ติดแฮชแท็กไล่ ใช้สิทธิล่วงหน้า ยอดกว่า91%

แฮชแท็ก จี้ถอดถอน 7 กกต. กระหึ่มโซเชี่ยล แห่ลงชื่อเกินล้านคนแล้ว รุมจวกจัดเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาดซ้ำซาก สารพัดปัญหา หวั่น 14 พ.ค. วันเลือกตั้งใหญ่ เกิดปัญหาเดิมๆ อีก ประชาชนติดแฮชแท็ก ข้ามคืน แห่ลงชื่อถอดถอน 7 กกต.ทะลุล้าน สมชัย-อดีตกกต.ฟาดเลือกตั้งเฮงซวย อัยการคดีพิเศษจี้แจง บัตรเลือกตั้งโล้น ไม่มีทั้งหมายเลข-ลายเซ็นจนท.-ชื่อพรรค-ผู้สมัครส.ส. กกต.แจงยอดใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.ล่วงหน้า 91.83% เลขาฯ กกต.แจงวุ่น ปัญหาจ่าหน้าซองผิด- บัตรเสีย มั่นใจไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อไทย-ก้าวไกล จวกสองปมปัญหานี้ ชี้เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ จี้ตอบให้กระจ่าง ผู้ว่าฯกทม.แจงเหตุ 3 เขต หนองจอก มีนบุรี และสะพานสูงไม่จัดเลือกตั้งล่วงหน้า เหตุไม่มีลงทะเบียนให้ใช้สิทธิ

ล่าชื่อถอดกกต.ขึ้นเทรนด์
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ภายหลังการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โซเชี่ยลต่างตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้เกิดแฮชแท็ก อาทิ # กกต.มีไว้ทำไม และ #กกต.ต้องติดคุก เป็นคำค้นยอดนิยมข้ามคืน พร้อมๆ กับมีการตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ทั้ง 7 คน ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวล่ารายชื่อถอดถอน กกต. จากที่ก่อนหน้านี้ดำเนินการไปแล้ว

ล่าสุด ผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการถอดถอน กกต.ทะลุ 1 ล้านรายชื่อแล้ว โดยแคมเปญนี้ระบุ “เจ้าหน้าที่เขียนเขตผิด กลายเป็นบัตรเสีย ซ้ำยังไม่สามารถให้บัตรเลือกตั้งใบใหม่กับผู้มาใช้สิทธิคนดังกล่าวได้”

สำหรับปัญหาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น อาทิ กรณีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเขียนเขตเลือกตั้งและจ่าหน้าซองผิด เช่น ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีการกรอกรหัสหน้าซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิด โดย กกต.ให้แยกหีบ ขณะที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบล ราชธานี มีการนำรถไปรับผู้สูงอายุมาใช้สิทธิ์ เก็บบัตรประชาชน บางพื้นที่ถ่ายรูปบัตรขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง และยังพบผู้พิการทางสายตาที่มาใช้สิทธิ์ที่วัดหว่านบุญคลองหก จ.ปทุมธานี ระบุมาใช้สิทธิเลือกตั้งแต่เจ้าหน้าที่กาบัตร ให้เอง และไม่ให้ตนเองตรวจสอบบัตร ดังกล่าวมีอักษรเบรลหรือไม่

ทำคู่มืออักษรเบรล
จากปัญหาดังกล่าว สำนักส่งเสริมความเป็นพลเมือง สำนักงาน กกต. ได้จัดทำคู่มือประชาชนรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส.รูปแบบ อักษรเบรล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ผู้พิการทางการเห็นทราบถึงกระบวนการและขั้นตอนการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยสามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ได้อย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดทั้งการส่งเสริมปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ภายใต้แนวทางการสร้างเสริมความเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับการจัดทำคู่มืออักษรเบรลรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส. ผลิตจำนวน 1,000 เล่ม และได้แจกจ่ายไปยังส่วนงานต่างๆ คือ สมาคมคนพิการ แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้พิการทางสายตา จำนวน 330 แห่ง แห่งละ 2 เล่ม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จำนวน 77 จังหวัด จังหวัดละ 3 เล่ม รวมจำนวน 231 เล่ม ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาและการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่ 1-8 จำนวน 8 แห่ง แห่งละ 3 เล่ม รวมจำนวน 24 เล่ม

กกต.แจง – นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. พร้อมนายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กก.ผจก.ใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย ติดตามการนับจำนวนและคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรลงคะแนนผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งมาถึงไทย ที่สำนักงานไปรษณีย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.

ยอดใช้สิทธิล่วงหน้า 91%
ที่สำนักงานไปรษณีย์ สำนักงานใหญ่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. พร้อมด้วย นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย ได้นำสื่อมวลชนร่วมติดตามการนับจำนวนและคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรลงคะแนนผู้พิการ ผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ส่งเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว

ทั้งนี้ กกต.ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งจำนวน 2,222,380 คนมีผู้มาใช้สิทธิ 2,030,628 คน หรือร้อยละ 91.37 ส่วนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต มีผู้ลงทะเบียน 60,786 คน มาใช้สิทธิ 57,362 คน หรือร้อยละ 94.37 ส่วนผู้เลือกตั้งผู้พิการ สูงอายุ ผู้ลงทะเบียน 2,356 คน มาใช้สิทธินอกเขต 752 คน ใช้สิทธิในเขต 1,372 คน หรือร้อยละ 90.15

นายแสวงกล่าวว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าร้อยละ 91.37 ต้องขอบคุณผู้มาใช้สิทธิ ที่มาด้วยแรงศรัทธาประชาธิปไตย ซึ่งสำนักงานกกต.สัญญาว่าจะรักษาทุกเสียงที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้ ส่วนกรรมการประจำหน่วย (กปน.) และอนุกรรมการประจำเขต ซึ่งการทำงานอาจผิดพลาดบ้าง แต่ขอบคุณที่อดทนทั้งต่อสภาพอากาศ และแรงเสียดทานทางการเมือง ทำให้งานรวมกว่า 16 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และกกต. ซึ่งมีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งให้ผอ.ทุกจังหวัด รายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าว ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องดี ที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ

ส่วนวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอีก และคาดว่าเลือกตั้งในวันดังกล่าวการบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรที่จะทำงานมีมากกว่านี้ การลงคะแนนตรงตามหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ประชาชนจะไม่สับสน แต่คิดว่าเรื่องหีบไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือปัญหาการจ่าหน้าซอง แต่ก็ยืนยันว่าเรามีกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ผู้ใช้สิทธิมั่นใจว่าซองบรรจุบัตรเลือกตั้งจะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ

ชี้ข้อผิดพลาดไม่ถึงขั้นโมฆะ
นายแสวง ยังกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบคัดแยกบัตรกรณีกรรมการประจำหน่วยเขียนรหัสจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งผิดพลาดว่า หลังปิดหีบจะมีการตรวจสอบว่าต้นขั้วที่ใช้ไป กับจำนวนบัตรที่ออกเสียงตรงกันหรือไม่ และกรรมการประจำหน่วยจะทำบัญชีมา เมื่อไปรษณีย์ได้รับถุงบัตรมาแล้ว ก็จะทำการตรวจเบื้องต้น เมื่อคัดแยกเสร็จก็จะดูว่าจำนวนซองที่คัดแยกกับยอดต้นขั้วตรงกันหรือไม่ ดังนั้นยอดจะกระทบกันโดยอัตโนมัติ ส่วนที่อาจจะมีปัญหา ถ้ามีการจ่าหน้าซอง ถ้าถูกต้องทั้ง 3 จุด ก็จะถูกแยกออกไปเลย แต่ถ้ามีปัญหากรอกครบแต่เขียนเขตหรือรหัสเลือกตั้งผิด จะยึดรหัสเขตเลือกตั้ง 3 ตัวท้าย ซึ่งอยู่ด้านล่างของซองเป็นหลัก แต่ถ้ากรอกไม่ครบ หรือไม่มีรายละเอียดใดๆ หรือไม่มีการกรอกอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมี แต่ถ้ามีจะถูกส่งมาให้คณะกรรมการ ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และไปรษณีย์วินิจฉัยว่าซองนี้จะไปลงเขตใด ซึ่งจะต้องไปสอบทานกับต้นขั้วก่อน ยอมรับว่าอาจจะยุ่งยากพอสมควร

เมื่อถามว่า มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีการกรอกรหัส 3 ตัวท้ายผิด นายแสวงกล่าวว่า เขตเลือกตั้งนั้นคิดว่าประชาชนทราบ แต่รหัสเขต 3 ตัวท้าย ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจหรือไม่ อาจจะเข้าใจว่า กปน.ต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของ กปน. แต่การที่เราออกแบบการจ่าหน้าซอง ให้เขียนถึง 3 ชั้น เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาก็จะสามารถตรวจสอบได้ และสามารถส่งบัตรเลือกตั้งนั้นส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งที่ประชาชนผู้มีสิทธิอยู่ ดังนั้นยืนยันว่า แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตการทำงานของกปน. แต่ยืนยันว่าบัตรทุกใบไม่เป็นบัตรเสีย คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ

เมื่อถามว่าหลังประชาชนพบความผิดพลาดหลายอย่างในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า และแสดงความไม่พอใจ กกต. นายแสวงกล่าวว่า เป็นความรู้สึกของประชาชนที่มองเราแบบนั้น เมื่อถามย้ำว่า กังวลหรือไม่ว่าจะมีคนนำความผิดพลาดนี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะ นายแสวงกล่าวว่า ตนคะเนอย่างนั้นไม่ได้ แต่สั่งให้ผอ.จังหวัด ทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ ทั้งการติดเอกสารผิด เอกสารผิด แต่ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สามารถเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปได้ เข้าใจว่าเรื่องนี้ประชาชนมีความกังวล จึงจะประสานกับไปรษณีย์ และแจ้งให้ทราบต่อไป

45 ปท.ส่งบัตรมาถึงแล้ว
นายดนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรมีทยอยเข้ามากว่า 60,000 ใบ หรือประมาณ 67% จาก 45 ประเทศ จากจำนวนทั้งหมด 67 ประเทศ มีคณะกรรมการ 3 ฝ่ายคือกรมการกงสุล กกต. และไปรษณีย์ตรวจคัดแยก ขณะนี้ บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ได้ถูกขนส่งมายังศูนย์คัดแยกเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างคัดแยกโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย กกต. และไปรษณีย์ โดยในเบื้องต้นอยู่ในส่วนของการตรวจนับ และคัดแยก ยังไม่ถึงการคัดกรองที่จำตรวจเรื่องของการจ่าหน้าซองบัตร

สำหรับกระบวนการคัดแยก ตรวจสอบจะใช้เวลา 7-9 พ.ค. ช้าสุดคือวันที่ 10 พ.ค.นี้ และเริ่มส่งไปยัง 400 เขต คาดว่าจะถึงภูมิลำเนาภายในวันที่ 12 พ.ค. ยืนยันว่าการดำเนินการในศูนย์คัดแยกจะมีวอร์รูมคอยมอนิเตอร์ดูการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่กกต.มาร่วมทำงานด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าพื้นที่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ห้ามนำอุปกรณ์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้าไป และเมื่อออกจากศูนย์ จะต้องตรวจค้นก่อน สำหรับขั้นตอนการตรวจนับและคัดแยกบัตรเลือกตั้ง จะตรวจรหัสซ้ำ 3 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรลงคะแนนจะถูกส่งตรงตามที่ผู้ลงคะแนน

ย้ำแจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว และไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นั้น จะไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ได้ อย่างไรก็ตามให้แจ้งเหตุไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ก่อนและหลังการเลือกตั้ง 7 วัน เพื่อเป็นการรักษาสิทธินั้น ส่วนกรณีผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วแต่เมื่อจะไปใช้สิทธิในวันที่ 7 พ.ค. แล้วไม่มีชื่อ อาจเป็นเพราะลงทะเบียนไม่สำเร็จ จึงให้เข้าไปตรวจสอบการใช้สิทธิเลือกตั้งของตัวเองได้ผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ตโหวต ซึ่งถ้ามีชื่อพร้อมสิทธิให้ไปใช้สิทธิวันที่ 14 พ.ค.ตามสถานที่มีสิทธิก็ให้ไปใช้สิทธิตามนั้น

อัยการข้องใจบัตรโล้น
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์ความเห็นลงเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ วันที่ 7 พ.ค.ว่า “ขอถามในฐานะคนไทยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ใช่ในฐานะนักกฎหมายหรือพนักงานอัยการ ถ้าดูบัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเทียบกับบัตรเลือกตั้งประธาน ก.อ. ที่ส่งให้พนักงานอัยการทั่วประเทศหย่อนบัตรใช้สิทธิเลือกตั้งประธาน ก.อ.อยู่ในช่วงเวลานี้จะเห็นว่าในตัวบัตรเลือกตั้งประธาน ก.อ. จะมีลายเซ็นของเจ้าพนักงานถึงสามคนลงชื่อกำกับในบัตรเพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของผู้ใช้สิทธิ แต่เมื่อวานผมไปเลือกตั้งล่วงหน้ามา พบว่าบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต มีเพียงหมายเลขกับช่องด้านหลังหมายเลขให้กากบาท โดยไม่มีหมายเลขบัตร ไม่มีลายมือชื่อของ จนท. ไม่มีชื่อพรรค และไม่มีชื่อ ผู้สมัคร ส.ส. ขอถาม กกต.ช่วยอธิบายว่าเหตุผลที่ทำบัตรเลือกตั้งแบบโล้นๆ เพราะอะไร ช่วยตอบชัดๆ ให้คนไทยผู้เป็นเจ้าของสิทธิเจ้าของเสียงทั่วประเทศได้สบายใจด้วยครับ

สมชัยจวกเฮงซวย
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกกต. โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “การออกแบบเลือกตั้งที่เฮงซวย” ระบุข้อความว่า กรณีการจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด นั้นมาจากการออกแบบการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดและหละหลวม

1.หากไม่พิมพ์บัตรเขตเป็นบัตรโหล ยังมีวิธีการพิสูจน์ และนำบัตรที่ส่งไปผิดเขต นับคะแนนที่เขตที่ส่งไปผิด แล้วส่งผลคะแนนกลับยังเขตที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อพิมพ์บัตรโหล จะไม่มีทางรู้ว่าเป็นบัตรของเขตใดเลย 2.กำหนดจำนวนวัน และสถานที่ ในการลงคะแนนน้อยเกินไป หากมีคนลงทะเบียนมาก ควรเพิ่มวัน และกระจายสถานที่ลงคะแนน ไม่ใช่ให้คน 4-5 หมื่น ไปลงคะแนนที่เดียวกัน 3.การอบรมห่วย กปน. ไม่สนใจฟังสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ บางพื้นที่บางคนไม่อบรม แต่ตามดูคลิปภายหลัง จึงเกิดข้อผิดพลาด แล้วยังมีมาย้อน “ไม่เห็นมีใครบอก” และ 4.ขาดกลไกในการกำกับติดตาม และแก้ไขแบบทันทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ตัว กกต. ทำเป็นแค่เดินทางไปตรวจเยี่ยม ถ่ายภาพ ทำข่าว แต่พอเกิดปัญหาไม่มีวอร์รูมที่ติดตามและแก้ไขแบบทันที ปล่อยให้เวลาเดินไปข้างหน้า เช่น ซองที่มีปัญหา ก็เดินตามขั้นตอนส่งให้ไปรษณีย์ ไม่ดึงออกมาแก้ไข ทั้งนี้ หลังมีสภา หากมีเสรีรวมไทยเข้าไปจะช่วยกันตรวจสอบจริงจัง

พท.จี้ปมรหัสจว.-จ่าหน้าผิด
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ส.ส.พรรค พท. และพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ หัวหน้าศูนย์ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งพรรค พท.แถลงท่าทีพรรค พท. กรณีพบเหตุผิดปกติในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง

นายประเสริฐกล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้พบสิ่งผิดปกติให้เห็นหลายเรื่อง พรรค พท.มีข้อสังเกตดังนี้ 1.การจ่าหน้าซองส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาด เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในหลายหน่วยเลือกตั้ง เช่น จ.นนทบุรี ที่ใส่รหัสจ่าหน้าซองผิด จ.กาฬสินธุ์ ที่ไปลงคะแนนในเขตหนึ่งแต่คะแนนถูกส่งไปอีกเขตเลือกตั้งหนึ่ง อาจจะทำให้คะแนนมีการคลาดเคลื่อน เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ไม่ควรเกิดขึ้น 2.การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ล่วงหน้าผิดพลาด ซึ่งในการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งวันสุดท้ายระบบล่ม ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ และทางเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ออกมาแถลงยอมรับว่าระบบล่มจริงๆ แต่สามารถยังเข้าไปดึงข้อมูลของผู้ที่จะลงทะเบียนใช้สิทธิและลงทะเบียนย้อนหลังให้ได้ แต่เหตุการณ์การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ ม.รามคำแหง เขตบางกะปิ มีผู้มาใช้สิทธิ 2 คนได้รับแจ้งจากประธาน กกต.เขตว่าการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ ต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดภูมิลำเนาในวันเลือกตั้ง ทั้งที่ได้ลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถใช้สิทธิได้

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า พรรค พท.เห็นว่าการแถลงการของเลขาธิการ กกต.ที่บอกว่าจะลงทะเบียนย้อนหลังให้ แต่กลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ ทำให้ประชาชนอาจ เสียสิทธิ์และเป็นภาระในการเดินทางกลับไปภูมิลำเนา เชื่อว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากอาจจะไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเพราะเหตุนี้ กกต.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหานี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่รับปากแต่ไม่ดำเนินการ และ 3.ความไม่สะดวกในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ในหลายเขต เกิดความแออัดในการลงคะแนน ผู้มาใช้สิทธิบางคนต้องรอนานกว่า 3 ชั่วโมง จึงอยากได้คำตอบจาก กกต.เรื่องนี้ โดยพรรคจะส่งเรื่องทั้งหมดถึง กกต.ภายในสัปดาห์นี้ หวังว่าในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.จะไม่เกิดข้อผิดพลาดเหมือนกับการเลือกตั้งล่วงหน้า

นายชูศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการที่จ่าหน้าซองผิด กกต.จะแก้ไขอย่างไร ความผิดพลาดที่เห็นชัดเช่นนี้อาจนำไปสู่การฟ้องร้องกันว่าการเลือกตั้งมีปัญหาในเชิงกฎหมาย เป็นเรื่องที่พรรค พท.ห่วงมาก เท่าที่ตรวจสอบดูเข้าใจว่าอาจจะไม่มีความพร้อมในเรื่องของการจัดการ อบรมกรรมการประจำหน่วยและการให้ความรู้ ทั้งนี้ มีเรื่องที่อยากจะฝากถึง กกต.ถึงการตั้งผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่ต้องมีการคิดค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมา กกต.มีแนวปฏิบัติว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้คิดจากเขตเลือกตั้ง เนื่องจากประจำอยู่ในหน่วยเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้กลับมาเปลี่ยนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้คิดจากพรรคการเมืองในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งแล้ว คิดเป็นค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ขั้นต่ำตกอยู่ที่ประมาณ 33 ล้านบาท แต่พรรคการเมืองได้รับอนุมัติให้ทำกิจกรรมใช้ไม่เกิน 44 ล้านบาท และคงไม่มีพรรคการเมืองใด ที่ส่งผู้สังเกตการณ์ครบ 400 เขต

เมื่อถามว่าพรรคมองกระแสในโซเชี่ยลกรณีการติดแฮชแท็ก กกต.มีไว้ทำไมอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชน ไม่ได้มีประโยชน์กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ก้าวไกลจี้ตอบ 4 ปม
ที่พรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกรณีประชาชนร้องเรียนการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าว่า จากการได้รับการร้องเรียนมาทางพรรค พบความผิดปกติหลายอย่าง ตนไม่แน่ใจว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ จึงอยากแถลงและตั้งข้อสังเกต แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

1.กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ไม่กรอกข้อมูล ตัวเลขหน้าซอง กรอกไม่ครบ กรอกข้อมูลผิด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้สิทธิอยู่ที่สุรินทร์อยู่ เขต 4 แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเขต 6 หากซองจดหมายถูกส่งไปที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่จะส่งไปที่ไหน ตนเชื่อว่าเข้าหน้าที่ก็คงตอบไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้สิทธิที่ปทุมธานี ไม่เขียนเลขรหัส 5 ตัว ตนสงสัยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

2.กกต.ไม่ติดรูปภาพและข้อมูลผู้สมัครหน้าหน่วย ซึ่งพบจำนวนมากตั้งแต่วันรับสมัคร โดยพรรคก้าวไกลเคยแจ้งเตือนแล้ว ล่าสุดพบที่เขตเลือกตั้งที่ 1-2 จ.น่าน พรรคก้าวไกลหมายเลข 6 แต่กลับไม่มีใบแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.

3.มีการลงทะเบียนล่วงหน้ามากผิดปกติ ที่จ.ขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งผู้มาใช้สิทธิจำนวนหนึ่งไม่ได้มีธุระในวันเลือกตั้ง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกตั้งล่วงหน้า และเหตุใดต้องใช้รถขนคนจำนวนมาก เป็นการซื้อเสียงเพื่อการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ และ 4.มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ไม่มีชื่อในวันเลือกตั้งเมือวานนี้

ชพก.ร้องรูปแอพฯโหวตผิด
ที่สำนักกกต. น.ส.วิเวียน จุลมนต์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต8 กทม. พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ยื่นคำร้องต่อกกต.หลังได้รับแจ้งจากประชาชนว่าภาพของตนเองซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ถูกสลับรูปกับผู้สมัคร ส.ส.คนอื่น ในแอพพลิเคชั่นสมาร์ตโหวต อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยน.ส.วิเวียน กล่าวว่า เนื่องจากหลังพบปัญหาทางกกต.ไม่ได้แก้ไขให้ในทันที แต่กลับพบว่ามาแก้ไขให้ในช่วงเช้า อีกทั้งยังพบว่าแอพลิเคชั่นดังกล่าวต้องมีการอัพเดตแอพฯใหม่ ถึงจะเห็นรูปภาพของตนเองแก้ไขอย่างถูกต้องซึ่งมองว่าเป็นการแก้ไขที่ล่าช้า เพราะส่วนตัวมองว่าปัญหาเกิดจากระบบไอทีที่สามารถแก้ไขได้ทันที ไม่ควรรอเวลา นอกจากนี้ตนยังกังวลว่ารูปภาพของตนและผู้สมัครคนอื่นบนบกระดานหน้าหน่วยเลือกตั้งจะตรงกันหรือไม่ จึงอยากให้กกต.นำไปเป็นบทเรียน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.

แจง 3 เขตกทม.ไม่จัดเลือกตั้ง
ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ว่า สำนักปกครองและทะเบียน (สปท.) ได้รายงานความคืบหน้าปัญหาและอุปสรรคในการเลือกตั้งส.ส.ล่วงหน้าว่า แบ่งเป็นที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 5,179 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,956 คน คิดเป็นร้อยละ 95.69 ส่วนที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 811,156 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 744,687 คน คิดเป็นร้อยละ 91.81 ขณะที่ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ จำนวนผู้ลงทะเบียน 212 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 208 คน คิดเป็นร้อยละ 98.11 ซึ่งปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 87% หวังว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 90%

ส่วนปัญหามีที่เขตห้วยขวางและดินแดง ที่มีความคลาดเคลื่อน โดยเขตดินแดงมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องการลงบันทึกตัวเขตบนซอง ส่วนเขตห้วยขวาง เข้าใจว่าไม่ได้ระบุตัวเลขสุดท้าย แต่ระบุเพียงตัวจังหวัด ซึ่งได้มีการแก้ไขไปแล้ว จึงไม่มีบัตรเสีย

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกทม.ได้เชื่อมสัญญาณภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ห้องเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งทั้ง 33 เขตและได้เผยแพร่ผ่านออนไลน์แล้ว แต่เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน มีการแจ้งเตือนจากสัญญาณภาพกล้องซีซีทีวี เพราะจับความเคลื่อนไหวได้ใน 3 เขต ได้แก่ หนองจอก มีนบุรี และสะพานสูง ที่ไม่มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต จึงไม่มีการจัดการเลือกตั้ง จากการตรวจสอบพบว่ามีการผลัดเปลี่ยนเวรของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดห้อง เพราะเห็นว่าไม่มีหีบเลือกตั้ง จึงเข้าไปจัดห้องได้ ทำให้มีสัญญาณเตือนความเคลื่อนไหวใน 3 เขตดังกล่าว

ส่วนที่เขตคลองสาน มีการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวเช่นกัน จากการตรวจสอบพบว่ามีการผลัดเปลี่ยนเวรของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จากนี้มอบหมายให้ปลัดกทม.รายงานกกต.ให้รับทราบความคืบหน้าในรายละเอียดต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน