จับวินจยย.ผีหมอชิต โก่งค่าโดยสารเว่อร์

ยอดตายสงกรานต์พุ่ง 232 ราย บาดเจ็บ 17,775 ราย ชี้ไม่คาดเบลต์ทำเจ็บตาย เพิ่ม 91% คุมประพฤติจับคดีเมาแล้วขับสะสม 5 วัน ยอดถึง 5,869 คดี นายกฯ ห่วงขากลับรถมาก ปากช่องติดหนึบ เร่งระบายรถกลับกรุง สน.บางซื่อบุกทลายวินจยย.เถื่อนขนส่งหมอชิต ฉวยรีดค่าโดยสารแพงเว่อร์ หลังถูกโพสต์แฉ รวบ 7 หนุ่มผู้ต้องหา รับสารภาพเพิ่งขับรับจ้างได้ 2-3 เดือน โดนข้อหาไม่มีใบขับขี่สาธารณะ เรียกค่าโดยสารเกินราคา ใช้รถผิดประเภท ส่วนอีก 2 รายตรวจพบสารยาบ้าในร่างกาย ตั้งข้อหาเพิ่มขับขี่มียาเสพติดให้โทษ กก.ผจก.บขส.หมอชิต แจงวุ่นไม่มีวินเถื่อนอยู่ในขนส่ง ถ้ามีก็อยู่รอบๆ วอนสนง.เขตจตุจักร-ขนส่งทางบก-สน.บางซื่อ ร่วมแก้ปัญหา

6วันยอดตายพรวด232
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สธ. ได้รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11 – 16 เม.ย. 2566 ถึงช่วงเวลา 08.00 น. พบว่า มีผู้บาดเจ็บสะสม 17,775 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 19.26% มีผู้เสียชีวิตสะสม 232 ราย ลดลง 26.81% เข้ารักษาใน ร.พ.สะสม 3,814 ราย เพิ่มขึ้น 81.84% จังหวัดที่เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย เชียงราย 9 ราย ปทุมธานีและเชียงราย จังหวัดละ 8 ราย บาดเจ็บสูงสุด 3 อันดับ เชียงใหม่ 811 ราย นครราชสีมา 782 ราย และขอนแก่น 665 ราย

“ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ยังคงเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 10.77%, 91.95% และ 31.51% ตามลำดับ ซึ่งการดื่มแล้วขับทำให้ขาดสติ” นพ.โอภาสกล่าว

ส่งจนท.ช่วยภัยจุดเสี่ยง
ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.37 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.72 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.93 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.41จุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 79.74 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ช่วงเวลา 15.01-16.00 น. และช่วงเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.36 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.19

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า วันเดียวกัน ปริมาณการเดินทางสูงในเส้นทางขาเข้า กทม. จึงประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลเส้นทางสายรอง ทางเลี่ยง ทางลัดที่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง ซึ่งผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กวดขันการจอดรถริมทางซื้อของฝาก และร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทาง

จับเมาขับแตะ 6 พันคดี
นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 5 ของ 7 วันอันตราย วันที่ 15 เม.ย.2566 ว่า มีคดีทั้งสิ้น 2,435 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,407 คดี คดีขับเสพ 28 คดี โดยสถิติคดีเมาขับยอดสะสม 5 วัน ได้แก่ อันดับหนึ่ง กรุงเทพมหานคร 384 คดี รองลงมา จ.นนทบุรี 333 คดี และร้อยเอ็ด 331 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในวันที่ห้าของ 7 วันอันตรายปี 2565 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,948 คดี เพิ่มขึ้น จำนวน 459 คดี หรือร้อยละ 23.56

สำหรับยอดสะสม 5 วันของ 7 วันอันตราย วันที่ 11-15 เม.ย.2566 จำนวน 6,116 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 5,869 คดี หรือร้อยละ 95.96, คดีขับรถประมาท 23 คดี หรือร้อยละ 0.38, คดีขับซิ่ง 1 คดี หรือร้อยละ 0.02 และคดีขับเสพ 223 คดี หรือร้อยละ 3.64

กลับกรุง – ประชาชนทยอยเดินทาง กลับกทม.ด้วยขบวนรถไฟ พร้อมหอบหิ้วข้าวสารอาหารแห้งกลับมาเป็นเสบียง หลังหมดช่วง หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่สถานีกลางกรุงเทพ อภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ เมื่อ 16 เม.ย.

นั่งรถเมล์ทะลุ 12 ล้านคน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยถึงรายงานข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 วันที่ 11-15 เม.ย.2566 สะสม 5 วัน ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย. เวลา 08.00 น. จากระบบการเดินทาง และระบบ TRAMS ว่า มีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 12,070,416 คน ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของสงกรานต์ 2565 หรือร้อยละ 84.75 โดยจำแนกการเดินทางคือ ทางถนน 4,935,401 คน ทางราง 4,740,965 คน ทางน้ำ 1,205,021 คน และทางอากาศ 1,189,029 คน

ยอดอุบัติเหตุแซงปี 65
นายสรพงศ์กล่าวถึงปริมาณจราจรบนถนนทางหลวงผ่าน 10 จุดสำรวจที่เป็นเส้นทางเข้า/ออก กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ของกรมทางหลวง (ทล.) และทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีปริมาณรวม 11,831,646 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยคิดเป็นร้อยละ 4.24 ส่วนปริมาณจราจรบนถนนทางหลวงผ่าน 10 จุดสำรวจ และบนทางด่วน เปรียบเทียบกับที่ประมาณการไว้ 12,414,301 คัน พบว่าต่ำกว่าร้อยละ 4.69

สำหรับอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมพบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุรวม 997 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 1,109 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 133 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของสงกรานต์ 2565 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 จำนวน ผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.61 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงคิดเป็นร้อยละ 8.90 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เชียงราย จำนวน 36 ครั้ง

เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนน ย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) พบว่า จำนวนอุบัติเหตุลดลงคิดเป็นร้อยละ 6.74 จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.30 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 9.52 โดยรถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้ง รถโดยสาร 2 คัน ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ

ส่วนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุบัติเหตุย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) พบว่า จำนวนรถโดยสาร จำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงคิดเป็นร้อยละ 50 และ 100 ตามลำดับ โดยโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้ง (ชนยานพาหนะ 1 ครั้ง และชนสัตว์ 1 ครั้ง) ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มี ผู้บาดเจ็บ โครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศ ไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ และเรือโดยสาร ไม่พบการเสพสารเสพติดและแอลกอฮอล์

“สรุปผลตัวชี้วัดตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 จากตัวชี้วัดทั้งหมด 5 ตัว โดยผ่านตัวชี้วัด 3 ตัว และตัวชี้วัด 2 ตัว คือตัวชี้วัดที่ 2 “จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ที่เกิดบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ลดลงไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเทศกาล ปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี และตัวชี้วัดที่ 5 รถขนส่งสาธารณะ ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ” นายสรพงศ์กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ห่วงกลับกรุงรถติด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางของประชาชน กลับจากฉลองเทศกาลสงกรานต์ว่า ในวันเดียวกัน ประชาชนทยอยเดินทางกลับ กทม.เป็นวันที่มีการเดินทางกลับสูงที่สุด คาดว่าจะมีการใช้เส้นทางหนาแน่นตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงหลังเที่ยงคืน จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง เคารพกฎจราจร ไม่ประมาท พักผ่อนให้เพียงพอก่อนขับรถเดินทางกลับ หากอ่อนเพลียให้หยุดพัก เมาไม่ขับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ทั้งผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และให้บังคับใช้กฎหมายจราจรที่เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางกลับ เพื่อเตรียมตัวเริ่มงานตามปกติในวันที่ 18 เม.ย.เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกฯ เชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เมาไม่ขับ ง่วงไม่ฝืน แวะพักที่สถานีเติมน้ำมัน หรือจุดพักรถที่ทางการจัดไว้ให้

กลับกรุง – ประชาชนจำนวนมากเข้าคิวซื้อตั๋วรถโดยสารเดินทางกลับกทม. หลังจบเทศกาลสงกรานต์ 2566 พร้อมหอบหิ้วสัมภาระข้าวสาร-อาหารแห้งกลับไปเป็นเสบียง ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 จ.นครราชสีมา ขณะที่การจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวันที่ 16 เม.ย.

พหล-มิตรภาพติดหนึบ
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจราจรการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ หลังกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ว่า ที่ จ.นครสวรรค์ ประตูจากภาคเหนือ สภาพจราจรหนาแน่นตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา เรื่อยมาจนถึงเช้าวันเดียวกัน การจราจรบนถนนสายหลักก่อนเข้าสู่ตัวเมืองนครสวรรค์ ทั้งพหลโยธินหมายเลข 1 และถนนหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก มีปริมาณรถ หนาแน่นมากต่อเนื่องติดขัดสลับหยุดนิ่ง ตั้งแต่บริเวณสี่แยกพหลโยธิน สามแยกอุทยานสวรรค์ และบริเวณเชิงสะพานเดชาติวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีการจราจรที่หนาแน่น รถเคลื่อนตัวได้ช้า

ขณะที่บริเวณทางขึ้นเขาตั้งแต่เขต ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ยาวต่อเนื่องไปถึงเขตตำบลกลางดง อ.ปากช่อง ก็มีปริมาณรถสะสมจำนวนมากเช่นเดียวกัน ตำรวจทางหลวงต้องเปิดช่องทางพิเศษหลายจุดเร่งระบายรถ โดยได้เปิดช่องทางพิเศษบนถนนมิตรภาพ ช่วงหลักก.ม.ที่ 67-47 บริเวณต.คลองไผ่ ยาวไปถึงบริเวณ ต.กลางดง อ.ปากช่อง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และเปิดช่องทางพิเศษ ช่วงหลักก.ม.ที่ 39-17 บริเวณต.กลางดง อ.ปากช่อง ต่อเนื่องไปจนถึงเขต ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทาง 22 ก.ม. ซึ่งคาดว่าสภาพการจราจรจะหนาแน่นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงค่ำ

วินเถื่อน – ตำรวจสน.บางซื่อบุกกวาดล้างจับกุมวินจยย.เถื่อน สถานีขนส่งหมอชิต เก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหลังมีเรื่องร้องเรียนผ่านโซเชี่ยล ได้ผู้ต้องหา 7 คน แจ้งข้อหาเรียกค่าโดยสารเกินราคา และใช้รถผิดประเภท

ทลายวินจยย.เถื่อนหมอชิต
วันเดียวกัน พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผบก.น.2 ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ์ ผกก.สน.บางซื่อ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รอง ผกก.ป.นำกำลังฝ่ายป้องกันปราบปราม สน.บางซื่อ เข้าจับกุมผู้ต้องหาวินเถื่อน 7 ราย ประกอบด้วย นายศิริพงษ์ โกติรัมย์ อายุ 27 ปี ชาวบุรีรัมย์ พร้อมพวก 6 คน นายแสงทอง ชีกรรแสง, นายจอมบึง โคตรสมบัติ, นาย ศรราม สานสูงเนิน, นายสุนันท์ โกมิน, นายวศิน สิงห์โต และนายสมพงษ์ เฮงประดิษฐ์ ผู้ต้องหาวินจยย.เถื่อน พร้อมของกลางเสื้อวินจยย.รับจ้าง มีตรากรมการขนส่งทางบก หลังมี ผู้เสียหายที่เรียกใช้บริการร้องเรียนถูกเก็บค่าโดยสารแพงเกินกำหนด จนถูกนำไปแชร์ว่อนโซเชี่ยล โดยจับกุมได้ที่บริเวณด้านหน้าวินจยย.ขนส่งหมอชิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.

พ.ต.อ.ภูวดล เปิดเผยว่า เนื่องจากมีผู้เสียหาย นำไปโพสต์ในโซเชี่ยลว่าถูกกลุ่มวิน จยย.ที่รับส่งเป็นประจำเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ ต่อมาจึงสืบสวน ทราบว่าเป็นกลุ่มวิน จยย.เถื่อน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถ จยย.สาธารณะ ที่มารับ-ส่ง ผู้โดยสารจากด้านหลัง บขส.หมอชิต ฝั่งขาเข้า มาส่งผู้โดยสารหน้ารถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที สวนจตุจักร เป็นประจำ และตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ฉวยโอกาสเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ

2ใน7ผู้ต้องหาพบสารยาบ้า
สอบสวน นายศิริพงษ์, นายแสงทอง และนายศรราม ให้การว่า เพิ่งจะมาขับรถรับจ้างได้เพียง 2-3 เดือน และเพิ่งจะเก็บค่าโดยสารเกินราคาในวันนี้เป็นวันแรก เจ้าหน้าที่ที่จึงตรวจสารเสพติดผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย พบว่านายศิริพงษ์ และนายแสงทอง มีสารเสพติด (เมทเเอมเฟทตามีน) ยาประเภทที่ 1 จึงนำตัวแจ้งข้อกล่าวหาเป็นขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษ, เรียกค่าโดยสารเกินราคา, ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และใช้รถผิดประเภท (วินป้ายขาว) ส่วนอีก 5 ราย นายแสงทอง และนายศรราม ข้อหาเรียกค่าโดยสารเกินราคา, ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และใช้รถผิดประเภท (วินป้ายขาว) และนายสุนันท์ ข้อหาพกพาอาวุธมีดไปทางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร, ใช้รถผิดประเภท (วินป้ายขาว) ส่วนนายวศิน ข้อหาไม่มีใบขับขี่สาธารณะ, ใช้รถผิดประเภท (วินป้ายขาว) และนายสมพงษ์ เฮงประดิษฐ์ ข้อหาไม่มีใบขับขี่สาธารณะ, ใช้รถผิดประเภท (วินป้ายขาว) เรียกค่าโดยสารเกินราคา นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงกรณีสน.บางซื่อนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ต้องหาวินเถื่อน บริเวณด้านหน้าวินจักรยานยนต์ขนส่งหมอชิต เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ว่า ช่วงปลายเดือนมี.ค.ก่อนเทศกาลสงกรานต์ บขส. ได้ประชุมร่วมกับสน.บางซื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือให้เข้ามาช่วยปราบปรามวินจักรยานยนต์เถื่อนซึ่งอยู่บริเวณรอบนอกหมอชิต เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าว่ามีการเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการวินจักรยายนต์มากกว่าปกติ ซึ่งช่วงสงกรานต์ สน.บางซื่อได้เข้ามาจับกุมวินเถื่อนตามที่ บขส.ร้องขอ

วอน3หน่วยงานจัดระเบียบ
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาวินเถื่อนเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม บขส.ได้ประสานไปยัง 3 หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายให้เข้ามาจัดระเบียบวินรอบหมอชิต คือ สำนักงานเขตจตุจักร ขอให้เข้ามาตรวจสอบใบอนุญาตการจัดตั้งวินแต่ละแห่งว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2.กรมการขนส่งทางบก ขอให้เข้ามาตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่สาธารณะของผู้ขับขี่ภายในวินแต่ละแห่ง และ3.สน.บางซื่อ ดำเนินการจับกุมวินเถื่อนอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันมีวินจยย.เถื่อนตั้งกระจายอยู่รอบนอกหมอชิต ไม่ได้อยู่ภายในพื้นที่หมอชิต ยืนยันว่าในหมอชิตไม่มีมาเฟียแน่นอน เพื่อแก้ปัญหานี้ บขส. อยากให้ทั้ง 3 หน่วยงาน เร่งเข้ามาตรวจสอบและจัดทำบัญชีรายชื่อวินจยย. จำนวน 5-6 แห่งที่อยู่บริเวณรอบนอก บขส. รวมถึงผู้ขับขี่ เพื่อจัดระเบียบการให้บริการที่ถูกกฎหมาย และคิดค่าโดยสารที่เป็นธรรมไม่แพงเกินจริง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บขส. เตรียมที่จะเปิดให้บริการวินจยย.ร่วมบริการถูกกฎหมาย บริเวณภายในพื้นที่ของบขส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ บขส. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตจัดตั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ไม่เกินเดือนพ.ค.2566 เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาฉวยโอกาสเก็บค่าโดยสารแพงได้ระดับหนึ่ง” นายสัญลักข์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน