เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มักเกิดขึ้นช่วงปลายปีและต้นปี เนื่องจากสภาพอากาศมีความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละออง จากคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เป็นต้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวมากกว่าประชาชนทั่วไป

ขอให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นอยู่เสมอด้วยการเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 และเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง พิจารณาจากระดับสีค่าฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ 1.สีฟ้า สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ 2.สีเขียว กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 3.สีเหลือง ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน 4.สีส้ม ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน 5.สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

“การป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเลือกหน้ากาก N95 ที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด หน้ากากผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ อย่างน้อย 3 ชั้น โดยมีแผ่นกรองอยู่ชั้นกลาง ส่วนหน้ากากผ้าต้องตัดเย็บจากผ้าที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น หรือหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ควรเปลี่ยนเมื่อใส่แล้วรู้สึกไม่กระชับใบหน้า หายใจลำบากมากขึ้น ฉีกขาด เปื้อน หรือเปียกน้ำ” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน