เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่บูธมติชน i48 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดมาแล้วเป็นวันที่หก ระหว่างวันที่ 12-23 ต.ค. เวลา 10.00-21.00 น.

เมื่อเวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ทุกครั้งที่มางานหนังสือ ตนเป็นผู้ที่ต้องสัญญากับตัวเองว่าจะแวะที่บูธมติชนอยู่เสมอ เพราะมีงานใหม่ๆ ที่เสนอความคิด เสนอมุมมองที่น่าสนใจ

ศ.พิเศษ ธงทอง ยังกล่าวถึงหนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ : อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดย มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง ว่า เป็นเล่มที่อยากอ่าน แค่ชื่อก็ท้าทายมากแล้ว

บูธมติชน – ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือที่บูธ i48 สำนักพิมพ์มติชน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ชั้น LG ฮอลล์ 5-7) เมื่อวันที่ 17 ต.ค.

“คำคำหนึ่งในแต่ละยุค แต่ละสมัยมันมีเหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง คำว่าชาติคำนี้ก็เถียงกันตายแล้วว่าคืออะไร ในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีคนอธิบายแตกต่างกันไป เรื่องของอุดมการณ์การทำรัฐไทยให้เป็นรัฐชาติ กระบวนการ การสร้างพจนานุกรมที่เราเรียก ราชบัณฑิตยสถาน สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถที่จะผูกขาดความหมายของพจนานุกรมภาษาไทยได้โดยเฉพาะ พจนานุกรมฉบับมติชน และพจนานุกรมฉบับคึกฤทธิ์ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนในทางชวนหัว กับคำหลายคำ” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

เมื่อสอบถามว่าหนังสือออกใหม่ของมติชนทั้งหมด 9 เล่ม สนใจเล่มไหนเป็นพิเศษบ้าง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าวว่า ซื้อไปหลายเล่ม เช่น “รัฐสยดสยอง” ผลงาน ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ เพราะตนสอนประวัติศาสตร์กฎหมาย จึงอยากทราบว่าการบังคับใช้กฎหมาย การบังคับโทษในอดีตนั้นเป็นอย่างไร

“ตัวบทกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในอดีต ผมก็ได้นำไปปะติดปะต่อกับความรู้เดิม ทำให้เราเห็นมุมมองที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าฟังดูโหดร้าย ฟังดูสยดสยอง เรารู้ว่าไม่ได้สวยงาม หรือเป็นไปตามมาตรฐานที่เราเข้าใจหรือคุ้นเคยในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ความผิด เพราะในโลกยุคนั้นยังไม่ได้พัฒนามาถึงขนาดนี้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือเราเคยเป็นอย่างไรแล้ววันนี้เราเดินมาถึงตรงไหน และเป็นบทเรียนสอนใจในวันข้างหน้า เราจะทำอย่างไร” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทอง ยังกล่าวถึงหนังสือ “รสไทย(ไม่)แท้ : ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม” โดย อาสา คำภา ว่า อาหารการกินหรือสิ่งที่เรียกว่าอาหารไทยในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยต่างๆ การเปลี่ยนแปลงมีปัจจัย ตัวเร่ง คือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

“เวลาเราคบค้าสมาคมด้วยเหตุผลทางการเมือง กับต่างชาติด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การนำเข้าของรสชาติอาหาร การปรับรสชาติอาหาร เราจะมองอาหารเหล่านั้น ที่ผ่านมิติการเมืองอย่างไร เอาเข้าจริงแล้ว รสไทยแท้มีจริงหรือไม่จริง” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน