ชัชชาติเฝ้าระวัง1-2วันเผย43จังหวัดยังสำลัก

43 จว.ทั่วประเทศอ่วมพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน พบ 70 พื้นที่ในกทม.สำลักฝุ่นพิษ ‘ชัชชาติ’ ชี้ลมใต้ช่วยหอบฝุ่นขึ้นเหนือ สั่งเฝ้าระวัง 1-2 วัน ส่วนเชียงใหม่หมอกควันหนาทึบแทบมองไม่เห็นดอยสุเทพ ‘ปภ.-ทบ.’ ระดมส่งฮ.บินสกัดไฟป่า คุมหมอกควัน 17 จว.ภาคเหนือ นายกฯ สั่งประเมินสถานการณ์รับมือฝุ่นเล็กทุกมิติ วางแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะยาว

43 จว.ยังอ่วม-ฝุ่นพิษฟุ้ง
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 3 ก.พ. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ภาพรวมปริมาณ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในประเทศ พบเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ 43 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี, กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, ลำปาง, แพร่, ลำพูน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, บึงกาฬ, เลย, อุดรธานี, นครพนม, หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ, นครราชสีมา และ บุรีรัมย์

โดยภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็น ส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34-154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 29-96 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 48-117 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-79 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10-25 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับกทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 54-119 มคก./ลบ.ม.

เตือนกทม.-17 จว.เหนือค่าฝุ่นสูง
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 4 ก.พ. นี้ ควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และใต้ (พื้นที่ท้ายลม)

สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือควร เฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 4 ก.พ. ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มี ผลกระทบต่อสุขภาพ หรือพื้นที่สีแดงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

‘ชัชชาติ’ชี้ลมใต้หอบฝุ่นขึ้นเหนือ
วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า หลังจากเวลา 22.00 น. วันที่ 2 ก.พ. สถานการณ์ฝุ่นเริ่มดีขึ้นมาก เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ มีลมทางใต้พัดขึ้นมา แรงขึ้น ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นสูงเนื่องจากแรงลมตะวันออกพัดปะทะลมใต้ ทำให้ฝุ่นลอยวนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน ลมใต้มีกำลังแรงกว่า พัดอากาศจากทะเล ขึ้นมาแทนที่ ทำให้ฝุ่นจากกรุงเทพฯ เริ่ม ขยับตัวเข้าเขตจ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นไป ทิศเหนือของประเทศไทยมากขึ้น จากการ คาดการณ์ช่วงหลังวันที่ 5-6 ก.พ. ลมใต้จะพัดแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงลมยังมีการปะทะและผันผวน ต้องเฝ้าระวังอีก 1-2 วัน

ข้อมูลอัตราการระบายอากาศ (เพดานชั้นบรรยากาศ) ในวันนี้สูงกว่า 2,000 เมตร จากการคาดการณ์ วันที่ 4-7 ก.พ. อัตราการระบายอากาศจะสูงขึ้นถึง 4,000 เมตร เป็นผลดีต่อการระบายฝุ่นและทำให้สภาพอากาศดีขึ้น ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง การออกพื้นที่กลางแจ้งควรสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สภาพอากาศในปัจจุบันยังเป็นอันตรายอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ.

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า วานนี้ทดลองนำรถฉีดละอองน้ำบรรเทาฝุ่นทั้งหมด 6 คันของ กทม.ไปใช้ที่สวนเบญจกิติ พบว่าขณะฉีดน้ำ ค่าฝุ่นลดลงจาก 160 มคก./ลบ.ม. เหลือ 97 มคก./ลบ.ม. แต่เมื่อเลิกฉีดน้ำค่าฝุ่นกลับมา สูงเท่าเดิม เนื่องจากปริมาณฝุ่นสูง อาจต้องใช้เฉพาะจุด เช่น ชุมชนหนาแน่น หรือจุดที่มี กลุ่มเปราะบาง จะช่วยได้ในระดับหนึ่งหากฉีดอย่างต่อเนื่องและใช้น้ำสะอาด โดยวันนี้เริ่มใช้รถฉีดน้ำที่เขตคลองเตย และตามชุมชนต่างๆ ยืนยันว่ากทม.ใช้น้ำสะอาดจากการประปา ปริมาณน้ำคันละ 10,000 ลิตร ฉีด ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง ไม่เป็นอันตรายต่อการสัมผัส

ส่วนจุดที่มีการเผาทั่วประเทศ พบว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. มี 1,500 จุด ปัจจุบันลดลงเหลือ 1,164 จุด ส่วนใหญ่พบรอบกรุงเทพฯ และประเทศเพื่อนบ้าน จากการตรวจสอบ ลมใต้ที่พัดผ่านทะเลขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ไม่พัดผ่านจุดที่มีการเผาไหม้ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ทั้งนี้ หลังวันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป หากลมใต้พัดสม่ำเสมอ สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ จะดีขึ้น

กทม.อ่วมฝุ่นพิษ 70 จุด
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 05.00- 07.00 น. ตรวจวัดได้ 61-116 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 85.2 มคก./ลบ.ม.ค่า PM2.5 มีแนวโน้มลดลง เกินมาตรฐานจำนวน 70 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 39 พื้นที่ และมีผล กระทบต่อสุขภาพ 31 พื้นที่

โดยหนักสุดที่บริเวณด้านหน้าห้าง สรรพสินค้าซีคอน สแควร์ เขตประเวศ วัดได้ 105 มคก./ลบ.ม.

เมื่อเวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่อง โดยตลอดตั้งแต่ช่วงเช้า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม. พบค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของกทม.มากกว่า 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 14 พื้นที่ คาดการณ์ว่าแนวโน้มฝุ่นจะมีค่าสูงต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจราจรบนถนนพหลโยธินหน้าสวนจตุจักร การจราจร ดูบางตาลงหลังจากที่กทม.ประกาศเวิร์ก ฟรอมโฮม ตามมาตรการวาระแห่งชาติ

จิสด้าเผยจุดร้อน 1,164 จุด
วันเดียวกัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ของระบบเวียร์ ไทยพบจุดความร้อน วันที่ 2 ก.พ. จำนวน 1,164 จุด ขณะที่ประเทศ เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจุดความร้อนลดลง พบ 869 จุด, สปป.ลาว 641 จุด, เมียนมา 499 จุด, เวียดนาม 115 จุด และมาเลเซีย 3 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 368 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 290 จุด พื้นที่เกษตร 241 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 141 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 120 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ จ.กาญจนบุรี 201 จุด จ.ชัยภูมิ 102 จุด จ.นครสวรรค์ 52 จุด ตามลำดับ

สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา

‘บิ๊กตู่’สั่งประเมินรับมือฝุ่นพิษ
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับและสั่งการให้ เดินหน้าแผน “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” รับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งระยะยาวสั้น และระยะยาว รวมทั้งสั่งการให้ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 พร้อมแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ

สถานการณ์ขณะนี้ที่มีความรุนแรงเกิดจากภาพรวมของพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง และเป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ทำให้ระดับฝุ่นละออง มีค่าสูงขึ้น อีกทั้งอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ PM2.5 อาจมีความรุนแรงขึ้น นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามสอบถามการแก้ไขปัญหา การทำงานของทุกหน่วยเป็นระยะ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

ให้ทุกจว.เปิดศูนย์บัญชาการสู้ฝุ่น
กระทรวงสาธารณสุขกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่นเกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้าน การแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ

ด้านกระทรวงคมนาคม ยกระดับการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและ รถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสาร การตรวจสอบการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถ การตรวจสอบยานพาหนะของหน่วยงานราชการ และบูรณาการความ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

นายอนุชากล่าวว่า กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ ยกระดับการบริหารจัดการ เชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ ความรุนแรงและอันตรายของไฟ เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำ ความเข้าใจ ตลอดจนกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอพพลิเคชั่น Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลา ในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่

1 มิ.ย.บังคับใช้ประกาศลดฝุ่น
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบและออกเป็นประกาศ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น โดยกรมควบคุมมลพิษจะประกาศใช้กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทย จะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงกำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.2566 จะส่งผลให้มาตรการการควบคุมการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งรถยนต์มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยมลพิษออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการการควบคุมและ ลดปริมาณการเผาอ้อยหรือการเผาป่า

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำหนดแนวทาง และมาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในทุกมิติ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก แจ้งเตือน รวมทั้งยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ขอความร่วมมือประชาชนให้หันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น หมั่นตรวจบำรุงรักษารถ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้สวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่น” นายอนุชากล่าว

เชียงใหม่แทบไม่เห็นดอยสุเทพ
เมื่อเวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.เชียงใหม่ มีหมอกควันปกคลุมหนาจน ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพ ส่วนบริเวณสนามบินเชียงใหม่ก็ถูกปกคลุมด้วยหมอกควันไปทั่วบริเวณ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสายการบิน

ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่า 57 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ปภ.-ทบ.ส่งฮ.บินสกัดไฟป่าเหนือ
ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ พบว่าภาคเหนือ 17 จังหวัดมีจำนวนการเกิดจุดความร้อน (ฮอตสปอต) สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ก.พ. จำนวน 14,432 จุด ภาพรวมการเกิดจุด ความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในภาคเหนือ

นายบุญธรรมกล่าวต่อว่า ปภ.ร่วมกับกองทัพบกจัดส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยนักบิน ช่างประจำอากาศยาน และชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ร่วมสนับสนุนภารกิจควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.เป็นต้นไป โดยมีฐานปฏิบัติการ 2 จุด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการที่ 1 พล.ร.7 ค่ายทหารเสือพระองค์ดำ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยจะประจำการทั้ง 2 ลำในห้วงวันที่ 7-22 ก.พ. และฐานปฏิบัติการที่ 2 เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ จากเชียงใหม่จะบินไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ วันที่ 23 ก.พ.เป็นต้นไป ทั้ง 2 ลำจะประจำการเพื่อสนับสนุนการควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนืออย่าง ต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูกาล

ส่วนการสนับสนุนภารกิจการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคพื้นดิน ปภ.เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคเหนือ อาทิ ชุดยานยนต์ดับเพลิง (LUF 60) รถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง 10,000 ลิตร และชุดเครื่องจักรกลด้านไฟป่าและหมอกควัน เพื่อเข้าปฏิบัติการสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า

ขบ.ปรับมาตรฐานตรวจควันดำ
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ไทยกำลังเผชิญอยู่และส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากควันดำของท่อ ไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ กรมการขนส่งทางบกจัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและ รถโดยสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงการตรวจวัดควันดำบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ พร้อมดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถ ดังนี้ กรณีการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสงขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุด ไม่เกิน 30% จากเดิม 45% และหากตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรองขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุด ไม่เกิน 40% จากเดิม 50% ซึ่งเกณฑ์การตรวจควันดำใหม่มีผลบังคับใช้กับการตรวจวัด ควันดำรถที่มาดำเนินการตรวจสภาพรถก่อนจดทะเบียน หรือตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่งแล้ว

นอกจากนี้ กรมแนะนำให้เจ้าของรถตรวจเช็กและซ่อมเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ พร้อมเตือนหากตรวจวัดควันดำด้วยระบบวัดความทึบแสงแล้วมีค่าควันดำเกิน 30% หรือตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรองแล้วมีค่าควันดำเกิน 40% จะถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” จนกว่าเจ้าของรถจะนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด และนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่านการ ตรวจวัดจึงจะนำไปใช้งานได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน