หอบฝนเทด้วย 40จว.ก็ยังหนัก เชียงใหม่ที่ 1โลก เมืองอากาศแย่ ชี้‘แม่ฮ่องสอน’ จุดร้อนมากสุด

วิกฤตยาว กทม.-ปริมณฑล -40 จังหวัดค่าฝุ่นเข้าขั้นอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เตือน 15-16 มี.ค. ฝุ่นฟุ้งข้ามพื้นที่ เชียงใหม่เมืองอากาศแย่พุ่งอันดับ 1 โลก ครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ มองไม่เห็นดอยสุเทพ เมืองปาย แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่นพุ่งถึง 187 ไมโครกรัม จุดความร้อนก็พบมากสุด 127 พื้นที่ รองลงมา เชียงใหม่ 59 จุด ลำพูน 25 จุด และเชียงราย 11 จุด รวม 222 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในป่าอนุรักษ์-ป่าสงวนฯ ทำให้ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหนัก 17 จังหวัดภาคเหนือฝุ่นวิกฤตยาว 16-19 มี.ค.

กทม.-40 จว.ฝุ่นพิษฟุ้งต่อ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองขนาด ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศ พบค่าฝุ่นระหว่าง 13-187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) พบเกินค่ามาตรฐานรวม 40 จังหวัด ได้แก่

1.เชียงราย 2.เชียงใหม่ 3.น่าน 4.แม่ฮ่องสอน 5.พะเยา 6.ลำพูน 7.ลำปาง 8.แพร่ 9.อุตรดิตถ์ 10.สุโขทัย 11.ตาก 12.พิษณุโลก 13.กำแพงเพชร 14.พิจิตร 15.เพชรบูรณ์ 16.นครสวรรค์ 17.อุทัยธานี 18.สิงห์บุรี 19.ลพบุรี 20.สระบุรี

21.อ่างทอง 22.พระนครศรีอยุธยา 23.ราชบุรี 24.ปราจีนบุรี 25.สระแก้ว 26.บึงกาฬ 27.หนองคาย 28.เลย 29.อุดรธานี 30.นครพนม 31.หนองบัวลำภู 32.มุกดาหาร 33.ขอนแก่น 34.กาฬสินธุ์ 35.ร้อยเอ็ด 36.ชัยภูมิ 37.อุบลราชธานี 38.ศรีสะเกษ 39.นครราชสีมา และ 40.บุรีรัมย์

กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับกทม. เกินค่ามาตรฐาน 8 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 30-66 มคก./ลบ.ม.

ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 70-187 มคก. โดย ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน พบค่าฝุ่น 187 มคก. ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงสุดในไทย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 41-125 มคก., ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 29-68 มคก., ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 29-56 มคก. ส่วนภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13-31 มคก.

ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไปสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค. เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่าง วันที่ 16-19 มี.ค.

จุดร้อนป่าอนุรักษ์ยังพุ่ง
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ.ระบุต่อว่า ช่วงระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. มีโอกาสพบเจอฝนตกในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน รวมถึงบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ จึงขอแนะนำให้ประชาชนควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น โดยติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) วันที่ 11 มี.ค. 2566 ไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,061 จุด ขณะที่ประเทศเมียนมายังนำโด่งจำนวน 4,363 จุด สปป.ลาว 2,868 จุด กัมพูชา 1,182 จุด เวียดนาม 647 จุด และมาเลเซีย 32 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 278 จุด, พื้นที่เกษตร 192 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 123 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 78 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ จ.แม่ฮ่องสอน 127 จุด

เชียงใหม่อากาศแย่ที่ 1 โลกอีก
ด้านสถานการณ์ฝุ่นและอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงทวีความรุนแรงและค่ามลพิษอากาศสูงเกินมาตรฐานอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยสภาพทั่วทั้งตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพได้จากระยะไกลเหมือนปกติอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว

เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลกแจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พบว่า จ.เชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 212 US AQI และค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 วัดค่าได้ 161.3 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง

เว็บไซต์ Iqair.com ระบุว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ซึ่งค่ามลพิษอากาศของจ.เชียงใหม่อยู่อันดับที่ 1 ของโลก เกือบตลอดทั้งวานนี้และต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ สำหรับ 3 อันดับแรกเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ในช่วงเวลาวันเดียวกัน อันดับ 1 จ.เชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 212 US AQI, อันดับ 2 เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย 209 US AQI และอันดับ 3 เมืองเดลี ประเทศอินเดีย 184 US AQI

‘ฮ.’โปรยฝนเทียมป่า 3 จว.
ขณะที่รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เวลา 09.00 น. ใน อ.เมือง ต.ช้างเผือก อยู่ที่ 109 มคก., ต.สุเทพ 108 มคก., ต.ศรีภูมิ มคก. 97, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม 102 มคก., ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว 141 มคก. และ ต.หางดง อ.ฮอด 129 มคก. อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12-14 มี.ค.จะเกิดพายุฤดูร้อนและฝนฟ้าคะนองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยท่าช่วยคลี่คลายบรรเทาสถานการณ์มลพิษอากาศที่รุนแรงลงได้ในระดับหนึ่ง

ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าโดยใช้เครื่องบินเกษตร CASA จำนวน 2 ลำ เวลา 12.00 น. วันเดียวกัน บริเวณพื้นที่ป่าไม้เป้าหมาย 1.อ.เมืองปาน อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ อ.เมือง จ.ลำปาง 2.อ.อมก๋อย อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ 3.อ.สามเงา อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด จ.ตาก และ 4.อ.ลี้ จ.ลำพูน

เร่งดับ – ชุดดับไฟป่าเร่งดับไฟไหม้ป่า 2 ข้างทาง ทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่ฮ่องสอน – ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่ทั้งจังหวัดเกิดไฟป่ารวมกันสูงถึง 127 จุด ส่งผลต่อค่ามลพิษเกินมาตรฐาน เมื่อวันที่ 12 มี.ค.

แม่ฮ่องสอนไฟป่าลามสุด
ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) รายงานสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ พบว่าที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดไฟป่าสูงสุด จำนวน 127 จุด รองลงมา เชียงใหม่ 59 จุด ลำพูน 25 จุด และเชียงราย 11 จุด รวมเกิดไฟป่าขึ้นจำนวน 222 จุด ส่งผลให้ค่ามลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหนัก ทั้งพบว่าในห้วงกลางคืนที่ผ่านมา บริเวณทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า มีการลอบ เผาป่าบริเวณสองข้างทางหลวงหลายจุด และเป็นการลอบเผาใหม่ๆ

นายเอนก ปันทะยม ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอปายประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอปาย และเจ้าหน้าที่ศูนย์ ปภ.เขต 10 ที่มาประจำการอยู่ในพื้นที่อำเภอปายนำรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดผล กระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่

พะเยาหมอกฝุ่นยังคลุม
ที่ จ.พะเยา ยังคงจมอยู่ในหมอกฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นการขับขี่บนท้องถนนลดลง 10-20 เมตร ซึ่งจะสังเกตเห็นละอองฝุ่นควันปกคลุมไปทั่วท้องถนนและตัวเมืองจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา พบปริมาณฝุ่น พีเอ็ม 2.5 มีค่า 115 มคก. และพบปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 10 มีค่า 140 มคก. อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนค่าอากาศ AQI มีค่า 225 มคก. อยู่ในเกณฑ์มี ผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดพะเยายังคงปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษ ท้องฟ้ามืดครึ้ม มองเห็นแสงพระอาทิตย์จางๆ ตามท้องถนนจะปกคลุมไปด้วยหมอกควันทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง และท้องฟ้าปิดมืดครึ้มไปด้วยหมอกควัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการเผาป่าในพื้นที่และเขตพื้นที่จังหวัดรอบข้างทำให้หมอกควันเข้า ปกคลุมในพื้นที่

ร่วมมืองดจุดธูปไหว้‘ย่าโม’
ด้านสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และค่าอากาศ ในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากหลายพื้นที่ เพื่อมากราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม ทุกคนต่างพร้อมใจกันงดการจุดธูป เทียน และตะเกียงน้ำมัน 100% หลังจากที่ทางจังหวัด และเทศบาลนครนครราชสีมา ประกาศขอความร่วมมือในการงดจุดธูป เทียน และตะเกียงน้ำมัน เพื่อช่วยลดมลภาวะพิษในอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ในเขตตัวเมือง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน นายธนัญชัย วรรณสุข ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) เปิดเผยว่า ในพื้นที่ ตัวเมืองนครราชสีมา วัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานติดต่อกันมาแล้วถึง 6 วัน โดยล่าสุดเช้าวันเดียวกัน วัดค่าฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ในตัวเมืองนครราชสีมา ได้ 78 มคก. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา ให้ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ หรือหากจำเป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ภาพรวมสภาพอากาศในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ดาวเทียมตรวจพบว่ามีจุดความร้อนที่เกิดจากการเผามากถึง 30 จุด โดยแบ่งเป็นการเผาในพื้นที่ ส.ป.ก.8 จุด พื้นที่การเกษตร 16 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 จุด และพื้นที่ริมถนน 2 จุด ถึงอย่างไรก็ตาม จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าวันที่ 13 มี.ค. ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งจะส่งผลทำให้อากาศดีขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 มี.ค.

มท.ย้ำจว.ยกระดับแก้ฝุ่น
วันเดียวกัน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝุ่นค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน มท. โดยปภ.จึงมีหนังสือสั่งการไปยังผวจ. ทุกจังหวัดให้เร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ได้กำชับรีบดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และเรียนนายกฯ เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ได้สั่งการไปยัง ผวจ.ทุกจังหวัดให้ยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เน้นย้ำการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน