มติ‘ก.ค.ศ.’ปรับระดับใหม่ ให้ชัดเจน-สมกับที่ทำผิด สกัดคดีกระทำอนาจารพุ่ง ให้ความเป็นธรรมกับเด็ก ถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่

เข้มโทษ ‘ไล่-ปลดออก’ เท่านั้น ครูล่วงละเมิดทางเพศน.ร.-น.ศ. โดย มติก.ค.ศ.ให้ปรับเพิ่มเป็นความผิดวินัยร้ายแรงมาก รมต.ตรีนุชชี้เหตุพิจารณาปรับเป็นโทษขั้นสูงสุด จากปัญหามีนักเรียนถูกละเมิด มากขึ้น การลงโทษวินัยขรก.ครูต้องนำระเบียบ ก.พ. มาบังคับใช้ด้วย แต่ไม่มีบทลงโทษกรณีละเมิดทางเพศ ส่วนที่ศธ.กำหนดโทษไว้ ก็มีแนวปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.ขรก.ครูฯ ขณะที่เลขาฯ ก.ค.ศ. ชี้การกำหนดโทษครูเฉพาะเจาะจงกรณีล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำ ให้ตัดสินลงโทษได้อย่างเป็นธรรมและชัดเจน

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิด ทางเพศต่อผู้เรียน หรือนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของตนหรือไม่

ทั้งนี้นโยบายเรื่องความปลอดภัยใน สถานศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยขณะนี้ต้องยอมรับว่า มีกรณีนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางก.ค.ศ. จึงออกระเบียบเพิ่มมาตรฐานโทษให้รุนแรงขึ้น เนื่องจากการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูที่ผ่านมา ต้องนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกรณีข้าราชการครูล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษากำหนดไว้ ดังนั้น ในกรณีที่ข้าราชการครูกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้เรียนหรือนักศึกษา จึงปรับบทความผิด ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วหรือเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้กำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูกระทำผิดวินัย 6 กรณี แต่แนวปฏิบัติมี ส่วนที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำการล่วงละเมิดต่อผู้เรียนและนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรค 3 ก.ค.ศ. จึงพิจารณากำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อ ผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ โดยพฤติกรรม ที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก สมควรลงโทษไล่หรือปลดออกจากราชการ ดังนี้

1.ใช้อำนาจในหน้าที่บังคับ หรือทำให้ ผู้เรียนหรือนักศึกษาต้องจำยอมให้ร่วมประเวณี เช่น ให้นักศึกษาที่ติด ร แก้ ร โดยยอมให้ร่วมประเวณี 2.หลอกลวงพาผู้เรียนหรือนักศึกษาไปเพื่อกระทำชำเรา หรือร่วมประเวณี 3.ร่วมประเวณีหรือพยายามร่วมประเวณีกับผู้เรียนหรือนักศึกษา หรือให้ ผู้เรียนหรือนักศึกษาบำบัดความใคร่ ไม่ว่า ผู้เรียนหรือนักศึกษาจะสมัครใจหรือไม่ 4. กระทำการอนาจารผู้เรียนหรือนักศึกษา คนเดียวหรือหลายคนเป็นประจำ และ 5.กระทำการถ่ายภาพหรือคลิปผู้เรียนหรือนักศึกษาที่ไม่สมควรทางเพศ หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษา เปลือย หรือเปิดเผยร่างกาย ที่ไม่สมควร หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะคล้ายคลึงกัน ส่วนพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศผู้เรียนหรือนักศึกษา นอกจากกรณีตามข้อ 1-5 เป็นพฤติกรรมที่มีระดับความผิดที่ร้ายแรงมาก หรือร้ายแรง แล้วแต่กรณี ระดับโทษไล่ออก หรือปลดออก แล้วแต่กรณี

ด้านนายประวิต เอราวรรณ เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า สำหรับแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัยฯ นั้นของเดิมจะไม่มีการระบุชัดว่า พฤติกรรมลักษณะใดบ้างที่ถือว่า เป็นความผิด โดยการพิจาณาโทษจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวน ดังนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักเรียน นักศึกษา ก.ค.ศ. จึงกำหนดพฤติกรรมที่ต้องรับโทษ ร้ายแรงถึงร้ายแรงมากให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถตัดสินลงโทษได้อย่างเป็นธรรม

นายประวิตกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดศธ. โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว กำหนดให้มีการพิจารณาย้ายกรณีปกติ 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 30 เม.ย. และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 31 ต.ค. เพื่อให้สถานศึกษามีข้าราชการครูก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งจากการดำเนินการพิจารณาย้ายกรณีปกติรอบที่ 1 ที่ผ่านมา พบว่า สถานศึกษาบางแห่งมีครูย้ายออก แต่ไม่มีครูย้ายเข้ามาทดแทน การบรรจุและแต่งตั้งทดแทน ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากปฏิทินการสอบแข่งขัน/คัดเลือก กำหนดไว้หลังปฏิทินการย้าย นอกจากนี้ ครูที่ต้องการยื่นคำขอย้ายต้องทิ้งห้องเรียนเพื่อมายื่นเอกสารหลักฐานจำนวนมากที่สำนักงานเขตพื้นที่ รวมถึง องค์ประกอบในการพิจารณาการย้าย มุ่งพิจารณา ครูที่มีผลงานดีออกจากสถานศึกษา และการพิจารณาย้ายของแต่ละ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ การศึกษา มีความแตกต่างกัน








Advertisement

นายประวิตกล่าวต่อว่า จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ก.ค.ศ. จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การย้ายข้าราชการครูฯ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ จึงเห็นควรให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้

ให้ส่วนราชการกำหนดปฏิทินการบริหารงานบุคคลในภาพรวมประจำปีงบประมาณ โดยการย้ายจะกำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย 2 รอบ รอบที่ 1 ยื่นเดือนมกราคม พิจารณา ย้ายได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ให้ออกคำสั่งมีผล พร้อมกัน คือ วันที่ 1 พ.ค. และในวันเปิด ภาคเรียนที่ 1 คือ 16 พ.ค. สถานศึกษาต้อง มีครู สำหรับรอบที่ 2 ยื่นเดือนก.ค. พิจารณาย้ายได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ให้ออกคำสั่ง มีผลพร้อมกัน คือ วันที่ 15 ต.ค. และในวันเปิดภาคเรียนที่ 2 คือ 1 พ.ย. สถานศึกษาต้องมีครู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน