ศาลออกหมายจับคดีที่ 15 ‘แอม ไซยาไนด์’ วางยาฆ่า ‘ทราย’ เหตุเกิดในคอนโดฯ หรูย่านทองหล่อ ปี 58 หลังตร.สอบสวนแพทย์นิติเวชผู้ชันสูตรศพแล้วยื่นขอหมายจับทันที สภาทนายความฯ รับว่าความให้ญาติเหยื่อทั้ง 14 ศพ ยืนยันถึงคดีเกิดนานแล้วและไม่มีผลชันสูตรก็ไร้ปัญหา ยกคดีฆ่าหั่นศพหมอผัสพรเมื่อ 20 ปีก่อนยังช่วยพลิกคดีจนนำไปสู่โทษประหาร ตั้งกก.ตรวจสอบคำสัมภาษณ์ทนายความแอม จ่อโดนสอบมารยาททนายความ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 พ.ค. พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีนางสรารัตน์ หรือแอม รังสิวุฒา ภรณ์ อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาฆ่าวางยาไซยาไนด์ กรณีคดีน.ส.มณฑาทิพย์ หรือทราย ขาวอินทร์ ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 58 ภายในคอนโดมิเนียมหรูย่านทองหล่อ ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ว่า หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ สอบปากคำแพทย์นิติเวช ร.พ.จุฬาฯ ที่ผ่าชันสูตรศพของน.ส.มณฑาทิพย์ ถึงกระบวนการผ่าศพและผลการชันสูตรต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว จึงรวบรวมหลักฐานยื่นศาลอาญาขอหมายจับนางสรารัตน์เพิ่มเติม ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยศาลอนุญาตออกหมายจับ พนักงานสอบสวนถือหมายจับเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนางสรารัตน์ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง สำหรับคดีการเสียชีวิตของน.ส.มณฑาทิพย์ ถือเป็นคดีที่ 15 จากเหยื่อทั้งหมด ที่ศาลออกหมายจับไปก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนความคืบหน้าทางคดีจะเดินทางไปประชุมที่บช.ภาค 7 และเรียกชุดสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีประชุมความคืบหน้าทางคดีอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 10.00 น. รวมถึงเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นทางคดี เพื่อประกอบทุกสำนวนในการจะยื่นฟ้องต่อศาลด้วย

วันเดียวกัน ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เขตบางเขน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ พร้อมผู้บริหารสภาทนายความ ร่วมกันแถลงข่าว หลังจากที่ นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อคดีถูกวางยาไซยาไนด์ พาญาติของเหยื่อในคดีมาร้องขอความช่วยเหลือเพื่อขอให้ทางสภาทนายความเข้าไปช่วยเหลือทางคดี

นายวิเชียรกล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากญาติของผู้เสียหายทั้งหมด 14 ราย ให้สภาทนายความช่วยเหลือทางกฎหมาย สภาทนายความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือญาติเหยื่อทุกรายโดยไม่ต้องเสียค่าทนายความ โดยจะจัดทนายความอาสาช่วยเหลือด้านคดีด้านกฎหมาย และทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนญาติที่อยู่ต่างจังหวัดมีสภาทนายความจังหวัดที่จะไปสอบข้อเท็จจริง

หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางคดีกับญาติผู้ตาย โดยจะประกอบไปด้วย ทนายความ ตำรวจระดับสูง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านยาพิษ หรือยาไซยาไนด์ ร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการสอบสวน และสภาทนายความฯ ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและพร้อมช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชนชนที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมาย โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจทำให้เหยื่อต้องเสียชีวิต

ส่วนแนวทางการต่อสู้คดี กรณีเหตุเกิดขึ้นหลายปี แล้วไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะตามดูการเสียชีวิตว่าอาจจะถูกกระทำโดยผู้ต้องหา และทนายความต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีร่องรอยหลักฐานอื่นๆ หลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ และต้องรอดูว่าจะมีพยานหลักฐานมากน้อยแค่ไหน

“ที่ผ่านมาเคยมีคดีที่สำคัญ คือคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2544 คดีดังกล่าวพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่มีทนายความจากสภาทนายความเข้าไปฟ้องคดีแทนญาติคุณหม อผัสพร จนทำให้คดีดังกล่าวนำไปสู่การถูกตัดสินประหารชีวิต นี่ก็เป็นคดีที่สภาทนายความให้การช่วยเหลือ แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนก็ตาม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงในการทำคดี ทนายความที่เคยทำคดีหมอผัสพรก็อยู่ในคณะทำงานคดีแอม ไซยาไนด์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้อัตราโทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว ส่วนจะถูกตัดสินเท่าไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล” นายกสภาทนายความฯ กล่าว

ส่วนการช่วยเหลือทางแพ่ง จะมี 2 กรณี คือพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ญาติ ผู้เสียหายก็จะแต่งตั้งให้ทนายความไปเป็นโจทก์ร่วม และเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความผิดทางละเมิดด้วย

ขณะที่ประเด็นทนายความของอีกฝ่าย (น.ส.ธันย์นิชา หรือพัช เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความของนางสรารัตน์) ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อโดยแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อทางญาติที่ร่วมรับฟังด้วยนั้น นายวิเชียรระบุว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทนายความมีหน้าที่เข้ามาแก้ต่างในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ต้องคำนึงถึงข้อบังคับว่าด้วยมรรยาทของทนายความด้วย โดยเป็นสิ่งที่ทนายความทุกคนต้องพึงปฏิบัติ พร้อมทั้งห้ามแสดงความคิดเห็นหรือฝ่าฝืนข้อบังคับในส่วนนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนญาติเหยื่อสามารถเข้ามาร้องทุกข์ โดยทางคณะกรรมการมรรยาทจะเข้าตรวจสอบมรรยาททางทนายความ ตลอดจนหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นคดีมรรยาท ก่อนดำเนินคดีได้

“เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คน เข้ามาตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อแล้วว่ามีอะไรที่ละเมิดบ้าง ทนายความบางคนได้ทำบางสิ่งบางอย่างเลยเถิดจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามไปยังคณะกรรมการว่าจะต้องดำเนินการในรูปแบบใด” นายวิเชียรกล่าว

ด้าน นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ /รองเลขาธิการ ระบุถึง ประเด็นประวัติการรักษาอาการจิตเวชของผู้ต้องหาว่า หากช่วงเวลาที่ก่อเหตุ ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ได้รับโทษได้ รวมถึงปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นอุปสรรคปัญหาในการพิจารณาคดีในชั้นศาล เพราะกฎหมายไม่ได้ยกเว้นว่าห้ามมิให้ศาลสืบพยาน ดังนั้นพนักงานสอบสวนมีอำนาจทุกอย่าง และการตั้งครรภ์จะเป็นบทสุดท้าย โดยหากคดีถึงที่สุดหากศาลลงโทษให้ประหารชีวิต เชื่อว่าผู้ต้องหาคลอดบุตรแล้วอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่มีผลกับ คำพิพากษาและยังคงประหารชีวิตสถานเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน