นับพันยื่นปฏิรูปยุติธรรม ห่วง‘ตะวัน-แบม’อดอาหาร

คาร์ม็อบนับพันเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจัดกิจกรรมหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ส่งหนังสือข้อเรียกร้องขออธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา ปล่อยตัว‘ตะวัน-แบม’ ที่ถอนประกันตัวเอง เพราะเงื่อนไขการให้ประกันของศาลขัดสิทธิมนุษยชน พร้อมพากันอดข้าวประท้วงจนล้มป่วยในคุก ก่อนแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ม.ค. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ร่วมกับ กลุ่มทะลุวัง, กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี จัดกิจกรรม “Car Mob for Freedom” โดยกลุ่มนัดรวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า เข้า ถ.จรัญสนิทวงศ์ ข้ามสะพานพระราม 7 ลอดอุโมงค์แยกรัชโยธินไปสิ้นสุดที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน และให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายยกเลิกมาตรา 112 มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน รถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 50 คัน

ด้านเจ้าหน้าที่ของศาลนำป้ายติดตั้งบริเวณทางเข้าประตู 6 ศาลแพ่ง แจ้งให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการให้เข้าทางประตู 6 เนื่องจากประตู 7 และประตู 8 ปิด พร้อมกันนี้ ภายในรั้วของศาลวางกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง ตั้งจุดคัดกรองสำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการให้นำเอกสารหมายนัดของศาลมาแสดงก่อนเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่กำลังอีกบางส่วน ทั้งตำรวจ สน.พหลโยธิน ตำรวจศาล และ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกระจายกำลังดูแลความเรียบร้อยอยู่รอบบริเวณ และนำ แผงเหล็กมาปิดกั้นพื้นที่ไว้ด้วย พร้อมกันนี้ มีรถฉีดน้ำและรถจีโน่มาจอดไว้ในพื้นที่ ใกล้เคียงด้วย ขณะที่บริเวณด้านนอกรั้วศาลอาญามีมวลชนบางส่วนทยอยเดินทางมารอร่วมกิจกรรมและนำป้ายผ้ามาติดขึงไว้บริเวณรั้วของศาลอาญาด้วย

ต่อมาเวลา 15.00 น. ผู้ชุมนุมคาร์ม็อบเคลื่อนขบวนมาถึงหน้าประตู 8 ศาลอาญา โดยมีกำลังตำรวจ อคฝ. บก.น.2 จำนวน 2 หมวด รวม 50 นาย พร้อมด้วยเจ้าพนักงานตำรวจศาล และพนักงานรักษาความปลอดภัยของศาลอาญามาดูแลความเรียบร้อย คอยตรึงพื้นที่บริเวณรอบศาลอาญา จากนั้นผู้ชุมนุม ขึ้นปราศรัยโจมตีกระบวนการยุติธรรมเเละศาลที่ไม่ให้ประกันตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยมีการยิงพลุขึ้นฟ้า 2-3 นัด หลังจากนั้นผลัดกันปราศรัยถึงการเเสดงออกทางการเมืองเเล้วถูกดำเนินคดี 112 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร นำกรวยมาตั้งปิดถนนช่องทางซ้ายสุด 1 เลน ส่งผลให้การจราจรฝั่งขาออกติดขัดตลอด เส้นถนนรัชดาฯ เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

คาร์ม็อบ – ผู้ชุมนุมหลายกลุ่มร่วมจัดกิจกรรม ‘Car Mob for Freedom’ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน โดยนัดรวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ม.ค.

ต่อมาเวลา 16.55 น. ผู้ชุมนุมยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง โดยมีหัวหน้าส่วนช่วยอำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นตัวเเทน ออกมารับหนังสือจากผู้ชุมนุม จากนั้นกลุ่ม ผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม เเละเเจ้ง กำหนดนัดการชุมนุมในวันที่ 26 ม.ค. เเก่ ผู้ชุมนุมตามจุดต่างๆ








Advertisement

สำหรับหนังสือข้อเรียกร้องถึงอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาฯ โดยมีใจความว่า เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตามที่ น.ส.ทานตะวัน หรือตะวัน ตัวตุลานนท์ และน.ส.อรวรรณ หรือแบม ภู่พงษ์ ได้ถอนประกันตัวเอง ศาลมีคำสั่งคุมขัง 16 ม.ค. มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน 2. ปฏิรูปยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3. ประกันสิทธิเสรีภาพยกเลิกมาตรา 112

ทั้งสองคนได้เริ่มการอดอาหารน้ำดื่มจนเกิดอาการสาหัสส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิตในภาวะที่เสี่ยงอันตรายแก่ชีวิตขณะนี้สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุน ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของน.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ จึงขอร้องเรียนข้อเท็จจริงมายังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรค 2 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐาน ไปก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นการคุมขังระหว่างคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด จึงเป็นการขัดต่อหลักการผู้บริสุทธิ์เป็นการตัดสินล่วงหน้า ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดไปแล้ว

ส่วนวรรค 3 ยังระบุอีกว่าการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี ซึ่ง หมายถึงศาลจะสั่งให้คุมขังได้เพียงกรณีเดียวคือการหลบหนี ดังนั้นการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ได้รับการประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราวมีเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามวิจารณ์ห้ามร่วมกันชุมนุมที่วุ่นวายต้องติดกำไล EM จึงเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลที่เกินไปกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นการขัดต่อ สิทธิเสรีภาพ ดังนั้นทั้งน.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ จึงปฏิเสธเงื่อนไขข้อกำหนดการประกันตัว ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ดังกล่าว

2. น.ส.ณัฐนิช หรือใบปอ ดวงมุสิทธิ์ และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถูกศาลมีคำสั่งถอนประกันตัวเมื่อ 9 ม.ค. ด้วยเหตุที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการประชุมเอเปค ในวันเดียวกันนี้ศาลเรียกให้อัยการและตำรวจไต่สวนเพื่อถอนประกันตัวน.ส.ทานตะวัน เพราะไปเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการประชุมเอเปคเช่นกัน แต่พนักงานอัยการและตำรวจแจ้งว่าไม่ได้รับรู้เรื่องนี้มาก่อน โดยศาลแจ้งว่าศาลมีอำนาจไต่สวนถอนประกันตัวได้เอง แต่ทนายความแจ้งว่าไม่ได้รับทราบสำนวนการไต่สวนมาก่อนจึงเลื่อนออกไปในวันที่ 1 มี.ค.

ดังนั้นในวันที่ 16 ม.ค. น.ส.ทานตะวัน และน.ส.อรวรรณจึงขอถอนประกันตัวเอง เพราะเห็นว่าการไต่สวนถอนประกันจากเหตุไปเข้าร่วมการชุมนุมเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งอย่างไรเสียศาลก็มีคำสั่งให้ถอนประกันตัวทั้งสองคนอยู่แล้ว การขอถอนประกันตัวของน.ส.ทานตะวันได้ยื่นคำร้องระบุด้วยว่า เงื่อนไขการประกันตัวขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อดังกล่าว

3. การดำเนินคดีต่อประชาชนตามมาตรา 116 และ 112 นั้นเกิดขึ้นจากความเดือดร้อนของประชาชนจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกันแสดงความคิดเห็นและชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับใช้มาตรา 112 และ 116 เพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน เมื่อนำคดี สู่ศาล โดยที่ศาลสั่งคุมขังและกำหนดเงื่อนไขที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชน

4. ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ในส่วนของศาลสามารถดำเนินได้ทันทีอยู่แล้ว กล่าวคือ (1) ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและยังเป็น การระงับความขัดแย้ง ดังที่ศาลยุติธรรม ในปี 2559-2560 เคยระงับการใช้มาตรา 112 มาก่อน เพราะเป็นพระราชประสงค์ของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ให้งดการบังคับใช้มาตรา 112 และ (2)ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นอิสระปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการสำคัญ และเป็นวิสัยทัศน์ของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้นเพียงแต่ผู้บริหารศาลประกาศข้อกำหนดให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนการไต่สวนตัดสินใจในการอำนวยความยุติธรรมได้ โดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิเสรีภาพตามครรลองของประชาธิปไตย

ข้อเรียกร้องของทั้งสองคนเป็นการเรียกร้องเพียงแค่ขอให้ศาลคำนึงถึงหลักนิติธรรมหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพราษฎร ไม่ให้ศาลเป็นเครื่องมือการแทรกแซง การดำเนินคดีจากอิทธิพลภายนอกตามประเพณีการปกครอง ดังนั้นการที่ น.ส.ทานตะวัน และน.ส.อรวรรณยอมใช้ชีวิตที่เจ็บปวดที่อาจถึงแก่ชีวิต เพื่อแสดงให้สังคมเห็นคุณค่าของคำว่าสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมนั้น มีความหมายยิ่งกว่าลมหายใจของตนเอง เป็นความต้องการของประชาชนที่จะทำให้สังคมไทยมีความก้าวหน้าด้วย สิทธิมนุษยชนเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงขอให้ศาลโปรดพิจารณาข้อเรียกร้องตาม ข้อ (1), (2) ที่สามารถทำได้ทันทีเป็นการเร่งด่วน เพื่อเป็นการรักษาชีวิตทั้งสองคนและปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรทั้งปวง ขอแสดงความนับถืออย่างสูง”

ลงนามท้ายหนังสือโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม กลุ่มทะลุวัง, น.ส.พิชญา เกตุอุดม กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายเจษฎา ศรีปลั่ง เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนายนประชาธิปไตย

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมจุดเทียนและตัดกำไล EM บริเวณหน้าศาลอาญารัชดาอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน