อีสาน-กลาง-ตะวันออกเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน
เจ้าพระยาทะลักชุมชนนนทบุรวกฤตขยายวง

ดีเปรสชันลูกใหม่ขึ้นฝั่งเวียดนาม ส่งผลให้ภาคอีสาน-ตะวันออก-กลาง-กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนตกหนักอีกรอบ ปภ.แจ้ง13 จังหวัดอีสาน รับน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ถึง 15 ต.ค. 4 ตำบล วิเศษชัยชาญ อ่างทอง กว่า 100 คน ฮือจี้ชลประทาน ยกประตูระบายน้ำเพิ่ม บ้านถูกน้ำท่วมจนอยู่อาศัยไม่ได้แล้ว ในที่สุดชลประทานยอมเปิดให้อีก 35 ซ.ม. ชาวบ้านจึงสลายตัวกลับ ‘บิ๊กตู่’ ควง รมต.ชัยวุฒิ-สุชาติ ตรวจน้ำท่วมเมืองนนท์-ปากเกร็ด ชมชาวนนท์ร่วมมือกันแก้ปัญหา มีรอยยิ้มท่ามกลางน้ำท่วม ปิดแยกพระราม 5 หลังน้ำท่วมสูง รถเล็กวิ่งผ่าน ไม่ได้ ถนนบรมราชชนนี-พุทธมณฑลสาย 5-6-7-8 ยังวิกฤต แม่น้ำท่าจีนยังท่วมขังเกือบ ครึ่งเมตร ตลาดเมืองปากน้ำอ่วม-ทะเลหนุน น้ำทะลักเข้าท่วมแผง พ่อค้าแม่ค้าขนของหนีน้ำวุ่น

แจ้ง 13 จว.อีสานฝนเท-ท่วมซ้ำ
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณตอนบนของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 13-14 ต.ค. ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังระหว่างวันที่ 14-15 ต.ค. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ดังนี้

จ.ชัยภูมิ (อ.เมือง จัตุรัส บ้านเขว้า คอนสวรรค์) ขอนแก่น (อ.เมือง มัญจาคีรี ชนบท น้ำพอง โคกโพธิ์ชัย บ้านไผ่ แวงใหญ่) มุกดาหาร (อ.เมือง ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง) กาฬสินธุ์ (อ.เมือง สหัสขันธ์ หนองกรุงศรี ท่าคันโท ยางตลาด ฆ้องชัย) มหาสารคาม (อ.เมือง โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เชียงยืน) ร้อยเอ็ด (อ.เมือง เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง โพนทราย) ยโสธร (อ.เมือง ค้อวัง มหาชนะชัย ป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมือง ชานุมาน เสนางคนิคม) นครราชสีมา (อ.โนนสูง พิมาย จักราช ลำทะเมนชัย สูงเนิน ชุมพวง) บุรีรัมย์ (อ.คูเมือง พุทไธสง สตึก นางรอง ปะคำ กระสัง ลำปลาย มาศ แคนดง) สุรินทร์ (อ.เมือง ปราสาท พนมดงรัก จอมพระ ท่าตูม ชุมพลบุรี รัตนบุรี สำโรงทาบ) ศรีสะเกษ (อ.เมือง ขุนหาญ กันทรลักษ์ ราษีไศล ห้วยทับทัน อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์ ยางชุมน้อย วังหิน ภูสิงห์น้ำเกลี้ยง) อุบลราชธานี (อ.เมือง วารินชำราบ นาจะหลวย นาเยีย น้ำขุ่น ดอนมดแดง สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร เขมราฐ เดชอุดม สำโรง เขื่องใน และตระการพืชผล)

ส่วนผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย รวมถึงพายุโนรู ช่วงวันที่ 28 ก.ย.-8 ต.ค. กอปภ.ก.ระบุว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 56 จังหวัด 276 อำเภอ 1,342 ตำบล 8,166 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 377,853 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ รวม 27 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี รวม 143 อำเภอ 862 ตำบล 5,600 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 316,773 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันที่ 9 ต.ค. ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี และตรัง รวม 21 อำเภอ 55 ตำบล 155 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,752 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 27 ตำบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,565 ครัวเรือน คือที่ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมสารคาม อ.บ้านโพธิ์ และอ.บางน้ำ เปรี้ยว รวม 11 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,555 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว และจ.กาญจนบุรี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ่อพลอย อ.ท่าม่วง อ.พนมทวน อ.ท่ามะกา อ.ไทรโยค และอ.มะขามเตี้ย รวม 16 ตำบล 37 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

พายุลูกใหม่บุกเวียดนาม
ต่อมาเวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ที่แจ้งเตือนไว้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยเมื่อเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 13.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 14-15 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ส่งผลให้ วันที่ 14-15 ต.ค. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจ.ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผบ.เด่นสั่งตำรวจช่วยท่วม24ชม.
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย และขอให้ ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือสายด่วน พยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วย พร้อมช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทุกภัย ฝนตก หนักในพื้นที่ ที่จะกลายเป็นความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชนที่ถูกน้ำท่วมมาต่อเนื่องหลายวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน กำชับ ผู้บังบัญชานำกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ (รถยนต์/เรือ) อุปกรณ์อื่นๆ ออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ และให้ ดูแลเอาใจใส่บำรุงขวัญ และช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพิ่มกำลังสายตรวจทั้งทางบกและ ทางน้ำ วางมาตรการในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อป้องกันมิให้ถูกคนร้ายฉวยโอกาสช้ำเติมผู้ประสบภัย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ได้กำชับให้ใช้ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก) ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อบูรณาการกับทุกภาคส่วน รวมทั้งจิตอาสาในพื้นที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผล กระทบจากเหตุสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด และจัดชุดช่วยเหลือประชาชนพร้อมออกปฏิบัติการในพื้นที่ประสบภัยอย่างทันที ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดสายด่วนให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งหมายเลข 191,1599 สายด่วน บก.จร.1197 ส่วนตำรวจทางหลวง โทร.1193 ตลอด 24 ชั่วโมง

น้ำเหนือเริ่มบ่าน้อยลง
วันเดียวกัน กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า เวลา 12.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,059 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.ต่อ/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 334 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อน ประกอบกับระดับน้ำเหนือเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ +17.71 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.21 เมตร (+16.50 ม.รทก.) ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,169 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,094 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างรวมกัน ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก งดการระบายน้ำตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปรับการระบายขึ้นมา เล็กน้อย 30 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิมที่งดการระบายน้ำในช่วงเดียวกัน ส่วนอีก 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำเกินความจุอ่างได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101 ของความจุอ่างยังคงอัตราการระบายน้ำเท่าเดิมกับวานนี้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที และที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 1051.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 110 ของความจุอ่างได้ลดการระบายน้ำจากวานนี้ในอัตรา 820 ลบ.ม.ต่อวินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เสริมศักยภาพในการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด

เขื่อนป่าสักฯลดระบายน้ำแล้ว
นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษป่าสักใต้ รักษาการ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้ลงนามในหนังสือด่วน ที่สุดแจ้งว่า เขื่อนป่าสักฯ จะปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเป็นครั้งแรก หลังปริมาณน้ำเกินความจุ ทะลุ ร้อยละ 100 ซึ่งปัจจุบัน เขื่อนมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1051.88 ล้านลบ.ม. จากระดับกักเก็บสูงสุดที่ 960 ล้านลบ.ม. เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ลดผลกระทบต่อประชาชนท้ายน้ำ ตั้งแต่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทาน จึงขอปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ โดยการปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 13-15 ต.ค. เป็นต้นไป

ยังชีพ – เจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมด้วยกอ.รมน.พิษณุโลก นำถุงยังชีพและน้ำดื่มขึ้นเรือไปมอบให้กับชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วมถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนานเกือบ 1 เดือนแล้ว ที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

อ่างทองจี้ยกประตูระบายเพิ่ม
ส่วนที่เขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมวลน้ำจากแม่น้ำน่าน และลำคลองบุษบง เอ่อล้นตลิ่งท่วมแช่ขังมานาน 3 สัปดาห์ ขณะนี้น้ำเริ่มเน่า และมีสีดำๆ เหลืองๆคล้ำๆ ไม่สามารถระบายได้ เนื่องจากแม่น้ำน่าน ยังคงมีระดับน้ำที่สูงกว่าตลิ่งกว่า 41 ซ.ม. ประกอบกับมีมวลน้ำทุ่งทะลักเข้ามาจากคลองบุษบง ไหลสมทบเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้หลายชุมชนในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก ยังคงมี น้ำท่วมขัง ถนน และบ้านเรือนประชาชน จำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน โดยระดับน้ำท่วมถนนเฉลี่ย 40 ซ.ม.ถึง 1 เมตร

ที่บริเวณประตูน้ำคลองขนาก อ.วิเศษ ชัยชาญ จ.อ่างทอง ชาวบ้าน 3 ตำบล ต.สี่ร้อย ต.บางจัก และต.คลองขนาก กว่า 100 คน ที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ได้มารวมตัวกดดันให้ชลประทานเปิดยกบานประตูน้ำเพิ่ม โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มาร่วมไกล่เกลี่ย หลังจากแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้นและขยายวงกว้าง โดยหลังจากชาวบ้านได้พูดคุยกับชลประทานแล้วได้ข้อสรุปว่า จะยกบานประตูน้ำคลองขนากเพิ่มขึ้น จากเดิมเปิดแค่ 15 ซ.ม. เพิ่มเป็น 35 ซ.ม.

นายนันทวัฒน์ ทองญาติ หัวหน้าฝ่าย ส่งน้ำที่ 3 โครงการชลประทานและบำรุงรักษายางมณี กล่าวว่า ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ ทางเหนือประตูน้ำท่วมหมดแล้ว

ถนนบรมราชชนนียังท่วมขัง
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครปฐม วันเดียวกัน ร.ต.อ.สมบัติ จิตรสมบุญ รองสวป.สภ.สามพราน จ.นครปฐม พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจราจร ได้ออกปฏิบัติงานตามเส้นทางถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นช่วงบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน เกิดน้ำท่วมขังสูง ทำให้รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านได้ทั้งช่องทางหลัก ฝั่งขาเข้า กทม. มีน้ำท่วมขัง 3 เลน ระยะทางกว่า 150 เมตร น้ำลึก 15-20 เซนติเมตร ขณะเดียวกันบริเวณถนนในช่องทางหลัก ฝั่งขาออก มีน้ำท่วมขัง 3 เลน ระยะทางยาวกว่า 200 เมตร ระดับน้ำ 15-20 ซ.ม. ส่งผลให้รถยนต์ชะลอตัว และปิดกั้นเส้นทางดังกล่าวแล้ว และเจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ. สามพราน และสภ.นครชัยศรี ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางใช้เส้นทางเพชรเกษมแทน หากจะเข้า กทม.ให้ตรงเข้า อ.สามพราน ไปจนถึงแยก อ้อมน้อย แล้วเลี้ยวซ้ายไปพุทธมณฑลสาย 5 กลับเข้าถนนบรมราชชนนี และย้ำว่าอย่าเลี้ยวเข้าพุทธมณฑลสาย 6 7 และสาย 8 เนื่องจากจะไปติดน้ำท่วมที่สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน (สะพานแพชวัล) เช่นเดิม

น้ำทะลักแยกพระราม 5
ที่บริเวณแยกพระราม 5 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ล้นทะลักข้ามคันกั้นน้ำสูง 60 ซ.ม. ที่เทศบาลนครนนท์ นำหินคลุกมากั้นไว้ที่ 4 ช่องทาง เข้าสู่ถนนพิบูลสงครามสูงระดับ 10-50 ซ.ม. ส่งผลให้การจราจรติดขัดทั้งขาเข้าและขาออก ขณะที่ระดับน้ำใต้สะพานชุมชนวัดนครอินทร์ หมู่บ้านบุรีรังสรรค์ น้ำท่วมค่อนข้างสูง50-70 ซ.ม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำเจ้าพระยาได้ไหลเข้าท่วมเต็มทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก 6 ช่องจราจร โดยฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าสะพานพระราม 7 มีระดับน้ำสูงประมาณ 10-15 ซ.ม. ส่วนฝั่งขาออก มุ่งหน้าแยกศรีพรสวรรค์ มีน้ำท่วมสูง 20-50 ซ.ม. ทางลงและขึ้นสะพานพระราม 5 ซึ่งเป็นแอ่งกระทะระดับน้ำค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณ 30-50 ซ.ม. รถเล็กผ่านได้ลำบาก เนื่องจากระดับน้ำมากไหลจากเชิงสะพานพระราม 5 ข้ามไหลเข้าบริเวณสี่แยกเต็มพื้นที่ ทำให้การจราจรติดขัดปริมาณรถสะสมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ที่เชิงสะพานฝั่งถนนนครอินทร์ น้ำได้ทะลักเข้าท่วมถนนนครอินทร์ เต็มทุกช่องจราจร สูงระดับ 15-50 ซ.ม. ส่วนช่องทางด่วนน้ำท่วมเต็ม 3 ช่องจราจร ระดับน้ำอยู่ที่ 5-10 ซ.ม. การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาว ปริมาณรถสะสมมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ได้ปิดแยกพระราม 5 ทั้งฝั่งขาขึ้นและลงสะพาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระดับน้ำที่มาตรวัดท่าน้ำนนทบุรี วันเดียวกัน วัดได้ 2.88 เมตร

ดูน้ำนนท์ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใส่รองเท้าบู๊ตสูงลุยน้ำเดินเข้าชุมชนวัดแสงสิริธรรม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อให้กำลังใจชาวบ้านและตรวจสภาพน้ำท่วมจากเจ้าพระยาล้นปะทะกับทะเลหนุน เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

‘บิ๊กตู่’ตรวจน้ำท่วมนนท์
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ วัดแสงสิริธรรม ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและมีน้ำท่วมขังอยู่นานนับสัปดาห์แล้ว โดยรับฟังบรรยายสรุปจากอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนนทบุรีถึงเส้นทางน้ำ และปัญหาภาพรวมใน จ.นนทบุรี

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เดินลุยน้ำเข้าไปถึงบ้านที่ยังมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ พร้อมพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบและชีวิตความเป็นอยู่ และทักทายประชาชนในชุมชนอย่างเป็นกันเอง ขณะเดียวกันยังให้กำลังใจผู้ประสบภัยและย้ำว่าจะช่วยดูแล ให้ความช่วยเหลือ ขอให้ประชาชนสู้เพื่อประเทศไทย ถึงจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็ดีกว่าหลายประเทศ

ขณะเดียวกันประชาชนบางคนขอให้ นายกฯ นำไดโว่มาเร่งสูบน้ำออกจาก บ้านเรือน ซึ่งนายกฯ ได้ถามกลับว่าหากสูบออกแล้ว จะไปกระทบกับบ้านหลังอื่น หรือไม่ หากไม่กระทบพร้อมที่จะดำเนินการให้โดยจะเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้ามา ดำเนินการ จากนั้นได้เดินทักทายให้กำลังใจประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ในแต่ละปีมีปัญหามากมาย ซึ่งในปีนี้มีพายุ แล้วฝนตามฤดูกาลมากกว่าทุกปี ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการปรับตัว ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดสรรงบแก้ไขปัญหาในหลายโครงการ บางพื้นที่ต้องใช้งบถึง 500 ล้านบาท ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำสำหรับประชาชนที่อยู่ริมน้ำ ในขณะที่โครงการต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังแก้ไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ ซึ่งไม่ควรตอบโต้กันไปมา เพราะไม่สร้างสรรค์ และต้องขอชื่นชมในพื้นที่ ที่มีการดูแลเป็นอย่างดีแสดงให้เห็นว่าทุกคนร่วมใจกันและที่สำคัญยังมีรอยยิ้มให้ นายกฯ และที่สำคัญยังมีรอยยิ้มให้นายกฯ แสดงว่าประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไร พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาย่อมได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการลงพื้นที่ประชาชนต้องการให้ช่วยเหลืออะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีประสบการณ์อยู่แล้วรู้ว่าจะต้องทำอะไรรับมืออย่างไร ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบ้านเรือนชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนที่ต้องการให้นำไดโว่มาสูบน้ำออกนั้น จะต้องดูว่าไม่ให้กระทบกับพื้นที่อื่น

ทะเลหนุน – น้ำทะเลหนุนสูงจนเอ่อท่วมตลาดปากน้ำ จ.สมุทรปราการ

ปากน้ำอ่วม-ทะเลหนุน
ส่วนกรณีที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลา 09.05 น. วันเดียวกัน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.05 เมตร ซึ่งสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ที่บบริเวณอ.เมือง จ.สมุทรปราการ เกิดน้ำทะเลหนุนสูง น้ำไหลทะลักท่วมบริเวณตลาดปากน้ำสูงกว่า 40 ซ.ม. ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดต้องพากันยกข้าวของขึ้นที่สูง และยังทำให้มีปัญหาจราจรติดขัดบริเวณตลาดเนื่องจากรถเล็กสัญจรได้ลำบาก ทั้งนี้ชาวบ้านต้องพากันเดินลุยน้ำเข้าไปซื้อของอย่างทุลักทุเล ทั้งนี้ยังพบว่าน้ำยังไหลเข้าท่วมบ้านประชาชนที่อยู่แนวชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนทำให้ข้าวของได้รับความเสียหาย กระทั่งเวลาประมาณ 09.30 น. น้ำจึงลดระดับลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ

ทัพเรือเร่งดันน้ำลงทะเล
ด้านพล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยมีนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตลาดกระบัง ต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงสถานการณ์

ทั้งนี้ หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ กรมอู่ทหารเรือ ได้ปฏิบัติภารกิจเร่งระบายน้ำในคลองต่างๆ ในพื้นที่เขตลาดกระบัง และ จ.สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 34 ลำ ประกอบด้วย บริเวณสะพานคลองลำปลาทิว จำนวน 4 ลำ, บริเวณสะพานหัวตะเข้ จำนวน 6 ลำ, บริเวณสะพานพระยาเพชรจำนวน 4 ลำ, บริเวณสะพานข้ามคลองทับยาว จำนวน 4 ลำ, บริเวณสะพานข้ามคลองลาดกระบัง จำนวน 4 ลำ, บริเวณสะพานข้ามคลองสี่ประเวศ จำนวน 2 ลำ, บริเวณคลองลาดกระบัง (ถนนบางนา-ตราด) จ.สมุทรปราการ จำนวน 4 ลำ, บริเวณคลองบางโฉลง (วัดบางโฉลงใน) จ.สมุทรปราการ จำนวน 4 ลำ และบริเวณคลองจระเข้ใหญ่ (ถนนบางนา-ตราด) จ.สมุทรปราการ จำนวน 4 ลำ นอกจากนี้หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ ได้เตรียมการติดตั้งในพื้นที่แม่น้ำนครนายก จ.นครนายก จำนวน 20 ลำ โดยประชาชนแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือ ได้ที่สายด่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ 1696 ตลอด 24 ชั่วโมง

เจิ่งนอง – ภาพมุมสูงถนนประทาย-ชุมพวง ต.หนองหลัก อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา

แม่มูนท่วมถนนขาด
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำจากลำน้ำมูนได้เอ่อล้นไหลเข้าท่วมถนนทางหลวง สายประทาย-ชุมพวง บริเวณบ้านขุนละคร ต.หนองหลัก อ.ชุมพวง ระดับน้ำสูง 20-30 ซ.ม. ระยะทางยาว 1 ก.ม. กระแสน้ำได้ไหลกัดเซาะถนนลาดยาง พังเสียหายเป็นทางยาว 100 เมตร ลึก 1 เมตร ถนนขาดหายไป 1 ช่องจราจร เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงนครราชสีมา ต้องนำป้ายมาติดห้ามรถทุกชนิดวิ่งผ่านในเส้นทางดังกล่าว เพราะหวั่นจะเกิดอันตราย อาจเกิดการทรุดตัวของถนน

ท่วมนาน – สภาพบ้านเรือนชุมชนบางเคียนอ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ถูกน้ำท่วมนานนับเดือน

สวนน้ำ – ผู้ปกครองเฝ้าลูกหลานเล่นน้ำในสนามเด็กเล่นเทศบาลตำบลคุ้งสำเภา จ.ชัยนาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน