เจ้าของแจงวุ่น‘มท.-ตร.’ถูกแอพเงินกู้ก๊อบไปใช้

‘มท.-ตร.’เต้น แชร์ว่อนคนเดียวมีบัตรประชาชน7 ใบ กรมการปกครองเช็กวุ่น ลั่นปลอมทั้งหมด เรียกเจ้าของตัวจริงตามที่อยู่สอบ สรุปฝีมือแอพเงินกู้ เผยเคยโดนหลอกลงทะเบียนขอกู้ ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ สุดท้ายเงินกู้ก็ไม่ได้ แถมโดนหลอกกินค่าสมัครอีก 500 จากนั้นโดนแจ้งข้อหาอีกหลายคดี เพราะถูกนำไปแก้ไขข้อมูลใช้หลอกคนไปทั่ว แจ้งความไปนานแล้ว

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายธนณัฏฐ์ ศรีสันต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี เปิดเผยถึงกรณีโลกโซเชี่ยลส่งต่อข้อมูลชายชาวตำบลลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีบัตรประจำตัวประชาชนคนเดียวมากถึง 7 ใบ โดยแต่ละใบมีชื่อที่แตกต่างกัน และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักต่างกัน ว่า บัตรประชาชนทั้ง 7 ใบเป็นบัตรปลอมทั้งหมด และไม่มีในฐานข้อมูล จึงไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร สำหรับใบหน้าในบัตรประชาชนนั้น เป็นใบหน้าของนายภาคิน สุขประพันธ์ บ้านอยู่เทศบาลตำบลลาดหญ้า โดยมาทำบัตรเมื่อเดือนม.คม. 2566 ที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากบัตรหมดอายุ แต่ในบัตรที่ปลอมขึ้นมา มีการเปลี่ยนรหัสเลข 13 หลักสลับกันไปมา รวมทั้งชื่อนามสกุลในบัตรทั้ง 7 ใบก็ไม่เหมือนกันด้วย หากใครนำบัตรคนอื่นไปใช้ในทางเสียหาย


บัตร 7ใบ – นายธนณัฏฐ์ ศรีสันต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี ตรวจสอบบัตรประชาชนปลอม 7 ใบ รูปถ่ายและที่อยู่เหมือนกัน แต่ชื่อกับเลขประจำตัวไม่เหมือนกัน ขณะที่ตร.เร่งสืบหาแหล่งที่มา คาดเชื่อมโยงกลุ่มบัญชีม้าแก๊งคอลฯ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.

ด้านนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กรมการปกครองในฐานะสำนักทะเบียนกลาง ได้มอบหมายให้สำนักบริหารการทะเบียน ตรวจสอบฐานข้อมูลสำนักทะเบียนกลางทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว พบว่าเป็นการปลอมแปลงบัตร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลในฐานข้อมูลระบบจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครองแต่อย่างใด กรมการปกครองจะมีหนังสือแจ้งจ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นนายทะเบียนท้องที่เข้าแจ้งสภ.เมืองกาญจนบุรีดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“การดำเนินการปลอมแปลงรายละเอียดชื่อในบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท” นายแมนรัตน์กล่าว

นายแมนรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่สังคมได้มีข้อสงสัยว่าการปลอมแปลงเอกสารบัตรประชาชนลักษณะนี้ จะมีผลกับการ เลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวไม่สามารถนำเอกสารที่ปลอมแปลงขึ้นมาไปใช้ในการเลือกตั้งได้ เนื่องจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนที่กรมการปกครองในฐานะสำนักทะเบียนกลางจัดส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น จะเป็นชื่อจริงของบุคคลนั้นๆ หากมีข้อสงสัยหรือมีเบาะแสการกระทำผิดในลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีบัตรประชาชนปลอมนี้ว่า ได้สั่งการให้ ผบช.ภ.7 และ ผบช.ส. เร่งตรวจสอบโดยด่วน และให้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมปกครอง กระทรวงมหาดไทย เร่งสืบสวน แหล่งที่มา และขยายผลหาแหล่งผลิตให้ได้โดยเร็ว แล้วรายงานความคืบหน้าให้ทราบโดยด่วน กรณีนี้เป็นอันตรายต่อความมั่งคง อาจนำไปใช้ในการเปิดบัญชีม้าเพื่อใช้ในทางโอนเงินผิดกฎหมายในหลายรูปแบบ รวมถึงช่วงนี้วาระของรัฐบาลจะครบวาระซึ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนในเร็วๆ นี้ อาจจะนำบัตรในลักษณะ ดังกล่าวไปใช้แสดงในการเลือกตั้ง เบื้องต้นได้เชิญตัวเจ้าของบัตรตัวจริงมา สอบแล้ว

ที่สภ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี พนักงานสอบสวนได้เชิญนายภาคิน สุประพันธ์ อายุ 33 ปี ที่ถูกนำรูปและข้อมูลบางส่วนไปทำบัตรประชาชนมาให้ข้อมูล โดยมีผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริต การทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ที่ได้ลงพื้นที่มาสอบถามข้อมูลด้วย นอกจากนั้นผลตรวจค้นบ้านนายภาคิน ก็ไม่พบพยานเอกสารหรือสิ่งกฎหมายเกี่ยวการปลอมแปลงบัตรประชาชน รวมถึงสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ทราบว่า ก่อนหน้านี้นายภาคินเคยไปขอทำนิติกรรมกับสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่งแต่ถูกปฏิเสธ ทางสถาบันการเงินแจ้งว่าได้เคยทำนิติกรรมกับสถาบันการเงินไว้หลายแห่ง ซึ่งนายภาคินได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ปลอมบัตรของตนไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนหาตัวผู้ปลอมรวมถึงแหล่งผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายภาคิน สุขประพันธ์ อายุ 33 ปี หนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองไม่ได้เป็นคนปลอมแปลงบัตรประชาชนทั้ง 7 ใบ เชื่อว่ามิจฉาชีพนำบัตรประชาชนของตนเองไปปลอมแปลงแล้วนำไปใช้ในการหลอกลวงประชาชนมากกว่า ตนเองทราบว่า เมื่อช่วงเดือนก.ย. 2565 ในเพจซื้อขายรถมือสองแห่งหนึ่ง มิจฉาชีพใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแปลงชื่อ นามสกุลบนบัตรประชาชนของตน แล้วนำไปใช้เป็นหลักฐานส่งให้กับผู้ที่หลงเชื่อโอนเงินมัดจำมาให้แล้วเบี้ยวไม่ยอมส่งมอบรถ จนผู้เสียหายไปแจ้งความ เมื่อตรวจสอบเลข 13 หลักจึงทราบเป็นบัตรของตน จึงแจ้งความกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

นายภาคินกล่าวต่อว่า ทีแรกก็คิดว่าทุกอย่างจะจบ แต่มิจฉาชีพยังคงนำเอาบัตรประชาชนของตนไปเปลี่ยนชื่อ นามสกุล สลับเลขประจำตัวบนบัตรไปมา แต่ยังคงใช้รูปและใช้ที่อยู่ของตนก่อเหตุเรื่อยมา ทำให้จนถึงตอนนี้ตนเองถูกออกหมายเรียกในคดีหลอกลวงลักษณะเดียวกันนี้ถึง 12 คดี และยังมีคดีที่ผู้เสียหายไม่ได้แจ้งความ แต่เข้ามาติดต่อหาตนโดยตรงเพราะคิดว่าตนเองเป็นมิจฉาชีพอีกนับสิบราย ซึ่งตนก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้ตรวจสอบเลขบัญชีที่โอนเงินว่าไม่ได้เป็นของตนและตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

นายภาคินกล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้วตนได้ไปสมัครแอพเงินกู้ออนไลน์แอพหนึ่ง ซึ่งต้องให้ส่งรูปถ่ายบัตรประชาชน พร้อมถ่ายรูปของตนร่วมกับบัตรประชาชนเพื่อเป็นการยืนยัน ตนก็ส่งไปให้ตามที่ขอพร้อมเสียค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท เพื่อทำเรื่องขอกู้เงินห้าหมื่นบาท แต่สุดท้ายเงินกู้ก็ไม่ได้รับอนุมัติ ต้องถูกหลอกเสียเงินฟรีไป 500 บาท แถมยังถูกนำบัตรประชาชนไปปลอมแปลงก่อคดีอีกนับสิบคดี และยังต้องกลายเป็นคนที่ถูกผู้คนในสังคมเข้าใจว่าเป็นมิจฉาชีพไปด้วย

นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผอ.ส่วนป้องกันและปราบปราม การทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนกลางกรมการปกครอง กล่าวว่า ผลการสอบถามเป็นประโยชน์อย่างมาก ได้ข้อมูลที่ใช้ติดตามตัวผู้ที่นำเอาบัตรของนายภาคินไปปลอมแปลงและนำมาใช้หลอกลวงประชาชน เชื่อว่ามิจฉาชีพได้ข้อมูลจากการเปิดแอพกู้เงินออนไลน์ ก่อนจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดัดแปลงแล้วนำไปก่อเหตุดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะได้สอบสวนหาตัวของผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน