อ้าง‘จนท.ที่ดิน’ ให้โหลดแอพเก๊

‘ประวีณมัย’ ผู้ประกาศข่าวชื่อดังช่อง 3 โร่แจ้งความถูกมิจฉาชีพโทร.อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ให้อัพเดตข้อมูลที่ดิน เสียภาษีก่อนให้แอดไลน์ ติดตั้งแอพฯ สุดท้ายถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร สูญไปกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่ตร.ไซเบอร์เตือนระวัง 6 แอพฯ ปลอม แอบอ้าง 6 หน่วยงาน การไฟฟ้า ประกันสังคม กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบัญชีกลาง และแฟลช เอ็กซ์เพรส ส่งข้อความให้กดลิงก์ กรอกข้อมูล ส่งแอพฯ ให้ติดตั้ง จากนั้นควบคุมมือถือดูดเงิน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบว่ามีผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส และได้รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยให้เพิ่มเพื่อนทางแอพพลิเคชั่นไลน์ของหน่วยงานปลอมนั้นๆ จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ก่อนส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมให้ผู้เสียหายติดตั้งแอพฯ ปลอม แล้วหลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ตั้งค่าให้สิทธิ์การเข้าถึง และให้สิทธิ์ควบคุมโทรศัพท์มือถือ หลอกให้กรอกรหัสพิน 6 หลักหลายครั้ง หรือหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมในจำนวนเล็กน้อย เช่น โอนเงิน 10 บาท เพื่อดูรหัสการทำธุรกรรมธนาคาร และเข้าควบคุมโทรศัพท์โอนเงินออกจากบัญชี

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า สำหรับ 6 หน่วยงานที่ถูกนำไปแอบอ้างคือ 1.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยได้รับข้อความ หรือสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า แจ้งว่าจะได้รับเงินค่าชดเชยหม้อแปลงไฟฟ้า หรือคำนวณเงินค่าเอฟทีผิดพลาด หรือได้รับเงินคืนค่าประกันไฟฟ้า เป็นต้น 2.กรมที่ดิน โดยได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินแจ้งให้อัพเดตข้อมูลสถานะที่ดิน หรือให้ยืนยันการไม่ต้องชำระภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน สำรวจประเภทการใช้งานที่ดิน หรือชำระภาษีที่ดินไว้เกินจะคืนให้ เป็นต้น

3.สำนักงานประกันสังคม ได้รับข้อความ หรือสายโทรศัพท์แจ้งว่าเตือนเลขบัตรลงท้ายด้วยเลข กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออัพเดตข้อมูลอย่างเร่งด่วน หรือให้ชำระค่าประกันสังคม หรือจะโอนเงินค่าประกันโควิคให้ เป็นต้น 4.บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ได้รับข้อความแจ้งว่าพัสดุของท่านเสียหาย กรุณายื่นเคลมค่าเสียหาย 5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ให้ยกเลิกโครงการคนละครึ่ง ยกเลิกโครงการประชารัฐที่ผูกไว้กับร้านค้า หรือให้อัพเดตข้อมูลนิติบุคคลให้เป็นปัจจุบัน เป็นต้น และ 6.กรมบัญชีกลาง ได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูล เพื่อทำเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

โฆษกบช.สอท.กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค.2566 การหลอกติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวนกว่า 1,105 เรื่อง หรือ 7.03 เปอร์เซ็นต์ ของเรื่องที่รับแจ้งความออนไลน์ในเดือนก.ค. มูลค่าความเสียหายกว่า 165 ล้านบาท การหลอกลวงยังคงเป็นรูปแบบเดิม เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน เปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ์ หรือได้รับเงินคืน หรืออัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกให้กดลิงก์ผ่านเว็บไซต์ปลอมให้กดติดตั้งแอพฯ ปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง โดยจะอาศัยความไม่รู้ ความโลภเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอพฯ ปลอม ใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายหน่วยงานประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น หรือส่งอีเมล์ไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ฝากย้ำเตือนประชาชนว่าไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ หากพบเห็นข้อความสั้น หรือลิงก์ลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษกบช.สอท.กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางป้องกันมีดังนี้ 1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น หรือส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอพฯ ต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือฝังมัลแวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือ โปรโมชั่นต่างๆ หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว 2.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง 3.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่








Advertisement

4.ระวังการให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ปลอม โดยไลน์ ออฟฟิเชี่ยล แอ๊กเคาต์ จริงที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทา หรือไม่มี จะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน 5.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอพฯ ผ่านเว็บไซต์ที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอพฯ ปลอม แต่หากต้องการใช้งานให้ติดตั้งผ่านแอพสโตร์ หรือเพลย์สโตร์เท่านั้น 6.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอพฯ ที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk 7.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด

8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอพฯ ลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอพฯ ของธนาคารต่างๆ รวมถึงไม่โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ตามคำบอกของผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเสี่ยงถูกนำรหัสการทำธุรกรรมธนาคารไปใช้ 9.หากติดตั้งแอพฯ ปลอมแล้ว ให้รีบฟอร์ซ รีเซ็ต หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่มเพาเวอร์ พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้ ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือปิดไวไฟเราเตอร์ และ 10.อัพเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

สูญเงินล้าน – น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เข้าแจ้งความ สน.ภาษีเจริญ ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกติดตั้งแอพฯ กรมที่ดินปลอมแล้วดูดเงินจากบัญชีธนาคารและบัตรเครดิตกว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 9 ส.ค.

วันเดียวกัน น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.มงคล ชัยศิลป์ รอง สว.(สอบสวน) สน.ภาษีเจริญ ว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดูดเงินจากบัญชีธนาคารกว่า 1,000,000 บาท โดย น.ส.ประวีณมัยเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ส.ค. ขณะทำงานอยู่ที่บ้านมีโทรศัพท์เข้ามาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน และพูดถึงข้อมูลที่ดิน โดยอ้างจะให้อัพเดตข้อมูลที่ดิน เพราะเป็นช่วงการเสียภาษีที่ดินอยู่พอดี และจากการตรวจสอบชื่อในเว็บไซต์กรมที่ดิน พบเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินประจำ จ.ภูเก็ต จึงเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ และให้แอดไลน์โดยใช้ไอดีไลน์

น.ส.ประวีณมัยกล่าวว่า เมื่อแอดไลน์เข้าไปมีคนทักเข้ามาว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ฝ่ายทะเบียนออนไลน์ ถามว่าสะดวกคุยมั้ย ตอบกลับไปว่าสะดวก จากนั้นจึงโทร.กลับมาให้ติดตั้งแอพฯ บนโทรศัพท์มือถือ โดยออกอุบายว่าต้องอัพเดตผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นระบบไอโอเอส หรือแอนดรอยด์เท่านั้น เมื่อติดตั้งแอพฯ แล้ว ปลายสายแนะนำให้ทำตามขั้นตอนลงทะเบียนในระบบแอพฯ ยืนยันรหัสโอทีพี และสแกนหน้า 2-3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนเวลาล่วงเลยไปนานกว่า 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นพูดคุยประวิงเวลาเพื่อไม่ให้วางสาย และออกจากแอพฯ จึงเริ่มสงสัย และไม่ขอทำธุรกรรม จึงออกจากระบบ

ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจสอบภายหลังพบว่ามีการทำธุรกรรมจากโมบายล์แบงกิ้งธนาคารหนึ่งที่ผูกบัญชีบัตรเครดิต มีเงินเข้า 2 ยอดคือ 500,000 บาท และ 120,000 บาท ที่ถอนจากบัตรเครดิต บวกกับเงินที่มีอยู่ในบัญชีอีก 55,000 บาท ทั้งหมดถูกโอนออกจากบัญชีไปยังบัญชีบุคคลอื่น 675,000 บาท เมื่อไปตรวจสอบบัญชีธนาคารอื่นอีกหนึ่งบัญชี ปรากฏว่าเงินฝากกว่า 100,000 บาท ถูกดูดออกไป และอีกบัญชีมีการถอนเงินจากบัตรเคดิต 200,000 บาท รวม 3 บัญชี ทุกบัญชีจะถูกโอนไปยังบัญชีชื่อนายภานุพันธ์ จิรเมฆ แต่ไม่ซ้ำธนาคาร คาดว่าเป็นบัญชีม้า รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000,000 บาท

น.ส.ประวีณมัยกล่าวว่า จากนั้นจึงรีบติดต่อธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีปลายทาง แต่ธนาคารแจ้งว่าต้องมาแจ้งความก่อนเพื่อขอรหัสถึงจะอายัดบัญชีปลายทางได้ สาเหตุที่หลงเชื่อ เนื่องจากมิจฉาชีพมีข้อมูลตรงกับ ผู้ที่จะเสียภาษี และเป็นช่วงที่ต้องเสียภาษี รวมถึงไลน์ที่ติดต่อ และแอพฯ มีตราของกรมที่ดินจริง และยังบอกรายละเอียดหน้าจอขณะดาวน์โหลด รวมถึงเลขข้อมูลโฉนดที่ดินได้ถูกต้อง ยอมรับว่าพลาดที่ไม่ทันระวังตัว เนื่องจากขณะนั้นทำงานอื่นไปด้วย จึงไม่ทันสังเกต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน