ล้มสส.บ้านใหญ่ ‘อัศวเหม’เกลี้ยง รัตนเศรษฐก็ด้วย ปิตุเตชะสอบตก พร้อมคนดังปชป.

กกต.สรุปใช้สิทธิเลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์ 75.22 % ‘ก้าวไกล’ กวาดส.ส.รวม 152 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ ได้ 141 ส.ส. อันดับ 3 ภูมิใจไทย 70 เปิดชื่ออดีตส.ส. ผู้สมัครคนดังจากหลายพรรคสอบตกเพียบ ไม่ติดปาร์ตี้ลิสต์ ‘บ้านใหญ่’ แพ้ระนาว ตระกูล ‘ปิตุเตชะ’ เกลี้ยงทั้งระยอง ‘ชาติพัฒนากล้า’ สูญพันธุ์โคราช ‘รัตนเศรษฐ’ พ่ายเรียบวุธ ‘อัศวเหม’ โดนก้าวไกลโค่นกวาดยกจังหวัด บรรดา ‘ส.ส.งูเห่า’ ตายเกลื่อน

กกต.ปลื้ม – นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงสรุปภาพรวมการ เลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 52,238,594 คน คิดโดยเฉลี่ย 75.22% สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ที่สำนักงานกกต. เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

กกต.สรุปคนแห่ใช้สิทธิ 75.22%
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 โดยนายอิทธิพรกล่าวว่ามีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52,238,594 คน คิดเป็น 75.22 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงสุด เป็นประวัติศาสตร์ที่กกต.เคยจัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง โดยในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ เลือกตั้ง 74.87 เปอร์เซ็นต์

นายอิทธิพรกล่าวว่าการที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดี สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 2562 มีหลายประเด็น ได้รับการแก้ไขและไม่เกิดขึ้นอีก ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ การรายงานผลล่าช้าไปมากจากที่ประเมินไว้ว่าจะจบที่เวลา 22.00-23.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เกิดความถูกต้อง เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่แชร์สู่สารธารณะถูกต้องที่สุด

ขึ้นรถแห่ – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำว่าที่ส.ส.ขึ้นรถแห่ตระเวนขอบคุณประชาชน จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผ่านถนนราชดำเนินไปปราศรัยที่ลานคนเมือง กทม. ท่ามกลางแฟนคลับสีส้มล้นหลาม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

‘ก้าวไกล’อันดับ 1 กวาด 152 ส.ส.
ประธานกกต.กล่าวว่าสำหรับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 09.00 น. วันที่ 15 พ.ค. ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคการเมืองที่ได้จำนวนส.ส.มากที่สุด ก้าวไกล 113 ที่นั่ง, เพื่อไทยได้ 112 ที่นั่ง, ภูมิใจไทยได้ 67 ที่นั่ง, พลังประชารัฐได้ 39 ที่นั่ง, รวมไทยสร้างชาติ 23 ที่นั่ง, ประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง, ชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง, ประชาชาติ 7 ที่นั่ง, ไทย สร้างไทย 5 ที่นั่ง, เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง และ ชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง

ส่วนแบบบัญชีรายชื่อมีพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ทั้งหมด 17 พรรค ประกอบด้วย ก้าวไกล 39 ที่นั่ง, เพื่อไทย 29 ที่นั่ง, รวมไทยสร้างชาติ 13 ที่นั่ง, ภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง, ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง, ประชาชาติ 2 ที่นั่ง, พลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง, เสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, ไทยสร้างไทย 1 ที่นั่ง, ประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง, ใหม่ 1 ที่นั่ง, ชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง, ท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง, เป็นธรรม 1 ที่นั่ง, ชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง, พลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง และครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง

ร้องเรียน168เรื่อง-ซื้อเสียงมากสุด
นายอิทธิพรกล่าวว่าภาพรวมเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ในมุมมองของกกต.เป็นไปโดยเรียบร้อย แต่ จ.นครปฐม ที่ต้องปิดประกาศงดลงคะแนน 1 หน่วย คือหน่วยที่ 10 หมู่ 8 ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม เนื่องจากถูกพายุฝนทำให้เต็นท์ล้มเสียหาย ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ส่วนการกระทำผิดเลือกตั้ง พบฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราในช่วงที่กฎหมายห้าม 7 ราย ถ่ายรูปบัตรที่เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย

ส่วนคำร้องเรียนจนถึงเวลา 09.00 น วันที่ 15 พ.ค. มีทั้งสิ้น 168 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ 18 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ เช่น ฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในหลายๆ มาตรา เมื่อเทียบกับปี 2562 คำร้องเรียนมีทั้งหมด 592 เรื่อง ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้เกี่ยวข้อง กับการเลือกตั้ง พยายามปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย หวังว่าตัวเลขการร้องเรียนจะไม่สูงขึ้นกว่าปี 2562 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งสาเหตุได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 พ.ค. ที่อำเภอ หรือแอพพลิเคชั่น Smart Vote

ย้ำประกาศรับรองผลใน60วัน
ประธานกกต.กล่าวถึงการประกาศรับรองผลเลือกตั้งว่า ตามกฎหมายกำหนดให้กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 5 วันนี้ จะตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนน จากนั้นจะตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งมีข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ หรือทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่ จะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยทั้งหมดต้องใช้เวลาภายในกรอบ 60 วัน

นายอิทธิพรกล่าวว่าการพิจารณาให้ใบเหลือง และใบแดงนั้น กฎหมายกำหนดว่าก่อนการประกาศผล กกต.มีอำนาจให้เฉพาะใบส้ม หรือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว แต่ถ้าหลังการประกาศผลแล้ว การให้ใบแดง คือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือใบดำ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่า กกต.เห็นว่า ผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดจะต้องเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณา

ยังไม่รีบวินิจฉัย‘พิธา’ถือหุ้นสื่อ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกร้องเรียนเรื่องถือหุ้นสื่อ จะมีผลต่อการรับรองผลเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่าเมื่อเป็นคำร้องที่ยื่นเข้ามาแล้ว ก็เสมอหนึ่งว่ากำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เหมือนกับกระบวนการศาล การจะพูดว่ามีผลหรือไม่มีผล อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับคนที่จะเป็น ผู้พิจารณา

ประธานกกต.กล่าวอีกว่า ดังนั้น ที่แน่ๆ ตอนนี้มีคำร้องแล้วก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามระเบียบ กรรมการจะรับคำร้อง และสืบสวนไต่สวน โดยให้ผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จ เลขาธิการ กกต.ให้ความเห็น คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนก็จะกลั่นกรองก่อนว่า คำร้องนั้นปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ ก่อนจะเสนอกกต. ซึ่งทุกคำร้องก็ปฏิบัติเช่นนี้ ต้องใช้เวลา และถ้าถึงเวลาก็จะประกาศให้ทราบว่าเป็นอย่างไร

คาดมีอีกมาก-ขอนับคะแนนใหม่
ต่อข้อถึงกรณีร้องเรียนว่าเขตบางพลัด กทม. ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ดูการนับคะแนน แล้วนับคะแนนในห้องลับตา นายอิทธิพรกล่าวว่าตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่เรื่องการนับคะแนน แต่เป็นการ นำวัสดุอุปกรณ์มาส่งที่เขตตามขั้นตอนปกติ แต่มีประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดระเบียบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยืนยันว่าไม่ได้นับคะแนนที่เขตบางพลัด เนื่องจากเขตบางพลัดไม่ใช่เขตหลักของเขตเลือกตั้งที่ 33 จึงต้องนับที่ศูนย์รวมการนับคะแนนที่เขตบางกอกน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจในเบื้องต้นแล้ว ว่าเป็นกระบวนการปฏิบัติที่ทำเช่นนี้ทุกหน่วยการเลือกตั้ง

ขณะที่นายแสวง เลขาฯ กกต. กล่าวถึงการประท้วงให้นับคะแนนใหม่ที่เขตลาดกระบัง เนื่องจากผู้สมัครได้คะแนนใกล้เคียงกันว่า น่าจะมีลักษณะเช่นนี้อีกจำนวนมาก แต่การจะคัดค้านว่าการนับคะแนนไม่ชอบนั้น ต้องทักท้วงระหว่างที่กรรมการนับคะแนน อ่าน ขาน ขีด ไม่ใช่เห็นว่าเกิน เพราะการเกิน 1 คะแนน ไม่ได้มีผลต่อความถูกต้องให้ต้องนับคะแนนใหม่ แต่ต้องมีการคัดค้าน และนำเรื่องมาร้องภายหลังการเลือกตั้ง จึงไม่อยากให้ไปมองแค่ว่าคะแนนมากน้อยเท่าไหร่

ตร.จับตามือปืนหลังเลือกตั้ง
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่าได้รับแจ้งเหตุจากกกต.ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. คือ 8 เหตุเท่าเดิม ดำเนินคดีไปแล้ว 4 เหตุ ส่วนใหญ่ฉีกบัตรเลือกตั้ง และความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสุรา อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนว่ามีเจตนาหรือไม่อย่างไร โดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนพื้นที่สำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร รับแจ้งเรื่องมีปริมาณรถหนาแน่น เพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก

ผบ.ตร.กล่าวว่าส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง 4 จังหวัดที่มีการแข่งสูง และอาจจะเกิดเหตุรุนแรงนั้น ยังไม่ได้รับแจ้งว่ามีเหตุอะไร แต่ตำรวจไม่ประมาท เพราะผู้ที่ได้รับผลตามเป้า อาจจะมีเหตุประทุษร้ายต่อชีวิต และทำร้ายร่างกาย จึงเน้นย้ำให้เฝ้าระวังต่อไปอีกสักระยะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจจะไม่พอใจผลคะแนนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีสิ่งบอกเหตุอะไรก็จะเน้นไปที่การป้องปราม เฝ้าระวัง และจับตากลุ่มมือปืนรับจ้างที่อาจจะก่อเหตุหลังเลือกตั้ง โดยประชุมชี้แจงกำชับไปยังทุกพื้นที่แล้วว่าอย่าละเลย เพราะบางพื้นที่ผลการเลือกตั้งไม่เข้าเป้าจะเกิดความโกรธแค้นกันระหว่างหัวคะแนนด้วยกัน ตำรวจก็จะเฝ้าระวังป้องปรามไว้

ขอบคุณ – นายเชตวัน เตือประโคน ว่าที่ ส.ส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล ปั่นจักรยานตระเวนขอบคุณที่ได้รับความไว้วางใจเลือกตั้งด้วยคะแนนอันดับ 1 โดยมีประชาชนแสดงความยินดีและเข้ามาขอถ่ายรูปด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

ตัวตึงก้าวไกลปาร์ตี้ลิสต์เพียบ
สำหรับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กกต.ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ มีพรรค การเมืองได้เก้าอี้ทั้งหมด 17 พรรค แต่ละพรรคมีรายชื่อดังนี้ พรรคก้าวไกล 39 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.นายชัยธวัช ตุลาธน 3.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 4.นายเซีย จำปาทอง 5.นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล 6.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 7.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 8.นายรังสิมันต์ โรม 9.นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล 10.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ 11.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ 12.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 13.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 14.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 15.นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร

16.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 17.นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง 18.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร 19.นายมานพ คีรีภูวดล 20.นาย รอมฎอน ปันจอร์ 21.นายกรุณพล เทียนสุวรรณ 22.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 23.นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี 24.นายศุภโชติ ไชยสัจ 25.น.ส.ศนิวาร บัวบาน 26.นายนิติพล ผิวเหมาะ 27.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ 28.น.ส.ปารมี ไวจงเจริญ 29.นายวรภพ วิริยะโรจน์ 30.นายสุรวาท ทองบุ 31.นายคำพอง เทพาคำ 32.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน 33.นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล 34.นายองค์การ ชัยบุตร 35.น.ส.ชุติมา คชพันธ์ 36.นายจุลพงศ์ อยู่เกษ 37.น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ 38.นายณรงเดช อุฬารกุล และ 39.น.ส.ภคมน หนุนอนันต์

คนดัง-มือเก๋าเพื่อไทยก็ติดอื้อ
พรรคเพื่อไทย 29 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 2.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 3.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง 4.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 5.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 6.นายเกรียง กัลป์ตินันท์ 7.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 8.นายสุชาติ ตันเจริญ 9.นายสุทิน คลังแสง 10.นายชัยเกษม นิติสิริ 11.นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน 12.นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ 13.นายจาตุรนต์ ฉายแสง 14.นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร 15.นายนพดล ปัทมะ 16.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 17.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ 18.นายอดิศร เพียงเกษ 19.นายนิคม บุญวิเศษ

20.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล 21.น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล 22.นางประวีณ์นุช อินทปัญญา 23.นายสุรเกียรติ เทียนทอง 24.นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ 25.นายดนุพร ปุณณกันต์ 26.นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด 27.พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี 28.นายสุธรรม แสงประทุม และ 29.น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณ วัชรโรจน์

‘วันนอร์-ทวี’นำทีมประชาชาติ
พรรครวมไทยสร้างชาติ 13 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 2.นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ 3.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 4.หม่อมหลวง ชโยทิต กฤดากร 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น 6.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 7.นายวิทยา แก้วภราดัย 8.นายชัชวาลล์ คงอุดม 9.นายจุติ ไกรฤกษ์ 10.นายธนกร วังบุญคงชนะ 11.นายเกรียงยศ สุดลาภา 12.นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง และ 13.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์

พรรคภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และ 3.นายทรงศักดิ์ ทองศรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 2.นายชวน หลีกภัย และ 3.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ด้านพรรคประชาชาติ 2 ที่นั่ง ประกอบด้วย 1.นายวัน มูหะมัดนอร์ มะทา และ 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

เปิดชื่อคนดังหลุดปาร์ตี้ลิสต์
ส่วนพรรคที่ได้ 1 ที่นั่ง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, พรรคประชาธิปไตยใหม่ นายสุรทิน พิจารณ์, พรรคใหม่ นาย กฤดิทัช แสงธนโยธิน, พรรคชาติพัฒนากล้า นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล, พรรคท้องที่ไทย นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล, พรรคเป็นธรรม นายกัณวีร์ สืบแสง, พรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา, พรรคพลังสังคมใหม่ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายปรีดา บุญเพลิง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีคนดังไม่ติดอันดับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หลายราย อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายอนุชา บูรพชัยศรี และนายเสกสกล อัตถาวงศ์ รวมถึงพล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายนิพนธ์ บุญญามณี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร น.ส.วทันยา บุนนาค และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นาย อุตตม สาวนายน นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

อดีตส.ส.ปชป.สอบตกกราวรูด
สำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เพียง 3 คน คือนายจุรินทร์ อดีตหัวหน้าพรรค นายชวน และนายบัญญัติ ส่วนที่ไม่ได้ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรค, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแล กทม., นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคเหนือ, นายไชยยศ จิรเมธากร รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคอีสาน, น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร, น.ส. วทันยา บุนนาค, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือดร.เอ้, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม, นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล, นายสุรบถ หลีกภัย ลูกชายนายชวน และนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข เป็นต้น

ขณะที่ส.ส.เขตที่พลาดโอกาสได้กลับมาเป็นส.ส. อาทิ นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคดูแลภาคกลาง และรมช.สาธารณสุข สอบตกส.ส.ระยอง, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สอบตกส.ส.ตรัง, นายชินวรณ์ บุณญเกียรติ สอบตกส.ส.นครศรีธรรมราช, นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค สอบตกส.ส.เพชรบุรี, นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ สอบตกส.ส.สุราษฎร์ ธานี เป็นต้น

‘จุรินทร์’ลาออกหัวหน้าปชป.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลางดึกวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 23.30 น. หลังเริ่มทราบผลการนับคะแนน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยแสดงความขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมานายจุรินทร์ส่งข้อความผ่านไลน์กลุ่มของพรรค ระบุว่า “ขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคน

ขอขอบคุณท่านเลขาธิการพรรค ท่านชวน ท่านบัญญัติ ท่านอภิสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค คณะทำงานทุกชุด เพื่อนส.ส. กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคทุกๆ ท่าน ที่ช่วยกันทำหน้าที่สุดความสามารถด้วยความซาบซึ้งใจยิ่ง พร้อมกันนี้ขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด พร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ” นายจุรินทร์ระบุ

ชาติพัฒนาฯสูญพันธุ์โคราช
ส่วนผลการเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่จ.นครราชสีมา พ.ต.ท.ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ ผอ.กกต.นครราชสีมา แถลงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า เขต 1 นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ พรรคก้าวไกล ชนะนายเทวัญ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า น้องชายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า, เขต 2 นายปิยชาติ รุจพรวศิน ก้าวไกล ล้มแชมป์ 4 สมัย นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ชาติพัฒนากล้า, เขต 3 นาย ศุทธสิทธิ์ พจน์ธศักดิ์ ชนะนายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา ชาติพัฒนากล้า

เขต 4 น.ส.ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ เพื่อไทย ชนะนายสมบัติ กาญจนวัฒนา ชาติพัฒนากล้า, เขต 5 นายสมเกียรติ ตันติลกตระกูล เพื่อไทย ชนะแชมป์เก่า นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ พลังประชารัฐ ลูกชายนายวิรัช รองหัวหน้าพลังประชารัฐ, เขต 6 นายโกศล ปัทมะ เพื่อไทย ชนะนางอรทัย พลวิเศษ พลังประชารัฐ, เขต 7 น.ส.ปิยะนุช ยินดีสุข เพื่อไทย ชนะแชมป์เก่า นางทัศนียา รัตนเศรษฐ พลังประชารัฐ ภรรยานายวิรัช

ตระกูล‘รัตนเศรษฐ’แพ้เรียบวุธ
เขต 8 นายนิกร โสมกลาง เพื่อไทย ชนะน.ส.อรัชมน รัยนวราหะ พลังประชารัฐ, เขต 9 นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ภูมิใจไทย ชนะนายธีระยุทธ ตัณติกุล เพื่อไทย, เขต 10 นายอภิชา เลิศพชรกมล เพื่อไทย ชนะนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ภูมิใจไทย, เขต 11 นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล เพื่อไทยชนะแชมป์เก่า นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ภูมิใจไทย, เขต 12 นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล เพื่อไทย ชนะแชมป์เก่า นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ภูมิใจไทย

เขต 13 นายพชร จันทรรวงทอง เพื่อไทย ลูกชายนายประเสริฐ เลขาฯ พรรคเพื่อไทย ชนะส.อ.ศุภวัฒน์ พันธ์นัทธีร์ ก้าวไกล, เขต 14 นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ เพื่อไทย ชนะนายสาธิต ปีติวรา ก้าวไกล, เขต 15 นายรชตะ ด่านกุล เพื่อไทย ชนะแชมป์เก่า นายวิสิทธิ์ ทิทยาภรณ์ ภูมิใจไทย และเขต 16 นายพรเทพ ศิริโรจนกุล เพื่อไทย ชนะนายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ลูกชายนายวิรัช

‘โจ้-ยุทธพงศ์’สอบตก‘สารคาม’
ขณะที่ จ.มหาสารคราม น.ส.จุฑามาศ จันโท ผอ.กกต.มหาสารคาม แถลงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า เขต 1 นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย, เขต 2 นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ พรรคเพื่อไทย, เขต 3 นายลัทธิชัย โชคชัยวัฒนากร พรรคภูมิใจไทย, เขต 4 นายสรรพภัญญู ศิริไปล์ พรรคเพื่อไทย, เขต 5 นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ พรรคเพื่อไทย และเขต 6 นายรัฐ คลังแสง พรรคเพื่อไทย ลูกชายนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ไปลงส.ส.บัญชีรายชื่อแทนส.ส.เขต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขตเลือกตั้ง ที่ 3 อ.พยัคฆภูมิพิสัย อ.นาดูน และอ.ยางสี สุราช แต่เดิมนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หรือเสี่ยโจ้ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์เก่า นั่งส.ส.มาแล้ว 3 สมัย เคยเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ ดูแลพื้นที่ไม่ขาด แต่ครั้งนี้สอบตก แพ้นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร ภูมิใจไทย ลูกชายนายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร อดีตส.ส.บัญชี รายชื่อ ภูมิใจไทย และอดีตรมช.คมนาคม ซึ่งขยันลงพื้นที่ ทิ้งขาดนับหมื่นคะแนน

พท.ศรีสะเกษโค่นแชมป์‘ภท.’
ด้าน จ.ศรีสะเกษ ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เขต 1 นายธเนศ เครือรัตน์ เพื่อไทย, เขต 2 นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ เพื่อไทย, เขต 3 นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ภูมิใจไทย, เขต 4 นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ เพื่อไทย, เขต 5 นายอมรเทพ สมหมาย เพื่อไทย, เขต 6 นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ เพื่อไทย, เขต 7 น.ส. วิลดา อินฉัตร เพื่อไทย, เขต 8 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ภูมิใจไทย และเขต 9 นาง นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร เพื่อไทย

จากผลการเลือกตั้งดังกล่าว ปรากฏว่าแชมป์เก่าแพ้เลือกตั้ง ประกอบด้วย เขต 1 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ภูมิใจไทย, เขต 3 นายวิวัฒน์ไชย โหตระไวศยะ เพื่อไทย, เขต 4 นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ภูมิใจไทย ภรรยานพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีตส.ส. ศรีสะเกษ, เขต 5 นายธีระ ไตรสรณกุล ภูมิใจไทย และเขต 9 นายปวีณ แซ่จึง ภูมิใจไทย สรุปแล้วพรรคเพื่อไทยชนะ 7 เขต พรรคภูมิใจไทย 2 เขต

‘รังสิมา’วางมือ-แพ้‘ก.ก.’ยับเยิน
ส่วน จ.สมุทรสงคราม ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี หรือเจ๊โอ๋ อดีตส.ส. 5 สมัย ที่เคยสร้างความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการบุกขึ้นไปบัลลังก์และลากเก้าอี้ประธานสภา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ปรากฏว่าถูกนักการเมืองรุ่นใหม่ล้มช้างแบบหักปากกาเซียน แพ้ยับเยินให้แก่นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย พรรคก้าวไกล ได้ 42,852 คะแนน ส่วนน.ส.รังสิมาได้เพียง 21,939 คะแนน

น.ส.รังสิมากล่าวว่ายอมรับความพ่ายแพ้ ขอวางมือทางการเมือง หันไปทำธุรกิจบ้านจัดสรร และขายหอยดองแช่แข็ง ขณะนี้กำลังสร้างโรงงาน โดยไม่ลงไปเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากเคยอยู่ในสนามระดับชาติมาแล้ว แต่น้องชายอาจจะลงสมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม

เชียงใหม่แตก-ก้าวไกลยึด 7 เขต
ส่วนผู้สมัครส.ส. ซึ่งเป็นบุคคลในตระกูลการเมืองที่ยึดครองพื้นที่แต่ละจังหวัดมาอย่างยาวนาน หรือเรียกกันว่า “บ้านใหญ่” พ่ายแพ้หลายพื้นที่ ขณะเดียวกัน ผู้สมัครส.ส.จากพรรคก้าวไกลก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ชนะล้มช้างแชมป์เก่า และโค่นบ้านใหญ่ได้หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ นครราชสีมา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และภูเก็ต

โดยเฉพาะสนามเลือกตั้ง จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดและฐานใหญ่นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกฯ ปรากฏว่าผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลชนะได้มากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 2 เขต จากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เขต 5 และนายศรีโสภา โกฏคำลือ เขต 10 และพรรคพลังประชารัฐได้ 1 เขต จากนายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เขต 9 ชนะนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตส.ส. 8 สมัย พรรคเพื่อไทย

โค่น‘อัศวเหม’ยกจังหวัด 8เขต
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า อีกสนามเลือกตั้งที่น่าสนใจคือ จ.สมุทรปราการ ผู้สมัครส.ส. พรรคก้าวไกลล้มบ้านใหญ่ปากน้ำ เอาชนะ ยกจังหวัดทั้ง 8 เขต และผู้สมัครส.ส.ก้าวไกลส่วนใหญ่เป็นหน้าใหม่ ประกอบด้วย น.ส. พนิดา มงคลสวัสดิ์ เขต 1, น.ส.รัชนก สุขประเสริฐ เขต 2, นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ เขต 3, นายวุฒินันท์ บุญชู เขต 4, น.ส.นิตยา มีศรี เขต 5, นายวีรภัทร คันธะ เขต 6, นาย บุญเลิศ แสงพันธุ์ เขต 7 และนายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ เขต 8

ขณะที่ผู้สมัครส.ส.จากบ้านใหญ่ ตระกูลอัศวเหม ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐสอบตกทั้งหมด ได้แก่ นายอัครวัฒน์ อัศวเหมเขต 1, นายวรพร อัศวเหม เขต 4 และนาย ต่อศักดิ์ อัศวเหม เขต 7 รวมไปถึงนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก เขต 8 ซึ่งการเลือกตั้ง ครั้งนี้ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3

‘ส.ส.งูเห่า’ตายเกลี้ยงทั้งฟาร์ม
สำหรับอดีตส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ที่ถูกดูดไปสังกัดพรรคใหม่ หรือส.ส.งูเห่า และลงสมัครับเลือกตั้งครั้งแล้วสอบตกมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ นายคารม พลพรกลาง ผู้สมัครส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 6 ภูมิใจไทย, นพ.เอกภพ เพียงพิเศษ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 1 ภูมิใจไทย, นายพีรเดช คำสมุทร ผู้สมัครส.ส.เชียงราย เขต 6 ภูมิใจไทย, น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ผู้สมัครส.ส.ชลบุรี เขต 4 พลังประชารัฐ, นายขวัญเลิศ พานิชมาท ผู้สมัครส.ส.ชลบุรี เขต 6 ภูมิใจไทย, นางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครส.ส.เชียงใหม่ เขต 9 ภูมิใจไทย, นายเอกการ ซื่อทรงธรรม ผู้สมัคร ส.ส.แพร่ เขต 2 ภูมิใจไทย

นายกฤติเดช สันติวชิระกุล ผู้สมัคร ส.ส.แพร่ เขต 3 ภูมิใจไทย, นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ผู้สมัครส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 ภูมิใจไทย, นายฐิตินันท์ แสงนาค ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 1 ภูมิใจไทย, ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ผู้สมัครส.ส.กทม. เขต 22 ภูมิใจไทย, นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 26 ภูมิใจไทย, นายอนาวิล พรรคภูมิใจไทย ผู้สมัครส.ส.ปทุมธานี เขต 3 ภูมิใจไทย, น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 4 พลังประชารัฐ, พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ผู้สมัครส.ส.จันทบุรี เขต 1 รวมไทยสร้างชาติ และนายจารึก ศรีอ่อน ผู้สมัครส.ส.จันทบุรี เขต 2 รวมไทยสร้างชาติ

‘ป้อม’ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเดียว‘พปชร.’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อคือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลำดับที่ 1 เพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือระดับแกนนำไม่ได้ อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค ลำดับ 2, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค ลำดับ 3, นายอุตตม สาวนายน ลำดับ 5, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ลำดับ 6, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำนโยบาย ลำดับ 7, นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค ลำดับ 9, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลำดับ 10 นายสกลธี ภัททิยกุล รายชื่อลำดับ 11 และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ลำดับ 12,

นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อบุคคลใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาทิ นายบุญสิงห์ วารินทร์รักษ์ คนสนิท อยู่รายชื่อลำดับ 13, น.ส.ธนพร ศรีวิราช ภรรยาร.อ.ธรรมนัส รายชื่อลำดับ 16, นายธนสาร ธรรมสอน ลำดับ 28, นายสุธีพงษ์ เพียรชอบ ลำดับ 29 รวมถึงนายอภิชัย เตชะอุบล ลำดับ 18, นายปัญญา จีนาคำ ลำดับ 20, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ลำดับ 22, นางภัทธมน เพ็งส้ม ภรรยานายทศพล เพ็งส้ม ลำดับ 45 เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน