7วันติดเชื้อ2พัน ชี้ไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะใส่หน้ากาก หมอศิริราชห่วงเตียงคนไข้เต็ม

โควิดคร่าอีก 64 รายในรอบสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 7 ราย เกินครึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนป่วยก็พุ่งเกิน 2 พัน ใส่ท่อช่วยหายใจอีก 226 ชี้เหตุโควิดเข้าสู่ฤดูระบาดหน้าฝน ขณะที่สสจ.ชลบุรีระบุยอดติดเชื้อพุ่งเกินหมื่น ตายเพิ่ม 12 ราย หมอศิริราชเตือนป่วยโควิดเข้ารักษาในร.พ.เพิ่มขึ้น มีทั้งผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบาง และเด็ก เสียชีวิตพุ่งร้อยละ 200 ร.พ.ศิริราชรับคนไข้วิกฤตตึงมือแตะ 500 เตียง ชี้เหตุคนทำกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระวัง แนะหลีกเลี่ยงรวมกลุ่มในที่สาธารณะ และใส่หน้ากาก

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.2566 ระบุว่า ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 2,632 ราย เฉลี่ยรายวัน 376 ราย, ผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยรายวัน 7 ราย/วัน, ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 จำนวน 15,069 ราย, เสียชีวิตสะสม 384 ราย, ผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยและ เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้น สอดคล้องกับที่กรมฯ คาดการณ์ไว้ โดยช่วงนี้เป็นช่วงขาขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงการเปิดภาคเรียน ซึ่งมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก และเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน และลักษณะของโรคโควิด-19 ก็มีลักษณะการระบาดตามฤดูกาล สำหรับผู้เสียชีวิต 64 ค นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ถึงร้อยละ 50 และผู้ป่วยที่รับวัคซีน 2 เข็มแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเป็นเวลานาน อีก ร้อยละ 30 คำแนะนำของกรมควบคุมโรคคือขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน และช่วงนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ฤดูฝน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ได้แก่สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เมื่อเข้าไปในพื้นที่แออัดควรสวมหน้ากากอนามัย ที่สำคัญ หากเข้าใกล้ผู้สูงอายุขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผู้สูงอายุ

เมื่อถามถึงกรณีผู้เสียชีวิตสูงขึ้น มีสาเหตุจากการชะล่าใจหรือเข้าใจผิด คิดว่าอาการป่วยเป็นโรคไข้หวัดหรือไม่ ทำให้ไม่ได้ไปพบแพทย์รักษาโรคโควิด นพ.ธเรศกล่าวว่า กรมฯ ยังไม่ได้สอบสวนโรคลงลึกในรายละเอียดขนาดนั้น แต่มี คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุว่าขอให้ไปรับวัคซีนป้องกันโรค โดยขณะนี้มีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนคู่ทั้งป้องกันโควิดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งฉีดพร้อมกันได้ และกรณีผู้สูงอายุมีอาการ ขอให้ตรวจ ATK หากพบว่าขึ้น 2 ขีดให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ และเตียง โดยอัตราการครองเตียงก็ยังรองรับผู้ป่วยได้อยู่

ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) รายงานสถานการณ์โควิด 19 จ.ชลบุรี ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.66 พบผู้ป่วยโควิด 10,648 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 12 ราย มีดังนี้ รายที่ 1 เพศหญิง อายุ 69 ปี โรคประจำตัว โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 27 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 13 พ.ค. ประวัติไม่ได้ฉีดวัคซีน รายที่ 2 เพศชาย อายุ 88 ปี โรคประจำตัว ต่อมลูกหมากโต ภาวะโลหิตจาง ประวัติเสี่ยง ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 12 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 14 พ.ค. ประวัติฉีดวัคซีน เข็ม 1 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 และเข็ม 2 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 รายที่ 3 เพศชาย อายุ 44 ปี โรคประจำตัว ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ประวัติเสี่ยงไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 2 พ.ค. และเสียชีวิต วันที่ 15 พ.ค. ไม่ได้ฉีดวัคซีน รายที่ 4 เพศชาย อายุ 90 ปี โรคประจำตัว ต่อมลูกหมากโต ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 7 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 14 พ.ค. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 เมื่อวันที่ 21 ก.ค.64, เข็ม 2 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64, เข็ม 3 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 64 และเข็ม 4 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 65

รายที่ 5 เพศหญิง อายุ 74 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ไตวายระยะ 4 ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 12 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64, เข็ม 2 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.65 และเข็ม 3 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 รายที่ 6 เพศชาย อายุ 51 ปี โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประวัติเสี่ยงไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 6 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 16 พ.ค. ไม่ได้ฉีดวัคซีน รายที่ 7 เพศชาย อายุ 73 ปี โรคประจำตัว โรคหัวใจ ประวัติเสี่ยงไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 29 เม.ย. เสียชีวิต วันที่ 15 พ.ค. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 และเข็ม 2 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64

รายที่ 8 เพศชาย อายุ 64 ปี โรคประจำตัว จิตเวช ประวัติเสี่ยง ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 16 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 18 พ.ค. ไม่ได้ฉีดวัคซีน รายที่ 9 เพศชาย อายุ 79 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 29 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 18 พ.ค. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64, เข็ม 2 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 และเข็ม 3 วันที่ 18 ก.พ.65 รายที่ 10 เพศชาย อายุ 85 ปี โรคประจำตัว ไตวายระยะ 4 ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 9 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค. ฉีดวัคซีน เข็ม 1 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64, เข็ม 2 เมื่อวันที่ 23 ก.ย.64, เข็ม 3 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 64, เข็ม 4 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 65 และเข็ม 5 วันที่ 20 ส.ค. 65 รายที่ 11 เพศหญิง อายุ 75 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เริ่มป่วยวันที่ 13 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 วันที่ 4 ส.ค.64 และเข็ม 2 วันที่ 25 ส.ค. 64 และ รายที่ 12 เพศชาย อายุ 66 ปี โรคประจำตัว ปฏิเสธโรคประจำตัว ประวัติเสี่ยง ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เริ่มป่วยวันที่ 10 พ.ค. เสียชีวิตวันที่ 18 พ.ค. ไม่ได้ ฉีดวัคซีน

ด้านรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ขอเตือนกันดังๆ อีกครั้งว่า อย่ามัวสนใจกันแต่เรื่องจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ศึกโควิดที่ทำท่าจะซบเซาไปแล้ว กำลังกลับมาโงหัวฟาดหางประเทศเราเป็นการใหญ่ ณ บ้านริมน้ำ ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรอรับเข้าโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้นใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางแล้ว เริ่มมีผู้ป่วยเด็กให้เห็นประปรายด้วย ในภาพรวมประเทศสัปดาห์ล่าสุดที่ 20 ของปี ยังมีการเพิ่มขึ้นไปต่อของยอดผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 19 ก่อนหน้าราวร้อยละ 12, 26, และ 39 ตามลำดับ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตซึ่งพุ่งตามหลังมาเพิ่มขึ้นไปถึง ร้อยละ 200 ที่ต้องระวังคือยอดผู้ป่วยอาการหนักสะสมรวมเข้าใกล้แนวรับศักยภาพ ตึงมือภาคการแพทย์ที่ 500 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตก็ใกล้จะถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวันแล้วเช่นกัน

ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผู้คนมีกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระมัดระวังกันมากขึ้น ส่วนปัจจัยรองอาจมาจากสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายที่สืบตระกูลของโอมิครอน XBB ซึ่งถือโอกาสรุกคืบเข้ายึดครองตลาดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากวัคซีนของคนไทยเราเริ่มตกลง แถมยังเป็นช่วงที่มี การเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างหนักทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากในที่สาธารณะช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยง และขอให้เคร่งครัดการใส่หน้ากากในพื้นที่ที่การระบายอากาศ ไม่ดี”

วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขอรับการสนับสนุนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในช่วงโควิด 19 ว่า ที่ผ่านมา สธ.ได้หารือกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลางกว่า 3 พันล้านบาทมาจัดสรรเป็นค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด 19 ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดสธ.ทุกสายงาน แต่มี ข้อติดขัดเรื่องเอกสารหลักฐานในการเบิกจ่ายของหน่วยงานนอกสังกัด สธ.ยังไม่ครบถ้วน ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา สธ.ทำหนังสือถึงผอ.สำนักงบประมาณ เรื่องรายละเอียดประกอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดสรรเป็นค่าเสี่ยงภัยลำดับแรก

โดยมีข้อเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้ 1.จัดสรรให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่าง ก.ค. 2564 – ก.ย. 2565 หรือถึงช่วงสิ้นสุดการประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศไทย จำนวน 6,745,641,640.41 บาท 2.จัดสรรให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่าง ก.ค. 2564 – มิ.ย. 2565 หรือจนถึงช่วงที่ประเทศไทยประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค. 2565 จำนวน 3,180,738,958.44 บาท 3.จัดสรรภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค โควิด 19 จำนวน 3 พันล้านบาท โดยให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่าง ก.ค. 2564 – พ.ค. 2565 จำนวน 2,816,089,333.28 บาท และ มิ.ย. 2565 เป็นระยะเวลา 15 วัน จำนวน 183,910,666.72 บาท

“ขั้นตอนต่อจากนี้ อยู่ที่สำนักงบประมาณในการพิจารณาว่าจะเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลางตามแนวทางใด และนำเสนอต่อไปยังครม.รักษาการให้ความเห็นชอบต่อไป หากพิจารณาให้จ่ายภายใต้กรอบวงเงิน 3 พันล้านบาทที่จะจ่ายได้ถึงช่วง มิ.ย.2565 เป็นเวลา 15 วัน ส่วนที่เหลือจนถึงก.ย. 2565 จะต้องรอรัฐบาลใหม่จึงจะดำเนินการอีกครั้ง” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน