12จังหวัดอีสานโดนหนักกทม.-ตะวันออกอ่วมด้วย
ท่าจีนจมตลาดสามพรานเมืองนนท์โต้เขื่อนแตก

เตรียมรับพายุลูกใหม่ โซนร้อน ‘เซินกา’ กรมอุตุฯ เตือนดีเปรสชันทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทวีกำลังขึ้นเป็นโซนร้อน มีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกเมืองกว๋างหงาย เวียดนาม คาดขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลาง ส่งผลให้ตั้งแต่ 15 ต.ค. ภาคอีสาน-ตะวันออก-กลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑลมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 12 จังหวัดอีสาน ขณะที่ชาวสรรพยา ชัยนาท ระทึกกลางดึก น้ำเซาะถนนขาด ทะลักท่วมบ้าน อพยพวุ่น บางบาลจมครบ 16 ตำบล กว่า 8 พันหลัง ท่วมขังนานกว่า 3 เดือน เทศบาลนนทบุรีโต้ข่าวเขื่อนแตก ที่แท้แค่คันกระสอบทรายกั้นน้ำพัง ทำน้ำทะลักท่วมชุมชมเมืองนนท์กว่าครึ่งเมตร ชลประทานลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องหลังน้ำเหนือลดลง ส่วนน้ำท่าจีนทะลักตลาดสามพราน นครปฐม แผงค้าจม พ่อค้าแม่ค้าขนของหนีน้ำวุ่น

เตือนพายุโซนร้อน‘เซินกา’
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) แล้ว จากนั้น เวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 220 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 14.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 110.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 ก.ม. ต่อชั่วโมง และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 10 ก.ม.ต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 15 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ลดระบายน้ำลงท้ายเขื่อนอีก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชล ประทาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลวันที่ 13 ต.ค. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,321 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 13,783 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,094 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่าง รับน้ำได้อีก 4,882 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนการที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. จะมีปริมาณฝนตกในพื้นภาคใต้ตอนบน อาทิ บริเวณ จ.เพชรบุรี และจ.ชุมพร นั้น นายประพิศกล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด นำข้อมูลและสถิติในปีที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน หลังน้ำเหนือในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยปรับลดการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำ จากเดิมอัตรา 820 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเป็นอัตรา 650 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 13-15 ต.ค. ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้าย

ระดมสูบช่วยพื้นที่ท่วมขัง
นายประพิศกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปริมาณน้ำเหนือได้ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันเดียวกัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,019 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ +17.66 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.ทรก.) ลดลงจากวานนี้ 5 ซ.ม. และระบายน้ำอยู่ในอัตรา 3,154 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,948 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 152 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม กรมชลประทานจะทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสมต่อไป เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นายประพิศกล่าวต่อว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยที่จ.ชัยนาท โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ ต.บางหลวง อ.สรรพยา พร้อมนำรถบรรทุกน้ำออกไปแจกจ่ายให้กับ ผู้ประสบอุทกภัยที่อาศัยอยู่บนถนนคลองมหาราช ต.ตลุก อ.สรรพยา ให้มีน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย

ที่จ.สิงห์บุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณ ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลเทพ สนับสนุนกระสอบทราย รถบรรทุก และหินคลุก ดำเนินการทำแนวป้องกันเสริมกระสอบทราย บริเวณหน้า ร.พ.อินทร์บุรี ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี

ส่วนที่จ.อ่างทอง สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ต.บางแก้ว อ.เมือง, ประตูระบายน้ำวัดสนามชัย, หลังที่ว่าการอำเภอป่าโมก ต.บางปลากด อ.ป่าโมก, ต.โผงเผง อ.ป่าโมก, ต.หลักฟ้า อ.ไชโย, ชุมชนทรัพย์สิน ต.ตลาดหลวง อ.เมือง และ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากในพื้นที่เช่นกัน

29 จังหวัดยังท่วมขัง
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงพายุโนรูทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง โดยช่วงวันที่ 28 ก.ย.-14 ต.ค.ว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 56 จังหวัด 297 อำเภอ 1,476 ตำบล 9,165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,338 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่รวม 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี นครปฐม นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี รวม 160 อำเภอ 969 ตำบล 6,242 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 324,256 ครัวเรือน

ส่วนผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันที่ 9 ต.ค. ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย 9 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 1 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมสารคาม อ.บ้านโพธิ์ และอ.บางน้ำเปรี้ยว รวม 11 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,555 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

น้ำเซาะถนนที่สรรพยาขาด
ส่วนสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา น้ำได้ไหลเซาะถนนทางหลวงชนบท หมายเลข 3018 (สายคันคลองมหาราช) ในพื้นที่ หมู่ 12 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จนขาดยาวกว่า 30 เมตร ทำให้สัญจรผ่านไม่ได้ เจ้าหน้าที่ ปภ.ชัยนาท และอาสามูลนิธิร่วมกตัญญูจังหวัดชัยนาท ได้เร่งเข้าไปอพยพช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านออกมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมวลน้ำมีกระแสแรงและไหลเชี่ยว พร้อมทั้งปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ายังบริเวณจุดเกิดเหตุ นอกจากนี้มีรถของประชาชนตกลงไปในน้ำและถูกกระแสน้ำไหลพัดจมหายไป โดยชาวบ้านได้ช่วยเหลือคนขับไว้ได้ทัน และยังพบว่ามีบ้านของประชาชน 1 หลังถูกน้ำพัดพังเสียหาย เบื้องต้นทางจังหวัดชัยนาท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่ สำรวจความเสียหายพร้อมประสานชลประทานเข้าดำเนินการซ่อมแซม

นายนที มนตรีวัต รองผวจ. รักษาราชการแทนผวจ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ทางจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อ.สรรพยา อบจ.ชัยนาท กรมชลประทาน ได้เข้ามาสำรวจดูความเสียหาย และหาวิธีการซ่อมแซมอุดรอยรั่วของน้ำ โดยเบื้องต้นจะนำไม้มาทำเป็นเสาเข็ม และนำถุงบิ๊กแบ๊กมาวางอุดทางน้ำไหล ซึ่งตอนนี้มวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าสู่คลองมหาราชเป็นจำนวนมาก จึงได้ประสานไปยัง อ.สรรพยา ให้หอเตือนภัยประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยงเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายชิดชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 4 รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เดินทางเข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อม เปิดเผยว่า จากสภาพน้ำตรงนี้ได้ไหลลงคลองมหาราช จะไหลไปพื้นที่ด้านล่างเช่น จ.สิงห์บุรี ทางกรมชลประทานได้เร่งบล็อกน้ำไว้ เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงมาก

‘บางระจัน’น้ำบ่าท่วมกลางดึก
ที่ต.แม่ลา อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี น้ำเจ้าพระยา ได้ไหลลงสู่ลำแม่ลา และล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในทุ่งแม่ลา โดยรวมพื้นที่การเกษตรจมน้ำ ไปแล้ว 4,500 ไร่ โดยต.แม่ลา มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 3 หมู่บ้าน ขณะนี้เร่งป้องกันน้ำเข้าท่วม 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4, หมู่ 5 และหมู่ 6 ส่วนที่ ต.สิงห์ หมู่1, หมู่ 2, และหมู่ 8 รวมทั้งวัดสะเดาที่อยู่ริมลำแม่ลา ถูกน้ำท่วมทั้งหมด มีระดับ ความลึกประมาณ 50 ซ.ม.-1 เมตร โดยน้ำได้เริ่มเซาะขอบถนนเข้ามาเรื่อยๆ อีกทั้งปริมาณน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยทาง อบต.แม่ลา และหน่วยงานต่างๆ เร่งเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยังคงเร่งขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงไปไว้ในพื้นที่สูงแล้ว

ที่บริเวณวัดโบสถ์ราษฎร์ศรัทธา หมู่ 5 ต.บางระกำ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำน้อย พบคันดินถูกน้ำเซาะพังเป็นช่วงๆ ขณะที่น้ำจากแม่น้ำน้อยได้ไหลเข้าท่วมภายในวัด ถนน และบ้านเรือนประชาชน เป็นระยะทางกว่า 500 เมตร โดยน้ำทะลักเข้าท่วมฉับพลันตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ทั้งพระ เณร และชาวบ้านต้องช่วยกันขนของหนีน้ำ

นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผวจ.อ่างทอง ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนรับสถานการณ์ปริมาณน้ำไหลหลากจากทุ่งวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

‘บางบาล’จมแล้วกว่า 8 พันหลัง
ส่วนที่บริเวณประตูน้ำคลองขนาก ชาวบ้าน 3 ตำบล ต.บางจัก ต.สี่ร้อง และต.คลองขนาก อ.วิเศษชัยชาญ กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันประท้วงให้เปิดประตูน้ำคลองขนากเพิ่มเป็นวันที่ 2 หลังจากเมื่อวานทางกรมชลประทานได้ยกประตูระบายน้ำเพิ่มให้เป็น 35 ซ.ม. เพื่อระบายน้ำท่วมขังบ้านเรือน โดยวันเดียวกันขอให้ยกบานประตูเพิ่มขึ้นอีก 15 ซ.ม. เป็น 50 ซ.ม.

ต่อมา นายไพบูลย์ ศุภบุญ นายอำเภอวิเศษชัยชาญ กล่าวว่า หลังจากการพูดคุยก็ทราบและจริงๆ แล้ว รับรู้มาตลอดว่าชาวบ้านใน 3 ตำบลดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อนจากมวลน้ำเจ้าพระยาท่วมสูงและทำให้น้ำในแม่น้ำน้อยท่วมสูงและท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายแล้วเกือบ 400 หลังคาเรือน ซึ่งทางชลประทานจะเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 15 ซ.ม. ตามความต้องการ ทำให้พอใจและเดินทางกลับ

‘อ่างทอง-กรุงเก่า’น้ำล้นทุ่ง
ที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. จนถึงขณะนี้เป็นเข้าสู่กลางเดือนต.ค. ระดับน้ำยังคงท่วมสูงอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้าง โดยพบว่า อ.บางบาลมีพื้นที่ทั้งหมด 16 ตำบล ถูกน้ำท่วม ครบทุกตำบล ไปแล้ว 110 หมู่บ้าน มีชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว 8,182 ครัวเรือน

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า เผยข้อมูลจากดาวเทียมเปลยาด ระบุถึงพื้นที่น้ำท่วมขังในเขต อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และ อ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งบางกุ้ง รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

คันพัง – ชาวบ้านในซอยนนทบุรี 17 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ช่วยกันตั้งแนวกระสอบทรายปิดกั้นน้ำท่วม หลังแนวกระสอบทรายเดิมถูกความแรงของคลื่นจากรถยนต์ที่แล่นผ่านซัดพังน้ำทะลักท่วมชุมชน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

แจงแนวกั้นพัง-ไม่ใช่เขื่อนแตก
ที่จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ภายในซอยนนทบุรี 17 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี หลังมีข่าวว่าเกิดเหตุเขื่อนกั้นน้ำในซอยพังทลาย ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนในซอยดังกล่าวตั้งแต่คืนที่ผ่านมา

โดยพบว่าถนนในซอยได้ถูกน้ำท่วมประมาณ 20-30 ซ.ม. ส่วนบ้านพักอาศัยบางหลังและพื้นที่สวนซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนนจะถูกน้ำเข้าท่วมตั้งแต่ครึ่งเมตร บางครอบครัวกำลังทยอยขนข้าวของเครื่องใช้ที่อพยพหนีน้ำเมื่อคืนที่ผ่านมากลับเข้าบ้านพัก หลังสถานการณ์น้ำในซอยกลับสู่สภาวะปกติแล้ว

นายสิโรจน์ ชื่นอุรา หัวหน้าฝ่ายการระบายน้ำ สำนักการช่างเทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวเมื่อคืนนี้ที่ระบุว่ามีเขื่อนแตกในซอยนนทบุรี 17 นั้น เป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนและเข้าใจผิด เพราะในซอยแห่งนี้ไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ มีแต่เพียงแนวคันกระสอบทรายกั้นน้ำเท่านั้นที่เกิดพังทลายลงเพราะมีรถยนต์ที่ขับเข้ามาในซอยด้วยความเร็วทำให้เกิดคลื่นไปซัดกระสอบทรายพังทลาย เป็นผลทำให้น้ำในซอยนนทบุรี 17 ไหลผ่านแนวกั้นน้ำด้วยกระสอบทรายของซอย 17 แยก 4 ทะลักเข้าไปท่วมในซอยอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านในซอยเกิดความตกใจคิดว่าประตูระบายน้ำที่อยู่ติดกับซอยนนทบุรี 17 แตก ซึ่งหลังจากรับแจ้งเหตุไม่นาน ตนกับเจ้าหน้าที่เทศบาลนครนนทบุรีได้ลงพื้นที่นำกระสอบทรายมาอุดช่องที่พังทลายลงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง สถานการณ์น้ำในซอยก็กลับสู่สภาวะปกติแล้ว และวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่เทศบาลได้นำไม้แผ่นมาสร้างสะพานให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งนำกระสอบทรายไปสร้างแนวคันกั้นน้ำเสริมความแน่นหนาอีกรอบที่บริเวณปากซอยนนทบุรี 17 แยก 4 เพื่อป้องกันคลื่นจากรถมากระแทกซ้ำ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ที่อ.สามพราน จ.นครปฐม นายบุญสม จรดล นายกอบต.สามพราน ได้นำรถบรรทุกทรายไปลงให้กับชาวบ้านตามจุดต่างๆ ตามที่ชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือมา เพราะน้ำยังท่วมบ้านเรือน ในพื้นที่ อ.สามพราน หลายตำบล หลายหมู่บ้าน กระสอบทรายที่กั้นทำเขื่อน รวมไปถึงเขื่อนคันล้อมดินที่กั้นไว้ถูกน้ำเซาะพังทลายจนน้ำเอ่อทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว จนท่วมสวน และบ้านเรือนประชาชน สูงกว่า 2 เมตรแล้ว ต้องระดมชาวบ้านนับร้อยคนช่วยกันกรอกกระสอบทรายเพื่อซ่อมคันกั้นน้ำ นอกจากนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากพระสมุห์สายชล กิตติสาโร เจ้าอาวาสวัดดงเกตุ ทำอาหารกล่อง และเครื่องดื่ม น้ำดื่ม และอาหารแห้งลงพื้นที่ออกไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนที่ว่าการอำเภอสามพราน ลานจอดรถถูกน้ำท่วมสูงกว่า 40 ซ.ม. แล้ว

ตลาดสามพรานจมครึ่งเมตร
ขณะที่ตลาดสามพราน ที่อยู่ใกล้กันและอยู่ติดแม่น้ำท่าจีนมีน้ำท่วมสูงถึง 50 ซ.ม. แม้จะมีแนวกั้นกระสอบทราบเรียงรายสูงถึง 1 เมตรก็ตาม มวลน้ำยังเล็ดลอดกระสอบทราย และเอ่อล้นท่อระบายน้ำ ทำให้ร้านค้าบางร้านถูกน้ำท่วมสิ่งของเสียหาย พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าในตลาดต้องหยุดขายไปโดยปริยาย ร้านค้าปิดหมดแทบทุกร้าน เพราะไร้ผู้คนไปเดินจับจ่ายซื้อสินค้า และเส้นทางถนนเข้าออกตลาดถูกน้ำท่วมตลอดสายระดับน้ำสูงกว่า 50 ซ.ม. ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ วิ่งผ่านไม่ได้ น้ำเข้าท่วมตลาดทุกซอกซอย โดยชาวบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 อีก

คุณพระช่วย – พระครูกิตติคุโณภาส เจ้าอาวาสวัดคูสว่าง เจ้าคณะตำบลหนอง กินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ล่องเรือนำเทียนพรรษาแจกจ่ายชาวบ้านใช้จุดสร้างแสงสว่าง หลังน้ำท่วมสูงจนการไฟฟ้าต้องตัดไฟเพื่อความปลอดภัย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

น้ำล้อม – บ้านโนนสวรรค์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ถูกน้ำล้นจากเขื่อนอุบลรัตน์ล้อม ทางเข้าออกทุกทิศ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น สั่งทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือด่วน โดยคาดว่าน้ำจะท่วมยาวนานไม่น้อยกว่า 2 เดือน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

น้ำป่า – ชาวบ้านลุยฝ่าน้ำป่าบ่าลงจากยอดเขาเข้าท่วมบ้านเจดีย์โค๊ะใหม่ ม.10 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก หลังเกิดอากาศแปรปรวนฝนตกหนักนาน 2 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ทำให้ชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน