‘ตู่-จุติ’อู้อี้ตอนนี้ยังไม่ปรับ อ้างงบปี 67 ต้องใช้แสนล. กฤษฎีกายันจำเป็นต้องแก้

‘ตู่’ ออกตัว ‘เบี้ยชรา’ ให้รัฐบาลใหม่ทำต่อได้ ‘จุติ’ แจงงบฯ มีจำกัด ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ปีนี้ใช้ 8.9 หมื่นล้าน ปีหน้าใช้ 1.1 แสนล้าน เลขาฯ กฤษฎีกาย้ำระเบียบเก่าขัดรัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดเส้นยากจนให้เหมาะสม สว.มณเฑียรจี้ทบทวน ห่วงวิธีคัดกรอง พิธาบี้เพิ่มงบฯ ไม่ใช่ตัดเงินดูแลสูงวัย เพื่อไทยชี้ต้นเหตุขาดงบฯ ถึงบอกต้องเร่งเพิ่มรายได้มาจัดสวัสดิการให้กลุ่มเปราะบาง

‘ตู่’เปรยให้รัฐบาลใหม่ทำต่อ
วันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเสียงวิจารณ์การปรับหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ว่า ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หลักการที่มาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ข้อสำคัญอาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจและแกล้งไม่เข้าใจ ทั้งนี้คนที่เคยได้รับอยู่ก็ยังได้รับเหมือนเดิม ขณะเดียวกันวันนี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป ถ้ามีเม็ดเงินงบประมาณที่เพียงพอ สิ่งที่เราทำมันจำเป็นต้องทำเพราะผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นต้องมาดูว่ามีเงินมากน้อยแค่ไหน

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม. แจ้งว่า ในช่วงท้ายการประชุม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รายงานถึงกรณีมีความกังวลต่อหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ว่า ณ วันนี้ที่เราดูแลอยู่มี 11 ล้านคน ภาระที่เราใช้จ่ายอยู่ที่ 86,000 กว่าล้านบาท ในจำนวน 11 ล้านคนนี้ แบ่งเป็นคนจน 5 ล้านคน ข้าราชการบำนาญ 1.2 ล้านคน และอีก 5 ล้านคนคือสิ่งที่รัฐต้องรับภาระต่อ ยืนยันว่าไม่ได้ตัดสิทธิ์เขา ยังจ่ายให้อยู่ แต่มันจะเป็นภาระของการคลังต่อไปเรื่อยๆ เพราะระบบเศรษฐกิจเราตั้งแต่แรกไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการ ในขณะที่สังคมผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจะใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือถ้าเราให้ 3 พันบาทต่อคนทุกคน กับผู้สูงอายุ 20 ล้านคน รัฐบาลจะรับภาระนี้ตรงไหวหรือไม่ อย่างไรก็ดีตอนนี้รัฐบาลทำเต็มที่ คนที่ได้สิทธิ์ก็ได้อยู่ คนที่ไม่ควรได้สิทธิ์ก็ยังได้อยู่

จุติแจงเหตุงบฯมีจำกัด
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ย ผู้สูงอายุ ว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้โยนมายัง พม. ซึ่งเขาทำตามระเบียบตามกฎหมาย เพราะทุกคนไม่อยากทำผิดกฏหมาย รัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตาม ทั้งนี้ไม่ได้วางกรอบหรือเงื่อนไขระยะเวลา ต้องให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเคราะห์หลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรมว.คลัง นายกฯคนใหม่ ครม.ชุดใหม่ เลือกว่าจะให้อย่างไร ส่วนหลักเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อย ต้องไปดูที่รัฐธรรมนูญปี 60 ระบุว่า ผู้ที่ไม่มีรายได้เพียงพอนั่นแหละจะตัดที่เท่าไหร่ จะตัดที่ตัวเลขหรือเส้นแบ่งความยากจน

นายจุติกล่าวต่อว่า ขณะนี้ 1.ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมทุกประการ 100% ไม่มีใครตกหล่น 2.ต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 3.เป็นแนวทางเลือก ตามมารยาทแล้วอยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าให้ทำอย่างไร 4.ความกังวลว่าเวลาให้ต้องคำนึงถึงกลุ่มอื่นๆ ของสังคมด้วย ซึ่งมีเด็ก 21 ล้านคน คนพิการ 3 ล้านคน ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน

นายจุติกล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ์ 11 ล้านคน รับอยู่ 89,000 ล้านบาท มีคนที่จนจริงๆ เพียง 4 ล้านคน ต้องถามว่าคนที่เป็นรัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด จะเอาเงินไปช่วยคนที่จนที่สุดของประเทศก่อนหรือไม่เท่านั้นเอง หากรัฐบาลใหม่บอกว่าพร้อมที่จะให้เงินเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องไปเก็บภาษีมาให้ได้ ปีละ 720,000 ล้านบาท ปัจจุบันพม.ทั้งกระทรวงได้รับงบฯ 8,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นคุณต้องไปหางบประมาณมาอีก 9 เท่า

วอนฟังทุกกลุ่ม
เมื่อถามว่า จะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไร เพราะหลายคนกังวลจะถูกตัดเบี้ย ผู้สูงอายุ นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ 100% ว่า ผู้สูงอายุยังได้รับเบี้ยยังชีพ เหมือนเดิมไม่สะดุด งบประมาณก็จะเอาไว้แล้ว งบปี66 จะจบ เดือนก.ย.นี้ และงบฯ ปี 67 เพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น








Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองออกมาท้วงติง อย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่าเป็นการลักไก่ ช่วงรัฐบาลรักษาการ นายจุติกล่าวว่า วาทกรรมก็พูดได้ แต่ว่าเราอยู่ที่สามัญสำนึก จิตสำนึก และทำให้คนส่วนใหญ่เถอะ ตนไม่ทะเลาะการเมือง การเลือกตั้งจบไปแล้วตั้งสองเดือนให้คนไทยรักกันดีกว่า ขอร้อง

“ด้วยความเคารพทุกท่าน อยากให้แยกให้ออกว่านโยบายพรรคการเมือง กับนโยบายของรัฐบาล และโครงสร้างของประเทศ โครงสร้างการคลัง ประเทศไทยไม่ได้เผื่อไว้ หรือออกแบบมาเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนั้นหากจะต้องเปลี่ยนระบบเป็นระบบรัฐสวัสดิการ ต้องมีคนรับผิดชอบเยอะ วันนี้มีผู้ยื่นเสียภาษี 11 ล้านคน เสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านคน ดังนั้นต้องขยายฐานภาษี และภาษีมูลค่าเพิ่มของ ต่างประเทศเขาอยู่ที่ 22% ของไทยเราอยู่ที่ 7% ภาษีภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเขาอยู่ที่ 39% เราอยู่ที่ 20% 22 ส่วนภาษีท้องที่เขาอยู่ที่ 12% เราอยู่ที่ 0.5 กับ 1% เพราะฉะนั้นเราต้องมาถามว่าคนไทยพร้อมหรือยัง คุยกันทั้งประเทศ นักการเมืองพรรคการเมืองก็ต้องฟัง ทั่ว ทุกกลุ่ม” นายจุติกล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่ม คนที่มีรายได้มากอาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้ อย่างไรก็ตามถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้วและผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้ หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

กฤษฎีกาย้ำระเบียบเก่าขัดรธน.
ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุม ครม.ว่า ข้อกำหนดเรื่องการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเป็นแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 48 วรรคสอง ได้เขียนไว้ว่ารัฐต้องดูแลบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งยากไร้และไม่มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้เขียนแบบนี้ แต่เขียนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในส่วนนี้ก็จะบอกชัดว่าเราให้ความช่วยเหลือคนที่สมควรช่วยเหลือ เราไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนที่รัฐบาลจะกำหนดให้เป็นการให้ที่มากขึ้นในลักษณะที่เป็นสวัสดิการนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรวมทั้งการกำหนดด้วยว่าจ่ายใครบ้าง

นายปกรณ์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องนี้มีการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมขึ้นมาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใครที่รับเงินจากรัฐไปแล้ว เช่น บำเหน็จ บำนาญ จากรัฐไปแล้วห้ามให้มารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่ากำหนดแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากมีอายุ 60 ปีแล้วเป็นผู้ยากไร้นั้น กำหนดว่ารัฐต้องดูแล ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นผู้รับเงินจากแหล่งเงินอื่นของรัฐแล้วห้ามรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ หากไปกำหนดในลักษณะนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้จึงให้มีการออกเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นข้อๆ ได้แก่ 1.เป็นคนไทยที่อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และ 2.เกณฑ์ในเรื่องความยากไร้ ไม่มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ ซึ่งการดูในเรื่องของความยากไร้ของคนอาจดูในเรื่องของเกณฑ์รายได้ตามเส้นความยากจน หรือกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมาให้ชัดเจนว่าจะอ้างอิงจากส่วนไหน

ยันไม่มีใครลักไก่
เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ในกฎหมายยังมีการกำหนดบทเฉพาะกาลว่าใครที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงได้รับอยู่ ส่วนที่สองคือเงินที่ได้รับอยู่ไม่ได้น้อยกว่าเดิม ส่วนจะให้มากกว่าเดิมหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่จะกำหนดผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่จะมากำหนดในเรื่องนี้ ซึ่งการกำหนดเรื่องเกณฑ์ความยากไร้ทำให้เกิดความชัดเจนและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักการเมืองวิจารณ์ว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ที่คนไทยควรได้ทุกคน นายปกรณ์กล่าวว่า ก็ต้องย้อนกลับไปดูตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคนอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยากไร้ ส่วนที่จะมีเกณฑ์ที่ดูแลทุกคนหรือทุกกลุ่มถือว่าเป็นแนวนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่จะทำเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะดูในเรื่องของงบประมาณที่มีด้วย หากมีงบประมาณเพิ่มขึ้นก็อาจสามารถให้เพิ่มได้

เมื่อถามว่าบทเฉพาะกาลจะมีผลถึงเมื่อไหร่ นายปกรณ์กล่าวว่า จะมีผลตลอดไปในการคุ้มครองคนที่ได้รับสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนรายใหม่ก็จะมีการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติชุดใหม่ เรื่องนี้ไม่มีใครลักไก่ใครได้ เพราะ ทุกฝ่ายจ้องดูเรื่องนี้อยู่

สว.มณเฑียรจี้ทบทวน
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานการประชุม เปิดโอกาสให้สมาชิกได้หารือถึงปัญหาความเดือดร้อน โดยนายมณเฑียร บุญตัน สว.หารือถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ที่ใช้เกณฑ์ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จากเดิมที่จ่ายให้กับผู้ที่มีอายุครบตามเกณฑ์ว่า กังวลว่าจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการคัดกรอง ที่ประชาชนในระดับรากหญ้าและเข้าไม่ถึงข้อมูลจะถูกคัดออก ซึ่งมีตัวอย่างปรากฏจากการรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่พบว่าประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิและการรับประโยชน์ ดังนั้น ตนกังวลว่าหลักเกณฑ์ใหม่อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ระบบเส้นทางและระบบอุปถัมภ์ ให้เฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดนักการเมือง ข้าราชการ เท่านั้น อยากให้ระมัดระวังกับคำอธิบายว่า ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ทางที่ดีควรทบทวนจากมาตรการคัดกรองคนเข้า ควรตั้งเป้าไว้แต่แรกว่า สวัสดิการที่จัดให้ผู้สูงวัยอย่างถ้วนหน้า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ เช่น ไม่ขอรับ หรือคนที่ไม่มีคุณสมบัติจะถูกคัดออกจะดีกว่า

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุว่า พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลกที่ต้องรับมือกับภาวะแก่ก่อนรวย สวัสดิการจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ พท.มุ่งเป้าให้คนไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง การปรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่มไม่ใช่การให้ถ้วนหน้าแบบเดิม ต้นเหตุมาจากรัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งพท.เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด เราจึงเป็นพรรคเดียวที่พูดถึงการสร้างรายได้ เพื่อมี รายได้มาจัดสวัสดิการโดยรัฐ สำหรับกลุ่ม ผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึง

พิธาชี้ต้องเพิ่มงบฯ ไม่ใช่ตัด
ที่จ.ระยอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการแก้เกณฑ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า สำหรับกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้าใจว่าเป็นราชกิจจานุเบกษาจากกระทรวงมหาดไทย ส่งลูกให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เป็นเรื่องใหญ่และต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีแต่จะต้องเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่ตัดงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ

“สิ่งที่เขาต้องการพูดว่ามีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ใช้งบประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เพราะยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้ที่เราลงพื้นที่ระยองก็ยังมีความกังวลใจกัน ความชัดเจนเท่าที่เห็นผมอ่านจากบีบีซีไทยว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลรักษาการจะสามารถลดลงประมาณ 5 ล้านคน ประหยัดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ผมฟังแล้วผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรือดำน้ำก็ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วความท้าทายในการใช้เรือดำน้ำต่อสู้แทบจะไม่มี แต่ความท้าทายของสังคมสูงวัยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มงบประมาณรับมือสังคมสูงวัย เทรนด์โลกเป็นแบบนั้น น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เปิดและทำงานประชุมเต็มรูปแบบ ยังไม่มีกระทู้ถาม ไม่เช่นนั้นจะให้ สส.ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอนุพงษ์วันพฤหัสฯ นี้ ว่าแท้จริงแล้วมีรายละเอียดอย่างไร กระทบกี่คน และจะใช้กฎเกณฑ์อะไร” นายพิธากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน