ผวาเปื้อนกัมมันตรังสี น้ำจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ แต่ตอนนี้ยังปลอดภัย แนะ5พันร้าน-ในไทยเปลี่ยนที่-ซื้อวัตถุดิบ

อย.สั่งตรวจเข้มอาหารทะเล รับมือเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะที่ญี่ปุ่น เริ่มปล่อยน้ำผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทร ห้ามนำเข้าเด็ดขาดหากมา จากเรดโซน นอกจากนั้นสั่งเก็บตัวอย่าง อาหารเพิ่ม 2 เท่า เผยอาหารทะเลจากญี่ปุ่นที่จับหลังโรงไฟฟ้าปล่อยน้ำผ่านการบำบัด จะเข้าสู่ไทยราวกลางเดือนก.ย. แต่เชื่อมั่นไม่มีปัญหาเพราะป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานเข้ามาอยู่แล้ว ด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทยเผยอาจกระทบ ร้านอาหารญี่ปุ่น 5 พันแห่งในไทย แนะเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยสินค้าประมงนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ภายหลังมีการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิ ลงสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. แม้จะระบุ ได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) แล้วว่า เมื่อเย็นวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา อย. ประชุมร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ขอผู้บริโภค อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะแล เจ้าหน้าที่ ด่านประมงของกรมประมง และด่านอาหารและยา ของ อย. มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับ ปส.และ สทน.เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที รวมถึงจะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย

“อันที่จริงไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมามีมาตรการป้องกันหลังจากมีรายงานปล่อยน้ำเสีย จากโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ความจริงตั้งแต่ที่ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ระเบิดหลังจากโดนสึนามิเมื่อปี 2554 ก่อน อย.ร่วมกับกรมประมง เก็บตัวอย่างอาหารทะเลที่ถูกส่งมาจากพื้นที่นั้นต่อเนื่อง เพื่อส่งไปตรวจที่ ปส. และ สทน.จนถึงปัจจุบัน เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไม่ได้อยู่ในน้ำลึกมาก จากการตรวจสอบตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ไม่พบว่ามีกัมมันตรังสีที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด นี่คือสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ญี่ปุ่น เก็บตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟุกุชิมะ ส่งตรวจวิเคราะห์ในปี 2565 ถึง ก.ย. 2566 จํานวน 4,375 ตัวอย่าง การปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศของไทยเช่นกัน” ภก.เลิศชายกล่าว

ภก.เลิศชายกล่าวว่า ส่วนที่จะมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะนั้น ไทยทราบเรื่องมาก่อนแล้ว โดยมีหน่วยงาน ภายใต้การกำกับขององค์การอนามัยโลก คือ หน่วยงานกลางปรมาณูระหว่างประเทศ International Atomic Energy Agency หรือ IAEA ที่จะประเมินรังสี เห็นว่า น้ำที่ปล่อยออกมามีค่าต่ำมากๆ แทบไม่มีนัยสำคัญเลย แต่เข้าใจว่า เมื่อพูดถึงคำว่ากัมมันตรังสี หรือน้ำที่ปล่อยมาจากโรงงานนิวเคลียร์ก็จะมีความกังวล ว่าจะมีอะไรเล็ดลอดออกมาหรือไม่ จากการหารือร่วมกันของ อย. กรมประมง ปส. และ สทน.ยืนยันว่า พร้อมที่จะรับตรวจสอบคุณภาพอาหารทะเลที่ส่งมาจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว

“ที่มีรายงานว่าบางประเทศห้ามนำเข้า อยู่ที่บริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่เราบอกแล้วว่า หากเป็นสินค้าที่มาจากเรดโซน เราดักจับทุกกรณี โดยเก็บตัวอย่างตั้งแต่หน้าด่าน ส่งไปยัง ปส. ส่วนสินค้าที่เหลือจะถูกกัก เอาไว้ ถ้าตรวจแล้วไม่มีอันตรายก็ปล่อย ออกมา ถ้าเจออะไรที่เป็นอันตรายสินค้าเหล่านี้จะถูกทำลาย ไม่มีโอกาสที่จะรั่วไหลเข้ามาทำให้ประชาชนเป็นอันตรายได้ นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปประกาศว่าห้ามนำเข้า” ภก.เลิศชายกล่าว

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน เราจะเก็บตัวอย่างอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คิดว่าให้เหมือนเป็นเหตุฉุกเฉินเลย ซึ่งทุกฝ่ายยินดี ที่จะดำเนินการทั้งหมดอย่างเข้มข้น คาดว่า สินค้าอาหารทะเลล็อตแรกจากญี่ปุ่นที่จะถูกส่งมายังไทยหลังจากปล่อยน้ำเสียน่าจะราวๆ กลางเดือนก.ย.นี้ แต่บางส่วนที่มาเร็วทางเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะมีด่านอาหารและยา ด่านประมงดักไว้อยู่แล้ว ยืนยันว่า ถึงจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ เปลี่ยนผ่านปีงบประมาณใหม่ แต่ไม่กระทบกับแผนการดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังอาหารนำเข้าของไทย ส่วนการตรวจร้านอาหารที่เป็นปลายทางก็จะเป็นอีกมาตรการหนึ่ง โดยต้องประสานการทำงานกับกรมอนามัย ซึ่งจะมีเรื่องสุขลักษณะ อาหารปลอดภัยต่างๆ แต่อย่างที่บอกว่า อาหารพวกนี้ไม่ได้เข้ามาส่งเดช มีที่มาที่ไป เราดักจับอยู่ เชื่อว่าไม่น่าจะมีขบวนการเล็ดลอด และประสานกรมศุลกากรให้ความร่วมมือ ตรวจสอบมากขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยว่า กรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ ฟูกุชิมะไดอิจิ ลงทะเล ตามแผนการปล่อย น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วนับจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ปี 2011 ซึ่งใช้เวลาบำบัด 12 ปี และทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 30 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2566 ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลจากคนญี่ปุ่นในประเทศ รวมถึงประเทศ ใกล้เคียงในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเล จากญี่ปุ่น








Advertisement

แม้ว่าทางการญี่ปุ่นยืนกรานว่าน้ำที่จะปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย โดยรับการรับรองจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงาน ในสังกัดองค์การสหประชาชาติ แต่ก็ยัง ไม่สามารถสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความกังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นได้ใช้ระบบปั๊มและกรองน้ำขั้นสูงที่เรียกว่า เอแอลพีเอส เพื่อบำบัดน้ำเสีย มีระดับกัมมันตรังสีต่ำถึงระดับมาตรฐาน ที่ยอมรับได้ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ขจัดสารอย่างทริเทียม และคาร์บอน-14 ออกไป ไม่ได้หมด สารทริเทียม และคาร์บอน-14 เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ที่คัดแยกออกจากน้ำได้ยากมาก

ซึ่งอันที่จริง สารเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติ น้ำ และในร่างกายมนุษย์ด้วย เพราะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ก่อนเข้ามาสู่วงจรของน้ำ และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่หากบริโภคสารทริเทียมเข้าไปมากพออาจเป็นอันตรายได้ ซึ่งน้ำที่ฟูกุชิมะมีแผนจะปล่อย มีทริเทียม 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ส่วนมาตรฐาน น้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกสำหรับ ทริเทียม คือ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ดังนั้นตามทฤษฎีแล้ว ถ้าน้ำไม่เต็มไปด้วยเกลือ น้ำบำบัดจากฟูกุชิมะก็สามารถดื่มกินได้

“ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจำนวนมากจากญี่ปุ่น ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกุชิมะของญี่ปุ่น ในปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งสถิติร้านอาหารญี่ปุ่นของไทย ปี 2565 มีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 5,325 ร้าน ดังนั้น ประเทศไทยยังต้องติดตามสถานการณ์ และหากมีมาตรการ ย่อมกระทบร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย อาจต้องลองปรับแหล่งวัตถุดิบหรือออก เมนูโดยเพิ่มเนื้อสัตว์อื่นๆ เข้าไปแทน” นายวิศิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2565 ไทยนำเข้าอาหารทะเลจากทั่วโลก 3,954 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ครึ่งปีแรกปีนี้ไทยนำเข้าจากทั่วโลก 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8% โดยเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น สัดส่วนประมาณ 5% มูลค่านำเข้าปี 2565 เท่ากับ 182 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% และในช่วงครึ่งปีแรก 2566 นำเข้า 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17% ซึ่งรองจากแหล่งนำเข้าหลักคือ นอร์เวย์ อินเดีย ไต้หวัน จีน และเวียดนาม

สำหรับสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น คือ กลุ่มสัตว์น้ำ แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าสด แช่เย็น แช่แข็ง ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นและแช่แข็ง และกลุ่มสัตว์น้ำอื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน