‘เหนือ’ยังวิกฤต จุดร้อนเกิน3พัน

เตือนกทม. ปริมณฑล พร้อม 63 จังหวัดทั่วประเทศรับมือฝนถล่ม ลูกเห็บตก ช่วง 14-17 ก.พ. อากาศแปรปรวน อุณหภูมิลดฮวบ อีสานลดมากสุด 4-6 องศา เหนือ กลาง ตะวันออก กทม.และปริมณฑล ลด 1-4 องศา จิสด้าระบุเหนือ อีสาน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังเกินมาตรฐานรวม 31 พื้นที่ พบจุดความร้อนพุ่งเกิน 3 พันจุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควมคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมาก ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าระหว่าง 10-176 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 31 พื้นที่

ภาคเหนือ พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม หรือเริ่มกระทบต่อสุขภาพ 15 พื้นที่ ได้แก่ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก, ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร, ต.น้ำรึม อ.เมือง จ.ตาก, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง หรือกระทบต่อสุขภาพ รวม 10 พื้นที่ ได้แก่ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย ค่าฝุ่น 110 มคก./ลบ.ม., ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา ค่าฝุ่น 146 มคก./ลบ.ม., ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ค่าฝุ่น 113 มคก./ลบ.ม., ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 126 มคก./ลบ.ม., ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ค่าฝุ่น 147 มคก./ลบ.ม., ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ค่าฝุ่น 91 มคก./ลบ.ม., ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ค่าฝุ่น 142 มคก./ลบ.ม., ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 176 มคก./ลบ.ม., ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 129 มคก./ลบ.ม. และต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 152 มคก./ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น เกินมาตรฐาน (พื้นที่สีส้ม) 4 พื้นที่ ได้แก่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น, ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย, ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย, ต.ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร และพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน (พื้นที่สีแดง) 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ค่าฝุ่น 111 มคก./ลบ.ม. และต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี, ค่าฝุ่น 103 มคก./ลบ.ม.

สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์ มาตรฐานทุกพื้นที่

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 14-15 ก.พ. มีแนวโน้มคุณภาพอากาศ อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น และมีลมใต้ ที่มีกำลังค่อนข้างแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่หลังวันที่ 17 ก.พ. ไปอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบน ในช่วงวันที่ 14-16 ก.พ. ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการ ทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือพื้นที่สีแดง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศหรือภูมิสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ของระบบเวียร์ ไทยพบจุดความร้อนวันที่ 12 ก.พ. จำนวน 3,097 จุด ขณะที่จุดความร้อน ของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง สูงถึง 3,372 จุด สปป.ลาว 2,113 จุด และกัมพูชา 973 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่สูงสุด พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,341 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 1,171 จุด พื้นที่เกษตร 223 จุด ชุมชนและอื่นๆ 180 จุด พื้นที่เขตส.ป.ก. 168 จุด และริมทางหลวง 14 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือจ.ตาก 524 จุด จ.เชียงใหม่ 407 จุด และจ.ลำปาง 365 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปริมาณจุดความร้อนมากกว่าภาคอื่นๆ คาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่ เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า

วันเดียวกัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบเสบียงอาหารให้แก่ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (เสือไฟ) ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเจ้าหน้าที่ สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยที่ทป.4 (แม่เหียะ) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยที่ ทป.4 (แม่เหียะ) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

“นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.มีความ ห่วงใยถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าทุกนาย โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัย ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งการแสวงหาเครือข่าย ปัจจุบันพบว่า มีปริมาณเชื้อเพลิงที่อยู่ในป่ามีจำนวนมาก โดยการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือต้องไม่มีการจุดไฟ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องพูดคุยสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน หากเกิด มีไฟป่าแล้วเจ้าหน้าที่ทุกนายต้องมีความพร้อม ความรวดเร็ว ว่องไว และมีความปลอดภัย” นายจตุพรกล่าว

วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เตือนฉบับที่ 4 เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วง วันที่ 14-17 ก.พ.2566) ระบุว่าช่วงวันที่ 14-17 ก.พ.66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลัง ค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. 66 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิ จะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณ ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิ จะลดลง 1-4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชน บริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะ เกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยง การอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย และดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ในระยะนี้

โดยจะมีผลกระทบดังนี้
วันที่ 14 ก.พ. 2566 ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ จ.บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 15 ก.พ. 2566
ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 16-17 ก.พ. 2566
ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก

ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ.66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทย มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือ ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน