ลำน่านสันทรายโผล่ ทั้งที่ต้นเดือนเอ่อตลิ่ง ชาวนาบุรีรัมย์จี้เยียวยา

ภูเก็ตอ่วมอีก ฝนถล่มข้ามคืน น้ำท่วมขังถนนสายหลักทั่วเมือง สวนทางกับพิจิตร 3 อำเภอ ทั้งเมือง-ตะพานหิน-บางมูลนาก แม่น้ำน่านแห้งสันทรายโผล่ทั้งๆ ที่ต้นเดือนน้ำยังเอ่อตลิ่ง ชลประทานแจ้งเหตุ น้ำเขื่อนยังไม่ปล่อยลงมา ขณะที่แม่น้ำน่านไม่มีเขื่อนกั้น ส่งผลให้น้ำไหลผ่านลงนครสวรรค์ สั่งห้ามสูบน้ำใช้ทำเกษตรจนกว่าเขื่อนจะปล่อยน้ำลงมา ด้านชาวนาบุรีรัมย์จี้รัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยนาล่ม ส่วนชาวนาโคราชระทมซ้ำอีก ฝนหลงฤดูถล่มทำน้ำขังนา ผลผลิตข้าวเสียหายก่อนเก็บเกี่ยว

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. จากเหตุฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่จ.ภูเก็ตทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงเช้าวันเดียวกัน ทำให้น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะหน้าสวนน้ำบลูทรี หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเชิงทะเล ถนนศรีสุนทร ต.เชิงทะเล อ.ถลาง มีน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด ส่วนพื้นที่อื่นๆ รวมตัวเมืองภูเก็ต ก็มีน้ำท่วมเช่นกัน ขณะที่ถนนสายเข้าเมืองภูเก็ต เช่น ถนนเฉลิมพระเกียรติร.9 (บายพาส) การจราจรติดขัด

ท่วมภูเก็ต – สภาพน้ำท่วมหนักในตัวเมืองภูเก็ตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 พ.ย. ถนนหลายสายระดับน้ำสูงจนรถเล็กและจักรยานยนต์สัญจรด้วยความยากลำบาก หลังเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ก่อนจะคลี่คลายกลับสภาวะปกติในช่วงบ่าย

ส่วนที่ภาคเหนือ ที่จ.พิจิตร หลังจากแม่น้ำน่านมีระดับน้ำที่ไหลผ่าน 3 อำเภอ อ.เมือง ตะพานหิน และบางมูลนาก ระดับน้ำเต็มตลิ่งเมื่อต้นเดือนพ.ย. ปรากฏว่าขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร น้ำลดลงจนเห็นโขดหิน และสันทรายโผล่ในบางจุด ถือเป็นระดับน้ำที่ลดต่ำลงในรอบ 10 ปี และคาดว่าจะเจอภาวะแล้งจัด

นายเอกชัย เอี่ยมตาล ชลประทานจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลง เกิดแห้งหลายจุด สาเหตุเนื่องจากทางเขื่อนนั้นยังไม่ปล่อยน้ำลงมา ประกอบกับแม่น้ำน่านนั้นไม่มีเขื่อนอะไรกั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านทั้ง 3 อำเภอไหลลงสู่ จ.นครสวรรค์ เพื่อเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ ขณะนี้ตนสั่งการให้เกษตรกรสูบน้ำในแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำ ห้ามสูบน้ำในแม่น้ำน่านเพื่อทำการเกษตรอย่างเด็ดขาด เนื่องจากต้องรักษาน้ำไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศ หากจะสูบน้ำก็ต้องรอในช่วงเดือนธ.ค. ที่ทางเขื่อนจะปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรอีกครั้ง นอกจากนี้เกษตรกรชาวนาฝั่งซ้ายแม่น้ำน่านไม่มีระบบชลประทาน สั่งให้ปิดประตูน้ำในทุ่ง เพื่อให้เกษตรชาวนาใช้น้ำทำการเกษตรและรักษาระบบนิเวศ

ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ รายงานว่า สภาพอากาศที่ยังแปรปรวนอย่างหนัก ยังไม่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็นเหมือนทุกปี ซึ่งเป็นผลมาจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและเข้าสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. ประกอบกับร่องมรสุม พาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง และจะมีฝนตกหนักมากในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาคจะมีฝนเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 23 พ.ย. ส่วนทางตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 24-25 พ.ย.








Advertisement

ส่วนบริเวณจ.เชียงใหม่ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22 องศา สูงสุด 34 องศา ขณะที่บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศา

อย่างไรก็ตาม เรื่องของอากาศหนาว หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนในระยะนี้ ยังไม่มีมวลอากาศเย็นที่จะแผ่เสริมเข้ามาถึงพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากยังได้รับอิทธิพลของหย่อมความอากาศต่ำทางฝั่งประเทศเวียดนามดันไว้อยู่ จึงคาดการณ์ว่า ช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ยังไม่น่าจะมีอากาศหนาวระลอกใหม่มาถึงไทยได้ จึงต้องรอต่อไป และอาจต้องลุ้นข้ามไปถึงเดือนธ.ค. คาดจะมีลมหนาวระลอกใหม่เข้ามาไทย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคเหนือของไทยกลับเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

ส่วนเช้าวันเดียวกัน ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ รายงานว่า ยอดดอยอุณหภูมิต่ำสุด 9 องศา

ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาหลายอำเภอในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยนาข้าวที่ประสบภัยน้ำท่วมผลผลิตเสียหาย และจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาทโดยเร็ว เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ยที่ค้างเอาไว้ รวมถึงชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยธ.ก.ส.ที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา และบางคนจะได้เอาไปเป็นทุนในการทำนาปรัง เพื่อทดแทนข้าวนาปีที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย เพื่อจะได้มีผลผลิตเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี ทั้งเก็บไว้ขายในยามจำเป็นด้วย

ส่วนชาวนาหลายหมู่บ้านในพื้นที่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อน หลังจากพายุฝนหลงฤดูที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักตลอดหลายวันที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังในแปลงนาข้าวที่กำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้รถเกี่ยวข้าวไม่สามารถลงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกได้ หากเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกล่าช้าออกไป ราคารับซื้อก็จะตกต่ำลงตามปริมาณความต้องการของโรงสี ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องขาย แม้ไม่ได้ราคา เพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอจ่ายค่าจ้างเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลผลิต

ด้านชาวบ้าน ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้หันมาเป็นชาวประมงน้ำจืด จับปลาในทุ่งนากันเป็นจำนวนมากมีรายได้ ในทุ่งนาแก้มลิง ซึ่งเป็นทุ่งนารอยต่อ อ.เสนา อ.ผักไห่ และอ.บางซ้าย ซึ่งก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้ผันน้ำเหนือเข้าทุ่งนาไว้เป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้แม้ว่าระดับน้ำในแม่น้ำน้อยจะลดลงแล้ว แต่น้ำในทุ่งนายังมีท่วมขังอยู่อีกจำนวนมาก ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพประมงพื้นถิ่น ใช้ข่ายไปจับปลาในทุ่งนาแก้มลิง ซึ่งมีปลาอย่างชุกชุม ส่วนใหญ่เป็นปลาท้องถิ่นจำนวนมากเช่น ปลาสร้อย ปลาซ่า ปลาแก้มช้ำ และปลาแปบ ซึ่งแต่ละคนมีรายได้จำนวนมากเช่นกัน ได้ปลาวันละ 20-30 กิโลกรัม นำไปขายในราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน