6หมอเฉพาะทาง-ดูแล ราชทัณฑ์รับไม่พร้อมเหตุไร้เครื่องมือแพทย์

ย้ายด่วนกลางดึก ส่งตัว ‘ทักษิณ’ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นอนที่ชั้น 14 เขตหวงห้ามเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่เฝ้า กรมราชทัณฑ์แจงเหตุย้ายระบุมีอาการแน่นหน้าอกความดันพุ่ง ร.พ.ทัณฑสถานเครื่องมือไม่พร้อม ต้องเฝ้าระวังโรคหัวใจ ด้านนายแพทย์ใหญ่เผยความดันสูงถึง 170 มิลลิกรัมปรอท ล่าสุดอาการดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังใส่สายออกซิเจน ต้องนอนห้องพัดลม 2 ตัว เพราะแอร์เสีย ยืนยันห้องพักไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอก พร้อมระดมทีมแพทย์ 6 คนตั้งเป็นคณะรักษา มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และโควิด-19 คอยดูแล

วันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากมีอาการป่วยเข้ามารักษาต่อที่ โรงพยาบาลตำรวจในเวลา 00.30 น. จากนั้นทางแพทย์ได้รับตัวและนำตัวไปที่ชั้น 14 หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ร.พ.ตำรวจ ซึ่งชั้นดังกล่าวมีอยู่แค่ 2 ปีก ปีกละ 1 ห้อง สำหรับนายทักษิณอยู่ที่ห้องรอยัล สูท ห้อง 1401 รายงานว่าเบื้องต้นทางแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทได้ให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดความดัน ยาคลายเครียด เนื่องจากผู้ป่วยมีโรคประจำอยู่แล้ว ขณะนี้ นายทักษิณ อยู่ระหว่างการพักผ่อน โดยมี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คอยเฝ้าอย่างใกล้ชิด หลังจากทราบว่านายทักษิณถูกส่งมารักษาตัวอาคารดังกล่าว ได้มีสื่อมวลชนมาติดตามรายงานข่าวจำนวนมาก

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแพทย์ของร.พ.ราชทัณฑ์ ได้ตรวจอาการพบว่ามีอาการป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ซึ่งร.พ.ราชทัณฑ์ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งมารักษาตัวฉุกเฉินที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการส่งตัวผู้ป่วยจากเรือนจำมารักษาที่ ร.พ. ตำรวจ เป็นเรื่องปกติที่ได้ทำมาตลอด โดยมี MOU ระหว่างราชทัณฑ์และ ตร. ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค.2563 เพราะโรงพยาบาลมีความเหมาะสม ทั้งในด้านศักยภาพการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนราชทัณฑ์การเฝ้าระวังการรักษาความปลอดภัย

ต่อมามื่อเวลา 12.55 น.วันเดียวกัน ที่ ร.พ. ตำรวจ พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผบก.น.6 เปิดเผยเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา นายทักษิณ มีอาการป่วยกำเริบ ความดันขึ้นสูง ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จนต้องย้ายออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของพื้นที่ จึงจัดกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายมาคอยดูแลความปลอดภัยตามขั้นตอนปกติ ร่วมกับตำรวจ สน.ปทุมวัน ที่เป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรง ไม่ถือว่าเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด

พล.ต.ต.นครินทร์กล่าวอีกว่าวันเดียวกันนี้มีการเรียกประชุมร่วมกันระหว่างกรมราชทัณฑ์ ร.พ.ตำรวจ และ บก.น.6 โดยหน้าที่ของตำรวจนั้นเพียงเป็นผู้ช่วยในการดูแลความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้น รายละเอียดขั้นตอนการเข้าเยี่ยม กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ให้รายละเอียด ส่วนขั้นตอนระยะเวลาการรักษารวมถึงอาการป่วยต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล ซึ่งตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่านายทักษิณเข้ารับการรักษาอาการป่วย ที่ร.พ.ตำรวจจริง

รายงานข่าวแจ้งว่า พื้นที่ชั้น 14 ที่นายทักษิณรับการรักษาขอให้เป็นพื้นที่หวงห้าม ตามคำขอของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แล้ว ขณะเดียวกัน วันเดียวกันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้า มีรถตู้ และรถจากกรมราชทัณฑ์ และมีนายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตั้งแต่เวลา 11.15 น. ที่ตึกมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

ด้านพล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้รับการประสานล่วงหน้า อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับการรักษาตัวที่ทัณฑ สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ด้วยเกิดอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ค่าออกซิเจนต่ำ และค่าความดันโลหิตสูงมาก ทีมแพทย์ราชทัณฑ์พยายามรักษาระดับความดันที่สูงแล้ว แต่ทำได้ไม่มาก จึงลงความเห็นให้ส่งตัวด่วนมาที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงกลางดึก

พล.ต.ท.โสภณรัชต์กล่าวต่อว่า ความจริงทีมแพทย์ราชทัณฑ์มีความสามารถ แต่ด้วยอาการป่วยของนายทักษิณต้องการแพทย์เฉพาะทางดูแลประกอบกับเครื่องมือที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีจำกัด จึงต้องตัดสินใจ ย้ายผู้ป่วย โดยก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจทำข้อบันทึกร่วมกันมากว่า 30 ปี ในการส่งตัวผู้ป่วยที่มีอาการหนักมารักษาที่โรงพยา บาลตำรวจ เมื่อนายทักษิณถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยรถราชทัณฑ์ เนื่องจากมีความดันโลหิตสูงถึง 170 มิลลิเมตรปรอท และนำตัวไปชั้นที่ 14 ทันที ซึ่งเดิมชั้นดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่าปัจจุบันห้องดังกล่าวเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ ต้องใช้พัดลม 2 ตัวระบายอากาศแทน และห้องพักของนายทักษิณไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนีย ภาพภายนอก เนื่องจากฝั่งดังกล่าวติดกระจก อากาศร้อน แพทย์ได้รักษาด้วยการให้น้ำเกลือ พร้อมระดมทีมแพทย์ตั้งเป็นคณะรักษารวม 6 ท่าน มีหมอเชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และโควิด-19 อยู่ในทีมดังกล่าว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการ เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้ป่วยต้องโทษที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จึงไม่ต้องใส่เครื่องพันธนาการ เพราะจะทำให้การรักษาเกิดความยุ่งยาก

พล.ต.ท.โสภณรัชต์กล่าวต่อว่า ทีมแพทย์กำลังอยู่ในขั้นตอนนำประวัติการรักษาของนายทักษิณที่ต่างประเทศมาศึกษา แต่รายละเอียดส่วนนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่บอกได้ว่าอาการป่วยได้รับการรักษามาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้เลือกปฏิบัติตามกระแสสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยอายุมากมารักษาเช่นกัน

พล.ต.ท.โสภณรัชต์กล่าวต่อว่า อาการล่าสุดนายทักษิณ เมื่อช่วงเช้าจากการสอบถามทีมแพทย์ที่รักษา มีอาการดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเมื่อคืน แต่ยังใส่สายออกซิเจน ความดันยังสูงอยู่ สามารถสื่อสารได้ แต่ยังมีอาการเหนื่อยหอบ แพทย์ต้องเฝ้าระวังโดยสั่งงดเยี่ยมทุกกรณี ส่วนกรณีถ้าญาติต้องการย้ายตัวไปโรงพยาบาลเอกชนนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจกรมราชทัณฑ์

สำหรับบรรยากาศที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร ในเช้าวันเดียวกันนี้ ทางเรือนจำได้เปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังภายในเรือนจำได้ตามเวลาราชการเป็นปกติแล้วหลังจากวันที่ 22 ส.ค.ได้มีคำสั่งให้งดเยี่ยมผู้ต้องขัง 1 วัน

ด้านนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เผยว่ากรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า เมื่อเวลา 23.59 น. วันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่านายทักษิณซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร แดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรค มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของ ผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูก สันหลังเสื่อม

สำหรับโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที

นายสิทธิกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้นำตัวส่ง โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้รับตัวไว้เพื่อบำบัดรักษาเมื่อเวลา 00.20 น. วันที่ 23 ส.ค. โดยเรือนจำได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุม ตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาการรมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการขออภัยโทษของนายทักษิณว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ตนได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปหารือเรื่องการนับระยะเวลาว่าจะต้องนับอย่างไร เมื่อถามว่าเมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.นายทักษิณ เข้าโรงพยาบาลด่วนได้รับรายงานอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อตอนเวลา 01.00 น. ตนได้นอนแล้ว แต่มีข้อความส่งมาทางไลน์แจ้งด่วนว่านายทักษิณแน่นหน้าอกและหายใจไม่พอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเรือนจำต้องตัดสินใจเอง เมื่อถามว่าตามระเบียบกรมราชทัณฑ์มีระยะเวลาการเข้ารับการเข้ารับการรักษาตัวในกรณีนักโทษเจ็บป่วยอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องรอดูสักระยะ ซึ่งความจริงไม่มีกำหนดเวลา เมื่อถามว่ากรมราชทัณฑ์สามารถจะพิจารณาเองได้ใช่หรือไม่โดยหารือกับแพทย์ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องฟังแพทย์เท่านั้น เขาไม่ฟังตนหรอก

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวด่วนเป็นการเข้ารับรักษาเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ตนไปกำชับกับแพทย์ซึ่งขั้นตอนมีอยู่แล้ว และได้คุยกับแพทย์ว่าเป็นธรรมดาของคนที่กินดีอยู่ดี นอนสะดวกอยู่สบายเมื่อมาอยู่ในที่คุมขัง ส่วนเรื่องการจำกัดอิสรภาพไม่ต้องพูดกัน แต่พูดถึงเรื่องการไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่โฮเทลหรือคอนโดฯ ฉะนั้นการที่นักโทษจะมีปฏิกิริยากินไม่ได้นอนไม่หลับ ประสบโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วมันเป็นไปได้ทั้งนั้น ต้องคิดถึงเขาและคิดถึงเรา ถ้าเจอก็มีโอกาสเป็นไปได้อยู่ที่ว่าจะหายช้าหรือหายเร็วเท่านั้น และเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาตนได้ไปขอดูหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งประวัติ 17 ปีที่ผ่านมาเขาเอาออกมาหมด

เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับนายทักษิณเป็นการส่วนตัวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้มีการพูดคุย เพราะอยู่ในช่วงการกักตัว แต่เขาบอกว่าถ้าอยากจะคุยจะให้คุยผ่านระบบซูม ซึ่งตนบอกว่าอย่าลำบากขนาดนั้น เมื่อถามว่านายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จะไปร้องป.ป.ช.ว่ามีการอำนวยความสะดวกให้นายทักษิณเป็นกรณีพิเศษเกินไป นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ส่วนยืนยันว่าเป็นมาตรการปกติในการรับตัวนักโทษหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ก็เหมือนส่งน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) กลุ่มทะลุวัง และน.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

เมื่อถามว่าในกรณีนายทักษิณจะขออภัยโทษสามารถดำเนินการได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ตั้งแต่มาถึง จะโดยเจ้าตัวหรือญาติก็ได้ กฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 259 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ว่าผู้ต้องคำพิพากษา ที่สุดหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถที่จะยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งถ้าจบแค่นี้ก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะต้องมอบตัวเข้าสู่กระบวนการก่อน

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่านายทักษิณยังคงอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ เมื่อถูกย้ายตัวเพื่อการรักษาอาการ ทางราชทัณฑ์ยังต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยร่วมกับทาง ร.พ.ตำรวจ ยืนยันว่าไม่ได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่น ส่วนจะรักษาตัวอยู่ที่ ร.พ.ตำรวจนานแค่ไหนนั้น ก็จะต้องรักษาให้พ้นวิกฤตจนกว่าแพทย์ ร.พ.ตำรวจ จะมีความเห็นอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่เรือนจำ

นายสหการณ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรอบระยะเวลาการรักษาตัวที่ ร.พ.ตำรวจ จะเป็นอำนาจของแพทย์ที่จะประเมินและมีความเห็น ส่วนถ้าหากญาติ ครอบครัวของนายทักษิณ หรือองค์กรต่างๆ จะเข้าเยี่ยม โดยในห้วงการกักโรคโควิด-19 จำนวน 10 วันแรก จะยังไม่ให้เยี่ยม แต่คาดว่าทาง ร.พ.ตำรวจอาจจะมีการยืดหยุ่นให้ 5 วันแรกเกิดการเข้าเยี่ยมได้ ถ้าไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่จะเป็นการเยี่ยมตามระเบียบของราชทัณฑ์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีอนุญาตระบุให้เข้าเยี่ยมเท่านั้น

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุอีกว่า สำหรับเอกสารการรักษาตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทางราชทัณฑ์อยู่ระหว่างการรอเอกสารเพิ่มเติมจากทางครอบครัวนายทักษิณ สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ในตอนนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานว่านายทักษิณ ได้แจ้งความประสงค์จะเขียนเอกสารเข้าสู่ ขั้นตอนนี้แต่อย่างใด

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงกับกรมราชทัณฑ์ ว่า สธ. เคยลงนาม MOU กับกรมราชทัณฑ์เรื่องการดูแลนักโทษ/ผู้ต้องขังในเรือนจำที่เจ็บป่วย ซึ่งร.พ.ราชทัณฑ์แต่ละแห่งมีขีดความสามารถดูแลผู้ป่วยต่างกัน บางแห่งแทบไม่มีแพทย์ มีแต่พยาบาล ถ้าหากเกิดเคสขึ้นก็จะต้องส่งต่อมาที่ร.พ.โดยตรงตามคู่สัญญา MOU อย่างส่งมาที่ร.พ.สงขลา ก็จะมีวอร์ดราชทัณฑ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาดูแลคนไข้ ผู้ต้องขังร่วมกับแพทย์และพยาบาลในร.พ.ด้วย

เมื่อถามถึงขีดความสามารถของทัณฑสถาน ร.พ.ราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นพ. โอภาสกล่าวว่า ก็มีอยู่พอสมควร หากมีสิ่งที่ขาดเหลือใน ร.พ.ราชทัณฑ์ ก็ประสานข้อมูลมาได้ อย่างที่ สธ.ได้ลงนามความร่วมมือ เช่น เรือนจำบางขวาง เรือนจำคลองเปรม ก็สามารถส่งผู้ป่วยมา ร.พ.พระนั่งเกล้า ซึ่งอยู่ในสังกัดของสธ. ได้ หรืออาจจะส่งไปที่ ร.พ. ตำรวจ หรือวชิรพยาบาล ตามคู่สัญญาได้เช่นกันและการตัดสินใจของทางนั้น ส่วนใหญ่จะส่งในพื้นที่เดียวกันไม่ส่งไปไกล

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าแต่ละปีมีการส่งต่อ ผู้ป่วยจากราชทัณฑ์ออกมารักษาใน ร.พ. มากน้อยอย่างไร และส่วนใหญ่เป็นการป่วยอาการอะไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็มีพอสมควร โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่ไม่มีเตียงผู้ป่วยใน ร.พ. ราชทัณฑ์ ก็จะส่งออกมา ร.พ. ข้างนอก อาการที่พบก็มีหลายอย่าง ส่วนหนึ่งเองเป็นอาการป่วยเดิมอยู่แล้วเมื่อเข้าไปในเรือนจำก็มีอาการกำเริบขึ้นมาได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ โรควัณโรค โรคมะเร็ง รวมถึงอาการจากยาเสพติด

“อย่างวัณโรคเราเจอบ่อยไปกำเริบที่ราชทัณฑ์ หรือมะเร็งพอเข้าไปอยู่ก็กำเริบตามอาการของโรค รวมถึงโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำของคนสูงอายุ อาการของโรคหัวใจ มักเกิดขึ้นฉับพลัน จึงต้องการหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งไม่มีหมอหัวใจอยู่ใน ร.พ. ราชทัณฑ์ ส่วนใหญ่จะเป็นหมอดูแลโรคทั่วไป ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นก็ต้องส่งต่อ ผู้ป่วย” นพ.โอภาสกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน