เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันชุมนุม หมายเลขดำอ.2608/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 1, นายทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ จำเลยที่ 3 กับพวกรวมทั้งหมด 18 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายฯ ตามพ.ร.ก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548ฯ

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 18 คนร่วมกัน และแยกกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทโดยร่วมกับพวกรวมประมาณ 50 คน ชุมนุมมั่วสุมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณหน้า สน.ทุ่งสองห้อง โดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีโอกาสติดต่อสัมผัสเชื้อโรค ไม่มีมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้พวกจำเลยยังได้ใช้สีสาดใส่ป้ายชื่อ สน.ทุ่งสองห้อง ผนังตึกอาคาร พื้นทางขึ้น สน.ทุ่งสองห้องได้รับความเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องขยายเสียงสั่งการ ยุยง ชักชวน ส่งเสริม ให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำผิดโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งพวกจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว

โดยในวันนี้จำเลยทุกคนเดินทางมาศาล ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 18 และบุคคลอื่นอีกรวมกัน 29 คน ถูกคุมขังในคดีอื่นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ต่อมามีการขอปล่อยชั่วคราวและศาลอนุญาต จากนั้นจึงนัดมาปล่อยตัวชั่วคราว ที่สน.ทุ่งสองห้อง โดยมีการนำจำเลยและผู้ต้องหาอื่นนั่งรถ 6 ล้อมาด้วยกัน เมื่อถึงสน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจได้แจ้งให้มารับรถของพวกจำเลยที่ถูกตำรวจยึดไว้จำนวน 7 คัน ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.2564 ซึ่งระหว่างรอรับรถต้องใช้เวลาตรวจสอบ และ จำเลยทั้ง 18 คนจะรอรับรถเพื่อจะนั่งไปด้วยกัน และจะไปชุมนุมกันต่อที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จำเลยที่ 1 ได้ผลัดกับเพื่อปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการปราศรัยดังกล่าวอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไม่มีพฤติการณ์ก่อความวุ่นวาย ไม่ได้เป็นการจัดการชุมนุม อีกทั้งกลุ่มจำเลยใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างพอสมควร จึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ต่อมาเมื่อได้รับรถยนต์แล้วก่อนกลับได้มีการนำสีแดงมาสาดบริเวณ รั้ว ป้าย บันไดหน้าอาคาร สน.ทุ่งสองห้อง เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ได้เป็นไปตามการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เป็นการทำให้สถานที่ราชการเกิดเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่เหมาะสม โดยมีพยานโจทก์ระบุว่า นายจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้สาดสี ซึ่งตรงกับหลักฐานภาพถ่าย แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการ แต่มีพยานและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์ด้วยตลอด เจือสมกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าเป็นสีน้ำ ล้างออกง่าย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.360 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ให้ชำระค่าปรับ หากไม่ชำระค่าปรับให้ปฏิบัติตาม มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2, 4-18 และข้อหาอื่นให้ยก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน