โดรนชี้เป้า-ป้องเขาใหญ่ เชียงใหม่ประกาศพิบัติภัย อาสาสำลักควันดับสลด อาเซียนตั้งศูนย์แก้ฝุ่นพิษ

นครนายกปรับแผนใช้ฮ. 6 ลำ โปรยน้ำดับไฟป่า ทอ.ส่งโดรนชี้เป้า จัดเครื่อง BT-67 ขนน้ำจากลพบุรีช่วย สกัดลามเขาใหญ่ เชียงใหม่ครองแชมป์อากาศแย่ที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 สลดชาวบ้านจิตอาสาช่วยดับ ไฟป่าถูกควันรมดับที่แม่ริม บัวแก้วประสานประเทศเพื่อนบ้านควบคุมเผาป่า ประสานอาเซียนแก้ควันข้ามแดน ล่าสุดออกมาแล้ว 2 มาตรการให้ประเทศสมาชิกร่วมมือ

ภาคเหนือยังสำลักฝุ่นควัน
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ดังนี้ ภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม

ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 44-343 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 25-72 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 21-40 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14-28 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ภาพรวม อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 15-22 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 15-56 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ขอรายงานผลการคาดการณ์ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1-7 เม.ย. ดังนี้ วันที่ 2-7 เม.ย.เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศ ที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศ เพื่อนบ้านในวันที่ 2-8 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. สถานการณ์อาจบรรเทา ลงได้บ้าง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น

บินดับไฟป่า – ทอ.นำเครื่องบินจากฝูงบิน 461 กองบิน 46 พิษณุโลก ร่วมปฏิบัติภารกิจบิน ทิ้งน้ำผสมสารฟอส-เช็ก เพื่อควบคุมไฟป่าในพื้นที่ จ.นครนายก โดยใช้อากาศยานไร้คนขับบินสำรวจและการประเมินจากดาวเทียม เพื่อกำหนดจุด เป้าหมาย เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

ส่งฮ.6 ลำดับไฟนครนายก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดับไฟป่าในพื้นที่ จ.นครนายก ว่า สำหรับรายงานความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.30 น. ของวันที่ 1 เม.ย. สถานการณ์ฮอตสปอตแถบนครนายกไม่พบ ตั้งแต่ช่วงเวลา 02.00 น.ที่ผ่านมา แต่ยังมีกลุ่มควันบริเวณเขาตะแบก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเข้าไปดู รายละเอียดประมาณ 50 นาย รวมถึง ส่งเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวง 6 ลำ เข้าพื้นที่เพื่อสนับสนุนการโปรยน้ำ และควบคุมสถานการณ์ ในขณะที่หลายหน่วยงานระดมกำลังกันเข้ามาร่วมสนับสนุน ดังนั้น สถานการณ์ ไฟป่าที่จังหวัดนครนายกสามารถควบคุมได้ ภาพรวมทส. ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ประมาณ 300 นาย รวมถึงอากาศยานในการปฏิบัติการครั้งนี้

นายวราวุธยังเผยถึงกรณีพบผู้เสียชีวิต ชาวเชียงใหม่ 1 ราย อายุ 39 ปี เป็นราษฎร ที่เข้าไปช่วยดับไฟ คาดว่าพยายามที่จะเข้าช่วยดับไฟป่า แต่ไฟป่าลุกลามขึ้นมากระทั่งหนีไม่ทัน จึงเสียชีวิต เจ้าหน้าที่พยายามช่วยค้นหาและได้พบร่างเมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 มี.ค. คาดว่าจะเป็นการสำลักควันไฟ และตกลงมาจากพื้นที่ สภาพของผู้เสียชีวิตไม่ได้ถูกไฟไหม้ ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังระดมกำลังช่วยเหลืออยู่ ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเองจะช่วยเหลือตามกฎเกณฑ์ของกรมอุทยานที่เรามี ทั้งนี้ได้แสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต








Advertisement

วอนชาวบ้านหยุดเผา
นายวราวุธกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนมี.ค. เกิดจุดความร้อนขึ้นทั้งหมดกว่า 57,000 จุด เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อุทยานประมาณ 33,000 จุด ในพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 24,000 จุด มาตรการต่างๆ ทางกรมอุทยานฯ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่นับ 1,000 นาย จากทั่วทุกภาคขึ้นมาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ กระทรวงยังใช้กำลังคนกระจายเดินเคาะประตูตามบ้านนับ 1,000 หลังคาเรือนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมืออย่าไปเผา

กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ประสานงาน กับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ปิดอุทยานไปเป็น 100 แห่ง ส่วนป่าไม้ปิดไปเกือบ 20 กว่าป่าภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการทุกๆ หน่วยงาน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมพร้อมเป็นแนวร่วมสำคัญ ให้กับทางจังหวัดและพื้นที่

“ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะขณะนี้พบว่าเริ่มมีจุดความร้อน ที่ดอยสุเทพเพิ่มขึ้นมา ขอความร่วมมือประชาชน คอยสอดส่อง และขอความกรุณาอย่าทำร้าย พี่น้องประชาชน คนไทยด้วยกันไปมากกว่านี้เลย หากพบเห็นขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน และหากไม่มั่นใจเรื่องการดับไฟขออย่าเข้าไปใกล้พื้นที่ไฟไหม้เพราะอันตรายมาก”

จี้ปท.เพื่อนบ้านคุมเผาป่า
วันเดียวกัน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการ ต่างประเทศ(กต.) เปิดเผยถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในการร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือของไทย โดยย้ำว่าปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคที่มีความพยายามแก้ไขมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องว่า ในห้วงที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายฯ และรมว.ต่างประเทศ ประสานงานกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยกัน แก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น นายดอนยังสั่งการให้นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา แจ้งความห่วงกังวล ของไทยในเรื่องการเผาป่า เอกอัครราชทูต ยังได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา เพื่อแจ้งข้อห่วงกังวลในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งฝ่ายเมียนมาแสดงความพร้อมที่จะเร่ง หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อขอความร่วมมือ ในการควบคุมปริมาณการเผาป่าในฤดูแล้งนี้

ชงแก้ควันข้ามแดน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว เพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยยังหยิบยกประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามแดนในการพบหารือระหว่าง ดร.เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเยือนไทย ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย. ด้วย โดยนายกฯ, รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศขอรับ การสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนในการผลักดันความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และให้จัดการประชุมประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งเลขาธิการอาเซียนพร้อมสนับสนุนด้วยดี

ทุกประเทศอาเซียนเป็นภาคีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution : AATHP) ซึ่งเป็นกลไก เพื่อป้องกัน ติดตามและตรวจสอบมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ตั้งแต่ปี 2546 และเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หารือถึงความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

อาเซียนออก 2 มาตรการ
อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ กำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 2 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการควบคุมหมอกควันข้ามแดนของอาเซียน (ASEAN Co-ordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control: AATHPC) ที่อินโดนีเซีย และ (2) การจัดทำแผนงานว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนเพื่อควบคุม มลพิษหมอกควันข้ามแดนด้วยวิธีปฏิบัติ ฉบับใหม่

การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคกสิกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคประชาชน ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศนอกจาก จะผลักดันผ่านการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอาเซียนแล้ว กระทรวงการ ต่างประเทศยังได้ผลักดันความร่วมมือ ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ในทุกระดับในหลายโอกาส รวมทั้งผลักดันผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเยอรมัน ตามแผนปฏิบัติการที่มีอยู่

ไฟป่านครนายกยังไม่สงบ
วันเดียวกัน นายบัญชา เชาวรินทร์ ผวจ.นครนายก ลงพื้นที่ อบต.เขาพระ บัญชาการเหตุการณ์ดับไฟป่าที่ไหม้ลุกลามต่อเนื่อง ผ่านเขาแก้ว เขาแหลม ลามไปที่เขาตะแบก ด้านหลังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ล่าสุดยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทีมควบคุมไฟป่าทางพื้นดินได้เตรียมพร้อมออกเดินเท้าเข้าไปยังพื้นที่เกิดไฟป่าบริเวณ อบต.เขาพระอีกครั้ง ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยไฟป่าและหมอกควัน อบต.เขาพระ นายพงษ์สวัสดิ์ ธีระวัฒนกุล นายกอบต.เขาพระ จัดทีม เจ้าหน้าที่ อบต.เขาพระ เจ้าหน้าที่ อบจ.นำรถน้ำ มาสแตนด์บายในจุดเขาวังรี ในพื้นที่หมู่ที่ 12 ต.เขาพระ จำนวน 6 คัน มีผู้นำชุมชน และกู้ภัยหลายหน่วยงานเข้าร่วมปฏิบัติการดับไฟป่าที่เขาวังรี เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา

ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ไฟป่า และประชาชนจิตอาสา 252 คน ขึ้นเขาวังรี ไปทำแนวกันไฟไว้ หากไฟป่าที่ลุกลามอยู่บนยอดเขาลุกลามลงมาใกล้บ้านเรือนประชาชนจะใช้รถน้ำดับเพลิงฉีดสกัดไม่ให้ลุกลามให้อยู่ในวงจำกัด โดยมีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยชาวบ้านนำอาหารและน้ำดื่มมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการดับไฟป่าในครั้งนี้ พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ทุกๆ คนที่เสียสละในการเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ปรับแผน ปฏิบัติการดับไฟป่าโดยจะระดมเฮลิคอปเตอร์ 6 ลำ บินทิ้งน้ำบนเขาในจุดที่ยังคงมีไฟป่า ขณะที่ภาคพื้นดินเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องจักร เร่งทำแนวกันไฟบนช่องยางแดงเพื่อควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลามต่อไป

เร่งป้องลามเขาใหญ่
นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ได้เกิดไฟป่าในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน และเกิดไฟป่าลุกไหม้รุนแรงในพื้นที่บริเวณเขาชะพลูและเขาแหลม หมู่ 11-13 ต.เขาพระ เสียหายไปแล้วกว่า 700 ไร่ ซึ่งก็มีหน่วยงานจากกองทับบกส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัยโปรยน้ำเพื่อดับไฟ ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. เป็นต้นมา แต่ด้วยลมแรงมีเชื้อเพลิงใบไม้หญ้าแห้ง ต้นไผ่ขุยที่แห้งตายจำนวนมาก ทำให้เกิดเปลวไฟโหมลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีทีท่าจะดับลงได้ง่าย ประกอบกับอยู่ใกล้ แนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประมาณ 1 กิโลเมตร

นายชัยยากล่าวว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมาร่วมกับฝ่ายปกครอง โดยนายปัญญา เชาวรินทร์ ผวจ.นครนายก เป็นประธาน หน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักบินจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ จากกองทับบก จำนวน 1 ลำ และจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ลำ รวม 5 ลำ บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ฮ.ทบ.บินโปรยน้ำเขาสูง
โดยเฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก จะนำน้ำไปโปรยเพื่อป้องกันการปะทุรุนแรงของไฟป่าบนเขาสูง จำนวน 2 ช่วง คือเวลา 09.30 น. 1 เที่ยว และเวลา 12.30 น. อีก 1 เที่ยว มาตรการการป้องกันไฟป่าให้เจ้าหน้าที่สถานีไฟป่าเขาใหญ่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำแนวกันไฟ และออกลาดตระเวนตรวจพื้นที่ตลอดเวลา ซึ่งพบว่าไฟยังลุกไหม้บนภูเขารุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีต้นไผ่ป่าที่แห้งตายจำนวนมาก ทำให้ป่าไม้เสียหาย รวมทั้งสัตว์ป่าต่างๆ ตายและหนีตายเข้ามาในป่าอุทยานฯ

ด้านนายอร่าม ทัพหิรัญ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (สบ.อ.) นครราชสีมา กล่าวว่า การบริหารจัดการด้านป้องกันไฟป่า มีส่วนป้องกันไฟป่าในพื้นที่ 3 จังหวัด เช่น จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ รวม 6 หน่วย การป้องกันตามมาตรการ การประสานความร่วมมือของประชาชนในชุมชนต่างๆ รอบแนวเขตอุทยานฯ สร้างแนวกันไฟ เพื่อการลุกลามไฟป่าจากด้านนอกเข้ามายังพื้นที่ป่า อุทยานฯ อย่างจริงจังตลอด 24 ชั่วโมง

ทอ.เสริมเครื่องบินช่วย
พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดนครนายกจะเริ่มเบาบางลง แต่จากการบินลาดตระเวนค้นหาพื้นที่ไฟป่า โดยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Aerostar BP ของกองทัพอากาศ และการประเมิน จุดความร้อนจากดาวเทียม ยังคงตรวจพบกลุ่มความร้อนมากกว่า 3 เป้าหมาย ความรุนแรงของ ไฟป่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีการขยายตัวออกด้านข้าง (บริเวณด้านหลังโรงเรียนนายร้อย จปร. และพื้นที่จังหวัดสระบุรี) นอกจากนี้ เมื่อประเมินจากทิศทางลมที่มุ่งสู่เทือกเขาใหญ่ ไฟป่าครั้งนี้อาจลุกลาม ส่งผลต่อป่าไม้และสภาพแวดล้อมได้ในวงกว้าง

กองทัพอากาศยังคงผนึกกำลังกับหน่วยเกี่ยวข้องในการควบคุมไฟป่าเพื่อให้สถานการณ์ คลี่คลายโดยเร็ว โดยสนับสนุนเครื่องบิน BT-67 ฝูงบิน 461 กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก ร่วมปฏิบัติภารกิจบินทิ้งน้ำในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 2 เที่ยวบิน โดยได้รับมอบภารกิจควบคุมไฟป่าในจุดที่จะลามไปทางเขาตะแบก ซึ่งจะเชื่อมไปยังเทือกเขาใหญ่

โดยเครื่องบิน BT-67 บรรทุกน้ำจำนวน 3,000 ลิตร บินจากกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก ลงจอดเติมน้ำผสม ฟอส-เช็ก (PHOS-CHEK) (สารยับยั้งไฟ) สำหรับควบคุมไฟที่กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี แล้วจึงบินขึ้นเพื่อทิ้งน้ำเหนือเป้าหมาย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500 เมตรใน 1 เที่ยวบิน จากนั้นได้บินกลับไปยังกองบิน 2 เพื่อเติมน้ำ และบินกลับมาทิ้งน้ำเหนือพื้นที่เป้าหมายอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Aerostar BP จากฝูงบิน 302 กองบิน 3 ยังคงบินลาดตระเวนถ่ายภาพและถ่ายทอดสัญญาณในพื้นที่เป้าหมายตลอดภารกิจ เพื่อค้นหาจุดความร้อน และประเมินผลการปฏิบัติ ส่งให้ส่วนปฏิบัติการส่วนหน้าและหน่วยเกี่ยวข้องนำไปวางแผนการปฏิบัติต่อไป

ระดมดับไฟดอยสุเทพ
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ สั่งการด่วนให้นายอำเภอแม่ริม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยอุทยาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปดูแลและให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับสวัสดิการ สิทธิต่างๆ ของนายวิชัย ธิมาคำ อายุ 39 ปี ราษฎรหมู่ 5 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม ซึ่งเป็นลมหมดสติจากการสูดควันไฟ และเสียชีวิตระหว่างการเข้าไปช่วยดับไฟ และทำแนวกันไฟ ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนขาน เพื่อไม่ให้ไฟเข้าสู่ชุมชน เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา และพบศพเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันที่ 31 มี.ค. โดย ผวจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมกำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยของ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟป่า ยังคงปักหลักบัญชาการควบคุม ไฟป่าบริเวณตำบลแม่เหียะ และตำบลบ้านปง อำเภอเมือง เพื่อป้องกันไฟลามขึ้นดอยสุเทพ ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานสุเทพ-ปุย ที่ 4 โดยทหารจำนวน 35 นาย ร่วมสมทบกับ จนท.สถานีดับไฟป่า จำนวน 100 นาย ร่วมปฏิบัติการควบคุมไฟ ด้านอำเภอเมืองเชียงใหม่สั่งการให้ ทต.สุเทพ และ ทต.แม่เหียะ นำรถน้ำ พร้อมพนักงานดับเพลิง เตรียมพร้อมหากไฟป่าลามเข้าบ้านเรือนประชาชน ส่วนเฮลิคอปเตอร์ทส. ออกปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟ (หัวไฟ) แล้วจำนวน 15 เที่ยว รวม 9000 ลิตร จากการปฏิบัติการภาคพื้นและอากาศยาน สามารถควบคุมจุดไฟป่าส่วนใหญ่ได้แล้ว ยังคงปฏิบัติการ พร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน

แชมป์ควันพิษโลกสัปดาห์ที่ 2
ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลจุดความร้อนกรมป่าไม้ ใช้เพื่อตรวจสอบ และเข้าระงับเหตุในพื้นที่ เนื่องจากระบบ GISTDA อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ ขอรายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำ วันที่ 1 เม.ย. รอบเช้า เชียงใหม่พบจุดความร้อน 388 จุด ใน 23 อำเภอ พบมากที่สุด อ.แม่แตง 52 จุด, อ.เชียงดาว 51 จุด, อ.หางดง 36 จุด, อ.แม่อาย 30 จุด และ อ.สะเมิง 27 จุด ขณะเดียวกันพบว่า อ.เมืองเชียงใหม่พบจำนวน 7 จุด

ด้านการรายงานคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เช้าวันนี้ เวลา 08.00 น. ทั้ง 6 จุดเป็นสีแดง มากที่สุด พื้นที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว PM 2.5 มีค่า 342 มคก./ลบ.ม. จุดตรวจวัดพื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ มีค่า 200 มคก./ลบ.ม. จุดตรวจวัดพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ มีค่า 191 มคก./ลบ.ม. จุดตรวจวัดพื้นที่บนดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ มีค่า 172 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่เว็บไซต์ https://www.iqair.com รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดการเมืองที่มีมลพิษแย่ที่สุดของโลก US AQI เวลา 08.00 น. พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับ 1 มาเป็นสัปดาห์ที่ 2 เมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก มีค่า 319 มคก./ลบ.ม.

ล่าสุดนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผวจ. ปฏิบัติราชการแทนผวจ.เชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่า 3 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย หมู่ 7 ต.บ้านปง อ.หางดง หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมือง และหมู่ 12 ต.สุเทพ อ.เมือง

ล่าจับมือเผาป่าเชียงดาว
นายสงัด บูรณภัทรโชติ นายอำเภอเชียงดาว เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ชม.4 (เชียงดาว) ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านเเม่ซ้าย ม.13 ต.เเม่นะ เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ บริเวณป่า สงวนเเห่งชาติป่าเชียงดาว บ้านเเม่ซ้าย ม.13 ต.เเม่นะ ตามที่ได้รับเเจ้งจากผู้ใหญ่บ้านเเม่ซ้าย ม.13 ต.เเม่นะ ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา เวลา 01.00-04.00 น. เกิดไฟไหม้ป่า บริเวณป่าทิศตะวันตก เฉียงเหนือของหมู่บ้านเเม่ซ้าย

ชาวบ้านจึงร่วมกันเข้าไปดับไฟ เเละสามารถ ควบคุมไฟไว้ได้ พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ประมาณ 10 ไร่ เเละในพื้นที่ไฟไหม้พบชายผู้ต้องสงสัยในการลักลอบจุดไฟป่า เข้ามาหาของป่า (น้ำผึ้ง) เเละทำให้เกิดไฟไหม้ เจ้าหน้าที่หน่วยฯ จึงเข้าตรวจสอบพื้นที่เเละรวบรวมหลักฐาน เเจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจ สภ.เชียงดาว เพื่อเรียกตัวผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดครั้งนี้ มาสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามปจว.ข้อที่ 3 เลขรับเเจ้งความที่ 53/2566 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 15.30 น.

แม่ฮ่องสอน-พะเยายังหนัก
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่บ้านไม้แงะ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ตรวจดูการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า พร้อมลง บัญชาการเหตุการณ์ในการสั่งการควบคุมไฟป่า ที่ลุกไหม้เป็นทางยาว บริเวณด้านหลังของหมู่บ้านไม้แงะ โดยนายพีระ พงษ์ชูชื่น ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำกำลังผสมจากโดยเฉพาะกิจสิงหนาท พร้อมด้วยกำลังฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ เข้าปฏิบัติการกับไฟป่า ในครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้ามาในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้าน และรวมไปถึงค่ายทหาร ฉก.สิงหนาท ที่ติดกับที่เกิดขึ้นเหตุพร้อมกันนี้ ยังได้จัดเวรในการเฝ้าระวังไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลุกลาม

วันเดียวกันสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ จ.พะเยา ส่อเค้ารุนแรง เช้าวันนี้ถูกหมอกควันพิษปกคลุมจนมืดมิด หลายพื้นที่ในหลายอำเภอ ค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้น จนน่าตกใจฝุ่นควันพิษปกคลุมเมืองจนแทบมองไม่เห็น ถนนหนทางและบ้านเรือน จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่า 207 มคก./ลบ.ม. ปริมาณ AQI มีค่า 317 มคก./ลบ.ม. มีผลกระทบต่อสุขภาพ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่นพิษพุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ มาจากสภาพอากาศที่เริ่มแห้งแล้งและมีการเผาป่าและไฟป่าที่เริ่มเกิดขึ้น ตามฤดูกาล รวมทั้งการชิงเผา ซึ่งในหลายพื้นที่ ไฟป่าเริ่มปะทุตามแนวชายเขา ทำให้ลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้จึงเกิดปัญหาหมอกควัน คลุมทั้งตัวเมืองและพื้นที่ราบโดยทั่วไปคุณภาพ อากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนั้น สถานการณ์หมอกควันไฟป่า ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงต่อเนื่อง

เชียงรายมิด – ภาพมุมสูงมองเห็นสภาพฝุ่นควันปกคลุมตัวเมืองเชียงรายมืดมัว เนื่องจากไฟป่าที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง โดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนล่าสุด วัดค่าได้ 267 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

เชียงรายอากาศปิด
สถานการณ์ไฟป่า จ.เชียงราย ยังรุนแรง ต่อเนื่องเกิดไฟป่าขึ้นหลายจุด ทั้งในเขต อ.แม่สรวย อ.แม่จัน และอ.เมืองเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าภูเขาสูงยากแก่การเข้าไปดับของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครไฟฟ้าทั้งหลาย สภาพหมอกควันฝุ่น PM2.5 ยังคงมีมาก คุณภาพอากาศในพื้นที่ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย มีค่า 267 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 295 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนที่ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่า 308 มคก./ลบ.ม.

รายงานข่าวแจ้งว่า จากสภาพอากาศที่ปิดส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าของปภ. ไม่สามารถยกตัวขึ้นบินได้ เนื่องจากระยะ มองเห็นมีไม่ถึง 1.5 กิโลเมตร ค่อนข้างอันตรายแก่การขึ้นบิน ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมานักบินได้เตรียมอุปกรณ์พร้อมบิน แต่เนื่องจาก สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจึงต้องรอดูสถานการณ์ ภาคบ่ายนี้อาจจะขึ้นบินไปช่วยดับไฟป่าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน