ไม่ดุแต่แพร่เร็ว เปิด4แอพรักษา

ปลัดสธ.ติวเข้มด่วนแพทย์ทั่วประเทศ รับมือโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 กับ XBB.1.9.1 ยันคุมอยู่ มีเตียง-ยา-วัคซีนพอปรับเกณฑ์ให้ยากลุ่มเสี่ยง แจ้งกลุ่ม 608 เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ฟื้นมาตรการหยุดงาน 5 วัน แจงป่วยโควิดแล้ว 435 ราย มีปอดอักเสบ 30 ใส่ท่อ 19 ยันมีเตียง-ยา-วัคซีนพอ ชี้สถานการณ์ไทยเหมือนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกยังห่วงสายพันธุ์ XBB.1.16 ปรับฉีดวัคซีนโควิดประจำปี คู่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กรมวิทย์จับตาสายพันธุ์ XBB.1.16 กับ XBB.1.9.1 ระบาดเพิ่ม ยัน XBB.1.16 ไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่อาจแพร่เร็วขึ้น ชี้ 1 เดือนรู้ฤทธิ์ ย้ำอาการตาแดง ไม่มีไข้ ไม่บ่งชี้ป่วยโควิด รัฐแจงสิทธิบัตรทอง 30 บาท พบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีน ส่งยาฟรีถึงบ้านผ่าน 4 แอพฯ เฉพาะกทม. 69 ศูนย์สธ.กทม. พร้อมรับป่วยพุ่ง

โควิดพันธุ์ใหม่ระบาดพุ่ง
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัพเดตสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดชั้นของเชื้อโควิด-19 เพียง 2 ชั้น คือ VOI คือ อยู่ในความสนใจ ตอนนี้มีเพียง XBB.1.5 และ VUM คือเฝ้าระวังดู มี 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1, BA.2.75 และลูกหลาน, CH.1.1, XBB, XBB.1.16, XBB.1.9.1 และ XBF ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วโลกยังเป็น XBB.1.5 มากที่สุด 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เริ่มฉายแววและเพิ่มจำนวนขึ้นหลายพื้นที่ แต่ XBB.1.16 ยังไม่ได้ถูกใส่รหัสในฐานข้อมูลโลก GISAID แต่เมื่อคีย์ข้อมูลลักษณะเฉพาะของ XBB.1.16 เข้าไปพบว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.2% มาเป็น 0.5% 1% 2% และ 4% หรือเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง หากวันหนึ่งแพร่เร็วจริงก็อาจจะเบียด XBB.1.5 ไปได้ โดย XBB.1.16 พบในอินเดียเยอะมาก สหรัฐอเมริกาก็พบเพิ่มขึ้นเป็น 7.2%

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนการเปรียบเทียบระหว่าง XBB.1.5 และ XBB.1.16 จะพบว่า ตำแหน่งที่กลายพันธุ์บางส่วนเหมือนกัน คือ F486P แต่ที่ XBB.1.16 จะเพิ่มขึ้นมา คือ E180V และ K478R ซึ่งตำแหน่งนี้เคยมีในเดลตา ทำให้เฟกนิวส์บอกว่าจะรุนแรงเท่า เดลตา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะเดลตาเป็น T478K แม้จะตำแหน่งเดียวกัน แต่การเปลี่ยนตำแหน่งเบสคนละฐานกัน การไปสรุปว่ารุนแรงตายเท่าเดลตาจึงไม่จริง

จับตา 1 เดือนรู้ฤทธิ์
“ข้อมูลทางแล็บสันนิษฐานจากตำแหน่งกลายพันธุ์ของ XBB.1.16 น่าจะแพร่เร็วกว่า XBB.1.5 หาก 1 เดือนข้างหน้าขึ้นมา 10-30% แสดงว่าเร็วจริง ก็อาจจะเบียดตัวเก่าไป ส่วนภูมิคุ้มกันหลบได้พอๆ กัน ใครที่เคยติด สายพันธุ์เก่าๆ ปีที่แล้ว สามารถติดซ้ำได้ ประสิทธิผลวัคซีนลดลงบ้างในแง่ของการป้องกันการติด แต่ความรุนแรง ฮูสรุปว่ายังไม่มีหลักฐาน ทำให้เกิดโรคได้เยอะขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าทำให้ตายหรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับอาการ ไม่แตกต่างกันมาก แต่มีประเด็นคือ อินเดียมีรายงานโดยเฉพาะเด็ก คือ มีอาการตาแดงแล้วคัน หรือ Sticky Eyes ตาลืมไม่ได้ ตาเหนียว แต่ไม่มีหนอง พบอาการขึ้นมาได้ และผู้ใหญ่ก็มีได้ อย่างที่ดาราผู้ใหญ่คนหนึ่งก็เป็น

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมเป็นระยะ เราส่ง XBB.1.5 ไป GISAID 43 ราย XBB.1.16 จำนวน 10 ราย สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 8-14 เม.ย.2566 พบ XBB.1.9.1 มากขึ้น XBB.1.16 ก็เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เคยเจอก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ถูกกำหนดชื่อเพราะวิเคราะห์กันอยู่ ซึ่ง 2 ตัวนี้น่าจับตามอง ที่ดูท่าว่าจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ส่วน BA.2.75 เดิมที่พบเยอะลดลงแล้ว XBB ตัวแม่ก็ดูท่าจะลดลง ส่วนที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ XBB.1.16 แล้ว ตรวจเอทีเค ไม่เจอ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง

XBB.1.16 พบ 27-ตาย 1
“XBB.1.16 ในไทยพบ 27 ราย มีทั้งติดในประเทศและมาจากต่างประเทศ พบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เป็นคนต่างประเทศ อายุมากประมาณ 85 ปี อาจมีโรคประจำตัวหลายโรค เรื่องความรุนแรงยังไม่มีว่าเป็นแล้วต้องตาย ไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา ตอนนี้ XBB.1.16 มีสัญญาณบางอย่างอาจแพร่เชื้อเร็วกว่าเดิม แต่ต้องพิสูจน์ว่าสุดท้ายเบียดหรือไม่ ภูมิคุ้มกันหลบไม่ต่างกัน เราจะตรวจเพิ่มขึ้น จำนวน 27 รายไม่ได้มีความหมายมาก เพราะเราตรวจมากก็เจอมาก ตรวจน้อยก็เจอน้อย แต่ให้ดูสัดส่วนว่าเพิ่มลดกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเปิดตรวจให้มากขึ้น ซึ่งเดิมเราลดตรวจเหลือไม่ถึง 100 ราย/สัปดาห์ จึงขอให้ส่งตัวอย่างคนที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตส่งมาตรวจเพื่อรู้สายพันธุ์” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มีข้อมูลวิจัยประเทศอินเดีย ตีพิมพ์ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา อาการของสายพันธุ์ Arcturus คล้ายไข้หวัดใหญ่มาก ส่วนเยื่อบุตาอักเสบจะพบมากในเด็กในอินเดีย และต้องมีไข้ ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตระหนกจนเกินไป วัคซีนยังได้ผลดี ปัจจุบันเรามี Bivalent วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับวัยรุ่น/ผู้ใหญ่อายุ 12 ปีขึ้นไป หลายตัวเข้ามาเลือกใช้ให้เหมาะสมได้ สำหรับการขยายกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ ปลัด สธ.สั่งการแล้วว่าให้ ร.พ.จังหวัดทุกแห่งส่งตัวอย่างมาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อย 1 ร.พ. ขั้นต่ำ 5 ตัวอย่าง เราจะได้เข้ามา 700 ตัวอย่าง/สัปดาห์ก็เพียงพอเป็นตัวแทนระดับพื้นที่และระดับประเทศ เกณฑ์ส่งตัวอย่างก็มี 8-9 กลุ่ม คือ เสียชีวิต มีอาการรุนแรง ชาวต่างชาติ บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกรณีเกิดคลัสเตอร์

สธ.ยันป่วยเพิ่มแต่ไม่รุนแรง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ หลังเดินทางทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น แต่ยังรับมือได้ เพราะแม้จะติดเชื้อมากขึ้น แต่อาการไม่มาก โดยสัปดาห์ล่าสุดวันที่ 9-15 เม.ย. พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 435 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และเสียชีวิต 2 ราย พบว่าอายุไม่มาก รายหนึ่งมีโรคประจำตัว อีกรายได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การพบผู้เสียชีวิต 2 รายถือว่าน้อยมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนสายพันธุ์ที่มีการรายงานอย่าง XBB ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นไปตามธรรมชาติ ฮูยังให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวลมากนัก ไม่ว่าจะเป็น XBB.1.16 ยังไม่มีหลักฐานว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนการติดง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการต่างๆ พบว่าอาจจะติดได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ติดง่ายแบบมีนัยยะสำคัญมากนัก ดังนั้น การดูสถานการณ์ควรดูทั้งเรื่องสายพันธุ์ อาการทางคลินิก ระบาดวิทยาควบคู่กัน การดูข้อมูลด้านเดียวอาจไม่ครบถ้วน

“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการมาก หรือกลุ่มเสี่ยง ยาต้านไวรัสทั้งหลายยังใช้ได้ดีอยู่ ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อไวรัสไม่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็น ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ Long acting antibody (LAAB) ก็ยังมีประโยชน์ในการรักษา ซึ่งการประชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. เห็นพ้องต้องกันว่า การรักษายังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับการให้ยาบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องและเข้าใจมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนกรณีข่าว ร.พ.รามาธิบดี เลิกใช้ยาบางตัวเพราะไม่ได้ผล นพ.โอภาสกล่าวว่า ทางผอ.ร.พ.รามาธิบดียืนยันว่า ยาเดิมยังใช้ได้ผล อยู่ แต่ปรับเกณฑ์เล็กน้อย ที่ไม่ใช้เพราะหลังๆ ต้องซื้อยาเองประสิทธิภาพยาอาจไม่เหมาะสมกับการบริหารจัดการ สธ.จึงย้ำว่า ยาเรามีเยอะ โมลนูฯ มีเป็นล้าน แพกซ์โลวิดหลายหมื่น เรมดิซิเวียร์มีเป็นแสน

จัดฉีดวัคซีนโควิดคู่หวัดใหญ่
นพ.โอภาสกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมีคำแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโควิด จะเป็นการฉีดประจำปีเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นยุทธศาสตร์ภาพรวมการจัดการเรื่องโรคโควิด-19 เราจะจัดการเหมือนกับโรคประจำถิ่นโรคที่มีการระบาดตามฤดูกาล ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะฉีดควบคู่กับวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการรณรงค์ฉีดทั้งประเทศเริ่มวันที่ 1 พ.ค. ในกลุ่มเสี่ยง 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ อสม. รวมทั้งเด็ก โดยฉีดคู่กัน

“โควิดกับไข้หวัดใหญ่ตอนนี้ถือว่าพอๆ กัน แต่โควิดเราฉีดวัคซีนเยอะ มีการศึกษาว่า คนไทยมีภูมิต่อโควิด 97% ทั้งติดเชื้อฉีดวัคซีน เรียกว่าเกือบทุกคน การฉีดปีละเข็มจะทำให้ภูมิเพิ่มขึ้นเหมือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และมีข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า คนที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ น้ำมูก ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ 65% เป็นโควิด 3% ดังนั้น ตัวที่พบมากคือ ไข้หวัดใหญ่ การป้องกันคล้ายคลึงกันคือ ฉีดวัคซีน โดยสธ.ร่วมกับแพทยสภา จะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ให้กับแพทย์ทั้งประเทศรับทราบ เพื่อให้ผู้รักษาเข้าใจข้อมูลที่ตรงกัน และหลังจากนี้ก็จะมีการสื่อสารไปถึง อสม.ด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

“สบายใจเกินไปก็ไม่ดี ตื่นตระหนกเกินไปก็ไม่เป็นสุข ขอให้ใช้ชีวิตอย่างทางสายกลาง มีความระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่ม 608 คนที่ยังไม่รับวัคซีนประจำปี มาขอรับวัคซีนใกล้บ้านได้” นพ.โอภาสกล่าว

วอนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน
ต่อมา นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมอัพเดตสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ แนวทางการรักษา และการให้วัคซีน ซึ่งจัดร่วมกับแพทยสภา เพื่อสื่อสารกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า ช่วงท้ายเทศกาลสงกรานต์มีข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ เชื้อกลายพันธุ์ และการรักษาที่อาจสับสน คณะกรรมการวิชาการมีการประชุมหารือเมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยทบทวนด้านวิชาการและนำเสนอในอีโอซี จึงมีข้อสั่งการให้กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้สับสน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายหลักในการฉีดวัคซีนโควิด คือ กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต อายุ 60 ปีขึ้นไป โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ผู้ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ได้แก่ พนักงานที่บริการคนจำนวนมาก ในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ ทัณฑสถาน หากไม่เคยมีประวัติรับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อ ให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1-2 เดือนตามชนิดของวัคซีนที่ได้รับ หากเคยรับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วให้ฉีด 1 เข็มต่อปีเป็นบูสเตอร์โดส หากกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ 2 เข็มต่อปีได้ โดยให้ทุก 6 เดือน สอดคล้องกับคำแนะนำของฮูทุก 6-12 เดือน ส่วนคนแข็งแรงดีก็รับวัคซีนได้ตามสมัครใจ เรามีวัคซีนมากกว่า 10 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอ

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ไกด์ไลน์การรักษาโควิด มีการปรับเปลี่ยน 2 ประเด็น คือ 1.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 2.ปรับเงื่อนไขในการให้ LAAB สำหรับแนวทางวินิจฉัยดูแลรักษายังเหมือนเดิม คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก คลินิก ร.พ. หรือ รพ.สต. ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สงสัยว่าโควิดให้ตรวจ ATK หรือ RT-PCR ก็ได้ หรือจัดแยกไว้พื้นที่สัดส่วน ถ้าไม่เจอเชื้อพิจารณาดูแลตามเหมาะสม ปฏิบัติ DMH Distancing เว้นระยะห่าง Mask wearing สวมแมสก์ และ Hand washing หมั่นล้างมือ เคร่งครัด 5 วัน ไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงให้ตรวจซ้ำ หากเจอเชื้อให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย

ติวเข้มแนวรักษาผู้ป่วย
พญ.นฤมลกล่าวต่อว่า การรักษาโควิดแบ่ง 4 กลุ่มตามเดิม คือ 1.ไม่มีอาการ สบายดี รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติ DMH 5 วัน ซึ่งเราพบกลุ่มนี้มากกว่า 60% ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หายเองได้ 2.มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก DMH 5 วัน หากมีอาการอย่างอื่นอาจให้ยาดูแลตามอาการที่เป็นอยู่ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ 3.มีอาการไม่รุนแรง มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ไม่ต้องให้ออกซิเจน มีทั้งหมด 11 กลุ่ม ได้แก่

อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน อ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 ก.ก.หรือ BMI มากกว่า 30 ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อ เอชไอวี อาจเป็นผู้ป่วยนอกหรือรับไว้ใน ร.พ.ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยน คือ ให้เลือกยาตัวใดตัวหนึ่ง เริ่มจากแพกซ์โลวิด หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ และ LAAB โดยเริ่มพิจารณาให้นับจากยาที่มีประสิทธิภาพและอาการของคนไข้เป็นหลัก ซึ่งอันดับแรกคือแพกซ์โลวิด เรมดิซิเวียร์ และโมลนูฯ กรณี LAAB สามารถให้ได้ เนื่องจาก XBB.1.16 ยังพบไม่มาก แต่ต้องให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย หากอาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง ให้ยาตัวอื่นร่วมได้ ย้ำว่ายาต้านไวรัสทั้งหมดที่มียังให้กับโควิดได้ทุกตัว โดยการให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจาก 1.ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราป่วยหนักและอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว 2.ข้อห้ามการใช้ยา 3.ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านฯ กับยาเดิมของผู้ป่วย 4.การบริการเตียง และ 5.ความสะดวกของการบริหารยา

และ 4.มีปอดอักเสบที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ต้องแอดมิตในร.พ. แนะนำให้เรมดิซิเวียร์ยาฉีด 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินิก ร่วมกับการให้สเตียรอยด์

ปัดฝุ่นป่วยให้หยุดงาน 5 วัน
พญ.นฤมลกล่าวว่า สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ยึกตามแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาที่ราชวิทยาลัยฯ ให้ไว้ ไม่มีการแก้ไข ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ หรือแพกซ์ โลวิด ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยหน้างาน สรุปยาที่ยังใช้รักษาโควิดตามข้อบ่งชี้ คือ ยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ แพกซ์โลวิด สเตียรอยด์ และ LAAB ไม่มีข้อมูลว่าดื้อยาสามารถให้ได้ ส่วนการรับไว้รักษาใน ร.พ.หลักเกณฑ์เงื่อนไขยังตามเดิม” พญ.นฤมลกล่าวและว่า หากตรวจว่าพบโควิดต้องหยุดงานหรือไม่ ซึ่งการติดเชื้อโควิดไม่ว่ามีหรือไม่มีอาการ เราให้เน้นการแยกตัวออกไป การหยุดงานช่วยให้ผู้ป่วยได้พักและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แนะนำหยุดงาน 5 วัน รวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วยก็ควรหยุดงาน

นายกฯวอนการ์ดอย่าตก
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ขอให้ระมัดระวังด้วยก็แล้วกัน ขณะนี้ยัง ไม่รุนแรงมากนัก เป็นเรื่องธรรมดาเพราะมีการสัญจรไปมาเยอะแยะไปหมด มีความเสี่ยงจึงต้องระมัดระวังตัวเองด้วย และก็ต้องมีการตรวจเช็กด้วย ATK ผมก็ตรวจหลัง 3 วันจากการไปเที่ยวมาอะไรมา ไปแล้วกลับมาก็ต้องตรวจ แต่วันนี้ก็ถือว่าอาการของโรคยังไม่ร้ายแรง สามารถรักษาด้วยตนเองได้ แต่เราก็ต้องเตรียมตัว และหากรู้ว่าอยู่ในที่ชุมชน ไปเที่ยวตรงนั้นตรงนี้ที่มีคนเยอะเราต้องช่วยกันระมัดระวัง ไม่ให้มีการแพร่กระจาย และตนก็หวังว่าทุกคนจะร่วมมือกัน แล้วผมเองก็ระมัดระวังตนเองเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า ขอให้อดทนกันอีกหน่อย

ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ 4 ผู้ให้บริการด้านสุขภาพดิจิทัล ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไว้ให้บริการผู้ป่วย ดังนี้

เมื่อตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด พบติดเชื้อ โควิด-19 ให้ดำเนินการดังนี้ 1.เลือกลงทะเบียน เพื่อพบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากเข้าเกณฑ์ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลพินิจของแพทย์) พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเลือกบริการทางแอพพลิเคชั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

แอพฯ Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด https://lin.ee/a1lHjXZn รับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) สอบถามที่ไลน์@totale หรือสายด่วน 06-2046-2944, 06-1801-9577

แอพฯ MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับผู้ป่วย โควิด-19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว สอบถามไลน์@mordeeapp

แอพฯ Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว สอบถามไลน์@clicknic และแอพฯ Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม) ลงทะเบียนที่ www.telemed.salubermdthai.com รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม สีเขียว สอบถามที่ ไลน์@SOOKSABAICLINIC หรือโทร.ติดต่อ สุขสบายคลินิกเวชกรรม 0-2065-3344 หรือ 09-5575-5901

กทม.พร้อมรับป่วยพุ่ง
ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ช่วงปลายเดือน มี.ค.จนถึงวันที่ 7 เม.ย. พบว่ามีผู้ป่วยโควิดวันละ 100 คน แต่ในช่วงวันที่ 10-15 เม.ย. ผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 300 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้น คาดว่าหลังสงกรานต์ตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น กทม.ได้เตรียมเตียง ยา อุปกรณ์ต่างๆ รองรับไว้ ปัจจุบันเตียงผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ราว 30% จึงได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งเตรียมรับมือ ความพร้อมทั้งบุคลากร เตียง โรงพยาบาล วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีความพร้อมทั้งหมด

นายสุนทร สุนทรชาติ ผอ.สนอ. กทม. กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์รักษาโรค โควิด-19 ไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งได้เปิดให้บริการคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ระหว่างเวลา 08.00-12.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน