3 ม็อบโผล่ทำเนียบ กลุ่มสหพันธ์เกษตรฯ มอบดอกไม้ขอบคุณนายกฯ ขณะพนักงาน บีทีเอสจี้รัฐจ่าย 5 หมื่นล้านใช้หนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสภายใน 7 วัน ฮึ่มหยุดเดินรถ ‘ชัชชาติ’ ย้ำจ่ายหนี้ต้องทำ ทุกอย่างตามสัญญา-มติครม. เชื่อไม่เอา ความเดือดร้อนประชาชนมาต่อรอง ขณะ ม็อบรถตู้โดยสารบุกยื่นกระทรวงคมนาคม เรียกร้องเยียวยารถโดยสารสาธารณะที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) นำโดย นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษา สกท. มาให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และขอบคุณที่อนุมัติงบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร การปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่ ครม.มติ 22 มี.ค.65 ที่ผ่านมา รวมทั้ง ฟังผลประชุม ครม.เรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้ 4 ธนาคารรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และกดดันนายกฯ ให้อนุมัติ งบกลางเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ประจำปี 2566 เพิ่ม 1,415 ล้านบาท จากที่อนุมัติใช้จ่ายแล้ว 3,000 ล้านบาท

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมทำการปิด การจราจร บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ จนถึง แยกสวนมิสกวันในช่วงเช้ามืด และจะเปิดการจราจรให้สัญจรปกติในช่วงสาย เพื่อป้องกันมวลชนและรถเครื่องขยายเสียงเข้ามาใน พื้นที่ ขณะที่แยกมัฆวาน (ถ.ราชดำเนินนอก) จะปิดการจราจรในช่องทางคู่ขนาน โดยทาง จนท.ตร.จะขอความร่วมมือให้ทางกลุ่มทำกิจกรรมบริเวณด้านหน้า มทร.พระนคร (ถ.พิษณุโลก) โดยไม่อนุญาตให้กลุ่มใช้พื้นที่โดยรอบทำเนียบ

ม็อบเกษตรกร – กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แก้ปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกร ที่บริเวณหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 มี.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกร ได้มอบกระเช้าดอกไม้ขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบ โดยผู้แทนเกษตรกร กล่าวว่า วันนี้สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคนต้องขอขอบคุณนายกฯ และครม. รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ ที่ทำงานกันโดยไม่มีวันหยุด ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกรขอมอบดอกไม้แทน คำขอบคุณ และขอฝากคำขอบคุณนี้ไปยัง นายกฯ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากนั้นประกาศยุติกิจกรรมมวลชนทยอย แยกย้ายเดินทางออกจากพื้นที่กลับไปสู่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม กลุ่มตัวแทนรถตู้กลุ่มต่างๆ รวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม ได้แก่ กลุ่มตัวแทนสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด, สมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพ-ปริมณฑล, สมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศไทย, สมาพันธ์รถตู้ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ประกอบการ และตัวแทน รถหมวด 1, หมวด 2, หมวด 3, หมวด 4 รถตู้ร่วม ขสมก. และสมาพันธ์ป้าย 30 ทั่วประเทศ นำโดย นายปรีดา มากมูลผล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด, นายวุฒิภัทร คงมั่น ประธานสมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศ ไทย, นายโสฬส พรหมรักษ์ ประธานสมาพันธ์รถตู้ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่, นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับรถตู้บริการสาธารณะทุกหมวดทั่วประเทศที่มีมาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข โดยมีประเด็นหลัก เช่น ขอให้รถตู้โดยสารสาธารณะ ได้รับการขยายอายุเป็น 13 ปีเหมือนกันทุกคัน อายุรถถูกจำกัดการใช้งาน การบังคับให้ใช้รถมินิบัส จีพีเอส ราคาแพง ผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่ขาดความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ การขาดความมั่นคงในอาชีพ การขาดการ ช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ ฯลฯ

ซึ่งหลังจากยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคมเสร็จแล้ว คาดว่าจะเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

ม็อบรถตู้ – กลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารจากทั่วประเทศชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคม ก่อนไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องแก้ไขปัญหารถตู้ รวมทั้งขอให้ขยายอายุการใช้งานรถเป็น 13 ปี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.

ขณะที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รักษาราชการแทน รมว.คมนาคม มอบหมายให้นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรับหนังสือและหารือร่วมกับผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือ

โดยนางจันทิรากล่าวว่า กลุ่มตัวแทนรถตู้บริการสาธารณะทุกหมวดทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้กระทรวงเยียวยาและบรรเทาผลกระทบ ดังนี้ 1.ขอให้เยียวยาอายุการใช้งานรถเป็น 13 ปี ทุกคัน อย่างเท่าเทียม เนื่องจากมีบางเส้นทางได้ขยายอายุเป็น 13 ปีแล้ว 2.ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์การตรวจสภาพรถเพื่อให้กลุ่มรถที่ได้รับการเยียวยา ผ่านการตรวจสภาพรถและสามารถต่ออายุภาษีและนำมาให้บริการได้ 3.ขอให้ ขสมก.พิจารณาต่อภาษีรถตู้ป้ายแดง หมวด 1 เข้าระบบ เพื่อให้สามารถนำมาให้บริการ ผู้โดยสารได้

ทั้งนี้ กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทุกกลุ่ม เบื้องต้นจะเร่งสรุปปัญหานำเสนอปลัดกระทรวงคมนาคม และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ทางบกกลางเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ต่อไป

ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ พนักงานบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC 150 คน มายื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา บีทีเอส โดยมีนายเศกศักดิ์ หุ่นสอาด เป็นตัวแทนยืนหนังสือต่อนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายนิวัติไชยชี้แจงให้กลุ่มผู้ยื่นข้อ ร้องเรียน ว่า กรณีเรื่องกล่าวหาบีทีเอส ในประเด็นเกี่ยวกับการอนุมัติใบอนุญาตและสัมปทานการเดินรถนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จนมีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหา ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนดังที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกระบวนการ ดำเนินงานตามกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนนำเสนอพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้สรุป และนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อวินิจฉัยต่อไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิตามกฎหมายในการแก้ข้อกล่าวหาเพื่อความ เป็นธรรม ตามกระบวนการทางกฎหมาย อย่างเต็มที่ โดยในขั้นตอนขณะนี้ บีทีเอส ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด จนกว่าจะมีการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด

ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล นายเศกศักดิ์ หุ่นสอาด ตัวแทนพนักงานบีทีเอสซี ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า มายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากพนักงานมีความกังวลว่าขณะนี้รัฐบาลติดหนี้กับบีทีเอส 5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่จ่ายหนี้เลย และไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงกังวลว่าอาจจะกระทบกับพนักงานและบริษัทในอนาคตหากต้องแบกภาระเรื่องหนี้ต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มาจากคำสั่งของผู้บริหารแต่เป็นความต้องการของกลุ่มพนักงานเอง

นายเศกศักดิ์กล่าวต่อว่ากว่า 4 ปีที่ผ่านมาแล้วไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แม้ว่าจะฟ้องศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐชำระหนี้ตามสัญญาจ้างแต่หน่วยงานของรัฐกลับบ่ายเบี่ยงและประวิงเวลาโดยการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด นายกฯ จะต้องมีแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่งหรือจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส ภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการอาจจะพิจารณามาที่ทำเนียบ อีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการก็ตาม ขณะเดียวกันประชาชนอาจได้รับความเดือดร้อนหากประกาศหยุดการเดินรถ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเข้าใจความจำเป็นยืนยันว่าที่ผ่านมาพนักงานและบริษัทมีความเป็นมืออาชีพ มากพอ และแม้ว่ารัฐจะติดหนี้แต่บีทีเอสยังให้บริการตามปกติอยู่ ทั้งนี้หากพิจารณาล่าช้า เมื่อยุบสภาและกว่าจะเลือกตั้ง อาจจะส่งผลต่อจำนวนหนี้ เพราะปัจจุบันค่าจ้างเดินรถสะสมอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยวันละ 8 ล้านบาท ย่อมส่งผลต่อสถานะทางการเงิน และการให้บริการทางการเงิน และเงินที่รัฐต้องจ่ายจำนวนนี้อาจเป็นภาษีของประชาชน

ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่มีใครแจ้งมาว่าจะหยุดเดินรถ จริงๆ แล้วรถไฟฟ้าสาย สีเขียวในเส้นทางสัมปทาน ยังได้รับค่าโดยสารปกติ สำหรับในส่วนต่อขยาย เป็นการนำ ผู้โดยสารเข้ามาเส้นสัมปทานหลายแสนคน ต่อวัน คิดว่าเอกชนยังได้รายได้จากเส้นสัมปทานเป็นหลัก และยังมีกระแสเงินสดอยู่ สำหรับการชำระหนี้ต่างๆ ต้องดูตามข้อสัญญา และตามมติครม.

“ผมว่าพนักงานก็มีความกังวลใจ แต่ว่าพนักงานต้องคุยกับผู้บริหารเป็นหลัก เราเองเห็นใจพนักงาน แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับพนักงาน ถ้าจะหยุดเดินรถคงต้องแจ้ง กทม. แต่คิดว่าคงไม่เอาประชาชนมาเป็นเครื่องต่อรอง ต้องดูความถูกต้องด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน