ระบาดหนักที่ฟิลิปปินส์ แพร่รวดเร็ว-โจมตีปอด สธ.ชี้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กทม.ปริมณฑล-ตอ.-ใต้

โควิดยังไม่จบ ศูนย์จีโนม แพทย์รามาฯ เตือนเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ‘เดลตาครอน เอ็กซ์บีซี’ ลูกผสม ‘เดลตา’กับ ‘โอมิครอน’ ล่าสุดระบาดหนักในฟิลิปปินส์ เป็นเชื้อมีศักยภาพโจมตีปอด เหมือนเดลตา แพร่ระบาดรวดเร็วเหมือนโอมิครอน ขณะที่สธ.ระบุมีแนวโน้มพบ ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยนอนรักษาในร.พ.เพิ่มขึ้น 12.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะกทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ภาคตะวันออก ภาคใต้ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมมีคนรวมตัวกันมากขึ้น

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “เดลตาครอน เอ็กซ์บีซี” เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างเชื้อเดลตา กับโอมิครอน บีเอ.2 ล่าสุด พบระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 193 ราย เป็นเชื้อที่มีศักยภาพในการโจมตีปอดเหมือนสายพันธุ์เดลตา และแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือนสายพันธุ์โอมิครอน โดยเชื้อลูกผสมเดลตา-โอมิครอน อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้พอๆ กับสายพันธุ์เดลตา ที่คร่าผู้ติดเชื้อไปมากถึงร้อยละ 3.4 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอนเกือบ 2 เท่า

สวิงในสวน – บรรยากาศกิจกรรมงาน ‘สวิงในสวน Swing in the Park 4’ ครั้งที่ 4 จัดโดยกทม. ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กทม. โดยมีชาวกรุงเทพฯ พาครอบครัวลูกหลานมาร่วมงานกันคึกคัก เมื่อ 13 พ.ย.

วันเดียวกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์โควิดในไทย สัปดาห์ที่ 45 วันที่ 6-12 พ.ย.2565 มีแนวโน้ม พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในร.พ. เพิ่มขึ้น 12.8 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า จากการเฝ้าระวังในผู้ป่วย รักษาในร.พ. ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ดูแล ที่บ้านผ่านรายงานของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงใน 8 จังหวัด เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในร.พ.เพิ่มขึ้นทั้งในกทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่ รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมมีคนรวมตัวกันมากขึ้น

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าขณะที่ ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วย เสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว แต่มากกว่า ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนป้องกันโควิด และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกัน หากติดเชื้อโควิดมีโอกาสป่วยหนักได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ยังเป็นไปตามคาดการณ์ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่ที่มีลักษณะ เป็นสมอลเวฟ หรือคลื่นเล็กๆ หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ส่วนนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่าต้องเน้นมาตรการตรวจรักษากลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา โดยเร็ว แพทย์อาจพิจารณาให้ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้น้อย สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ รับวัคซีนงดออกจากบ้าน คนในครอบครัววัยทำงาน เสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ติดเชื้อ นอกบ้าน เช่น ไปสถานบันเทิง ให้งดใกล้ชิด ผู้สูงอายุ พาพ่อแม่ ผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน เข้ารับวัคซีน ทั้งเข็มแรก หรือเข็มกระตุ้น หากรับเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงป่วยหนัก ลดระยะ เวลารักษา ที่ญาติต้องลางานเพื่อดูแล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน