ตั้งศูนย์ฉุกเฉิน-ภูเก็ตท้องร่วง – เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการระบาดของโรคอุจจาระร่วงในจ.ภูเก็ต ส่งผลให้เมื่อคืนมีผู้ป่วยจำนวนมากแห่เข้ารักษาในร.พ.ว่า รับทราบสถานการณ์แล้วว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้ให้ตรวจสอบข้อมูลและดูข้อมูลทางระบาดวิทยาให้ชัดเจนว่าจุดที่เป็นปัญหาคือจุดไหน กลุ่มไหนอย่างไร เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส

ประมาณการว่าอาจมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข จึงได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ภูเก็ต เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพราะมาตรการคงทำทุกระบบควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมายเรื่องสุขาภิบาล ห้องน้ำ ความสะอาด เรื่องอาหารต่างๆ ต้องใช้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเรื่องการรักษาพยาบาล แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขที่ใหญ่โตมากขึ้น

หาสาเหตุ – เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข เก็บตัวอย่างน้ำกิน-น้ำใช้ และน้ำแข็ง ในพื้นที่จ.ภูเก็ต ไปตรวจสอบ หลังประชาชนทั้งเด็กผู้ใหญ่เกิดอาการท้องร่วง จำนวนมากจนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า นพ.สสจ.ภูเก็ต ส่งทีมควบคุมโรคออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 (สคร.) นครศรีธรรมราช พบมีผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 6-8 มิ.ย. 2566 เข้ารับบริการในร.พ.ภาครัฐแต่ละแห่ง เฉลี่ย 50 ราย/วัน ร.พ.เอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ หลายพื้นที่ทั้ง อ.เมือง กะทู้ ถลาง รวมทั้งพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าร.พ.มีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ แต่ไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งประวัติอาหารและความเชื่อมโยง จึงมีการเก็บตัวอย่างจากน้ำแข็ง น้ำใช้ อาเจียนและอุจจาระผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน