อยุธยายังวิกฤตหนัก 12 อำเภอ น้ำท่วมขังกว่า 3 เดือนแล้ว เลขาฯ สทนช.ตรวจสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เตือน 3 คลองที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี รับมวลน้ำท่วมทุ่งจากพื้นที่อยุธยา ทำคันดินเสริมตลิ่ง ตั้งแท่งแบริเออร์ป้องกัน ทุ่งบัวแดงโคราชถูกท่วมขังจนรากบัวเน่า ฤดูหนาวปีนี้ไม่มีดอกให้นักท่องเที่ยวชม ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์เร่งสูบน้ำท่วมถนนเชื่อมร้อยเอ็ดสูงเกือบเมตรหลังพนังกั้นขาดซ้ำ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย และความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง รวมถึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง โดยในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-30 ต.ค.ได้เกิดอุทกภัยรวม 59 จังหวัด 353 อำเภอ 1,879 ตำบล 11,770 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 528,063 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 12 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 20 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 629 ตำบล 4,259 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 237,345 ครัวเรือน สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกจังหวัด ดังนี้

1.พิษณุโลก 2.นครสวรรค์ 3.ขอนแก่น 4.มหาสารคาม 5.กาฬสินธุ์ 6.ร้อยเอ็ด 7.สุรินทร์ 8.ศรีสะเกษ 9.อุบลราชธานี 10.อุทัยธานี 11.ชัยนาท 12.สิงห์บุรี 13.อ่างทอง 14.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะหัน อ.นครหลวง อ.มหาราช อ.อุทัย อ.บ้านแพรก และ อ.บางซ้าย รวม 154 ตำบล 994 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 77,963 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 15.ปทุมธานี 16.ลพบุรี 17.สุพรรณบุรี 18.นครปฐม 19.นครนายก และ 20.ปราจีนบุรี

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ปภ. โดย ปภ.จังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

ด้านดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร โดยติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของ ปภ.บริเวณประตูระบายน้ำคลองสระ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ติดตามสถานการณ์น้ำตามแนวคลองพระยาบรรลือ ประตูระบายน้ำปากคลองขุดใหม่ ประตูระบายน้ำลากฆ้อน และประตูระบายน้ำปากคลองขุนศรี อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนคร ศรีอยุธยา

ดร.สุรสีห์กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมวลน้ำเหนือได้ไหลลงพื้นที่ต่ำทำให้ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง เป็นน้ำท่วมทุ่งจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ทยอยไหลผ่านคลองระบายน้ำใน อ.ลาดหลุมแก้ว ทั้ง 3 คลองได้แก่ คลองชลประทานขุดใหม่ คลองลากฆ้อน และคลองพระอุดม จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะว่ามีการระบายน้ำมาจากคลองพระยาบันลือ ผ่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี และออกสู่แม่น้ำ โดยมีมวลน้ำมาที่คลองชลประทานขุดใหม่ และคลองลากฆ้อน เบื้องต้นได้นำแท่งแบริเออร์มาป้องกันน้ำ รวมถึงทำคันดินเสริมป้องกันน้ำ ทั้งนี้ จากการสำรวจบริเวณด้านเหนือของคลองพระยาบันลือ พบว่าน้ำที่ท่วมทุ่งได้ข้ามฝั่งมายังคลองพระยาบันลือแล้ว จึงต้องเฝ้าระวังน้ำที่อาจท่วมพื้นที่ลาดหลุมแก้วได้

ที่ทุ่งบัวแดง บ้านดอนเปล้า หมู่ 6 อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทุ่งบัวแดงที่มีพื้นที่ทั้งหมด 3,600 ไร่ ประสบกับปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปี มาปีนี้ก็ประสบภัยน้ำท่วมสูง ทำให้รากเหง้าของบัวแดงเน่าตาย ไม่ออกดอก จึงทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างผิดหวัง อดเที่ยวชมทุ่งบัวแดงในช่วงฤดูหนาวนี้ ซึ่งปกติในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมทุ่งบัวแดงช่วงฤดูหนาว ราวปลายเดือนต.ค.-ก.พ. กันจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่นำสินค้าแปรรูป เช่น ปลาแดดเดียว น้ำพริก กุ้งขาว มาจำหน่าย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากอ่างเก็บน้ำละหานลูกนก

กู้ถนน – เจ้าหน้าที่ระดมนำกระสอบทรายปิดกั้นตามแนวถนนกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ช่วงบ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมกับเร่งสูบน้ำกู้ถนนคืนผิวจราจรให้กลับมาใช้สัญจรไปมา เมื่อวันที่ 30 ต.ค.








Advertisement

ที่ถนนสายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ช่วงบ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย ไปถึงบ้านท่ากลาง ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม ผวจ.กาฬสินธุ์ นางดวงตา พายุพล ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ เข้าติดตามความคืบหน้าการกู้ถนน โดยเฉพาะการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังถนนมานานกว่า 10 สัปดาห์ ซึ่งเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ หมวดทางหลวงยางตลาด หมวดทางหลวงร่องคำ เจ้าหน้าที่ ปภ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงวางกระสอบทรายตามแนวถนนเป็นกำแพงกั้นมวลน้ำ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็กจาก อบจ.กาฬสินธุ์และปภ.กาฬสินธุ์มาติดตั้ง เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นถนน โดยล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดต่ำลงตามลำดับ แต่ยังมีบางจุดที่ยังท่วมสูง เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเปิดให้รถสัญจรไปมาได้ และยังสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง

นายธวัชชัย ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังจากพนังลำชี บ้านสะดำศรี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ขาด ทำให้มวลน้ำได้ไหลบ่าท่วมพื้นที่การเกษตรและหลายหมู่บ้านเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบถึงถนนสายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ดบริเวณดังกล่าว ซึ่งน้ำได้เอ่อสูงและท่วมถนน ระดับน้ำสูงถึง 60-80 ซ.ม. รถยนต์ทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังกรอกกระสอบทรายเรียงปิดกั้นมวลน้ำตามแนวถนนมาระยะทางกว่า 3 ก.ม. และได้กั้นช่วงที่มีน้ำท่วมอยู่ 1.5 ก.ม.

ด้านนางดวงตา ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ถนนสายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ดช่วงบ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย ไปถึงบ้านท่ากลาง ต.เจ้าท่า สายดังกล่าวถูกน้ำท่วมขังระดับสูงรถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้นั้น แขวงทางหลวงได้เปิดทางเลี่ยงใหม่สำหรับผู้ที่จะเดินทางจาก จ.กาฬสินธุ์ไป จ.ร้อยเอ็ด โดยเมื่อมาถึง 4 แยกบ้านบ่อให้เลี้ยวซ้ายไปทาง อ.ร่องคำ มุ่งเข้าสู่ จ.ร้อยเอ็ด และได้เปิดเส้นทางเลี่ยงที่ใกล้ที่สุด หากมาจาก จ.กาฬสินธุ์ ให้เลี้ยวซ้าย 4 แยกบ้านบ่อ จากนั้นให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางคลองชลประทานทะลุออกมาที่บ้านโจด ต.เจ้าท่า ออกถนนใหญ่ไป จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งระยะทางไม่ห่างไกลจากถนนที่ถูกน้ำท่วมมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน