ร่วมราชพิธีราชาภิเษก โลกสดุดี-ถวายพระพร กษัตริย์ราชวงศ์อังกฤษ

ทั่วโลกสดุดี-ถวายพระพร ‘สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อม ‘สมเด็จพระราชินีคามิลลา’ เข้าพิธีสวมพระมหามงกุฎพร้อมกันในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์อังกฤษ เป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 อย่างเป็นทางการ ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน ท่ามกลางพระราชวงศ์ทั่วโลกเป็นสักขีพยาน รวมถึง ‘ในหลวง-พระราชินี’ จากประเทศไทย เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธี ถือเป็นงานพระราชพิธีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี ตามโบราณราชประเพณีการเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์อังกฤษที่สืบทอดกันมานานถึง 1 พันปี โดยพสกนิกรนับหมื่นคนจากทั่ว สหราชอาณาจักรและจากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกันที่กรุงลอนดอนเพื่อเฉลิมฉลอง

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงสวม พระมหามงกุฎพร้อมกันในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์อังกฤษที่มีมานานกว่า 1 พันปี เป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 อย่างเป็นทางการ ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน ท่ามกลางพระราชวงศ์ทั่วโลกที่เสด็จร่วมพระราชพิธี รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จฯ ร่วมแสดงความยินดี โดยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสัมผัสพระหัตถ์ทักทายกันด้วยพระพักตร์ ยิ้มแย้มแจ่มใสที่งานเลี้ยงต้อนรับตั้งแต่ช่วงเย็น วันที่ 5 พ.ค.ที่พระราชวังบักกิงแฮม โดย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จ พระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 นั้นแม้จะดำเนินตาม ขั้นตอนโบราณราชประเพณีแต่ปรับโฉมในรายละเอียด เพื่อให้เรียบง่ายและปรับโฉมให้มีความเข้ากับยุคสมัยศตวรรษที่ 21 เช่น บิชอปที่เป็นสตรี บรรดาผู้เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2,300 ที่นั่งในมหาวิหารนั้นจะมีแขกรับเชิญที่เป็นสามัญชนรวมอยู่ด้วยเพื่อเป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมพิธีนั้นสะท้อนถึงความหลากหลายทั้งสังคมในอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมพระราช พิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางราชอาคันตุกะและผู้นำประเทศจากทั่วโลก เมื่อวันที่ 6 พ.ค.

นอกจากนี้ ยังทรงคัดสรรบรรดาดอกไม้ที่ใช้ประดับตกแต่งบริเวณมณฑลพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง โดยเป็นดอกไม้ท้องถิ่นบนเกาะอังกฤษตั้งแต่ใต้สุดไปจนจรดเหนือสุดของสกอตแลนด์ และห้ามมิให้ใช้โฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งดอกไม้เหล่านี้เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะทรงบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ เพื่อนำเงินไปใช้สมทบทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงชุดคลุมที่ใช้ในพระราชพิธีของพระองค์นั้นจะเป็นผ้าที่นำมารียูสจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนหน้า ตลอดจนน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เจิมในพระราชพิธีจะเป็นน้ำมันที่ผลิตจากพืช เป็นต้น รวมงบประมาณทั้งสิ้น 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.2 พันล้านบาท ท่ามกลางการตั้งคำถามจากนักวิชาการอังกฤษถึงความเหมาะสมในช่วงที่ชาวอังกฤษต้องเผชิญกับความยากลำบากจากปัญหาพลังงานและค่าครองชีพพุ่งสูง

เอเอฟพีรายงานว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษมีรหัสภารกิจของรัฐบาลอย่างเป็นทางการว่า “ยุทธการลูกโลกทองคำ” (Operation Golden Orb) โดยช่วงก่อนพิธีเริ่มนั้นทางรัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนเข้าประจำตามเส้นทางเสด็จตั้งแต่เวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเวลา 12.00 น. ของไทย) โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้นตั้งแต่ช่วงเช้า มีชาวอังกฤษและชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาจับจองพื้นที่ ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมสมเด็จพระราชินีคามิลลา และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคต เสด็จมาทักทายมวลชนบางส่วนอย่างเป็นกันเอง สร้างความประทับใจให้พสกนิกร ก่อนเสด็จไปยังพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อให้การต้อนรับพระราชวงศ์และผู้แทนชาติต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมพระราชพิธี

เอบีซีนิวส์และบีบีซีไทย ระบุว่า การเคลื่อนขบวนเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์จะเกิดขึ้นในเวลา 10.20 น. โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะประทับในราชรถพัชราภิเษกที่เคลื่อนออกจากพระราชวังบักกิงแฮมไปตามถนนเดอะมอลล์ สู่จัตุรัสทราฟัลการ์ ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนไวต์ฮอลล์และถนนรัฐสภาตามลำดับ จากนั้นจะเข้าสู่จัตุรัสรัฐสภาและอาคาร Broad Sanctuary เพื่อไปยังประตูใหญ่ทิศตะวันตกของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ก่อนเสด็จเข้าสู่มณฑลพิธีบรมราชาภิเษกในมหาวิหารดังกล่าว

รายงานระบุว่า เส้นทางของขบวนเสด็จคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 2.29 กิโลเมตร ถือว่าสั้นกว่าเส้นทางเมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2496 โดยในครั้งนั้นเส้นทางยาวไกลกว่า 6.5 กิโลเมตร และใช้เวลาถึง 45 นาที ในการเคลื่อนขบวนทั้งหมด

ขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเริ่มด้วยการรับรองความเป็นกษัตริย์โดย อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะยืนอยู่หน้าบัลลังก์ราชาภิเษกอายุ 700 ปี คือ พระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ดซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษในอดีตมาแล้วถึง 26 พระองค์ โดยพิธีดังกล่าวจะดำเนินไปท่ามกลางผู้เข้าร่วมพระราชพิธี อาทิ พระราชวงศ์ นายกรัฐมนตรีและอดีตนายกฯ ประมุของรัฐ และแขกวีไอพีอื่นๆ และการบรรเลงดนตรี ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเลือกสรรมาด้วยพระองค์เอง ทั้งยังโปรดให้มีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่หลายบทเพลงและดนตรีแบบกรีกออร์ทอดอกซ์เพื่อรำลึกถึง เจ้าชายฟิลิป พระราชบิดา ขณะที่เจ้าชายจอร์จ พระราชนัดดา จะทรงเป็นหนึ่งในหมู่เด็กชายเด็กหญิงผู้ทำหน้าที่เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ร่วมกับพระนัดดาของสมเด็จพระราชินีคามิล ลา 5 คน เดินนำหน้ากษัตริย์ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อนำสิ่งของสำหรับการประกอบพระราชพิธีไปวางไว้บนแท่นบูชาสูง

ขั้นตอนถัดมาเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณเพื่อยืนยันว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ โดยจะทรงต้องวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลระหว่างตรัสคำปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทรงปฏิบัติตาม

ต่อด้วยขั้นตอนการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ โดยฉลองพระองค์คลุมและฉลองพระองค์ชั้นนอกที่เป็นชุดพิธีการจะถูกถอดออก จากนั้นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษกเพื่อทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะเทน้ำมันออกจากขวดอินทรีทองคำ โดย เทลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อนราชาภิเษก ก่อนจะเจิมน้ำมันดังกล่าวเป็นเครื่องหมายกางเขนบนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) และที่พระหัตถ์ทั้งสองข้าง ตามด้วยการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด อันเป็นหัวใจของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำนักงานทรัพย์สินของราชวงศ์อังกฤษ หรือรอยัล คอลเล็กชั่น ทรัสต์ ระบุว่าพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นมงกุฎที่จะกษัตริย์จะสวมเฉพาะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น มีโครงสร้างเป็นทองคำแท้ประดับด้วยอัญมณีมีค่าหลายชนิด อาทิ ทับทิม โกเมน ไพลิน อะเมทิสต์ และทัวร์มาลีน น้ำหนักรวมกว่า 2 กิโลกรัม แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะถวายลูกโลกประดับกางเขน พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์ พระคทากางเขน และพระคทานกพิราบ โดยจะมีการเป่าแตรและยิงสลุตทั่วสหราชอาณาจักรอย่างพร้อมเพรียงกันเป็นการยิงสลุต 62 นัด จากหอคอยแห่งลอนดอน และอีก 6 นัด จากลานสวนสนามของกองทหารม้ารักษาพระองค์ นอกจากนี้จะมีการยิงสลุต 21 นัด จากสถานที่ อีก11 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร รวมถึงที่เอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ เบลฟาสต์ และจากเรือหลวงที่ลอยลำอยู่ในมหาสมุทรด้วย แล้วกษัตริย์พระองค์ใหม่จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระราชินีคามิลลาที่ได้รับการแต่งตั้งพร้อมกันโดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรีที่ประดับด้วยเพชร 2,200 เม็ด ในจำนวนนี้ รวมถึงเพชรคัลลิแนน 3 เม็ด ซึ่งตัดจากโคตรเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักรวม 590 กรัม

หลังเสร็จพิธีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมสมเด็จพระราชินีคามิลลา ประทับราชรถทองคำเสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮมตามเส้นทางเดิม โดยกระทรวงกลาโหมอังกฤษใช้กำลังทหารกว่า 7 พันนายจากทุกเหล่าทัพ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการเชิงพิธีการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในชั่วอายุคนรุ่นหนึ่ง เป็นการสวนสนามและถวายการอารักขาตลอดเส้นทาง

ผู้แทนจากรัฐในเครือจักรภพและดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษจะเข้าร่วมในขบวนเสด็จขากลับนี้ด้วย ส่วนที่จัตุรัสรัฐสภาจะมีแถวของราชองครักษ์กิตติมศักดิ์ที่เป็นทหารผ่านศึก 100 คน เฝ้าถวายการอารักขาขบวนเสด็จขณะเคลื่อนผ่านจุดดังกล่าว เมื่อขบวนเสด็จกลับถึงพระราชวังบักกิงแฮม กษัตริย์และราชินีพระองค์ใหม่จะทรงได้รับการวันทยหัตถ์ถวายความเคารพและมีการเปล่งเสียงถวายพระพร 3 ครั้ง จากกองทหารที่เข้าร่วมการสวนสนาม

ต่อมาสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาเสด็จออกสีหบัญชรตามราชประเพณีที่เคยมีมา พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อทอดพระเนตรฝูงเครื่องบินรบถวายพระเกียรติ 6 นาที จากทุกเหล่าทัพเคลื่อนผ่านเหนือพระราชวังบักกิงแฮม ปิดท้ายด้วยการแสดงของฝูงบินผาดแผลงของทัพฟ้าอังกฤษ หรือ ฝูงบินเรด แอร์โรว์ (ฝูงบินศรแดง) นับเป็นสัญญาณสิ้นสุดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระชนมพรรษา 75 พรรษา พระนามเต็ม ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ เสด็จขึ้นครองราชย์หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาเสด็จสวรรคตในวันที่ 8 ก.ย. ค.ศ. 2022 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ค.ศ. 1948 ที่พระราชวังบักกิงแฮม ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จ พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชาย ฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ มีพระกนิษฐาและ พระอนุชา 3 พระองค์ คือ เจ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

หลังจากพระราชชนนีเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี ค.ศ. 1952 เจ้าชายชาร์ลส์ทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งคอร์นวอลล์ทันที ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์เมื่อพระชันษา 10 ปี หากแต่มีพระราชพิธีขึ้นในอีก 11 ปีต่อมา ทรงกลายเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 ในการสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษสืบมานับตั้งแต่บัดนั้น

ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนฮิลล์ เฮาส์ ในกรุงลอนดอน และต่อมาที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองบาร์กเชอร์ ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกอร์ดอนสตันในประเทศสกอตแลนด์ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในภาคศิลปศาสตรบัณฑิต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งเวลส์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยทรงก่อตั้งองค์การการกุศลเยาวชน ปรินส์ทรัสต์ ในปี ค.ศ.1976 และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ประธานหรือสมาชิกองค์การการกุศลและองค์การอื่นอีกกว่า 400 แห่ง

ในปีค.ศ.1981 ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเลดี้ไดอานา มีพระโอรส 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี มีพระราชนัดดา 5 พระองค์ ในปี พ.ศ.2531 ขณะดำรงพระยศ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์” เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการพร้อมเจ้าหญิงไดอานา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงร่วมเปิดนิทรรศการอีสานเขียว รับสั่งภาษาไทยด้วยว่า “อีสานเขียว” เสด็จเยี่ยมชมวัดพระแก้ว ทอดพระเนตรการสาธิตการทำขนมไทยโบราณ การแสดงโขนรามเกียรติ์ และเสด็จลงเรือพระที่นั่งไวยภพของกองทัพเรือด้วยพระเกษมสำราญ ทรงติดพระทัยเชอร์เบทน้ำอ้อย รับสั่งว่า “อร่อยมาก ชอบมาก เกิดมายังไม่เคยเสวยมาก่อน” ก่อนเสด็จไปยัง จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขณะที่เจ้าหญิงไดอานาเสด็จไปทอดพระเนตรการทำร่มบ่อสร้าง อ.สันกำแพง

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานา ทรงเป็นคู่รักที่ได้รับการจับจ้องจากทั่วโลก ก่อนจะเกิดปัญหาความไม่ลงรอยของชีวิตคู่จนกระทั่งหย่าร้างกันในที่สุด ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับนางคามิลลาพาร์กเกอร์ โบลส์ อดีตคนรัก ในวันที่ 9 เม.ย. ค.ศ. 2005 ภายหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ค.ศ. 2022 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ขณะที่คามิลลาทรงขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน