เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบจังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่า 20 ต่อประชากรแสนคน รวมทั้งมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (HI) และในชุมชน (CI) สูง จำนวน 29 จังหวัด กระจายทั่วทุกภาค จำนวนนี้มี 3 จังหวัด ที่อัตราป่วยสูงเกินกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน คือ ตราด 125.2, จันทบุรี 109.7 และน่าน 108.4 ที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 พบผู้เสียชีวิต 41 ราย ใน 23 จังหวัด เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 12 ราย และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป 29 ราย

“ปัจจัยเสี่ยงคือมีภาวะอ้วน มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้รับการวินิจฉัยและรักษาช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่ช่วงแรกป่วยมักไม่ได้นึกถึงโรคไข้เลือดออก และการได้รับยากลุ่มเอ็นเสดเพื่อลดไข้ พบมากในกลุ่มเด็ก ดังนั้นในช่วงนี้หากมีอาการไข้ อย่าซื้อยากลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเอง เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายจนมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้” นพ.โอภาสกล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่าขณะนี้กำชับให้ทุกจังหวัดติดตามประเมินสถานการณ์ โรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด และพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ตามเกณฑ์ ที่กำหนด เน้นมาตรการในพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะระบาดภายใน 4 สัปดาห์ รวมทั้งขอให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารถึงประชาชน อสม. ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ รวมถึงเร่งรัด 29 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง ให้ดำเนินการอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะอำเภอที่พบการระบาดสูง

“สิ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุดคือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน และอสม. ดำเนินการ ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้ยุงลาย มีที่วางไข่ และฉีดพ่นฆ่ายุงลายตัวเต็มวัยร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทาโลชั่นกันยุง” นพ.โอภาสกล่าว

กำจัดยุงลาย – เจ้าหน้าที่สำนักงานนายนริสสร แสงแก้ว สก.เขตบางเขน ออกฉีดพ่นยากำจัดยุงลายภายในซอยรามอินทรา 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ป้องกันไข้เลือดออกที่กำลังระบาดอย่างหนักทั่วประเทศขณะนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.

นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวถึงสถานการณ์ ไข้เลือดออกของ จ.ระยอง ในเดือนก.ค.2566 พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกทั้งจังหวัด 8 อำเภอ มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รวม 1,517 คน เสียชีวิต 1 ราย พบผู้ป่วยมากในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ตามด้วย อ.แกลง อ.เมือง อ.วังจันทร์ อ.บ้านค่าย อ.นิคมพัฒนา อ.เขาชะเมา และอ.บ้านฉาง โดยจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 20 เท่า จากสถิติไข้เลือดออก ปี 2565 จ.ระยอง พบผู้ป่วยไข้เลือดออกคิดเป็นอัตรา 24 ต่อแสนคน แต่ปี 2566 พบ 220 ต่อแสนคน สาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย สาธารณสุขจังหวัดระยองเฝ้าระวังมาตลอด ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนและกำจัดแหล่งยุงลาย

นพ.สุนทรกล่าวต่อว่า หากเกิดอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรรับประทายาแอสไพริน เด็ดขาด เพราะหากเป็นไข้เลือดออกจะส่งผลให้เลือดออกง่าย หากพบอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส เกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร อาเจียน อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง อุจจาระมีสีดำ ควรไปพบแพทย์ใกล้บ้าน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่อสม.ในพื้นที่เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที และร่วมทำลายแหล่งน้ำขัง ป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน