แก๊งโรแมนซ์อาละวาด สถิติเดือนเดียว400คดี

เตือนภัย ‘รักออนไลน์’ ตุ๋นเหยื่อวันวาเลนไทน์ ตร.เปิดสถิติเพียงแค่เดือนเดียว มีผู้ถูกหลอกลวงแล้วกว่า 400 คดี ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้รักแล้วโอนเงิน ให้ลงทุน ให้กดลิงก์ดาวน์โหลดแอพฯ เพื่อควบคุมสมาร์ตโฟนดูดเงินในบัญชี รวมทั้งหลอกให้รักแล้วแบล็กเมล์ขู่กรรโชกทางเพศ เรียกค่าไถ่ แนะนำ 3 ข้อสังเกตแจ้งเตือนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกตำรวจ เปิดเผยสถิติและรูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับ ความรักในช่วงวันวาเลนไทน์ และแนะ วิธีป้องกันว่าสถิติอาชญากรรมออนไลน์ ประจำเดือนม.ค. พบคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รักสูงถึง 403 คดี แบ่งเป็นคดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน 168 เรื่อง และหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน 235 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 190 ล้านบาท

คึกคัก – ประชาชนแห่ซื้อหาดอกกุหลาบ ต้อนรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ ตามร้านค้าย่าน ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ มีหลายราคาตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักพันบาท ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก เมื่อวันที่ 12 ก.พ.

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ กล่าวว่า ภัยออนไลน์เกี่ยวกับความรัก หรือโรแมนซ์ สแกม คือใช้เทคนิคทางจิตวิทยาพัฒนาความสัมพันธ์กับเหยื่อผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างความเชื่อใจระหว่างบุคคลแล้วหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับเงิน ในปัจจุบันพบหลากหลายวิธี เช่น 1.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน ด้วยการ สร้างเรื่องราวต่างๆ ที่ให้ความหวัง หรือน่าเห็นใจ 2.หลอกให้รักแล้วชวนลงทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปลอม ด้วยการโอนเงิน หรือลงทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล 3.หลอกให้รักแล้วกดลิงก์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ควบคุมสมาร์ตโฟน และดูดเงินในบัญชี และ 4.หลอกให้รักแล้วแบล็กเมล์ขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านออนไลน์ แล้วนำภาพ หรือวิดีโอขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่นๆ

รองโฆษกตำรวจกล่าวว่าจึงขอประชาสัมพันธ์แนะข้อสังเกตแจ้งเตือน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ 1.ใช้รูปโปรไฟล์ของ คนหน้าตาดี มิจฉาชีพมักจะสร้างตัวตนปลอมโดยใช้รูปโปรไฟล์ที่หน้าดึงดูด คุยเก่งอัธยาศัยดี มีประวัติที่น่าสนใจ จึงควรตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลที่เราคุยด้วยทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ชัดเจนในหลากหลายช่องทาง ระลึกไว้เสมอว่าไฟล์เอกสารยืนยันตัวตนที่ส่งมา หรือเว็บไซต์บริษัท หรือหน่วยงานที่ปรากฏชื่อคน ที่คุยด้วยอาจถูกปลอมแปลงขึ้นมาอีกที และหากขอให้เปลี่ยนช่องทางในการคุย โดยการแนะนำให้ดาวน์โหลดแอพฯ หรือกดลิงก์ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน ห้ามกดเด็ดขาด เพราะอาจเป็นแอพฯ รีโมตดูดเงินจากบัญชี

2.หลอกขายฝัน มิจฉาชีพมักจะแสร้งว่ามีความรักความปรารถนาดีให้ และแนะนำให้ลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต หรือหลอกว่าจะมาใช้ชีวิต หรืออนาคตด้วยกัน ดังนั้นหากคนที่กำลังคุยทางออนไลน์ชักชวนให้ลงทุนผ่านแอพฯ หรือเว็บไซต์ หรือขอความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าภาษีของมีค่า ของขวัญที่ส่งมาให้ ให้ตั้งข้อสันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ และ 3.ลวงเอาข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพมัก จะคุยและหลอกล่อให้เราเผยข้อมูลส่วนตัว หรือส่งเอกสารสำคัญให้ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความเสียหาย

รองโฆษกตำรวจกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวทางสื่อสังคมออนไลน์ การเช็กอิน การ เปิดเผยกิจวัตรประจำวันที่มากเกินไป และไม่ส่งรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือวิดีโอคอลในลักษณะโป๊เปลือย ที่อาจนำไปสู่การ แบล็กเมล์เรียกค่าไถ่ รวมถึงระมัดระวัง การนัดพบกับคนคุยออนไลน์ ต้องคำนึง ถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อยู่เสมอ ประชาชนสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์พีซีที 08-1866-3000 หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipolice online.com และติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police .go.th

คึกคัก – พ่อค้าแม่ค้าร้านขายดอกไม้ตลาดสดแม่กิมเฮง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทยอยสั่งดอกกุหลาบและดอกไม้ หลากหลายชนิด เพื่อเตรียมนำมาจำหน่ายในเทศกาลวันวาเลนไทน์ โดยพบว่าราคาดอกกุหลาบเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เป็น ดอกละ 30-50 บาท เมื่อ 12 ก.พ.

วันเดียวกัน จากการสำรวจบรรยากาศการซื้อขายดอกไม้เนื่องในวันวาเลนไทน์ที่ตลาดแม่กิมเฮง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ปราฏว่าดอกกุหลาบราคาสูงขึ้นจากช่วงปกติถึง 3 เท่าตัว เดิมดอกละ 10-20 บาท เพิ่มเป็น 30-50 บาท หากเป็นช่ออยู่ที่ ช่อละ 600 บาท ทั้งนี้ น.ส.สุภิดา ศรีกลัด เจ้าของร้านจูดอกไม้ ระบุว่าเป็นร้านขายส่งและปลีก มีดอกกุหลาบมากกว่า 1,000 กำ เพียงพอต่อความต้องการลูกค้าแน่นอน โดยเฉพาะดอกกุหลาบหลากสีสันเป็นที่นิยมมากในวันวาเลนไทน์ ทั้งกุหลาบแดง และกุหลาบขาว คาดว่ายอดขายปีนี้มากกว่าทุกปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน