ปูพรม 4 จังหวัด ตำรวจปคบ.ผนึกกำลัง ‘อย.’ลุยคลินิกเถื่อน จับ 8 หมอกระเป๋าลักลอบเปิดเสริมความงามฉีดฟิลเลอร์- โบท็อกซ์ ตะลึงเรียนจบแค่ป.6 มีแค่ 2 จบพยาบาล ม.6 มี 4 ราย อีกหนึ่งระดับปวส. ไร้หมอตัวจริง อาศัยเรียนรู้จากยูทูบทดลองสั่งออนไลน์มาฉีดหน้าตัวเอง ก่อนรับจ้างจิ้มให้คนอยากสวยราคาประหยัด เตือนระวังอย่าเห็นกับของถูกอาจถึงตาย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รองผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมกันแถลงผลกวาดล้างจับกุมคลินิกเสริมความงามเถื่อน 8 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สมุทรสงคราม และปทุมธานี

จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหา 8 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.ธนัศร ชัยสมศรี อายุ 24 ปี 2.น.ส.ศรีษุณี ปัญญาวัฒน์ อายุ 36 ปี 3.น.ส.ณปาภัทร ชิณะวิ อายุ 39 ปี 4.นายจิรัฏฐ์ ลาภะนาวิน อายุ 23 ปี 5.น.ส.ศศิพัชร์ ตะสิงห์ อายุ 36 ปี 6.นายกรกรต หมวกไสว อายุ 54 ปี 7.น.ส.บุญพา ผาสุข อายุ 48 ปี และ 8.น.ส.อังคนาง อินทวี อายุ 26 ปี

พ.ต.อ.เนติ เผยว่า ก่อนหน้ารับเรื่องร้องเรียนจากอย.และสบส. ให้สืบสวนกรณีมีบุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์หลอกเสริมความงามให้ประชาชนหลายพื้นที่ ผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์จริงๆ บางรายใช้การศึกษาวิธีการฉีดเสริมความงามด้วยตนเองจากทางยูทูบ และสั่งยาต่างๆ จากช่องทางออนไลน์ ก่อนมาทดลองฉีดหน้าตนเอง ก่อนจะมาทำให้กับลูกค้า จากการตรวจค้นพบเป็นคลินิกที่เปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตรวจยึดของกลางได้ 836 รายการ ส่วนใหญ่เป็นยาและเวชภัณฑ์ 109 รายการ, เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ตรวจรักษา 57 รายการ, เวชระเบียน 670 รายการ

“ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยกลุ่มผู้ต้องหาจะมีที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพยาบาลศาสตร์แค่ 2 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 ราย, ปวส. 1 ราย และป.6 อีก 1 ราย เบื้องต้นส่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้พนักงานสอบสวน กก.4 ปคบ.ดำเนินคดี ความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมฯ, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับยา” พ.ต.อ.เนติกล่าว

คลินิกเถื่อน – ตำรวจปคบ.และเจ้าหน้าที่อย.เข้าตรวจสอบคลินิกเสริมความงามเถื่อน 8 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด จับกุมผู้ต้องหาสวมรอยเป็นแพทย์ 8 คน บางคนจบแค่ ป.6 สารภาพไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พร้อมยึดของกลางจำนวนมาก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

นพ.ภาณุวัฒน์กล่าวว่า การฉีดสารเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และกระทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่เดินสายให้บริการนอกสถานพยาบาลแต่อย่างใด หากพบเห็นการให้บริการฉีดสารเสริมความงามนอกสถานที่ ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหมอเถื่อน หมอ กระเป๋า ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายอาจมีผลกระทบรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

ด้านภญ.อรัญญากล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องการดูแลภาพลักษณ์ตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ ทำให้การฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ หรือร้อยไหม ได้รับความนิยม เพื่อช่วยเติมเต็มรูปหน้า เช่น เสริมจมูก เสริมคาง เสริมแก้ม หรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอย หรือรอยย่นต่างๆ เมื่อ ความนิยมมีมากขึ้นจึงมีความต้องการเสริมความงามในราคาถูกทำให้เกิดหมอเถื่อน ที่ไม่มีทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย

“ดังนั้น ผู้ที่สนใจควรเลือกที่จะเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตถูกต้องและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนเข้ารับบริการก็ควรสอบถามและขอดูตัวสารที่ฉีดที่ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายจนถึงกับชีวิต ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้วด้วย” ภญ.อรัญญากล่าว

วันเดียวกัน รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีจับหมอกระเป๋าเถื่อน จบ ม.6 รับฉีดฟิลเลอร์ โดยใช้วิธีครูพักลักจำจากยูทูบว่า การศัลยกรรมต่างๆ แพทย์จะทำหัตถการได้ต้องผ่านการศึกษาและขั้นตอนการทำเพื่อความปลอดภัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา

โดยก่อนรับบริการประชาชนสามารถตรวจสอบเพื่อความมั่นใจในการทำเสริมความงามได้ คือ 1.ตรวจรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา 2.ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ ว่าปลอดภัย ผ่านการรับรองหรือไม่ จากเว็บไซต์ของ อย. และ 3.สถานที่รับทำหัตถการควรมีความน่าเชื่อถือ มีที่ตั้งชัดเจน ไม่ใช่บริการนอกสถานที่ เพราะการที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ หากทำเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีอุปกรณ์กู้ชีพหรือแก้ไขเหตุฉุกเฉินได้

“การทำหัตถการของแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการฉีดฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ ต้องมีการเรียนและฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะฝึกจากอาจารย์ใหญ่หรือกับผู้ป่วย ต้องมีอาจารย์แพทย์คอยสอนคอยแนะ จุดที่ฉีดทั้งฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ แตกต่างกัน โดยโบท็อกซ์ต้องฉีดตรงตำแหน่งกล้ามเนื้อ บางคนฉีดผิดที่ เช่น หน้าผาก อาจทำให้ตาตกได้ หรือฟิลเลอร์หากโดนเส้นเลือดก็อาจตาบอด ต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ เรียนเรื่องกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ย้ำว่าการทำศัลยกรรมต่างๆ ไม่ควรเร่งรีบ จึงต้องมีระยะเวลาในการศึกษา หาข้อมูลก่อนทำเสมอ ต้องเข้าใจว่าการทำงานศัลยกรรมจะเอาเรื่องราคา สะดวก รวดเร็ว มาเป็นตัวตัดสินใจในการทำไม่ได้” รศ.พญ.รังสิมากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน