เข้ากรุตบยุงทำเนียบ เผยยังให้การปฏิเสธ ยื่น4แสน-ได้ประกัน ตร.ออกหมายสอบรูด จนท.มีชื่อบนซองเงิน

‘วิษณุ’ เผยนายกฯ เซ็นเด้ง ‘อธิบดีรัชฎา’ เรียกรับเงินเข้ากรุช่วยราชการที่ทำเนียบเปิดทางสะดวกให้สอบสวนตามขั้นตอน เปิดคำให้การ ‘รัชฎา’ อธิบดีกรมอุทยาน แห่งชาติฯ ยืนกระต่ายขาเดียวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อ้างถูกกลั่นแกล้ง เหตุเพราะขัดแย้ง ‘ชัยวัฒน์’ ยื่นหลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาทได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หลังถูก เค้นกว่า 10 ชั่วโมง ตำรวจปปป.ออกหมายเรียกสอบเรียงตัวหัวหน้าหน่วยสังกัด 20 รายที่มีชื่อปรากฏบนซองเงินส่วย เผยยอดเงิน มีตั้งแต่ 1.6 ล้านจนถึงหลักพันแบงก์ร้อยก็มี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ธ.ค. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. เปิดเผยความคืบหน้าคดีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เรียกรับสินบนโยกย้ายตำแหน่ง หน่วยงานในสังกัดว่าเมื่อคืนหลังการสอบปากคำ เสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 20.00 น. นายรัชฎา ก็ยื่นขอประกันตัวออกไป โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 4 แสนบาท พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการระดับสูง มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ประกอบกับมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะหลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไปได้

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวต่อว่า หลังจากนี้พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกเชิญตัวหัวหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ ตามที่ปรากฏรายชื่อตามซองเงินของกลาง ที่ตรวจพบ จากภายในห้องทำงานของนายรัชฎา มาสอบปากคำในฐานะพยานอย่างละเอียด ถึงที่ไปที่มาของยอดเงินดังกล่าว ว่าเป็นค่าอะไร

ทั้งนี้ มีรายงานว่าสำหรับกลุ่มบุคคล หรือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ตามที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในซองเงินต่างๆ อย่างชัดเจน และต้องเชิญตัวมาให้ปากคำนั้น มีอยู่ประมาณ 20 นาย อีกทั้งจากการตรวจสอบซองเงินต่างๆ ก็พบว่า ตัวเลขยอดเงินภายในซองแต่ละซองค่อนข้างแตกต่างกัน บางซองก็มียอดเงินมากถึง 1.6 ล้านบาท บางซองก็เป็นยอดเงินเพียงหลักหมื่น แต่มีเศษปลีกย่อยเป็นหลักร้อยบาท ไม่ใช่ตัวเลขกลมๆ สอดคล้องกับข้อมูลของพยานที่ระบุว่า มีการเรียกรับเงินที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากงบประมาณที่ได้รับ ทำให้มียอดเงินแต่ละซองแตกต่างกันออกไป

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า พนักงานสอบสวนจะเนินคดีกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ในกลุ่มนี้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆ หากพบว่าผิดจริงก็ต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือกับตำรวจหรือไม่ หากให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก็จะถูกกันตัวไว้เป็นพยานต่อไป

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวด้วยว่า นายรัชฎายังคงให้การปฏิเสธ อ้างว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถูกกลั่นแกล้ง เพราะมีปัญหาขัดแย้งส่วนตัวกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยาน แห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่พนักงานสอบสวนไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่าง นายรัชฎากับนายชัยวัฒน์ พบว่าเป็นการพูดคุยกันด้วยลักษณะปกติ ไม่มีท่าทีเหมือนกับโกรธหรือขัดแย้งกัน แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิทธิ์ของนายรัชฎา ที่จะให้การเช่นนั้น เพราะทั้งหมดทั้งมวล เรายึดตามพยานหลักฐานเป็นที่ตั้ง ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการออกหมายเรียกกลุ่มเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานฯ ที่ปรากฏรายชื่อบนซองเงิน ที่พบในห้องทำงานของนายรัชฎา นั้น ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกหมายเรียก โดยจะให้แล้วเสร็จส่งไปยังกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก่อนปีใหม่ เพื่อที่หลังปีใหม่จะได้ทยอยมาเข้าให้ปากคำ และเริ่มขั้นตอนของการสอบปากคำพยานบุคคลต่างๆ ประกอบ สำนวน








Advertisement

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ระบุถึงกรณีความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีนายรัชฎาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ขณะรับสินบนแลกตำแหน่งจากข้าราชในในกำกับ ได้โยกย้ายให้เข้ามาช่วยราชการภายในทำเนียบรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่ ว่า ขณะนี้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว ว่ากันไปตามกฎหมาย ก่อนที่จะเดินเข้าตึกภักดีบดินทร์ เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีเดียวกันว่า เมื่อมีการแจ้งเบาะแส และป.ป.ช.รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกรทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และมีการไปจับกุม ซึ่งขณะนั้นถือว่าหลักฐานยังไม่ชัดเจน 100% นายกรัฐมนตรีจึงลงนามในคำสั่งให้นำตัวเข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีผลในวันเดียวกันนี้ เพื่อดึงตัวออกมาจากการเป็นอธิบดี ตามพระราช บัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบสวนได้สะดวก ซึ่งสื่ อก็จะเรียกกันเรียกเข้ากรุก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่การย้าย แต่เป็นการเอาออกมาก่อน ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดี ส่วนการจะปลดออก หรือไล่ออกนั้น ต้องดำเนินการสอบทางวินัย หรือต้องมีความผิดชัดเจนก่อน แต่ตอนนี้ เอาออกมาก่อน แค่นี้ก็เป็นการลงโทษ 50% แล้ว ส่วนจะย้ายกลับไปหรือไม่ หรือไล่ออกเลยเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัด ทส. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงกรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการในสังกัด ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นัดแรกฯ โดยนายกุศลเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เบื้องต้นทางคณะกรรมการ ได้พิจารณาให้นายรัชฎามาช่วยราชการ ในส่วนของสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไว้ก่อน ส่วนระยะเวลาการสอบข้อเท็จจริงกี่วันนั้นยังไม่มีกำหนด เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนได้เป็นไปอย่างถูกต้องและสะดวก ส่วนจะมีการพิจารณาสั่งพักราชการ หรือไม่นั้น ในส่วนนี้ต้องรายงานกับทางด้านปลัดกระทรวง และต้องดูในส่วนของหลักฐาน พยานอีกครั้ง

นายกุศลกล่าวว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการ ยังไม่ได้เรียกอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้ามาให้ข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนนี้คงเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงที่จะเรียกเข้ามาให้ข้อมูลและสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในส่วน ของตนตอนนี้หลักๆ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ พร้อมประสานไปยังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ในเรื่องข้อมูล ในส่วนที่ตรวจเจอ ทั้งนี้ ในส่วนรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ระดับกรมว่ามีใครรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมหรือไม่นั้นยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เนื่องจากต้อง มีการประสานไปยัง ป.ป.ช.และปปป.เพื่อตรวจสอบ

นายกุศลกล่าวต่อว่า ทางคณะกรรมการ ในชุดของตนตอนนี้ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่อย่างใด ซึ่งเชื่อว่าทางผู้บริหารระดับสูงเองหากมีผลกระทบคงออกมาให้ข้อมูล มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อกระทรวงและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ความจริงหรือ ข้อเท็จจริงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน ทางกระทรวงเองไม่นิ่งนอนใจแน่นอน คาดว่า หลังปีใหม่เองคงได้ความชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก ที่เกิดขึ้นในกระทรวง ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุปรากฏมาก่อน ทางผู้บริหารทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเองก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกุศลได้เดินทาง ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าวให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวง ทรัพยากรฯ ทราบต่อไป

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่วันแรกที่ตนเข้ามาทำงานในกระทรวง ได้กำชับทุกกรม ทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และในวันที่ 4 มกราคม 2566 ตนได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารของกระทรวง ตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี ทั้งหมดมาที่กระทรวงเพื่อร่วมประชุม ย้ำเตือนนโยบายการทำงานที่เคยมอบไว้อีกครั้งหนึ่ง

“ผมเชิญทุกหน่วยงานมาร่วมประชุมเพื่อย้ำ นโยบายของรัฐบาล และนโยบายปฏิบัติหน้าที่ ในกระทรวง ตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.ทส.ปี 2562 และได้ทำงานตามนโยบายเช่นนี้เรื่อยมา เสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และจะขันนอตในกระทรวงให้ดำเนินการตามนโยบาย อย่างเคร่งครัด” นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อยากให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ในกระทรวงเสียขวัญและกำลังใจ เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาการทำงานในหลายมิติประสบความสำเร็จได้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายเป็นอย่างดี และขอฝากถึงเพื่อนๆ ข้าราชการในกระทรวงว่าหากใครได้รับ ความไม่เป็นธรรมหรือต้องการแจ้งเบาะแสใดให้แจ้งมาที่รัฐมนตรีผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรือจะส่งมาเป็นจดหมายมาที่กระทรวงก็ยินดี ทั้งนี้ ปลัดกระทรวง ทส.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งภายใน 7 วันหากทราบ ข้อเท็จจริงแล้วก็อาจมีการดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าพฤติกรรมการกระทำผิดเช่นนี้มีอยู่ในวงราชการ และอาจโยงถึงฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะช่วงใกล้การเลือกตั้ง นายวราวุธกล่าวว่า เรื่องแบบนี้เรามักได้ยินกันอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องง่าย ที่จะอ้างโยงมาถึงภาคการเมือง ใครก็พูดได้ แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาว่ากัน เพราะการกล่าวหา และการดำเนินการของป.ป.ช.กับ บก.ปปป.นั้น ต้องดำเนินการหาข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อไป และขณะเดียวกัน ในส่วนของทางราชการ ปลัดกระทรวง ทส.ก็ได้ดำเนินการแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน