สธ.จี้คุมระบาดขาขึ้นอีกยอดตายพรวดวัน10คนกทม.-จว.ท่องเที่ยวหนัก

สัปดาห์เดียวป่วยโควิดพุ่งพรวด 5 พันคน สธ.แจงพบรักษาตัวในร.พ.เฉลี่ยวันละ 700 เสียชีวิตเพิ่มวันละ 10 ราย มีอาการปอดอักเสบกว่าครึ่งพัน ใส่ท่อกว่า 300 ราย เร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสต์อีก 2 ล้านโดสในกลุ่มเสี่ยง-เด็กเล็ก สิ้นปีครบ 146 ล้านโดสตามเป้า ยันมี ไฟเซอร์อยู่อีก 9 ล้านโดส ไม่ต้องซื้อเพิ่ม ชี้สิ้นปีมีแนวโน้มยอดป่วย พุ่งอีกโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โคราชห่วงเด็กเล็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น หลังด.ญ. 6 ขวบติดจากครอบครัว เก็บตัวอย่างเร่งหาสายพันธุ์ ชี้เด็กที่ป่วยอาการโคม่าเพิ่มมีตั้งแต่ 7 เดือน ย้ำโรงเรียนเข้มมาตรการป้องกัน หวั่นเปิดเรียนเต็มรูปแบบแล้วนำเชื้อกลับมาแพร่ในครอบครัว

โควิด 7 วันพุ่งแตะ 5 พัน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยสัปดาห์ที่ 47 ระหว่างวันที่ 20-26 พ.ย.2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 4,914 คน เฉลี่ยวันละ 702 คน สะสม 2,483,809 คน ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 และมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 74 คน เฉลี่ยวันละ 10 คน สะสม 11,482 คน เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 319 คน

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกัน ล่าสุดสะสม 143,155,910 โดส โดยฉีดเพิ่มขึ้น 8,415 โดส แบ่งเป็น ฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม จำนวน 57,086,730 โดส ร้อยละ 82.07 ฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม จำนวน 53,570,366 โดส ร้อยละ 77.02 และฉีด อย่างน้อย 3 เข็มจำนวน 32,498,814 โดส

ส่วนความคืบหน้าเด็กหญิงวัย 6 ขวบ ติดเชื้อโควิดเสียชีวิต จากการเปิดเผยของ นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผอ. ร.พ. มหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า มีเด็กหญิง วัย 6 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งทางแพทย์วินิจฉัยว่า ติดเชื้อมาจากครอบครัว ทำให้ปอดอักเสบ โดยประวัติของเด็กมีอาการป่วยทางสมอง และไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ห่วงเด็กเล็กติดเชื้อพุ่ง-โคม่า
วันเดียวกัน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีนี้ทำให้แพทย์เป็นห่วงมาก เนื่องจากที่ผ่านมาหลายคนอาจจะคิดว่าเด็กติดเชื้ออาการไม่ค่อยรุนแรง จึงทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความระมัดระวังป้องกันเด็กอย่างเต็มที่ แต่ตนยืนยันว่าเด็กที่มีอายุน้อยๆ ถ้าได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าไปในปริมาณมาก ก็ทำให้เกิดอาการหนักถึงเสียชีวิตได้ เพราะตอนนี้เคสเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตนดูแลอยู่ ก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบว่าติดเชื้อมาจากโรงเรียน และมีเด็กที่อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในห้องไอซียู จำนวน 2 ราย อายุ 7 เดือน และ 1 ขวบกว่า ซึ่งทั้งคู่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ แต่รับเชื้อโควิด-19 เข้าไปในปริมาณมาก ทำให้มีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงขอให้ช่วงนี้ผู้ปกครองเฝ้าระวังป้องกันบุตรหลานให้มาก โดยเฉพาะช่วงเปิดโรงเรียนเต็มรูปแบบ หากเป็นไปได้อยากให้ทางโรงเรียน มีการวางระบบคัดกรองเด็กที่มีอาการเป็นไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม โดยต้องให้ตรวจเอทีเค ทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าไประบาดอย่างหนักในโรงเรียนได้

“ตอนนี้การเก็บตัวอย่างไปตรวจหา สายพันธุ์โควิด-19 เพื่อส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เป็นเพียงการสุ่มเก็บตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีคำสั่งให้เก็บตัวอย่างสายพันธุ์จากผู้ป่วยที่มีอาการหนักใส่ท่อหายใจด้วย ในเคสของน้องอายุ 6 ขวบที่เสียชีวิตจึงไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร จึงระบุไม่ได้ว่าสายพันธุ์ใดที่จะมีผลทำให้เด็กอายุน้อยๆ มีอาการหนัก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลานอย่าให้ไปติดเชื้อโควิด-19 และหากพบว่ามีการติดเชื้อก็ให้รีบนำบุตรหลานไปพบแพทย์ในทันที ซึ่งจะทำให้ลดอัตราเสี่ยง เสียชีวิตได้เป็นอย่างดี” นพ.จิรรุจน์กล่าว

จว.ท่องเที่ยวระบาดหนัก
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นายกฯ มีความห่วงใยและเน้นย้ำให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่ง สธ.ได้หารือกันแล้วเห็นว่า คนไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม จึงปลอดภัย วันนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีน

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เริ่มชะลอตัวลง ติดเชื้อราวๆ 4-5 แสนรายต่อวัน แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง ส่วนไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง และไม่ใช่ทั้งประเทศ พบมากในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กทม. ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ และจังหวัดท่องเที่ยว ส่วน จังหวัดเล็กๆ สถานการณ์ยังปกติ

“การป่วยหนักและเสียชีวิตยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่า จะมีการระบาดเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ประชาชนมีการผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมรวมตัวกันมากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน ร.พ. 4,914 ราย เฉลี่ยวันละ 702 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อ ช่วยหายใจ 319 ราย และเสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ยวันละ 10 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิต 100% คือกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่ามีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ BA.2.75 เริ่มมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโรคโควิด คล้ายไข้หวัดใหญ่ไปทุกที ซึ่งเดิมเมื่อก่อน ทั่วโลกจะมีสายพันธุ์หลักเหมือนกัน แต่ตอนนี้แต่ละพื้นที่เริ่มแตกต่างกันไปหลายสายพันธุ์ แต่อาการไม่รุนแรง สำหรับอัตราการติดเชื้อซ้ำในไทยอยู่ที่ประมาณ 2% อาการไม่ได้รุนแรงหรือทำให้เสียชีวิตมากกว่าแต่อย่างใด

กำชับเข้ม 4 มาตรการ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคโควิด-19 ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่หลายท่านเข้าร่วม ก็ไม่ได้กังวลถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ โดยให้เน้นมาตรการ 3 เรื่อง คือ 1.ลดการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คนไปพบกลุ่มเสี่ยงก็ควรสวมหน้ากาก หรือสวมเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 2.เรื่องยา ได้ปรับแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ครั้งที่ 25 โดยปรับลดเกณฑ์การให้ยาในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มาเป็นการให้ยาตามดุลพินิจของแพทย์ ทำให้เข้าถึงยาง่ายขึ้น เพราะขณะนี้เรามียาเพียงพอ โดยมียาโมลนูพิราเวียร์ 11 ล้านโดส ปัจจุบันใช้วันละ 2 แสนโดส ใช้ได้ประมาณ 3-4 เดือน ยาฟาวิพิราเวียร์มี 1.3 ล้านโดส ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 18 ปี ใช้ได้ประมาณ 3 เดือน เรมดิซิเวียร์ 2 แสนโดส ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 2 แสนโดส และแพกซ์โลวิด 2.5 หมื่นโดส ส่วนเตียงก็มีเพียงพอรองรับการรักษาเช่นกัน และ 3.วัคซีน มีมติเห็นชอบให้รณรงค์สื่อสารให้คนไทยรับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 4 เข็ม เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้ที่ฉีด 4 เข็ม ยังไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้น หากรับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 3-4 เดือน ก็ให้ไปรับวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งเรากระจายวัคซีนไปถึงระดับ รพ.สต. ซึ่ง รมว.สธ.สั่งการให้เปิดให้บริการแล้ว แม้มีคนมารับเพียงคนเดียวก็ขอให้เปิดขวดฉีด ห้ามปฏิเสธ รวมถึงจัดบริการเชิงรุกในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย และขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ถ่ายทอดแนวปฏับัติให้บริการฉีดวัคซีนโควิด

เร่งฉีดอีก 2 ล้านโดส
ทั้งใน ร.พ.รัฐและเอกชน ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2565 ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 145-146 ล้านโดส จากปัจจุบันอยู่ที่ 143 ล้านโดส จึงเหลืออีก 2 ล้านโดสที่ต้องเร่งโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนขณะนี้ พบว่าเป็นเข็ม 4 ประมาณ 4% กว่า ถือว่าน้อยมาก ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ โดยไฟเซอร์มี 9 ล้านโดส รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ยกเว้นซิโนแวคที่หมดไปแล้ว

เมื่อถามว่า นโยบายของประเทศต่อจากนี้เป็นอย่างไร จะมีการปิดหรือควบคุมกิจกรรมอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า นโยบายตอนนี้คือควบคุมโรคให้ระบบสุขภาพรองรับได้ ประชาชนใช้ชีวิตปกติ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีบางประเทศคุมเข้มให้โควิดเป็นศูนย์ แต่ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ไทยดำเนินการมาถือว่าถูกทางแล้ว ในการดูแลเรื่องการรักษา ลดการเสียชีวิต ลดความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้มีความสมดุล ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ชื่นชม ดังนั้น เราไม่ต้องวิตกเกินไป แต่อย่าประมาท อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ก็ไม่มีได้มีความกังวล จนถึงขั้นต้องงดทำกิจกรรมหรือปิดประเทศ แต่เน้นย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ ส่วนกรณีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ที่มีมากขึ้น หากเป็นพื้นที่อากาศปิด อากาศไม่ถ่ายเท คนรวมตัวหน้าแน่น ก็ขอให้ระวัง และสวมหน้ากากอนามัย

นักลงทุนชมไทยคุมโรคได้
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบว่าช่วง 2-3 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักลงทุน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าจากไทยส่งไปทั่วโลก ชื่นชมประเทศไทยที่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายรายตัดสินใจขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม เพราะเชื่อมั่นในนโยบายการบริหารจัดการในช่วงวิกฤตของรัฐบาล

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานว่าต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนคู่ขนานไปกับการดูแลเศรษฐกิจรวมถึงการผลิต การส่งออกให้ดำเนินการไปได้เพื่อรักษาการมีงานทำของประชาชน พร้อมกับปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศในช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ นำไปสู่นโยบายส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ปี 2566-70 ที่บอร์ดบีโอไออนุมัติไปเมื่อ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน