เชียงใหม่สะเทือนยันเขื่อนปลอดภัย

เหนือระทึกแผ่นดินไหว 4.1 ตั้งแต่ตี 4 ศูนย์กลางที่ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ความลึก 2 ก.ม. ชาวบ้านแตกตื่นโกลาหลส่วนที่ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอนก็ได้รับรู้ถึงความรู้สึก ผู้ว่าฯ เชียงใหม่สั่งสำรวจความเสียหาย พบบ้านเรือนร้าว 4 หลัง โรงเรียน ก็เสียหาย วัดพระเจ้าตนหลวงก็เสียหาย ส่วนวัดพระธาตุดอยสะเก็ดแตกร้าว ปูนปั้น ซุ้มประตูกะเทาะร่วงลงมา ด้านกรมชลฯ ยันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เชียงใหม่ เขื่อนแม่สรวย เชียงราย เขื่อนกิ่ว คอหมาและเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่แพร่ก็เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ลอง ชาวบ้านอีก 3 อำเภอทั้งสูงเม่น วังชิ้น เด่นชัย รับรู้ความสั่นไหว

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ศูนย์ตรวจสอบการเกิดแผ่นดินไหว จ.เชียงใหม่ รายงานว่า เวลา 04.36 น. เกิดแผ่นดินไหว 4.1 แมกนิจูด ใน จ.เชียงใหม่ ศูนย์กลางอยู่ที่ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ลึกลงไป 2 ก.ม. แรงสั่นสะเทือน ประชาชนรับความรู้สึกได้ในหลายอำเภอ ทั้งอ.เมือง, อ.สันกำแพง, อ.สารภี, อ.หางดง, อ.สันป่าตอง, อ.แม่วาง, อ.แม่ออน เป็นต้น นอกจากนี้ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งมีเขตติดต่ออ.ดอยสะเก็ดก็ได้รับรู้เช่นกัน ชาวบ้านในอ.สารภี และอ.เมืองได้รับความรู้สึกแรงสั่นสะเทือน

ด้านกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 04.36 น. เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ที่ละติจูด 18.790 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.106 องศาตะวันออก ขนาด 4.1 ความลึก 2 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึก สั่นไหวบริเวณ จ.เชียงใหม่ และจ.ลำพูน

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ประชาชนในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ทั้งใน ตัวเมืองเชียงใหม่ และอีกหลายอำเภอสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน เช่นบ้านและอาคารมีการสั่นสะเทือน หรือมีเสียงดัง เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางนั้น ประชาชนต่างรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนรุนแรงและตื่นตกใจ เบื้องต้นยังสำรวจไม่พบความเสียหาย

แผ่นดินไหว – นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ สำรวจความเสียหายที่โรงเรียนแม่คือวิทยา อ.ดอยสะเก็ด พบอาคารแตกร้าวจากเหตุแผ่นดินไหว โดยแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้หลายจังหวัดภาคเหนือ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง นายนนทวัฒน์ วรรณา นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่โรงเรียนแม่คือวิทยา ต.แม่คือ โดยเฉพาะอาคารสูง พบว่าโรงเรียนแม่คือวิทยามีตึก 3 ชั้นซึ่งสูงที่สุดในพื้นที่ พบมีรอยร้าวในอาคารชั้นเรียน 1 จุด บริเวณบันไดทางเดินขึ้นอาคาร และภายในห้องสมุดของโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารแยกต่างหากจากอาคารเรียน พบมีรอยร้าวใหม่บนฝ้าเพดาน 2 จุด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบมีรอยร้าวอีก 2 หลัง อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหายเพิ่มเติม

ด้านพระครูสิริเจติยบรรพต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองของจ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนเนินเขาทางด้านทิศตะวันออกของตัว อ.ดอยสะเก็ด เปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหว เมื่อเช้ามืดที่ผ่านมานั้นถือว่ารุนแรง แม้จะเทียบ กับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ จ.เชียงราย ขนาด 6.3 แมกนิจูด ในปี 2557 ซึ่งเกิดแรงสั่นสะเทือนมาถึงจ.เชียงใหม่ จนทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารภายในวัดพระธาตุดอยสะเก็ด คืออาคารสำนักงานมีรอยร้าว แต่ครั้งนี้พบว่าแม้ขนาดแรงสั่นสะเทือน ณ จุดศูนย์กลางจะน้อยกว่าปี 2557 แต่จุดศูนย์กลางอยู่ที่ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ห่างจากตัววัดเพียงไม่กี่กิโลเมตร จึงพบว่าแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้รุนแรงกว่า ข้าวของเครื่องใช้ หรือตู้ใส่ของมีการสั่นสะเทือนเหมือนกับมีคนโยกแรงๆ ที่สำคัญส่งผลให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมคือตัวอาคารสำนักงานที่เคยเกิดรอยร้าวเมื่อปี 2557 นั้นจุดเดิมพบว่ามีร้อยร้าวเพิ่มเติมขึ้น ยาวมากขึ้นกว่ารอยเก่า และรอยร้าวแยกขยายกว้างขึ้น ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของอาคารที่เคย เกิดรอยร้าวพบว่าปูนมีสภาพบวมปูดขึ้น และบางจุดแตกกะเทาะออกมาจากรอยแยกอย่าง เห็นได้ชัด ตอนนี้ต้องรอทางช่างหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบความเสียหายว่ามีอันตรายกับตัวโครงสร้างอาคารหรือไม่

พระครูสิริเจติยบรรพตกล่าวต่อว่า ส่วนอีกจุดที่ได้รับความเสียหายเช้านี้คือลวดลายปูนปั้นที่ตกแต่งซุ้มประตูทางขึ้นพระธาตุ มีการกะเทาะแตกตกลงมาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ของวัดเก็บกวาดเอาไปทิ้งเรียบร้อยแล้ว แต่ยังหลงเหลือเศษซากที่แตกหักลงมา ส่วนสำคัญคือองค์พระธาตุดอยสะเก็ด จากที่มีข่าวว่าแตกร้าวนั้นไม่เป็นความจริง ตัวองค์พระธาตุทั้งองค์จริงด้านใน และส่วนที่เป็นองค์ครอบด้านนอกยังไม่พบความเสียหายใดๆ แต่ ส่วนที่เคยตกเป็นข่าวชำรุดเสียหายนั้นคือ แผ่นกระเบื้องปูผนังด้านใน ซึ่งเป็นการสร้างต่อเติมใหม่กะเทาะแตกออกมา เนื่องจากมีความชื้น และปูนที่ยึดติดกะเทาะหลุดออกมาเท่านั้น ไม่ได้มีผลกับโครงสร้างหรือตัวองค์พระธาตุแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อประเมินและเตรียมการบูรณะซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหายต่อไป

ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ สรุปสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่าสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในพื้นที่ 15 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ และยังไม่มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ เชียงใหม่สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอตรวจสอบความ เสียหาย เบื้องต้นยังไม่พบรายงานความเสียหาย รวมถึงให้ชลประทานสำรวจความมั่นคง แข็งแรงของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง พบว่าแรงสั่นไหวไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของทั้ง 2 เขื่อน

เมื่อเวลา 11.00 น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร เดินทางไปที่เทศบาลตำบลแม่คือ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้

นายนิรัตน์กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุ แผ่นดินไหว จึงสั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้น เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ ที่รับรู้ถึงความสั่นไหวรวมทั้งหมด 15 อำเภอ จาก 25 อำเภอของจ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ จากการตรวจติดตามบริเวณพื้นที่จุดศูนย์กลางเกิดเหตุ ในตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด เบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย พื้นผิวผนังปูนฉาบและกำแพงบ้านมีรอยร้าว 4 หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ก่อสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ และมีอายุการใช้งานมานาน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนแม่คือวิทยา และวัดสารภี หรือวัดพระเจ้าตนหลวงที่ได้รับผลกระทบและ เกิดรอยแตกร้าวในบางส่วน ส่วนพื้นที่สำคัญในเขตพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ยังไม่ได้รับผล กระทบ และยังไม่พบว่ามีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา จึงสั่งการให้ทุกอำเภอสำรวจความเสียหายตามสถานที่ต่างๆ ทุกพื้นที่อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง โดยเฉพาะสถานที่สำคัญๆ เช่นสถานที่ราชการ วัด และโบราณสถานต่างๆ รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายและมีอายุการใช้งานยาวนาน

จากนั้น นายนิรัตน์พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียง 15 ก.ม. และเป็นจุดที่ประชาชนต่างกังวลว่าจะได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จากการตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนโดยวิศวกรของเขื่อนตั้งแต่เกิดเหตุแล้ว พบว่ามีแรงสั่นไหว แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง แข็งแรงของเขื่อนแม่กวง เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่าง เดินเท้าสำรวจตลอดแนวสันเขื่อน ก็ไม่พบ รอยแยกที่เป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเขื่อนขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบ ประกอบด้วยเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง พบว่าเขื่อนทั้งสองแห่งมีความมั่นคงแข็งแรง อยู่ในภาวะปกติ ปลอดภัย

ส่วนที่จ.แพร่ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานเรื่องแผ่นดินไหวที่ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ ว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. เวลา 01.39 น. เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ ที่ละติจูด 18.042 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.886 องศาตะวันออก ขนาด 3.7 ความลึก 3 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณอ.สูงเม่น, อ.วังชิ้น และอ.เด่นชัย จ.แพร่

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 04.36 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.1 แมกนิจูด ความลึก 2 ก.ม. บริเวณพื้นที่อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รวมถึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 แมกนิจูด ความลึก 5 ก.ม. ในประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 415 ก.ม. สำหรับจ.แม่ฮ่องสอนรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวได้ในเวลา 04.36 น. ซึ่งเป็นการรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

สำหรับอ.เมืองแม่ฮ่องสอนมีการสั่นสะเทือนของบ้านเรือนแบบรู้สึกได้ชัดเจนประมาณ 2-3 วินาที ขณะที่ชาวแม่ฮ่องสอนและนักท่องเที่ยวหลายคนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเลย โดยจ.แม่ฮ่องสอนสั่งการให้ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องในพื้นที่ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนของราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

ส่วนที่วัดพระธาตุดอยกองมู หรือวัดปลายดอย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ที่ตั้งอยู่บนดอยสูงเหนือระดับน้ำทะเล 380 เมตร สอบถามผู้ที่อยู่อาศัยในวัดหลายคน ได้รับรู้แรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะมีผลกระทบใดต่อองค์พระธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทาน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ ห้วยแม่ฮ่องสอนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ต.ปางหมู อ.เมือง พบว่ายังมีความมั่นคง แข็งแรง อยู่ในภาวะปกติ

ด้านสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จับตาเฝ้าระวังบริเวณรอยเลื่อน 2 จุดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหว คือรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนและรอยเลื่อนสบเมย โดยรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน จะครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.ขุนยวม อ.แม่ลาน้อย และ อ.แม่สะเรียง ส่วนรอยเลื่อนเมยครอบคลุมบริเวณรอยต่อของ อ.สบเมย ในแม่น้ำเมย แม่ระมาด พื้นที่บริเวณทั้ง 2 แห่งนี้จะต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมรับทราบเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 4.36 น. ขนาด 4.1 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่ที่ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยสั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำชับให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่ และจ.ลำพูน ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้แจงประชาชนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อลดความตื่นตระหนก รวมทั้งชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย

นายอนุชากล่าวว่า ทางสำนักชลประทานที่ 1 ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเขื่อนขนาดใหญ่ในเชียงใหม่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ประกอบด้วย เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยเขื่อนทั้งสองแห่งมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่ในภาวะปกติ รวมถึงไปถึงไม่มีผลกระทบต่อเขื่อนต่างๆของกฟผ.

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานโดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาเข้าตรวจสอบค่าอัตราเร่งสูงสุดที่สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวแล้ว พบว่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.00646g ซึ่งค่าอัตราเร่งสูงสุดที่กรมชลประทานได้ออกแบบไว้ สามารถรองรับแผ่นดินไหว มีค่าไม่น้อยกว่า 0.2g จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของ ตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนแม่สรวย จ.เชียงราย เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง แต่อย่างใด

“ทั้งนี้ กรมชลประทานออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา” นายประพิศกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน