.หน้าธนาคารกรุงเทพ แยกรัชโยธิน ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร 3.แยกบางนา-สำโรง ถ.สุขุมวิท เขตบางนา 4.แยกเตาปูน ถ.ประชาราษฎร์สาย 1 เขตบางซื่อ 5.วงเวียนบางเขน ถ.พหลโยธิน เขตบางเขน 6.หน้าบริษัทกระทิงแดง ถ.เอกชัย เขตบางนา 7.หน้าไบเทคบางนา ถ.บางนาตราด เขตบางนา 8.ห้าแยก ณ ระนอง-ทางรถไฟ ถ.พระราม 3 เขตคลองเตย 9.หน้ากรมทางหลวง ถ.พระราม 6 เขตราชเทวี 10.หน้าห้างโลตัส ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่

11.กรมทหาร ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ 12.หน้าบ่อสูบแก้มลิงเพชรเกษม-แขวงกรม ถ.เพชรเกษม เขตบางแค 13.ห้าแยก ณ ระนอง-แยกกรมศุลกากร ถ.สุนทรโกษา เขตคลองเตย 14.แยกลาดพร้าวถึงแยกรัชดาตัดแยก ถ.ลาดพร้าว เขตจตุจักร 15.แยกบางนาตราด-วัดศรีเอี่ยม ถ.ศรีนครินทร์ เขตบางนา 16.สุขุมวิท12-20 ถ.สุขุมวิท เขตบางนา 17.หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร 18.แยกเกษมราษฎร์-ถ.สุขุมวิท ถ.พระราม 4 เขตคลองเตย 19.ซ.สุขุมวิท 103-แยกบางนา ถ.สุขุมวิท เขตบางนา และ 20.ซ.เสนานิคม 1 ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

เฝ้าระวังเจ้าพระยาเอ่อเพิ่ม
ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวกรณี ปภ.แจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-7 ต.ค.นี้ ว่า สปภ.ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจัดเตรียมยานพาหนะ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและพื้นที่ที่ได้เคยได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

ขณะเดียวกันได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับ สำนักเทศกิจ (สนท.) สำนักการโยธา (สนย.) สนน. และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง หากประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทุลักทุเล – ฝนตกในพื้นที่กทม.เมื่อช่วงเย็น ท่วมถนนหลายสาย ประชาชนเดินทางสัญจรกลับบ้าน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เดือดร้อนโดยทั่วกัน ต้องขึ้นรถบรรทุกทหารอย่างทุลักทุเล เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

ป้อง 16 ชุมชนนอกคันกั้น
ขณะที่นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผอ.สนน. รักษาราชการแทน ผอ.สนน. กทม. กล่าวว่า สนน. มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ รวมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้แข็งแรงและมีความสูงเพียงพอสำหรับป้องกันน้ำท่วม จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น จัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย สร้างสะพานทางเดินชั่วคราว ให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมรับทราบการขึ้นลงของน้ำเป็นระยะๆ ตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่จุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ความยาว 87.93 ก.ม. โดยเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของ กทม. ความยาว 79.63 ก.ม. มีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ +2.80 ม.รทก.ถึง +3.50 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) รองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ได้ที่ปริมาณ 2,500 -3,000 ลบ.ม.วินาที ส่วนแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชน ความยาว 8.30 ก.ม. เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า บางแห่งมีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม.จะจัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง

ปัจจุบันได้เรียงแนวกระสอบทรายแล้วเสร็จความยาว 2.918 ก.ม. ความสูงตั้งแต่ +2.40 ม.รทก.ถึง+ 2.70 ม.รทก. สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทั้ง 16 ชุมชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่ากำชับและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบกับชุมชนเหล่านี้

เมืองนนท์เข็นจยย.แทนขี่
ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงช่องทางการแจ้งเหตุ เดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ และแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านสายด่วน กทม.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0-2248-5115 หรือแจ้งผ่านระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ มายัง สนน.

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงช่วงเย็นวันเดียวกันว่า ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยช่วงถนนประชาชื่น ตั้งแต่ทางลงด่วนประชานุกูล หน้า ร.พ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ไปจนถึง หน้าตลาดประชานิเวศน์ มีน้ำท่วมขัง 10-15 ซ.ม. ทำให้รถเล็กสัญจรไปมาลำบาก

ส่วนที่ซอยงามวงศ์วาน 18 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี มีน้ำท่วมสูง 20 ซ.ม. รถมอเตอร์ไซค์ ขับผ่านไม่ได้ หลายคนต้องเข็นรถออกจากซอย

ขณะที่บริเวณหน้าห้างย่านงามวงศ์วาน ถนนงามวงศ์วาน น้ำท่วมสูงเป็นบางจุด ทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนยืนรอรถโดยสาร เพื่อเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่บริเวณหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี น้ำได้เอ่อท่วมขังสูงล้นฟุตปาธแล้ว ทำให้ประชาชนต้องเดินลุยน้ำเพื่อเดินทางไปใช้บริการเรือข้ามฟากทั้งขาไปและขากลับ ทั้งนี้ แม้ว่าทางเทศบาลนครนนทบุรีจะได้ติดเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ในจุดดังกล่าวเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การเร่งระบายน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีน้ำหนุนเข้ามาตลอดเวลา ส่วนรถโดยสารยังคงวิ่งให้บริการได้ตามปกติ

แม่ปิงล้น – แม่น้ำปิงล้นเอ่อบ่าไหลท่วมพื้นที่ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ย่านตลาดหนองหอย มีน้ำท่วมสูงส่งผลให้การสัญจรเป็นไปด้วยความลำบาก รถเล็กผ่านไม่ได้ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ต.ค.

‘น้ำปิง’ทะลักเกินวิกฤต 5 โซน
วันเดียวกัน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ออกประกาศสำนักงานชลประทาน เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำปิง (สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำตามแนวแม่น้ำปิง และ เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง 5 โซน ดังนี้

โซน 1 ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ 3.70 เมตร บ้านป้าพร้าวนอก (บางส่วน) ร้านอาหารท่าน้ำ ร้านอาหารระเบียงฝั่งปิง ทางลอดใต้สะพานบำแดด, โซน 2 ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ 3.4 เมตร ถนนเจริญประเทศ โรงเรียนมงฟอร์ตประถม โรงเรียนพระหฤทัย สมาคมฝรั่งเศสเชียงใหม่ วัดชัยมงคล หมู่บ้านเวียงทอง, โซน 3 ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ 4.0 เมตร บ้านเด่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ (บ้านเด่น) หมู่บ้านจินดานิเวศน์, โซน 4 ระดับที่สะพานนวรัฐ 4.1 เมตร วัดท่าสะต๋อย ตลาดทองคำ ค่ายกาวิละตลาดสันป้าช่อย, โซน 5 ระดับที่สะพานนวรัฐ 4.20 เมตร ตลาดหนองหอย โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนกาวิละ หมู่บ้านปาล์มสปริงส์ โซน b ระดับที่สะพานนวรัฐ 4.30 เมตร ถนนช้างคลาน ไนท์บาซาร์ แยกแสงตะวัน วัดหัวฝาย

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เวลา 06.00 น. วันเดียวกัน สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง ที่สถานี P.67 (แม่น้ำปิง ที่บ้านแม่แต อ.สันทราย) ระดับน้ำ 3.65 เมตร (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.15 เมตร) ปริมาณน้ำ 470.00 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนสถานี P.1 (แม่น้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ เมืองเชียงใหม่) ระดับน้ำ 4.35 เมตร (สูงกว่าระดับวิกฤต 0.65 เมตร) ปริมาณน้ำ 675.75 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงมาจาก ลุ่มน้ำแม่แตง

ส่วนปริมาณน้ำ (น้ำแม่แตง) ผ่านฝายแม่แตง 377.36 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มคงที่, ปริมาณน้ำ (แม่น้ำปิง) ที่ไหลผ่านฝายแม่แฝก 120.90 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น (ผันน้ำเข้าคลองแม่แฝก 10 ลบ.ม.ต่อวินาที), ปริมาณน้ำที่สถานี P.21 (น้ำแม่ริม) 60.75 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัว, สถานี P.20 (น้ำปิง ที่ อ.เชียงดาว) ปริมาณน้ำ 172.80 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, สถานี P.92 (น้ำแม่แตง ที่บ้านเมืองกึ๊ด อ.แม่แตง ปริมาณน้ำ 268.20 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง, สถานี P.75 (แม่น้ำปิง ที่บ้านช่อแล อ.แม่แตง) ปริมาณน้ำ 122.60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัว

นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงาน ปภ.เชียงใหม่ รายงานว่า ณ เวลา 06.00 น. วันเดียวกัน สถานการณ์น้ำที่สถานี P.1 (แม่น้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ เมืองเชียงใหม่) ระดับน้ำ 4.35 เมตร (สูงกว่าระดับวิกฤต 0.65 เมตร) ปริมาณน้ำ 675.75 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงมาจากลุ่มน้ำแม่แตง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชุมชนหนองหอย ชุมชนป่าพร้าวนอก ซึ่งถือเป็นโซนที่ 1 จุดลุ่มต่ำที่สุดตอนนี้น้ำเข้าท่วมสูงกว่าครึ่งเมตรแล้ว บางจุดสูงกว่า 1 เมตร รวมทั้งที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 ก็ถูกน้ำเข้าท่วมแล้วเช่นกัน นอกจากนี้โรงเรียนต่างๆ ทั้งมงฟอร์ตเล็ก, โรงเรียนพระหฤทัย, โรงเรียนเยรีนาเชลี ก็ถูกน้ำปิงเอ่อท่วมขังในโรงเรียน แต่อยู่ในช่วงปิดเทอมแล้ว

ส่วนที่บ้านท่าใหม่อิ ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านที่อาศัยที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ตู้ยามป่าแดด ชาวบ้านพากันอพยพข้าวของเก็บไว้ที่สูงแล้วหลังจากมีน้ำปิงทะลักเข้าบ้าน

เชียงใหม่จม – น้ำหลากเข้าท่วมถนนหลายสายของเมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำสูงท่วมที่นั่งคอยรถโดยสาร พื้นที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเนื่องจากฝนตกหนักจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 3 ต.ค. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสูบและระบายน้ำอย่างเร่งด่วน

ปิดถนนเชียงใหม่-หางดง
ส่วนน้ำป่าจากแม่น้ำแม่ตาช้าง ที่ไหลเอ่อลงจากดอยสะเมิงและไหลรวมกันลงท่วมพื้นที่ราบบริเวณ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้ไหลท่วมถนนสายเชียงใหม่-หางดง จุดบ้านช่างคำ ต.บ้านแหวน อ.หางดง ขาเข้าเมืองฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกาดฝรั่ง เจ้าหน้าที่ปิดถนนสายหางดงขาเข้าเมือง จุดบ้านช่างคำ เพราะน้ำเริ่มสูงขึ้นรถยนต์เล็กไม่สามารถผ่านได้ น้ำสูงกว่าครึ่งเมตรแล้ว แจ้งผู้ใช้รถทุกประเภทให้ไปใช้ถนนเลี่ยงเมือง คือ ถนนเลียบคลองชลประทานไปก่อน และให้ใช้เส้นทางเลี่ยงดังกล่าวไปก่อนจนกว่าน้ำจะลด

ด้านนายวีระชัย ไชยมงคล กำนันตำบลป่าแดด ได้รับประสานจากเจ้าหน้าที่บ้านพักผู้สูงอายุ ติดแม่น้ำปิง ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอช่วยเหลือ ขนย้ายผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุรวมกันกว่า 20 คน หลังจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากแนวกระสอบที่มากั้นไว้ น้ำได้ล้นทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็วจนถึงประตูเข้าบ้าน โดยนำผู้ป่วยติดเตียง 6-7 คน โดยประสานรถกู้ภัยเร่งเข้ามาขนย้ายออกไปยังสาขาที่ปลอดภัย และให้ผู้สูงอายุที่เดินได้สุขภาพแข็งแรงออกจากบ้านพักมารอรถรับ-ส่ง

ด้านนายสุดชาย พรหมมลมาศ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากข้อมูลเดิม น้ำในแม่น้ำปิงจะล้นตลิ่งเมื่อมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3.70 เมตร แต่จากความร่วมมือและการดำเนินการของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันทำพนังกั้นน้ำ เพื่อปกป้องเมืองเอาไว้เกือบทั้งหมด ส่งผลให้ไม่เกิดน้ำไหลเข้าเมือง แม้ระดับน้ำจะเลยจุดวิกฤตดังกล่าวมาแล้ว แต่จะเริ่มล้นตลิ่งที่ระดับสูงกว่า 4.10 เมตรขึ้นไป พร้อมคาดการณ์ว่า ระดับน้ำปิงจะไม่สูงเท่ากับปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 4.94 เมตร และมีปริมาณน้ำมากถึง 856 ลบ.ม..ต่อวินาที ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และไม่ต้องตระหนกตกใจแต่อย่างใด

15 อ่างโคราชล้นแล้ว
นายสุคนธ์กล่าวต่อว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนโนรู ทำให้มีน้ำจากผืนป่าต้นน้ำเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลเข้าตัวเขื่อนประมาณ 60 ล้านลบ.ม. เพื่อลดผลกระทบช่วงลำตะคองตอนล่างได้ปรับลดการพร่องน้ำรักษาระบบนิเวศและสนับสนุนประปาท้องถิ่นเหลือวันละ 4 แสนลบ.ม. ส่วนการป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมเขตเศรษฐกิจโคราช การบริหารจัดการที่อาคารแบ่งน้ำ ละลมหม้อ ต.โคกกรวด อ.เมือง ได้แบ่งน้ำลงลำบริบูรณ์มากกว่าลำตะคอง อัตรา 5 ต่อ 1 และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำ ข่อยงาม ต.หัวทะเล อ.เมือง และ ปตร.จอหอ ต.จอหอ อ.เมือง แห่งละ 3 ตัว เครื่องสูบน้ำแรงดันสูง ปตร.กันผม ต.พระพุทธ อ.เฉลิมพระเกียรติ 1 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลำตะคองลงสู่แม่น้ำมูนให้เร็วที่สุด

ขณะที่ โครงการชลประทานนครราชสีมา ชี้แจงสถานการณ์อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา จำนวนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ล่าสุดมีอ่าง 15 แห่ง มีปริมาณน้ำเกินพื้นที่เก็บกักทำให้มีมวลน้ำไหลล้นออกจากสปิลเวย์หรือช่องทางระบายน้ำฉุกเฉินลงสู่คลองน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วย อ่างห้วยบ้านยาง อ.เมือง ปริมาณน้ำ 109.25%, อ่างห้วยยาง ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย 108.87%, อ่างลำ สำลาย อ.ปักธงชัย 105.53%, อ่างลำเชียงสา อ.วังน้ำเขียว 102.46%, อ่างบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว 105.43%, อ่างลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด 112.89%, อ่างลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย 130.57% อ่างบึงกระโตน อ.ประทาย 117.39 %, อ่างห้วยบง อ.ชุมพวง 105.67%, อ่างห้วยสะกาด อ.พิมาย 106.97% อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง 140.38%, อ่างห้วยตะคร้อ อ.คง 103.47%, อ่างห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ 108.43% อ่างหนองกก อ.พระทองคำ 121.33%, อ่างห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง 122.49%

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่ง ปริมาณน้ำเกิน 80% คืออ่างห้วยเพลียก อ.ครบุรี 87.98% และอ่างห้วยปราสาทใหญ่ 98.09% ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย 146.51 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94.55%

ย่านเศรษฐกิจกาญจน์ท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากฝนตกเมื่อคืนที่ 2 ต.ค. ในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม เช่น บริเวณถนนสายพัฒนากาญจน์ ตั้งแต่สามแยกตัดทางรถไฟบ้านหัวนาล่างเขตติดต่อระหว่างเทศบาลเมืองกาญจนบุรี กับเทศบาลเมืองปากแพรก ผ่านโค้งแก้มลิง มุ่งหน้าไปทางแยกตัดทางรถไฟหมู่บ้านกาญจนบุรีวิลล่า ถนนแสงชูโต ต.ท่ามะขาม อ.เมือง ระดับน้ำอยู่ที่ 30-40 ซ.ม. ผู้ที่ใช้ยานพาหนะเช่น รถยนต์เก๋ง และรถจักรยานยนต์ ควรหลีกเลี่ยงแล้วไปใช้เส้นทางอื่นแทน ซึ่งจากการสังเกตพบว่ามวลน้ำที่ไหลมาท่วมขังนั้นเป็นมวลน้ำที่ไหลมาจากท้องที่เทศบาล เมืองปากแพรก

ขณะเดียวกันถนนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังคือบริเวณถนนพัฒนาการตั้งแต่แยกตัดทางรถไฟถนนอู่ทอง ผ่านท้ายซอยไปรษณีย์ มุ่งหน้าที่ทางเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรีหรือศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ถึงแม้ระดับน้ำจะไม่สูงมากนักแต่ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์จะต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง เส้นทางดังกล่าวเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติรถลื่นล้มทำให้บาดเจ็บได้

นอกจากนี้เส้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอีกเส้นทางหนึ่งคือ ถนนสายเลี่ยงเมืองจาก สี่แยกไฟแดงวังสารภี ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าไปทางสามแยกท่าล้อ ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมขังถนนทั้งขาไปและกลับ ผู้ที่ใช้รถเล็กควรหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวเช่นกัน

ร.ท.ทศพล ไชยโกมินทร์ ผวจ.กาญจนบุรี ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา คาดว่าหากวันนี้ฝนไม่ตกลงมาอีกสถานการณ์น้ำท่วมขังก็คงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศบาลเมืองปากแพรก รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐจากอำเภอท่าม่วง ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะน้ำที่เข้าท่วมถนนนั้นเป็นน้ำมาจากพื้นที่เทศบาลเมือง ปากแพรกไหลไปท่วมเขตพื้นที่ ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง

ปิดเที่ยวอุทยานฯเขื่อนศรีฯ
ด้านนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคืนที่ ผ่านมาพายุฝนได้ตกลงมาตลอดทั้งคืน โดยให้เจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นผู้นำท้องที่รายงานสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะ ซึ่งอำเภอสังขละบุรีของเราได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หากได้รับแจ้งมา

สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำโรคี่ ช่วงที่ไหลผ่านหมู่บ้านสะเนพ่อง และบ้านเกาะสะเดิ่ง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตกนั้นขณะนี้ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับเอ่อล้นท่วมตลิ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเฝ้าสังเกตการบริเวณดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อ ปี พ.ศ.2556 และ 2561

ขณะที่ นายไชยวุฒิ อารีย์ชน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกประกาศอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ปิดแหล่งท่องเที่ยว และการพักค้างแรมในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากส่งผลให้น้ำท่วมฉับพลัน ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยอาจทำให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน