ยันไม่จำเป็นปิดเรียนนร.ป่วยต้องแยกห้องจับตา‘FU.1’ระบาดเร็ว ย้ำผู้สูงวัย-ฉีดกระตุ้น

สธ.คุมโควิดระบาดช่วงเปิดเทอม ประสานศธ. เฝ้าระวัง ระบุหากเด็กนักเรียนติดเชื้อ อาการ ไม่มาก ไม่ต้องหยุดเรียน ให้จัดห้องเรียนแยกต่างหาก ไม่กินอาหารร่วมกับเพื่อน อาจให้เรียนออนไลน์ตามมาตรการของโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่ห่วงเด็กนำเชื้อไปติดคนที่บ้าน ขณะที่กรมวิทย์จับตาสายพันธุ์ FU.1 แพร่ได้เร็วมาก ไทยพบป่วยแล้ว แต่ไม่รุนแรง ชี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคนถอดแมสก์ มีกิจกรรมมากขึ้น แนะผู้สูงวัย กลุ่มเสี่ยงฉีดเข็มกระตุ้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า วันนี้เปิดเทอมวันแรก ดังนั้นกลุ่มเด็กจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคมีข้อแนะนำผ่านกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปถึงโรงเรียน หากพบเด็กที่มีอาการขอให้ตรวจ ATK โดยเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ขึ้นอยู่กับมาตรการของโรงเรียนนั้นว่า หากไม่มีอาการมาก สามารถแยกห้องเรียน หรือแยกไม่ให้กินอาหารร่วมกับเพื่อน หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก็สามารถแยกห้องในการเรียนการสอนหรือเรียนออนไลน์ได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานการณ์และโรงเรียนจะออกมาตรการ

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การรับประทานอาหาร หากเป็นเด็กเล็กก็จะมีกิจกรรมเล่นกัน ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรายงานการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ประปรายเข้ามา ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด อย่างโรงเรียนจะเป็นระดับประถมศึกษา แต่กลุ่มเด็กไม่ได้น่าห่วงมากในเรื่องความรุนแรง เพราะอาการไม่มากและหายได้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานจะนำเชื้อไปติด หากมีโรคประจำตัว ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน หรือเข็มกระตุ้นก็จะเสี่ยงอาการรุนแรงและอันตรายได้ ดังนั้นผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อขอให้เข้าร.พ.เพื่อรักษาตัวจะดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีกินอาหารในร้านอาหารหรือบุฟเฟต์ต่างๆ มีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น หากเรามีภูมิคุ้มกันก็จะช่วยเรื่องป้องกันอาการรุนแรงได้

“ขณะนี้สถานการณ์โควิดกำลังขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น คนถอดหน้ากาก มีกิจกรรมกันมากมาย ภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง เพราะฉีดวัคซีนมานาน หลายคนฉีดวัคซีนเกิน 1 ปีหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม ดังนั้นยังจำเป็นมีมาตรการ อาทิ 1.ต้องการให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน เรียกว่าสูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะเป็นโอมิครอนที่ทำให้มีอาการน้อยก็ตาม แต่หากภูมิคุ้มกันน้อย และเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อภูมิคุ้มกันไม่พอก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว จึงต้องรณรงค์ต่อเนื่องให้กลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ LAAB 2.กรณีกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเป็น กลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อ ขอให้รีบไปพบแพทย์ ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้ทัน และ 3.เฝ้าระวังต่อเนื่องในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นคลัสเตอร์หรือกลุ่มต่างชาติ ขณะนี้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลร่วมกัน หากมีคลัสเตอร์หรือกลุ่มชาว ต่างชาติเข้ามาก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์ อย่างกรณีชาวต่างชาติได้ร่วมกับร.พ.เอกชนส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน สำหรับตอนนี้โควิดยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ ซึ่งเราก็ติดตามต่อเนื่อง” นพ.จักรรัฐกล่าว

ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. กล่าวถึงกรณี ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตาม “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16 ซึ่งเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบป่วยแล้ว 1 คนนั้นว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ รายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโลก หรือ GISAID ซึ่งกรมติดตามและสุ่มตรวจถอดรหัสสายพันธุ์อยู่ต่อเนื่อง เท่าที่ติดตาม แม้จะมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรค จนส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมาก

“การแพร่ระบาดเร็วอาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมของผู้คนที่มากขึ้น คนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เนื่องจากบางคนเห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่อยากให้กังวล เพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปหลายสายพันธุ์จำนวนมาก กรมยังติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง” นพ.ศุภกิจกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน