ควันฟุ้งข้ามแดน 21จว.จมPM2.5

นัดถก 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เมียนมาร่วมกันแก้วิกฤต ไฟป่า-ฝุ่น-หมอก-ควัน สถานการณ์21 จังหวัด เหนือ-อีสาน-กลาง ฝุ่นพิษยังฟุ้ง ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่นพุ่งสูงสุดในไทย วัดได้ 214 ไมโครกรัม คุมไฟป่าดอยสุเทพ- ปุยได้แล้ว กรมควบคุมมลพิษเตือน 17 จังหวัดเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อากาศปิดยาวถึง 11 เม.ย. ชี้เหตุจากหมอกควันข้ามแดน แม่ฮ่องสอนหมอกควันยังคลุมเมือง ค่าฝุ่นพิษพุ่ง ส่วนโคราช เปิดสถิติ 3 เดือนม.ค.-มี.ค. เจอจุดความร้อนรวม 695 พื้นที่ ทั้ง 32 อำเภอ ปลัดทส.-ปลัดบัวแก้ว ถกลุยแก้หมอกควันข้ามแดนเร็วๆนี้

21 จังหวัดฝุ่นพิษยังฟุ้ง
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 4 เม.ย. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เลย และนครพนม

ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37-214 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 214 มคก. ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงสุดในไทย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-78 มคก. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 34-56 มคก. ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12-37 มคก. ส่วนภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13-23 มคก.

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับกทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 26-49 มคก.

กทม.เฝ้าระวังฟุ้งซ้ำ
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 5-11 เม.ย. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ยังคงมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม วันที่ 5-7 เม.ย.อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ แต่ภาพรวมของพื้นที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน








Advertisement

สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมี แนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 5-11 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะอากาศค่อนข้างปิด จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง โดยติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในภาคเหนือว่า มีแนวโน้มลดลง และโดยภาพรวมประเทศเพื่อนบ้านก็น้อยกว่าของไทย ก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือให้เลขาธิการอาเซียนเพื่อขอช่วยเรื่องการทำให้จุดความร้อนลดลง ส่วนประเทศไทยก็มีแนวโน้มลดลง โดยต้องทำคู่ขนานกับของอาเซียนด้วย ส่วนการประชุมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกัน

จ่อถก‘ลาว-เมียนมา’
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตนเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับภูมิภาคอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมี นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัด ทส. และผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ร่วมหารือ

นายจตุพรกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในระดับภูมิภาคและผลกระทบที่ส่งถึงประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดก็ตาม ซึ่งจากการหารือ ทส.จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมหารือร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างไทย ลาว และ เมียนมา ในเร็วๆ นี้ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำท่าทีของประเทศไทยในการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนของภูมิภาคให้ได้โดยเร็วที่สุดต่อไป

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.ต.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบกเปิดเผยว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ไฟป่า หมอกควัน และสภาพอากาศที่ร้อนในพื้นที่ต่างๆ โดยผบ.ทบ.กำชับให้หน่วยทหารร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ส่งกำลังพลเข้าช่วยดับไฟป่า รณรงค์สร้างการตระหนักรู้งดเผา การล้างทำความสะอาดสถานที่สาธารณะลดปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยกำชับให้เตรียมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน ระงับอัคคีภัย เตรียมพร้อมของกำลังพลและเครื่องมือบรรเทาภัย ดูแลสถานที่ คลังเก็บสิ่งอุปกรณ์ เฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากภาวะโรคลมร้อน ให้เข้าให้การดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

คุมไฟดอยสุเทพ-ปุยได้แล้ว
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ นายกริชสยาม คงสตรี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าของจ.เชียงใหม่ดีขึ้นเกือบทุกพื้นที่ เริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย สามารถควบคุมได้หมดแล้ว โดยตั้งแต่ เช้าวันเดียวกัน ไม่มีรายงานการพบจุดความร้อนหรือจุดฮอตสปอต แต่ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง โดยประสานกำลังเจ้าหน้าที่ของทหาร มทบ.33 จำนวน 50 นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ลาดตระเวน ตลอดทั้งแนวป่า เพื่อไม่ให้ลักลอบเข้าไปเผา รวมทั้งเฝ้าระวังจุดที่เคยเกิดไฟป่า อาจปะทุขึ้นมาได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ทำแนวกันไฟจุดเสี่ยง

ส่วนที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา บริเวณเหนือเขื่อนแม่งัด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ากว้างกินพื้นที่รอยต่อของ 3 อำเภอทั้งอำเภอแม่แตง อ.พร้าว อ.เชียงดาว นายกริชสยามกล่าวว่า เมื่อวานนี้พบไฟป่า 30 จุดด้วยกัน เร่งส่งกำลังเข้าดับไฟเช้านี้เหลืออีก 8 จุดด้วยกันที่ยังต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดับไฟ แต่มีบางจุดที่อยู่ในป่าลึก ต้องใช้วิธีเดินเท้าเข้าไปได้อย่างเดียวเจ้าหน้าที่ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงยังไม่สามารถเข้าถึงจุดที่เป็นหัวไฟได้ แต่รวมแล้วควบคุมได้เกือบทั้งหมด

นายกริชสยามกล่าวต่อว่า ส่วนอีกจุดเปราะบางที่น่าห่วงคือพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว บริเวณดอยนาง ที่ยังเกิดไฟป่าอยู่แม้จะส่งกำลังเข้าดับไฟแต่บางจุดอยู่ในพื้นที่ลึกหน้าผาสูงชัน ได้เตรียมวางแผนอาจประสานขอเฮลิคอปเตอร์ของปภ.เข้าร่วมดับไฟ แต่ต้องหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีความลึกมากกว่า 5 เมตรเพื่อเป็นจุดเติมน้ำให้เฮลิคอปเตอร์ เข้าดับไฟร่วมกับภาคพื้นดิน

“ขอวิงวอนคนที่ไม่หวังดี ลักลอบเผาป่า ขอความร่วมมือสร้างความตระหนักถึงผล กระทบที่จะตามมา โดยยังไม่อยากใช้ข้อกฎหมายดำเนินการอย่างเดียว เพราะตอนนี้ พ.ร.บ.อุทยานฯ โทษของผู้ที่เผาป่านั้นค่อนข้างหนัก ค่าปรับสูงมาก 4 แสนถึง 2 ล้านบาท หรือโทษจำคุก 4-20 ปี จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนได้ตระหนักมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย” นายกริชสยามกล่าว

ไฟป่า – เจ้าหน้าที่ระดมเดินเท้าเข้าดับไฟป่าที่ยังโหมไหม้ลุกลามพื้นที่บ้านห้วยปูลิง ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่ควันฝุ่นพิษยังเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัดภาคเหนือ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.

แม่ฮ่องสอนระดมดับไฟป่า
ด้านจ.แม่ฮ่องสอน นายเอนก ปันทะยม ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับรายงานผลการปฏิบัติงาน จากนายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองว่า ข้อมูลคุณภาพอากาศ ณ สถานีวัดคุณภาพอากาศ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน วัดค่าฝุ่นละอองได้ 217 AQI และค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 107 มคก. ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่ชุดปฏิบัติการไฟป่าบ้าน ท่าโป่งแดง อส.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ช่วยกันดับไฟป่า ที่ลุกไหม้ระหว่างบ้านท่าโป่งแดงและบ้านห้วยเดื่อ และตรวจสอบไฟไหม้ป่าบนดอยบ้านใหม่หัวสนามบิน แต่เนื่องจากอยู่บนเทือกเขาสูงชัน ไม่สามารถปีนเขาขึ้นไปดับไฟป่าได้

อย่างไรก็ตามพบว่า จุดไฟป่าของแม่ฮ่องสอนได้ลดลงเป็นอย่างมาก จาก 500 กว่าจุด เมื่อวานนี้เหลือเพียง 177 จุด ส่วนค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง 44 วัน ค่าทัศนวิสัยในการมองเห็นทางอากาศ ช่วงเช้าต่ำสุด 1 ก.ม. และช่วงบ่าย 5 ก.ม.

ไฟป่าคร่ากก.ชุมชนดับ
ที่จ.น่าน ส.ต.อ.ปรัธนา มีทองขาว หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย นายอำนวย อินผ่อง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านซาวหลวง ต.บ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน เข้าตรวจสอบที่บริเวณป่าบริเวณดอยสะงืด หมู่ 4 รอยต่อบ้านนามน หมู่ 7 และบ้านดอนอุดม หมู่ 9 ต.บ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน หลังได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจากการเข้าดับไฟป่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบศพนายศรีวรรณ มิระยศ อายุ 62 ปี กรรมการป่าชุมชนบ้านเชียงยืน ชาวหมู่ 4 ต.บ่อสวก อดีตสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนตำบล

จากการสอบถามทราบว่า นายศรีวรรณ ผู้เสียชีวิต ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือควบคุมไฟป่าที่บ้านดอนอุดม หมู่ 9 ต.บ่อสวก นำโดยนายศุภชัย จำปารัตน์ ประธานป่าไม้ชุมชนบ้านเชียงยืน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเชียงยืน พร้อมพวกรวม 6 นาย ปรากฏว่าเกิดลมแรง ทำให้หัวไฟเปลี่ยนทิศ นายศรีวรรณหลบหนีไฟไม่พ้นจึงถูกไฟคลอกและเสียชีวิตในที่สุด

ด้านนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ช่วยเหลือสวัสดิการ และสิทธิต่างๆ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับในการปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเลขานุการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด รายงานว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ถึง 31 มี.ค.2566 จ.นครราชสีมา เกิดสถานการณ์ ไฟป่า ไปแล้ว 16 ครั้ง ในพื้นที่ป่าอุทยาน แห่งชาติทับลาน 12 ครั้ง เสียหายไป 173 ไร่, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2 ครั้ง ป่าเสียหายไป 30 ไร่ และป่าวังน้ำเขียว 2 ครั้ง ป่าเสียหาย 23 ไร่ รวมพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เสียหายไป 226 ไร่ สาเหตุเกิดจากการลักลอบเผาเพื่อหาของป่า มากสุดจำนวน 13 ครั้ง ทำให้ป่าเสียหายไป 188 ไร่, จากเผาไร่ 1 ครั้ง เสียหาย 15 ไร่ และเกิดจากการเผาอื่นๆ อีก 2 ครั้ง เสียหายไป 23 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบการเผาริมทาง อีก 25 ครั้ง ในพื้นที่ริมทางหลวง และทางหลวง ท้องถิ่น เป็นระยะทางกว่า 32 ก.ม.

3 เดือน-จุดร้อนโคราชพุ่ง 695
ด้านเกษตรจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตร มากถึง 695 จุด กระจายพบทั้ง 32 อำเภอ โดยพบในพื้นที่การเกษตรมากสุด จากการลักลอบเผาและจากสาเหตุอื่นๆ คือ อ.ด่านขุนทด พบจุดความร้อนมากถึง 109 จุด รองลงมาอ.โนนสูง พบ 84 จุด, อ.พิมาย 78 จุด, อ.สีคิ้ว 55 จุด, อ.โนนไทย 57 จุด, อ.ปากช่อง 42 จุด และอ.ปักธงชัย 40 จุด ส่วนอีก 25 อำเภอ พบจุดความร้อนไม่เกิน 30 จุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน