ประมาทส่ง‘พิธา’นายก นิด้าสะท้อนจุดอ่อนส้ม พท.โพสต์คลิปรับ‘โทนี่’ ชูพรรคปชต.สู้เผด็จการ ป้อมควงธรรมนัสทำบุญ

นิด้าโพลสะท้อนผลสำรวจประชาชนชี้ก้าวไกลพลาดตั้งรัฐบาล เหตุไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย ประมาทเสนอ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ด้านเพื่อไทยโพสต์คลิปตอกย้ำเป็นฝ่ายประชาธิปไตย สู้กับเผด็จการ ตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน ชูผลงาน ‘ทักษิณ’ รัฐบาลพลเรือนครบวาระ 4 ปีชุดแรก ‘ประเสริฐ’เผยยังไม่เคาะวันถก 8 พรรคร่วมก่อนโหวตนายกฯ 4 ส.ค. ‘วิโรจน์’ ร่ายยาวไม่เชื่อข่าวลือ เพื่อไทยข้ามขั้วจับมือ 2 ลุง ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ‘อนุทิน’ ยันไม่ร่วมงานกับก้าวไกล ‘บิ๊กป้อม’ ควง ‘ธรรมนัส’ ทำบุญยกช่อฟ้าอุโบสถ ยิ้มแป้นชาวบ้านเชียร์ นายกฯ คนที่ 30 ‘ธรรมนัส’ รอเพื่อไทยดีลตั้งรัฐบาล

นิด้าโพลชี้‘ก.ก.’พลาดตั้งรบ.
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความผิดพลาด ของพรรคก้าวไกล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 30.46 ระบุว่า พรรค ก้าวไกลไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งนั้น ร้อยละ 27.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้ ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง

ร้อยละ 10.23 ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทยๆ ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 7.94 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับพรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา

ถ้าเป็นฝ่ายค้านมีม็อบแน่
ร้อยละ 7.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟัง แฟนคลับของตนเองมากเกินไป ร้อยละ 6.11 ระบุว่า พรรคก้าวไกลหลงไปกับตัวเลข 14 ล้านเสียง และ 151 สส.มากเกินไป ร้อยละ 5.88 ระบุว่า กุนซือ นักวิชาการของพรรคก้าวไกล ที่อยู่นอกพรรค ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หากพรรค ก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.19 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่แต่จะสามารถควบคุมได้ รองลงมา ร้อยละ 24.81 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้ ร้อยละ 23.66 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่และไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 11.99 ระบุว่า จะไม่มีการชุมนุมใดๆ ร้อยละ 2.90 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยแต่จะไม่สามารถควบคุมได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากร และวิธีการดำเนินการทางการเมืองคล้ายกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่มีความประนีประนอมมากกว่า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.88 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 33.89 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 9.62 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สว.ซัดโทษทุกคนเว้นตนเอง
ต่อมานายสมชาย แสวงการ สว. โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัว สมชาย แสวงการ โดยได้แชร์ผล “นิด้าโพล” ซึ่งชี้ประชาชนมอง “ก้าวไกล” ผิดพลาด เพราะไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย พร้อมข้อความระบุว่า #ข้อ ผิดพลาดของก้าวไกล #โทษสว.โทษทุกคนยกเว้นตนเอง #งานการเมืองหาใช่เด็กอยากได้ของเล่น #ไม่รู้สึกผิดไม่คิดแก้ไข

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุม วันที่ 3 ส.ค. เพื่อวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบการเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ รอบสอง เพราะเป็นการเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และสั่งให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ไว้ก่อน จะทำให้การประชุมรัฐสภาวันที่ 4 ส.ค. ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ แต่จะพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (ยกเลิกมาตรา 272) ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ เพียงวาระเดียว

แย้มสเป๊กนายกฯ คนใหม่
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตนายกฯ รอบสามในวันที่ 4 ส.ค. ว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ใช่พรรคก้าวไกล สว.จะรับได้หรือไม่ว่า แนวโน้มส่วนตัวยังรับไม่ได้ ยังคงชัดเจนในหลักการเดิม เพราะพรรคก้าวไกลมี นโยบายเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งกระทบกับสถาบัน ตนไม่เห็นชอบอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคก้าวไกลยังคงร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย สว.คงมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วยเหมือนกันหมดใช่หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า คนอื่นตนตอบไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่ามติเป็นอย่างไร คงจะเป็นในแนวทางเดิม ต่อข้อถามว่า มีการพูดคุยกันในกลุ่ม สว.หรือไม่ว่ามีเงื่อนไขต่อการโหวตนายกฯ ว่าต้องการได้สเป๊กเป็นแบบใด นายเสรีกล่าวว่า ไม่ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว คนเป็น นายกฯ ต้องมีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีนโยบายที่ไม่กระทบกับสถาบันและไม่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง

ต่อข้อถามว่า หากเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคเพื่อไทย แต่ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วม เห็นอย่างไร นายเสรีกล่าวว่า อย่างที่บอก คือหลักการไม่ได้เปลี่ยน เราไม่ได้มองดูพรรค แต่เรามองดูนโยบาย ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แล้วคิดเห็นอย่างไร นายเสรีกล่าวว่า ต้องดูว่าหากไม่มีเรื่องนี้แล้วจะมีเหตุอื่นอะไรอีกไหม อย่างที่เรียนมีหลายปัจจัยอยู่ นายกฯ ต้องมีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มีนโยบายที่ไม่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีแคนดิเดตตรงตามที่กล่าว ฝ่าย สว.อาจจะพร้อมเปิดรับใช่หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า เป็นแนวโน้ม เราไปตอบแทนคนอื่นไม่ได้ เพียงแต่ตนอยู่ในหลักการนั้น ส่วนแนวโน้มเป็นไปตามที่เคยลงมติแล้ว เมื่อถามว่าช่วงที่ผ่านมาได้รับการติดต่อพูดคุยจากฝ่ายต่างๆ หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่มีใครติดต่อมา และตนยังคงยึดมั่นในหลักการเดิม

พท.โพสต์คลิปย้ำจุดยืน
ด้านพรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหวผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจตั้งแต่วันที่ 29-30 ก.ค.โดยโพสต์คลิปวิดีโอสั้น จำนวน 3 ตอน เพื่อบอกเล่าประวัติและความเป็นมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทยซึ่งในเนื้อหาของวิดีโอ เน้นการเสนอรายละเอียดถึงการต่อสู้ของพรรค ประชาชนที่สนับสนุนพรรคสู้กับนิติสงคราม การยุบพรรค และการชุมนุมทางการเมือง โดยใช้ชื่อตอนต่างๆ ว่า ประชาธิปไตยยุคไทยรักไทยเปลี่ยนประเทศอย่างไรบ้าง ซึ่งนำเสนอบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคและการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านนโยบายของพรรคไทยรักไทย ที่นำประเทศสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นรัฐบาลพลเรือนแรกที่อยู่เต็มวาระ 4 ปี รวมถึงชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งรอบที่ 2 และนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อปี 2549

ช่วงหนึ่งของวิดีโอ ได้นำคำปราศรัย ของนายทักษิณ ที่กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า “ตนอาสาทำหน้าที่ให้ประชาชน ทำงานให้ประชาชน ตนไม่ต้องการทำร้ายใคร แต่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” ส่วนตอนที่ 2 ประชาธิปไตยแบบใด โดยพรรคพลังประชาชน พรรคการเมืองที่ยืนหยัดสู้นิติสงครามจนนาทีสุดท้าย ในประเด็นการยุบพรรคพลังประชาชน ที่ตอนหนึ่งระบุว่า พรรคพลังประชาชน ต่อสู้กับผลพวงของเผด็จการ ที่เป็นปมปัญหาให้กับการเมืองไทย ตอน 3 เพื่อไทย พรรคการเมืองที่มาสร้างตำนานนายกฯ หญิงคนแรก

พรรคการเมืองฝ่ายปชต.
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.สบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ว่า ทางพรรคจัดทำขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวบน เส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองของพรรค ตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยและความมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ ด้วยการนำเสนอนโยบายดีๆ เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีเราผ่านประวัติศาสตร์ ผ่านการทำรัฐประหารมา 2 ครั้ง และพบเจอความอยุติธรรมต่างๆ มากมาย แม้ถูกกระทำต่างๆ มากมาย มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ยังพิสูจน์ตัวเองเดินหน้าทำงาน ตามแนวทางประชาธิปไตยจนถึงวันนี้

เราจึงต้องการให้ประชาชนเห็นภาพผ่านเรื่องราวต่างๆ ในอดีต ที่หลายคนอาจลืมเลือนไป และย้ำให้ประชาชนเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและหัวใจเราคือประชาชน ทำเพื่อพี่น้องประชาชนเสมอไม่เคยเปลี่ยนไปตั้งแต่วันที่เราถือกำเนิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโพสต์รัวๆ ดังกล่าว มองได้ว่าเป็นการต้อนรับการจะกลับไทยของนายทักษิณในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ยังไม่เคาะวันถก 8 พรรค
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนัดประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ตามที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาได้แจ้งนัดประชุมในวันดังกล่าว หากมีความคืบหน้าหรือกำหนดการชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น คาดว่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ส.ค. เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายในวันที่ 3 ส.ค. ก่อนมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในวันที่ 4 ส.ค.

อัดก.ก.อย่าโยนปัญหาให้คนอื่น
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการโหวตนายกฯใน วันที่ 4 ส.ค.ว่า เชื่อว่าจะโหวตนายกฯได้ม้วนเดียวจบ น่าจะมีเสียงสส.สนับสนุนแคนดิเดต นายกฯพรรคเพื่อไทยถึง 376 เสียงได้ คาดว่าเสียงที่มาเติมให้จาก 324 เสียงเดิมจะเป็นเสียงจากสส.เป็นส่วนใหญ่

เชื่อว่าทุกพรรคอยากแก้ปัญหาให้ประเทศเดินต่อไปได้ ส่วนที่อดีตพรรคร่วมรัฐบาลยังตั้งเงื่อนไข ถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาลจะไม่โหวตสนับสนุนให้นั้น คงต้องมีการคุยกันเพื่อหาทางออก ยังไม่รู้จะลงเอยแบบใด

“ถ้าจะตั้งรัฐบาลแบบโลกสวยก็ต้องเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด จะมีความสุขมากที่สุด แต่ต้องมีเสียง สว.มาช่วย สว.เองก็ไม่โดนทัวร์ลง แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ จึงอาจต้องตั้งรัฐบาลแบบโลกไม่สวย มีความขรุขระ ใช้ 312 เสียงเดิมบวกสส.พรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรค 2 ลุง เพราะถ้ามีพรรค 2 ลุงมาจะทำร้ายจิตใจประชาชนมากเกินไป แนวทางนี้เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ต่างฝ่ายอาจจะต้องลดจุดยืนตัวเองลงบ้าง เอาจุดต่างมาคุยกัน ถ้าไม่เอาจุดต่างมาคุยกันก็ไปต่อไม่ได้ หรือถ้าจะเอาพรรค 2 ลุงมาร่วมรัฐบาลจริงๆ ต้องเป็นมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องหาเหตุผลมาตอบประชาชนให้ได้” นายอดิศรกล่าว

การแก้ปัญหาขณะนี้ดูเหมือนพรรค เพื่อไทยจะไปแก้ปัญหาให้พรรคก้าวไกลทั้งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมให้ประชาชน ไม่ได้มาแก้ปัญหาให้พรรคก้าวไกล ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละพรรคต้องไปแก้ไขปัญหาของตัวเอง พรรคก้าวไกลต้องไปตัดสินใจแก้ปัญหาตัวเอง อย่าโยนปัญหาให้คนอื่น เช่น กรณีมาตรา 112 ต้องไปหาวิธีจะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร อย่าเป็นปัญหาให้เพื่อน

ส่วนการเดินทางกลับไทยของนายทักษิณในวันที่ 10 ส.ค.นั้น แม้จะยังไม่ทราบว่าจะกลับมาจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย อย่านำมาโยงกัน นายทักษิณไม่อยู่ในสมการเกิดรัฐบาลผสม จะกลับหรือไม่กลับเป็นเรื่องนายทักษิณ แต่ในฐานะคนที่เคารพนับถือกัน อยากให้กลับบ้านมานานแล้ว

‘วิโรจน์’บอกอย่าเชื่อลือข้ามขั้ว
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ถึงกระแส ข่าวลือจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทย จะข้ามขั้วไปจับมือกับซีกรัฐบาลเดิมว่า ข่าวลือว่าให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วเพื่อไทยจะไปร่วมรัฐบาล โดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปร่วมด้วย นี่เป็นไปไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ จะเป็นไปได้ไง ตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ได้ กระทรวงสำคัญก็ไม่ได้ แถมการไปร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ กับพลังประชารัฐ ยังโดนประชาชนด่าอีกด้วย เป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตมากกว่า

ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้มีข่าวลือที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลเยอะมากๆ มีการตั้งข้อสันนิษฐานนั่นโน่นนี่ เพื่อบั่นทอนความเชื่อใจกันของภาคี 8 พรรคร่วม อยู่เต็มไปหมด จะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมยังคงเชื่อใจพรรคเพื่อไทย และ 8 พรรคร่วมอยู่เสมอ และไม่เคยเชื่อข่าวลือใดๆ เลย และการที่ผมไม่เชื่อ ไม่ใช่ว่าแค่รู้สึกไม่เชื่อ แต่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ ที่จะไม่เชื่อด้วย

1.ข่าวลือที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะดีดพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ กับพลังประชารัฐ และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) ซึ่งมีเสียงรวมกัน 262 เสียง เพื่อให้ สว.ยอมโหวตให้ โดยอ้างว่านี่คือการปิดสวิตช์ สว.

ผมไม่เชื่อข่าวลือนี้เลย เพราะนี่ไม่ใช่การปิดสวิตช์ สว. แต่เป็นยอมจำนนต่อ สว. แล้วรวมหัวกันล้มผลการเลือกตั้ง #ปิดสวิทช์ก้าวไกล ขัดขวางพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลซะมากกว่า การปิดสวิตช์ สว.ที่พูดกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 คือ การขอให้ สส.จากพรรคต่างๆ มาช่วยโหวตให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ตาม เพื่อให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชน เป็นการปกป้องเสียงของประชาชน โดยป้องกันไม่ให้ สว.เข้ามาแทรกแซงได้

ข่าวลือนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะนอกจากรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอะไรที่อธิบายต่อวีรชนคนเสื้อแดงที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนสำคัญได้ยากมากๆ อีกด้วย ครั้นจะอ้างว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ได้มีตำแหน่งบริหารในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็เป็นเหตุผลที่ประชาชนรับไม่ได้หรอก เพราะที่ผ่านมาท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีต่อคนเสื้อแดง ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการออกมายอมรับผิดใดๆ

ถ้าหักหลังเป็นรบ.ไร้เสถียรภาพ
2.ข่าวลือที่ว่า เพื่อไทยจะดีดพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วดึงภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ มาร่วมรัฐบาลแทน ข่าวลือนี้ผมยิ่งไม่เชื่อใหญ่ แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลมีเสียงถึง 308 เสียงก็ตาม

เสถียรภาพของรัฐบาล จะดูแค่จำนวน สส.ไม่ได้หรอก ต้องมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนด้วย ที่ผ่านมาแกนนำของพรรคเพื่อไทย ก็พูดให้คำมั่นต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ หัวหน้าพรรคถึงกับเอาตำแหน่งเป็นประกัน และต้องยอมรับว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่ความโยงใยกับคสช. และในเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดง เมื่อ ปี 2553 ณ ขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผบ.ทบ. และกรรมการ ศอฉ. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม

รัฐบาลที่เริ่มต้นด้วยการทรยศหักหลัง และเป็นปรปักษ์กับประชาชน ไม่มีทางที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลย แถมยังจะสูญเสียฐานเสียงสนับสนุนในระยะยาวอีกด้วย ผมจึงไม่เชื่อว่าข่าวนี้จะเป็นจริง ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะลาออกจากทั้งสองพรรคไปแล้ว และอ้างว่า “ลุงไม่อยู่แล้ว” ร่วมรัฐบาลกันได้ ข้ออ้างแบบนี้ ประชาชนรับไม่ได้หรอก เพราะคำว่า “ลุง” ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึง “แนวคิดที่มีต่อประชาชน และประเทศ” มากกว่า

ยิ่งข่าวลือที่บอกว่าจะให้ภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีรวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ เป็นตัวหลักในการร่วมรัฐบาล จากนั้นพรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยอ้างว่าจำใจร่วมรัฐบาล เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ ข่าวลือนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ เพราะนอกจากจะโดนประชาชนต่อว่าอย่างหนัก ไม่ต่างจากกรณีที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ แล้วดึงเอาพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลแล้ว กรณีนี้เพื่อไทย ตำแหน่งนายกฯ ก็จะไม่ได้ กระทรวงสำคัญต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างกระทรวงคมนาคม ก็อาจจะไม่ได้อีกด้วย

ไม่มีใครยอมให้ตีเช็คเปล่า
3.ข่าวลือที่ว่าในการโหวตนายกฯ ใน วันที่ 4 ส.ค.นี้ จะมีการสลายขั้ว 8 พรรค แล้วขอให้โหวตนายกฯ ก่อน โดยที่ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะได้ร่วมรัฐบาลบ้าง หลังจากที่ได้นายกฯ แล้ว จะให้นายกฯ ไปพูดคุยเพื่อคัดเลือกพรรคที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันอีกที ข่าวลือนี้ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ตราบใดก็ตาม ที่ไม่มีความชัดเจนว่าพรรคใดจะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปไม่ได้เลยที่แต่ละพรรคจะยกมือให้ เพราะอย่าลืมว่า แต่ละพรรคก็มีหน้าที่ ที่ต้องอธิบายให้กับประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนของตน ให้เข้าใจถึงเหตุผลในการยกมือเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ และการตีเช็คเปล่าแบบนี้ เป็นอะไรที่อธิบายต่อประชาชนได้ยากมากๆ

สรุปคือ ผมไม่ได้สนใจข่าวลืออะไรเลย และยังคงเชื่อใจ และไว้ใจในภาคี 8 พรรคร่วม อย่างไม่นึกลังเล ผมเป็นคนที่ว่า เมื่อตัดสินใจร่วมทีมกับใครแล้ว ผมจะเชื่อใจในทีม อย่างไม่หวั่นไหว ต่อให้สุดท้ายผมจะถูกหลอก ถูกหักหลัง ถูกมองว่าโง่ และถูกแย่งชิง หลอกลวง เอาทุกสิ่งทุกอย่างไป

ผมจะไม่รู้สึกเสียใจ เพราะสิ่งที่จะแย่งชิงจากผมไปไม่ได้เลยคือ ความซื่อตรง และเกียรติภูมิ ที่เวลาที่ผมจะเดินไปไหน จะสามารถเดินคอตั้ง หลังตรง กล้าสู้หน้าผู้คนได้ ต่อให้สุดท้ายภารกิจมันต้องล้มเหลว เพราะถูกทรยศหักหลังจริงๆ มันยังดีกว่าการที่มันล้มเหลว เพราะความระแวง และความไม่เชื่อใจระหว่างกันภายในทีม การล้มเหลวเพราะถูกหักหลัง คนที่ ทรยศ วันข้างหน้ามีแต่จะถูกผู้คนสาปแช่ง ด่าวดิ้นสิ้นอนาคต ส่วนคนที่ยึดถือในคำมั่น ซื่อตรงต่อข้อตกลง อย่างไรก็จะมีมือของผู้คนช่วยกันดึงให้ลุกขึ้น ช่วยกันพยุงให้เดินหน้าต่อ อย่างองอาจเสมอ และมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกันเพิ่มขึ้น

ผมยอมรับว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีม มันต้องมีประเด็นที่เห็นต่าง และอาจจะกระทบกระทั่งกันบ้างอยู่แล้ว และตัวผมเอง จะพยายามทำทุกวิถีทาง ให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก และเรื่องเล็กกลายเป็นไม่มี เพื่อให้ภาคี 8 พรรคร่วมเดินหน้าสานความหวังของประชาชนต่อไปอย่างมั่นคง

“ผมยังคงเชื่อใจ และเชื่อมั่นในภาคี 8 พรรคร่วมอยู่เสมอ จับมือกันให้แน่น ด้วยแรงหนุนจากประชาชนอย่างน้อย 26 ล้านเสียง และความชอบธรรมตามระบบรัฐสภา ยิ่งเวลาผ่านไป พวกเรายิ่งเข้าใกล้เส้นชัยเข้าไปอยู่ทุกวัน ในขณะที่ฝ่ายที่ขัดขวางเสียงของประชาชน มีแต่จะนับถอยหลังสู่วัน สูญสิ้นอำนาจ ถ้าพวกเรากลมเกลียวกัน มุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ ผมเชื่อว่ารัฐบาลแห่งความหวังของประชาชน จะจัดตั้งได้สำเร็จในไม่ช้า ผมเชื่ออย่างนี้จริงๆ” นายวิโรจน์ระบุ

ถวายเทียน – นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นำทีม สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ถวายเทียนพรรษาแด่วัดต่างๆ ใน 18 อำเภอของ จ.บุรีรัมย์ ที่วัดกลาง พระอารามหลวง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

‘หนู’ยันไม่จับมือก้าวไกล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกรณีนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร ออกมาดักคอเรื่องจับมือกับพรรคก้าวไกล หลังมีกระแสข่าวสูตร 8 พรรคเดิม + ภูมิใจไทย ได้เกิน 376 เสียงไม่ต้องง้อเสียงสว. และอาจจะมีพรรคประชาธิปัตย์สมทบอีกด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ต้องถามภูมิใจไทยว่า “พูดแล้วทำ” เอาไปไว้ที่ไหน ว่า ไม่เคยลืมสิ่งที่พูดไว้ ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามจุดยืนเดิม หากมีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมแน่นอน เอ็มโอยู 8 พรรค จะไม่มีพรรคที่ 9 ที่ชื่อภูมิใจไทยแน่นอน ขอให้สบายใจได้

“ส่วนเรื่องสูตรรวมรัฐบาล 9 พรรค โดยไม่ง้อเสียง สว. ผมไม่ทราบที่มา เพราะตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเลย และตั้งแต่ผมไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเมื่อ วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการติดต่อนัดพูดคุยกันอีกเลย” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะไปเคลียร์พรรคก้าวไกลออกไปหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเราไม่ใช่ผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่เอาเป็นว่าถ้าเป็นเอ็มโอยู 8 พรรค แล้วยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ ภูมิใจไทยไม่สามารถร่วมได้

‘ป้อม’ยิ้มแป้น-เชียร์นายกฯคนที่ 30
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธียกช่อฟ้า อุโบสถวัดโพสพผลเจริญ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และนาย สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) ร่วมพิธีด้วย มีประชาชนมาต้อนรับ ขอถ่ายรูป รวมถึงนำผ้าขาวม้ามา ผูกที่เอวพล.อ.ประวิตร พร้อมตะโกนบอกให้สู้ๆ และเรียกนายกฯคนที่ 30 ซึ่งพล.อ.ประวิตรมีสีหน้าสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส

เวลา 13.19 น. ซึ่งเป็นฤกษ์ยกช่อฟ้าที่วางไว้ พล.อ.ประวิตร ร.อ.ธรรมนัส และนายสุรทิน เดินไปหน้าอุโบสถ เพื่อทำพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ ระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวสอบถามร.อ.ธรรมนัสว่า ขอพรอะไร ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ขอให้มีความสุข หลังจากนั้น นายสุรทินเดินมาพูดข้างๆ ร.อ.ธรรมนัสว่า “ขอให้นายป้อมได้เป็น นายกฯ”

พล.อ.ประวิตรยังได้ปลูกต้นพะยูง ไม้มงคลและร่วมพิธีเสริมดวงชะตา โดยพระเจ้าพิธีซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายพระวัดป่า ที่นิมนต์มาจากภาคอีสาน ได้ร่วมทำพิธี และได้ให้พระทันตธาตุหรือฟันของพระพุทธเจ้า แก่พล.อ.ประวิตรนำมาอธิษฐานจิตให้สำเร็จ ในสิ่งที่ปรารถนา ขณะเดียวกัน ในช่วงทำพิธีพล.อ.ประวิตรขอให้สื่อมวลชนออกไปรอภายนอก และเป็นที่น่าสังเกตเห็นว่า พล.อ.ประวิตร แต่งกาย โดยสวมรองเท้าดูวัยรุ่น ยี่ห้อ TOD’s รุ่น No code X Ground ราคาประมาณ 30,000 บาท

พล.อ.ประวิตรปฏิเสธให้สัมภาษณ์หลังผู้สื่อข่าวถามว่า ได้อธิษฐานขอพรพระอย่างไรบ้าง รวมถึงประเด็นการเมือง ทั้งเรื่องการแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐว่าจะมอบหมายงานอะไรให้เป็นพิเศษหรือไม่ หรือเตรียมให้เข้ามารับตำแหน่งรองนายกฯในรัฐบาลใหม่หรือไม่

เสริมชะตา – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคคนใหม่ ควงคู่ทำบุญยกช่อฟ้า พร้อมปลูกต้นพะยูงไม้มงคลและร่วมพิธีเสริมดวงชะตา ที่วัดโพสพผลเจริญ จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 ก.ค.

‘ธรรมนัส’รอพท.ดีลสูตรรัฐบาล
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ภายหลังได้หารือกับพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา ยังไม่มีการติดต่อหรือหารือใดๆ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐรอว่าก่อนวันที่ 4 ส.ค. ซึ่งเป็นวันนัดโหวต นายกฯ จะมีการประสานงานอย่างไรต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวสูตรการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคก้าวไกล ถอยมาเป็นฝ่ายค้านแต่ยังโหวตสนับสนุนนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจน จะทำหน้าที่ในตำแหน่งไหนหรือฝ่ายไหนก็ตาม จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยให้ดีที่สุด

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรค พลังประชารัฐจะทำหน้าที่ฝ่ายไหนกันแน่ เพราะต้องรอความชัดเจนก่อน เชื่อว่าหลังจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะเปิดการเจรจาพูดคุยกัน และคงได้ทิศทางที่ชัดเจน การเลือกนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ในการโหวตวันที่ 4 ส.ค.นี้ ขณะเดียวกันเห็นว่าในวันที่ 1 ส.ค. จะรู้ทิศทางการโหวต นายกฯ และการเลือกนายกฯ จะจบก่อนวันที่ 15 ส.ค. หลังจากนั้นจะเป็นการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับ นายกฯคนต่อไป แคนดิเดตนายกฯ ที่จะโหวตวันที่ 4 ส.ค.จะมาจากพรรคเพื่อไทย ส่วนแนวทางการโหวตนายกฯของพรรค พลังประชารัฐ จะต้องเป็นมติพรรคและบทไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอพล.อ.ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐมีเพียง 40 เสียง การจะเสนอชื่อแข่งเป็นไปไม่ได้ การร่วมรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีนายกฯ และถูกเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ต่อข้อถามว่าต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจน อย่ามองแค่พรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ส่วนการร่วมงานกับพรรค เพื่อไทย สามารถร่วมงานกันเพราะสส.ส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐเป็นสส.เก่าของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการทำงานจะไม่มีปัญหา และยืนยันไม่มีการซื้อสส.จากพรรคก้าวไกล 30 ที่นั่ง มาที่พรรคพลังประชารัฐ

ปัดบินพบ‘ทักษิณ’ที่ฮ่องกง
ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐปรับโครงสร้าง และให้ตนเป็นเลขาธิการพรรคนั้น ไม่เกี่ยวกับการดีลตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย การปรับโครงสร้างพรรคเป็นเรื่องที่พล.อ.ประวิตร คิดมานานแล้วภายหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากได้สส.เพียง 40 ที่นั่ง เพื่อให้พรรคกลับมาเจริญเติบโตเหมือนเดิม ยืนยันไม่ใช่ให้ตนมาดีลการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น หากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ต่อข้อถามถึงการที่พรรคตั้ง พล.ต.อ. พัชรวาท เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องนี้ ยังไม่ได้พูดคุยกับพล.ต.อ.พัชรวาท และไม่มั่นใจว่าท่านจะรับตำแหน่งนี้หรือไม่ เป็นการเสนอชื่อไปก่อนได้ ล่าสุดพล.ต.อ.พัชรวาทยังไม่ตอบรับในตำแหน่งนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพล.ต.อ.พัชรวาท จะมารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ส่วนตัวไม่ทราบว่าท่าน จะสนใจการเมืองหรือไม่

เมื่อถามถึงการเดินทางกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ทำให้การเมืองเปลี่ยน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ส่วนกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุว่านายทักษิณ มีดีลกับ ป. ในการเดินทางกลับประเทศนั้น ตนยืนยัน ว่าไม่เกี่ยวกับพล.อ.ประวิตร ไม่มีการดีลกับขั้วอำนาจเดิม นายทักษิณกลับมาตาม กระบวนการของกฎหมาย ไม่ได้มาด้วย อภิสิทธิ์ใดๆ ส่วนจะได้กลับมาในวันที่ 10 ส.ค.หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ ไม่สามารถก้าวล่วงได้ และเป็นสิทธิในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อย่าโยงว่าการเมืองจะพลิกโฉมกับนายทักษิณ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ส่วนการเดินทางไปฮ่องกงของตนเองนั้น เป็นการไปเรื่องธุรกิจส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการบินไปหาใคร และไปมาหลายอาทิตย์แล้ว ไปพักที่ฮ่องกง ทำธุระที่ดีลไว้ยังไม่จบ ไม่มี ดีลการเมือง เป็นคนละเรื่องกัน และ ไม่ได้เจอกับนายทักษิณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส กล่าวติดตลกด้วยว่า รอแฮปปี้เบิร์ธเดย์ วันที่ 11 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเกิดพล.อ.ประวิตร และตนเองเกิดวันที่ 18 ส.ค.

‘พรเพชร’ประชุมวุฒิฯ 7ส.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ออกหนังสือนัดประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวันที่ 7 ส.ค. มีวาระเรื่องด่วนให้พิจารณาที่สำคัญ 2 เรื่อง ให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ 2 คน คือ นายพศวัจณ์ กนกนาก อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ป.ป.ช. ที่พ้นตำแหน่งเนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี และนายชาย นครชัย อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพ้นตำแหน่ง เนื่องจากอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.2565 ซึ่งบุคคลที่ถูกเสนอชื่อทั้งสองนั้น ผ่านการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่วุฒิสภาคัดเลือกขึ้นแล้ว ดังนั้น จะเป็นการพิจารณารายงานของ กมธ.เป็นการลับ และลงคะแนนลับด้วยเช่นกัน

ในกรณีการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ.สถาพร นั้น ใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปี เนื่องจากการสรรหาในรอบแรก ที่กรรมการสรรหา ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เสนอชื่อนายอารยะ ปรีชาเมตตา ไม่ได้รับความเห็นชอบตามมติของวุฒิสภาเมื่อ 1 ส.ค.2565 ดังนั้น การพิจารณาชื่อของ นายพศวัจณ์ จึงถือเป็นครั้งที่ 2

ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลาสรรหา จนถึงเสนอชื่อให้วุฒิสภา ลงมติยาวนานถึง 1 ปี 6 วันนั้น เพราะกรรมการสรรหาต้องใช้เวลาสรรหาในกระบวนการถึง 3 รอบ ครั้งแรก เมื่อ 23 ก.ย.2565 ครั้งสอง เมื่อ 10 ม.ค.2566 แต่ทั้ง 2 ครั้งนั้น ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหาที่มีอยู่ ทำให้ต้องสรรหาใหม่เป็นรอบที่ 3 เมื่อ 14 มี.ค.2566 และมติของกรรมการสรรหา 7 คนใน 9 คนที่ทำหน้าที่ลงมติให้นายพศวัจณ์ได้รับการเสนอชื่อ และส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งเตรียมลงมติชี้ขาด ในวันที่ 7 ส.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน