หนุ่มรปภ.ดับคาป้อมลุงวัย60สิ้นใจในบ้านสธ.ระดมฉีดกลุ่มเสี่ยง

เซ่นโควิดระลอกใหม่อีก 2 ศพ รายแรกเป็นรปภ.โรงงานย่านสุวรรณภูมิสิ้นใจอนาถบนพื้นป้อมยาม อีกรายเป็นลุงวัย 60 ปี นอนตายภายในบ้านพักย่านสาทร ตรวจเอทีเคพบผลเป็นบวก ด้านปลัดสาธารณสุขแจงผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น 10-20% ยังเป็นไปตามคาดการณ์แบบสมอล เวฟ เชื่อหลังปีใหม่สถานการณ์ติดเชื้อลดลง ส่วนผู้สูงอายุติดโควิดดับที่บ้าน ต้องสอบสวนรายละเอียดเพิ่ม เผยพบคนติดเชื้อมากขึ้น ทำประชาชนมาฉีดวัคซีนเพิ่ม สั่งทุกร.พ.เปิดจุดฉีดวัคซีน แม้มาคนเดียวก็ต้องฉีด ไม่ต้องกังวลทิ้งวัคซีน ยันมีเพียงพอ พร้อมให้จัดรถโมบายล์ฉีดกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่

วันที่ 25 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้รับแจ้งเหตุพบชายรายหนึ่งเสียชีวิตภายในป้อมรักษาความปลอดภัยของโรงงานแห่งหนึ่งย่านสุวรรณภูมิ หลังรับแจ้งจึงนำกำลังรุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบร่างนายจตุรงค์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี สภาพนอนเสียชีวิตอยู่ที่พื้น ภายในป้อมรักษาความปลอดภัยของโรงงาน เจ้าหน้าที่จึงสวมชุดป้องกันเชื้อโรค PPE พร้อมใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่าผลเป็นบวก

เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้นำร่างส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ จ.สมุทรปราการ เพื่อผ่าพิสูจน์ ก่อนจะให้ญาตินำร่างไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาต่อไป

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โพสต์ข้อความระบุว่า “พบอีกรายแล้ว! ชายวัย 60 ปีติดเชื้อโควิด เสียชีวิตในบ้านย่านสาทร ยังไม่ทราบสาเหตุ กู้ภัยร่วมกตัญญูรับแจ้งชายวัย 60 ปี เสียชีวิตภายในบ้านพัก สาทร 11 แยก 3 ไม่ทราบสาเหตุ ตรวจ ATK ติดโควิด” ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดป้องกันเชื้อโรค PPE เข้าเก็บศพผู้เสียชีวิต ก่อนนำศพส่งโรงพยาบาล เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนติดต่อญาติของผู้เสียชีวิตมารับไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป”

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยเข้ารักษาใน ร.พ.เพิ่มขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 10-20% ผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เฉลี่ยไม่เกิน 10 รายต่อวัน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งจากการประชุมร่วมกับ ผอ.ร.พ.ทั่วประเทศก็รายงานว่าแต่ละแห่งยังรองรับสถานการณ์ได้แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาการไม่รุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอก แพทย์ให้ยาไปรักษาตามที่วินิจฉัย ส่วนการรักษาในร.พ.ที่ต้องใช้เตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยก็ยังไม่ได้เพิ่มแบบมีนัยสำคัญจนต้องเพิ่มมาตรการ มีแค่เน้นย้ำฉีดวัคซีนและใส่หน้ากากอนามัย

“ส่วนผู้สูงอายุที่มีข่าวเสียชีวิตที่บ้านช่วงนี้ คงต้องไปดูการเสียชีวิตแต่ละราย หลายรายอาการไม่เหมือนโควิด อยู่ๆ เสียชีวิตไปตรวจ ATK พบ แต่การตรวจ ATK เป็นการคัดกรองเบื้องต้น การวินิจฉัยยืนยันต้องตรวจรายละเอียดมากกว่านั้น ซึ่งกรมควบคุมโรคจะลงไปดูรายละเอียด ซึ่งแนวทางการรักษากลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิดไกด์ไลน์ยังเหมือนเดิม” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การระบาดในรอบนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ เป็นลักษณะของสมอลเวฟ การมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในการคาดการณ์ ซึ่งจะเพิ่มตามวงรอบคือ ช่วง พ.ย.และธ.ค. โดยหลังปีใหม่จะค่อยลดลง แต่ต้องดูเหตุการณ์จริงอีกครั้ง ทั้งนี้ สถานการณ์การติดเชื้อมีผลต่อการเข้ารับวัคซีน เมื่อไรที่การติดเชื้อน้อยลง คนก็มาฉีดน้อยลง เมื่อผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็มาฉีดมากขึ้น ซึ่งช่วงนี้ก็มีเข้ามารับวัคซีนมากขึ้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ตนและรองปลัดประชุมร่วมกับ นพ.สสจ.และ ผอ.ร.พ.ศูนย์/ร.พ.ทั่วไป ทั่วประเทศ กำชับให้กำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนระยะนี้อย่างจริงจัง และทอนเป้าหมายเป็นรายจังหวัดและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุก ร.พ.ในสังกัดจัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิดตามเหมาะสม ซึ่งบางแห่งอาจกำหนดวันฉีดเพื่อให้ประชาชนมารับบริการอย่างสะดวก

“แต่หากเข้ามาแบบวอล์กอิน ก็ให้ฉีดประชาชนที่มารับบริการด้วย ดีกว่าให้กลับบ้านไปโดยไม่ได้ฉีดวัคซีน จะเห็นว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้เข็มกระตุ้น ส่วนที่ผู้ปฏิบัติงานกังวลว่า วัคซีน 1 ขวดฉีดได้หลายคน แต่หากฉีดเพียงคนเดียวแล้วต้องทิ้งวัคซีน เพราะเปิดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็ได้ชี้แจงย้ำเตือนให้สบายใจแล้วว่าให้พิจารณาตามความเหมาะสม แม้จะนัดมาหลายคนแล้วฉีดทีเดียวจะช่วยประหยัด แต่ถ้านัดแล้วไม่มาก็เสียโอกาสฉีดเช่นกัน ให้พิจารณาถ้าคิดว่าเหมาะสมแม้ขวดหนึ่งฉีดคนเดียวก็ถือว่ามีประโยชน์ กว่าที่จะรอหลายคนแล้วไม่ได้ฉีดสักคน ซึ่งวัคซีนมีเพียงพอ ไม่ต้องกังวล ขอให้ฉีดให้ประชาชนมากที่สุด” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนเรามีครบถ้วนต้องกระจายถึงประชาชนมากที่สุด ถึงระดับ รพ.สต. เพราะหากให้ประชาชนมารับในอำเภอ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก แม้วัคซีนจะฟรี แต่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลูกหลานพามาฉีดก็ต้องหยุดงานเสียรายได้ การฉีดใกล้บ้านเป็นมาตรการสำคัญ โดยแจ้งให้จัดกิจกรรมเพิ่มเติม มีรถโมบายยูนิตฉีดวัคซีน นัดหมายคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ขอให้จัดบริการมากที่สุด และจะติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องและ จะสรุปอีกครั้งในปลายเดือนนี้

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุก ร.พ.จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของวัคซีนโควิดและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ที่เราส่งไปทั่วประเทศยังเพียงพอ เราเตรียมไว้ที่กรมควบคุมโรคเป็นแหล่งสำรอง อีกที่หนึ่งคือสถาบันบำราศนราดูร เราเปิดให้บริการฉีดทุกวัน หากไม่สะดวกก็มาติดต่อที่นี่ได้ มารับบริการแบบวอล์กอินได้ แต่ทางที่ดีควรโทร.นัดหมายมา เพื่อจะได้เหลื่อมเวลารับบริการจากคนที่มารับบริการจำนวนมาก สำหรับการฉีดวัคซีนขอแนะนำให้ฉีดถึงเข็มกระตุ้น ซึ่งตั้งแต่เข็ม 3 ขึ้นไป แต่เราพบว่ารับเข็ม 3 เกิน 4 เดือน บางคนภูมิคุ้มกันจะลดลง เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว และเด็ก 6 เดือน-4 ปีก็ควรไปฉีดวัคซีน

นพ.ธเรศกล่าวว่า ส่วนผู้เสียชีวิตขณะนี้เกือบ 100% อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ปัจจัยที่พบคือมักไม่ได้วัคซีนหรือรับ 1-2 เข็มประมาณ 70% ขึ้นไป เราพยายามกระตุ้นกลุ่ม 608 ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นมารับวัคซีน ซึ่งปลัด สธ.สั่งการไปทุกจังหวัดแล้ว และให้ อสม.ช่วยสำรวจและชักชวนมาฉีด โดยกลุ่มภูมิคุ้มกันที่ขึ้นไม่ค่อยดี เช่น ฉีดหรือกินยากดภูมิ รักษาโรคมะเร็ง หรือมีปัญหากับการฉีดวัคซีนปกติ เรามี LAAB มาฉีดได้ เรากระจายไปทุกภูมิภาคอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่เป็น กลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว หรือรับวัคซีนมานานเกิน 4 เดือนแล้ว ควรมาที่สถานพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษาโดยเร็วที่สุด สถานพยาบาลจะให้การรักษาในกลุ่มยาฉีดหรือกลุ่ม LAAB ทันที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน