เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณี ร.พ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประกาศแจ้งขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เต็มทุกห้อง แผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มได้ว่า ร.พ.บางแห่งจะมีเตียงผู้ป่วย โควิดอยู่จำกัด และได้มีการปรับเตียงไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์จริงกับ ร.พ.ในสังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. ได้แก่ ร.พ.ราชวิถี ร.พ.เลิดสิน ร.พ.นพรัตนราชธานี สถาบันโรคทรวงอก พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมานอน ร.พ.เพิ่มขึ้น แต่ ร.พ.สามารถบริหารจัดการเตียงได้ดี โดยเดิมเคยมีศักยภาพเตียงจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับไปดูแลผู้ป่วยหนักโรคอื่นแล้ว ให้กลับมารับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนอยู่ใน ร.พ.เป็นสาเหตุจากมีโรคร่วม และจัดอัตรากำลังพยาบาลตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะขยายเตียงได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ICU และเตียงผู้ป่วยหนักระดับอื่น จึงไม่มีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง

“ขอแนะนำว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด-19 ที่ ร.พ.ได้ทุกแห่ง เพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี โดยเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 90% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้ไม่ครบทั้งนั้น” นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยใน ร.พ.ที่ลงทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศพบว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาใน ร.พ.สะสม 2,527 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 22.41 แบ่งเป็น กลุ่มไม่มีอาการ 240 ราย คิดเป็น 9.7% กลุ่มอาการน้อย 687 ราย คิดเป็น 27.8% กลุ่มอาการปานกลาง 1,146 ราย คิดเป็น 46.30% กลุ่มอาการหนัก 402 ราย คิดเป็น 16.2% และกลุ่มที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 278 ราย คิดเป็น 11.2% ดังนั้น กรมการแพทย์ขอเน้นย้ำว่า ร.พ.ส่วนใหญ่ยังคงมีเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งยา และเวชภัณฑ์เพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ตามปกติ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมการแพทย์และเครือข่ายมีการบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยหนักร่วมกันได้ถ้าจำเป็นต้องส่งรักษาต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน